Daily Pickup

One Take เพราะโอกาสมีแค่ครั้งเดียว

‘One Take’ เป็นสารคดีที่ถ่ายทอดความเป็นมาของ BNK48 ฉายให้เห็นเบื้องหลังชีวิตการเป็นศิลปินของสาวๆ สมาชิกวง BNK48ผลงานการกำกับของ ‘โดนัท – มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล’ ผู้ผันตัวจากเบื้องหน้าเป็นเบื้องหลัง นำเสนอเรื่องราวความสุข ความทุกข์ปูไปสู่เหตุการณ์สำคัญของวง นั่นก็คือการ ‘เลือกตั้ง’ ครั้งที่จะถ่ายทอดลงในสารคดีนี้ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ‘BNK48 6th Single Senbatsu General Election’

โดยส่วนตัวแล้ว นักเขียนจะเป็นคนที่รู้สึกอินกับสารคดีที่นำเสนอมุมมองของคนทำตามความฝัน การได้เห็นความพยายามและความมุ่งมั่นในการจะทำความฝันให้เป็นจริง มันทัชใจนักเขียน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหน แต่ในมุมมองที่สื่อออกมาผ่าน One Take นั้น นักเขียนมองเห็นว่า สารคดีให้ความสำคัญต่อการเป็นแฟนคลับเป็นอย่างมาก แต่ก็เข้าใจได้ เพราะมันเป็นรูปแบบของวงที่ต้องมีการโหวตให้สมาชิกเป็นลำดับขั้นขึ้นไป แต่ถ้าหากคนที่ไม่ได้ตาม BNK48 ไม่คุ้นเคยกับระบบวง หรือไม่ได้ติดตามวงมาก่อน ก็อาจจะรู้สึกไม่เข้าใจ อย่างตัวนักเขียนเองก็ต้องใช้เวลาสักพักในการทำความเข้าใจเช่นกัน

การเป็นคนอื่นเพื่อให้แฟนคลับชอบ?

จากบทสัมภาษณ์ของสมาชิกในวงหลายๆ คน สังเกตได้ว่ามีหลายสิ่งที่คล้ายกัน นั่นก็คือการต้องเป็นฝืนคนอื่น ทำตัวน่ารักๆ เพื่อให้แฟนคลับชอบ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ในจุดหนึ่ง สมาชิกเหล่านั้นก็เข้าใจขึ้นมาได้ว่าการเป็นตัวของตัวเองนั้นดีที่สุด ซึ่งเราจะได้เห็นจากในสารคดี บทสัมภาษณ์ของสมาชิกแต่ละคนมีความจริงใจ กล้าเปิดใจพูด และบางคำตอบก็ทำให้นักเขียนมองว่ามันเหนือความคาดหมายมากด้วยซ้ำ เราจะเห็นได้เลยว่าสมาชิกมีทั้งความน้อยใจ เหนื่อย กดดัน คาดหวัง ผิดหวัง และไม่มั่นใจในตัวเอง ทั้งหมดนั้นถูกยึดโยง กำหนด และควบคุมด้วยแรงสนับสนุนจากกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘แฟนคลับ’ ปัจจัยที่จะเป็นตัวกำหนดเลยว่าสมาชิกคนใดเป็นที่นิยมมากกว่าใคร หรือจะติดอันดับต้นๆ จนได้เป็นเซ็นเตอร์ในเพลงต่อไป ความสำเร็จนี้สามารถเกิดขึ้นได้เพราะแฟนคลับล้วนๆ มันขึ้นอยู่กับว่าแฟนคลับรักและสนับสนุนสมาชิกคนนั้นๆ ได้มากแค่ไหน

นอกเหนือจากแรงสนับสนุนที่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกชอบในตัวไอดอลแล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่แฟนคลับทุ่มเทเพื่อสมาชิกที่ตัวเองชอบ นั่นก็คือ ‘เงิน’ นักเขียนเองก็เพิ่งรู้จากการดูสารคดีนี้ว่า การสนับสนุนสมาชิก BNK48 ให้ไปถึงความฝันสูงสุด หรือการได้เป็นอันต้นๆ ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล มันเป็นระบบการโหวตของวงที่ทำให้รู้สึกนับถือเหล่าแฟนคลับที่ทุ่มเท ส่งไอดอลให้ไปถึงฝั่งฝัน และได้รับโอกาสต่างๆ เท่าที่ไอดอลจะสามารถมีได้

อย่างไรก็ตาม ระบบวงแบบนี้เองก็ทำร้ายสมาชิกและตัวแฟนคลับเองด้วย ทั้งการกดดันตัวเองในเรื่องของความนิยม ผลโหวต หรือการรักษาตำแหน่งให้คงอยู่ มันทำให้การเป็นไอดอลของ BNK48 เหมือนต้องแข่งขันอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่แข่งขันกับตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ในทางกลับกันก็ต้องแข่งขันกับสมาชิกในวงอีกด้วย หลายครั้งการแข่งขันเหล่านี้ ทำให้ลึกๆ แล้วสมาชิกในวงมีความรู้สึกว่าต้องต่อสู้กันเอง กดดัน เสียความมั่นใจ รวมไปถึงความไม่รู้สึกปลอดภัย หรือแม้แต่ระแวงไปกับความสำเร็จของตัวเอง

“ถ้าเราได้ที่ 1 แล้ว จะมีใครยินดีกับเราไหม”

เฌอปราง อารีย์กุล ผู้ชนะผลโหวตได้ตำแหน่งเซนเตอร์ในการเลือกตั้ง 6th Single Senbatsu General Election

ตามตรงแล้ว สารคดี One Take เองก็ไม่ได้นำเสนอสมาชิกทุกคนขนาดนั้น แต่สามารถเข้าใจได้ว่าจำเป็นต้องเลือกบทสัมภาษณ์หรือเรื่องราวมาผูกให้สารคดีมีความกลมกล่อมมากที่สุด

สิ่งที่เพิ่มความน่าสนใจให้กับสารคดีเรื่องนี้ก็คือการนำแฟนคลับของสมาชิกแต่ละคนมาสัมภาษณ์ด้วย ถือว่าได้มองมุมมองใหม่ๆ จากแฟนคลับจากในมุมที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน แม้ว่าการเรียงลำดับการเล่าเรื่องจะเหมือนสารคดีทั่วไป ไม่ได้ตื่นตาตื่นใจอะไรมาก แต่สิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับนักเขียนมากที่สุดคือการสัมภาษณ์สมาชิก BNK48 เพราะคำตอบที่ได้มาจากแต่ละคนนั้นเผยให้เห็นถึงความจริงใจ กล้าพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด แต่ในส่วนอื่นๆ ของสารคดีไม่ได้มีจุดพีคของเรื่องราว จนแอบเสียดายเล็กน้อยว่าในเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งนี้กลับวนอยู่กับหัวข้อเดิมๆ

ดังนั้น One Take ในมุมมองของนักเขียนคือ สารคดีแนวภาพยนตร์ที่ทำมาเพื่อแฟนคลับของ BNK48 โดยเฉพาะ แต่ถ้าหากใครเพิ่งเริ่มติดตามหรือมีความสนใจในระบบวง ก็สามารถดูได้เรื่อยๆ โดยไม่ติดอะไร ดูเอาเพลินได้ในเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งโดยไม่เสียดายเวลา