Daily Pickup

Ob(li)vious #ซุ่มเสียง | เสียงของเพศหลากหลายที่ซ่อนไว้ซึ่งความปวดร้าว

“Ob(li)vious” (#ซุ่มเสียง) นิทรรศการที่เป็นผลงานการร่วมมือกันของ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เสรีเทยฺย์พลัส และ GendersMatter โดยธีมหลักของงานก็คือ ‘เสียง’ ที่ ‘ซุ่ม’ ตัวอยู่ในสังคม ที่แม้ว่าจะดังก้องแต่กลับไร้ซึ่งความตระหนัก ‘เสียง’ ที่ว่านี้ก็คือเสียงอันแฝงไปด้วยอคติที่ผู้คนมีต่อกลุ่มเพศหลากหลาย ก่อให้เกิดบาดแผลภายในจิตใจที่ไม่มีวันสมานได้ ผู้จัดงานจึงนำอีก ‘เสียง’ ที่เปล่งจากเจ้าของบาดแผลมาตีแผ่ เผยให้เห็นถึงความรุนแรงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพื่อสักวันหนึ่งเสียงที่เป็นดั่งมีดแหลมที่บรรทุกไปด้วยความเกลียดชังจะเบาลงจนเงียบหายไปในที่สุด

ถึงจะเป็นงานที่ถูกจัดในพื้นที่อันจำกัด ความเกลียดชัง ความเป็นอื่น และบาดแผลก็มีความเด่นชัดและแผ่ซ่านออกมาจนผู้เข้าชมงานสัมผัสได้ ตั้งแต่โซนห้องกระจกที่นำประสบการณ์ด้านลบของแต่ละคนมาร้อยเรียงบนตะแกรงเหล็กให้ได้อ่านและทำความเข้าใจ ทั้งหมดล้วนเป็นความจริงที่พวกเขาต้องพบเจอเพียงเพราะอัตลักษณ์ทางเพศที่ไม่ได้ถูกยอมรับ ไม่ว่าจะจากคนในครอบครัว เพื่อน ครู สื่อ กฎหมาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวนั้นๆ พร้อมกระดานสีขาวซึ่งเต็มไปด้วยเสียงของอคติที่มีต่อ LGBTQ+ ทั้งที่พูดออกมาด้วยความตั้งใจและไม่เจตนา

เมื่อเดินตรงไปจนถึงตรอกข้างร้านหนังสือการ์ตูน ก็จะเห็นป้ายเล็กๆ ที่เชิญชวนให้เข้าไปด้านใน เริ่มด้วยป้ายผ้า “ปิตาธิปไตยจงฉิบหาย ความเท่าเทียมหลากหลายจงเจริญ” และโทรทัศน์รุ่นเก่าที่ฉายวิดีโอคำปราศรัยในม็อบสมรสเท่าเทียมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนของปีที่แล้ว (พ.ศ. 2564) นับเป็นอีกเสียงที่ฝ่ายปกครองไม่ได้รับฟังจนถึงทุกวันนี้ ตรงกำแพงระหว่างทางเองก็มีความคิดเห็นของกลุ่มเพศหลากหลายอยู่ประปราย รวมถึงไทม์ไลน์ความเคลื่อนไหวเพื่อความเสมอภาคทางเพศที่เกิดขึ้นในไทย ตรงข้ามกันก็มีรูปภาพจากการชุมนุม ธงสีรุ้ง จนไปสิ้นสุดที่ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ที่พิมพ์ลงบนม่านผืนบาง ฉายทับด้วยเรื่องราวความยากลำบากที่คนเพศหลากหลายต้องข้ามผ่านเพียงเพราะกฎหมายกำหนดไว้ ถึงแม้ว่านิทรรศการจะจบเพียงเท่านี้ ทางเราก็เชื่อว่าผู้ที่แวะเข้ามาชมจะเข้าถึงสารที่ทางทีมงานต้องการจะสื่อออกไป พร้อมกลับไปขบคิดต่อถึงเรื่องราวที่ได้เข้ามารับชม

ที่สำคัญคืองานนี้จัดขึ้นเป็นวันแรกใน IDAHOBIT (International Day Against Homophobia, Biphobia, Intersexism and Transphobia) หรือก็คือวันต่อต้านการเกลียดกลัวต่อกลุ่มเพศหลากหลาย และในวันเดียวกันนี้ ในปี พ.ศ. 2533 WHO ได้ประกาศยกเลิกให้การรักร่วมเพศถือเป็นความผิดปกติทางจิต แต่ไม่ว่าจะเป็นวันไหนหรือเมื่อไหร่ การตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้และควรทำอยู่เสมอ ไปรับฟังเสียงที่ถูกซุ่มซ่อนกันได้ที่งาน “Ob(li)vious”

“ชวนคุณมาสดับรับฟังเสียงของความเกลียดกลัว ที่ซุ่มตัวซ่อนเร้นอยู่อย่างโจ๋งครึ่มในสังคม”

📍

Lido Connect ชั้น 2 โซนห้องกระจกและทางเดินข้างร้านการ์ตูน

📅 ตั้งแต่วันที่ 17-31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

🕐

เวลา 10.00-22.00น.แผนที่: https://goo.gl/maps/UoSpz7zh6fpgCFgX7