แรงบันดาลใจในการวาดสักภาพหนึ่งออกมาของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสภาพสังคมและบริบทแวดล้อมมีส่วนในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา ในหลายครั้งงานศิลปะยังทำหน้าที่สะท้อนสังคมในยุคสมัยนั้นๆ ทำให้เข้าใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในอดีตได้อีกด้วย
วันนี้จะมาพูดคุยกับคุณจอม นักวาดภาพประกอบฟรีแลนซ์ และเจ้าของเพจ “พาหะ” เพจภาพวาดการเมืองสะท้อนสังคม ที่มีเเรงบันดาลใจในการตั้งชื่อมาจากนิยายเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นนิยายที่เล่าถึงการต่อสู้ทางชนชั้น
“ผมเลือกเปลี่ยนจากปีศาจเป็นพาหะ เป็นมุมมองที่รัฐไทยมองผู้เห็นต่าง ความคิดใหม่และยุคสมัยใหม่เหมือนเชื้อร้ายที่ต้องกำจัดทิ้ง เเล้วพาหะมันเเพร่กระจายได้ด้วย เราก็ใช้การวาดภาพของเรา ส่งต่อความคิดในเเบบเรา มองกูเป็นเชื้อโรคเหรอ โอเค กูเป็นให้กูได้”
เริ่มต้นพาหะแพร่กระจายสู่สังคม
คุณจอมเริ่มสร้างเพจขึ้นหลังจากเหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 วันนั้นม็อบได้พ่นสีใส่กำแพงวัดปทุมฯ มีหลายข้อความและหนึ่งในนั้นคือ ‘ที่นี่มีคนตายที่กำเเพงวัด’ ไม่นานก็มีกลุ่มคนใส่ชุดขาวเเห่กันมาทำความสะอาด ทาสีขาวทับข้อความต่างๆ สื่อหลายสำนัก เเละคอมเมนต์จำนวนมากในโซเชียลมีเดียตีความว่าพวกเขาทำความดี
“วันนั้นผมอ่านข่าวและอ่านคอมเมนต์ มีคนด่าม็อบจำนวนมาก ข้อความที่ม็อบพ่นบนกำเเพงมันดูสกปรก ไม่สะอาดตา แต่ความตายที่ไม่เคยได้รับความยุติธรรมในปี 53 มันเป็นความจริง การเอาสีขาวไปกลบทับความจริง เเล้วเเล้วนิยามว่าเป็นการทำความดี ความสะอาดตา สำหรับผมมันคือความขาวสะอาดที่น่าสะอิดสะเอียนมากเลย วันรุ่งขึ้นผมก็เปิดเพจ เเละวาดรูปเเรกชื่อว่า เมืองนั้นสีขาว”
ก่อนเป็นพาหะเคยเป็นสลิ่ม!
คุณจอมบอกกับเราว่าเมื่อก่อนช่วงก่อนปี พ.ศ. 2554 เคยเป็นสลิ่มมาก่อน ไม่ได้สนใจการเมือง เราจึงถามว่าเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ตาสว่างและออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านภาพวาด
“ตอนช่วงปีพ.ศ. 2553 ผมไม่รู้สึกรู้สากับความตายของคนเสื้อเเดงซักเท่าไหร่ ไม่ถึงกับไชโยโห่ร้อง เเต่เย็นชามากพอที่จะไม่ได้ให้ความสนใจ ก่อนหน้านั้นผมอคติกับคนเสื้อเเดงมากเลย อคติด้วยจริตเเบบปัญญาชนกลวงๆ มองเสื้อแดงเป็นพวกไร้การศึกษาโดนนักการเมืองหลอกใช้อะไรเเบบนั้น ถ้าให้วิเคราะห์ตัวเองตอนนั้นก็เป็นสลิ่มนี่เเหละครับ สลิ่มสายลมเเสงเเดด ไม่สนใจ เเละไร้เดียงสาทางการเมือง พอเราไม่สนใจทีนี้ก็เหลือเเต่อคติเดิมๆ บวกกับสภาพเเวดล้อม ภูมิลำเนาด้วย คนรอบตัวตั้งแต่เด็กจนโตเลือกแค่พรรคการเมืองเดียว เราเป็นคนใต้อะไรอยู่ตรงข้ามพรรคการเมืองนั้นก็จะรู้สึกว่าเป็นตัวร้ายทันที สิ่งที่ทำให้ตาสว่างคือ อินเตอร์เน็ต ผมเป็นคนชอบอ่านอยู่บ้าง ก็หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น ค่อยๆ เปลี่ยนความคิดตัวเองไป วางอคติลง จนยอมรับว่าที่ผ่านมากเราต่างหากที่โง่ ความเย็นชาต่อความตายของคนเสื้อเเดงของตัวเองเลยเป็นสิ่งที่ค้างคาในใจผมมาตลอด”
“เมื่อก่อนเราไม่สนใจอ่านข่าวการเมือง เพราะรู้สึกเป็นเรื่องยาก พอไม่รับข้อมูลเพิ่มก็เหลือแต่อคติเดิมกับข้อมูลจากสื่อหลักเเละรัฐ ก็รักและเกลียดเเบบเดิม”
ตาสว่างแล้วแต่สังคมเดิมหายไป
“ช่วงม็อบกปปส. ผมเเสดงออกว่าไม่เห็นด้วย สมัยนั้นเเค่คนไม่ไปร่วมเป่านกหวีดยังโดนเลย นับประสาอะไรกับเราที่เเสดงออกว่าไม่เอาด้วย เป็นช่วงที่ผมเริ่มถอยห่างจากสังคมเดิม จากผู้คน 90 เปอร์เซ็นของชีวิต มีระยะห่างมากขึ้น หลายๆ อย่างมันไม่เเฟร์ตั้งเเต่พื้นฐาน มันอึดอัดคับเเค้น พอเราพูดเเล้วเป็นฝ่ายเเสดงความโกรธ เขาจะบอกว่าเราไม่ยอมรับความเห็นต่าง ที่จริงมันไม่ใช่ เขาล้ำเส้นเพื่อนร่วมชาติมานานเเล้ว เเค่สนับสนุนเผด็จการมาเหยียบหัวเพื่อนร่วมชาติ ก็ไม่ควรหน้าด้านอ้างเรื่องการยอมรับความเห็นต่างเเล้ว พวกคุณมีอะไรให้ต้องโกรธล่ะ ในเมื่อพวกคุณมีสิทธิ์ในการพูดเต็มที่ มีอำนาจรัฐหนุนหลัง มีชัยชนะที่ได้มาอย่างสกปรก”
ศิลปะและการเมือง
เมื่อพูดถึงศิลปะและการเมืองคุณจอมเล่าให้เราฟังว่า รัฐคุกคามศิลปะมากในยุคนี้ ตั้งเเต่จำความได้ก่อนหน้ารัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ไม่เคยมีการคุกคามผู้คนที่หอศิลป์
“เสรีภาพในการแสดงออกมันควรเป็นพื้นฐานและหัวใจหลักของงานสร้างสรรค์ทุกประเภท พอมันขาดเสรีภาพการแสดงออกมันไปต่อยาก ผลงานส่วนใหญ่ก็จะมีเเต่เเบบเดิมๆ ที่รัฐสนับสนุน ผมไม่ได้มองว่างานสายอนุรักษ์นิยมหรือสายลมเเสงเเดดมันผิดนะ ส่วนตัวก็ยังชอบเสพงานสวยๆ งามๆ อยู่ เเต่สังคมมันควรมีความหลากหลายกว่านี้ แล้วถ้าเป็นอาจารย์สอนศิลปะหรือศิลปินยังยืนยันเรื่องนี้ไม่ได้ เวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นไม่เคยออกมาพูด มันล้มเหลวในสายงานมาก ในหัวโขนทางอาชีพต่อให้ผลงานคุณจะขวาจะสายลมแสงแดดยังไง คุณก็ควรออกมาช่วยยืนยัน คัดค้านสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง พูดในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็ได้”
“ผมไม่ใช่คนหัวก้าวหน้าอะไรเลย แต่พออยู่ในสังคมขวาสุดโต่งเเบบนี้คนกลับมองเราเป็นพวกหัวก้าวหน้า ทั้งที่เรื่องที่เราเรียกร้องเป็นแค่เรื่องพื้นฐานมากๆ ด้วยซ้ำ”
ภาพวาดที่ใช้เวลาวาดนานที่สุด
“ภาพ After Big Cleaning Day เป็นภาพที่ใช้เวลาเยอะหน่อย เพราะผมอยากกลับมาวาดบนกระดาษเเบบเดิมบ้าง ช่วงหลังส่วนใหญ่จะวาดเเบบดิจิทัลเพราะมันเร็วกว่าถ้าจะเล่าเหตุการณ์เฉพาะหน้า ผมเอาเหตุการณ์ปี 53 ที่เป็นความรู้สึกผิดของตัวเอง มาบอกเล่าความทุกข์ ความคับเเค้น เศษเลือดเศษเนื้อ เเละวิญญาณของผู้คน ที่ถูกกดทับไว้ข้างล่าง แต่ยังเติบโตงอกเงยขึ้นมาทุกวันวันนี้ และเหมือนเป็นภาพไถ่บาปด้วย”
ภาพที่คิดว่าคนตีความยากที่สุด
“น่าจะเป็น“ภาพ Birth of Death จริงๆ มันต่อเนื่องจากภาพ After Big Cleaning Day ผมอยากเล่าถึงการส่งต่อความคิด ความหวังที่เห็นอย่างชัดเจนเเละเข้มข้นในช่วงสองปีหลังนี้ โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว เซ็ทนี้ผมอยากให้มันก้ำกึ่งและซ้อนทับกันระหว่างสิ่งที่พวกเราเป็น กับมุมมองที่รัฐมองเราด้วย อย่างภาพนี้ก็เป็นยุง ยุงคือพาหะ คล้ายๆ ความคิดเเรกเริ่มตอนสร้างเพจ”
อนาคตเมื่อการเมืองและประเทศไทยดีขึ้น
“ผมอายุ 37 แล้ว ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าจะมีชีวิตอยู่ทันได้เห็น ประชาธิปไตยเต็มใบ มันไม่มีวันไปถึงความสมบูรณ์เเบบหรอกครับ ผมไม่เชื่อว่ามีด้วย ยังไงก็ต่อสู้ประเด็นยิบย่อยกันไปเรื่อยๆ เอาเเค่ประชาธิปไตยเต็มใบเเบบพื้นฐานสากลก่อนยังยากเลย แต่ผมก็คิดว่ามันดีขึ้นจากเมื่อก่อนเยอะนะ ได้เห็นผู้คนทะยอยตื่นขึ้นมา มันก็มีความหวังขึ้นมาก ถ้าการเมืองดีขึ้น ผมอาจจะวาดภาพแนวสายลมแสงแดด สิ่งสวยๆ งามๆ หรือเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น โดยไม่ต้องรู้สึกผิดมาก ทุกวันนี้บางทีเวลาเห็นคนอื่นที่ออกไปต่อสู้เยอะๆ ต้องเเลกด้วยอิสระภาพและชีวิต เเต่บางวันเราเเค่นั่งเฉยๆ ในที่บรรยากาศดีๆ ยังรู้สึกเห็นเเก่ตัวเลยครับ”
ติดตามและอัปเดตผลงานเสียดสีสังคมและการเมืองทั้งหมดได้ที่
Facebook: พาหะ
Instagram: paha_illustration
Twitter: @Paha04841386