ย่านเมืองเก่ากลางกรุงฯ อย่าง 'ตรอกตึกดิน' ถนนดินสอ หรือที่เรารู้จักในนาม ‘ศาลาว่าการกรุงเทพฯ’ พื้นที่ๆ เต็มไปด้วยเรื่องราว วิถีชีวิตของผู้คน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม วัดวาอาราม และอาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ 'ศิลปะ' ก็เป็นอีก 1 สิ่งที่ช่วยเพิ่มพูนให้พื้นที่แห่งนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนกับที่ 'Payaq Gallery Cafe & Bar' ที่ได้ปักหมุดแลนด์มาร์กแห่งนี้ ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2022 เพียงแค่คุณเดินเข้ามาในซอยตึกดินตามป้ายยันต์ของพยัคฆ์บอกทาง คุณก็จะพบกับถ้ำเสือสุดร่มรื่นที่แฝงไปด้วยความอบอุ่น ละมุนไปกับงานอาร์ต หอมกรุ่นเครื่องดื่ม และเมนูคาว-หวาน เบิกบานใจไปกับเสียงดนตรี พร้อมกิจกรรมดีๆ หรือจะย่ำราตรีเป็นพื้นที่แฮงเอาท์ก็ย่อมได้
พื้นที่ขับเคลื่อนศิลปะสุดเท่แห่งนี้ ก่อตั้งโดย ‘ต้น’ – ดร.ศราวุฒิ ปิ่นทอง (อาจารย์ประจำคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ‘เติ้ล’ – ธีระยุทธ พืชเพ็ญ (ศิลปิน Street Art) และ ‘แก๊ป’ – ดร.ยศพร จันทองจีน (อาจารย์ประจำสาขาวิชา ออกแบบภายใน วิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์)
ชุบชีวิตบ้านไม้เก่า เพื่อบอกเล่าเรื่องราว และงานอาร์ตของ 'พยัคฆ์'
เติ้ล: เริ่มจากเรา 3 คน ผมเป็นศิลปิน ต้นเป็นดีไซน์เนอร์ นักออกแบบ และเป็นอาจารย์ แก๊ปก็เป็นอาจารย์ เรามีความรักศิลปะเหมือนๆ กันและมีอะไรที่คล้ายๆ กัน มีความชอบที่เหมือนกัน
ต้น: เราเริ่มเห็นพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งเป็นบ้านของเพื่อนที่สนิทกัน ตอนแรกเราคุยกันว่าอยากหาอะไรทำ พอมาเจอที่นี่ทุกคนชอบ เลยอยากทำอะไรสักอย่าง เพราะพวกเราอยู่ในแวดวงศิลปะ เลยอยากสร้าง Creative Space ขึ้นมา โดยเป็นพื้นที่ๆ สามารถรองรับกิจกรรมทางศิลปะได้ในทุก Art From เลยเริ่มทำ 'บ้านไม้ขาว' และได้เข้ามาดู ปรับ และจัดแต่งพื้นที่ตามที่แต่ละคนถนัด ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น 'Payaq Gallery' เพราะเรานั่งคุยกันและเห็นสิ่งที่เป็นลักษณะร่วมกันของทั้ง 3 คน คือ มีรอยสักรูปเสือเหมือนกัน ต่างคนต่างสักกันมา ซึ่งเราอยากได้ชื่อไทยๆ เพื่อให้ลิงก์กับพื้นที่ เรารู้จักพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งมีตำนานเรื่องเกี่ยวกับเสือ และเป็นที่มาของศาลเจ้าพ่อเสือ พอพูดชื่อนี้มาทุกคนแฮปปี้ เลยใช้ชื่อนี้
“Space ตรงนี้ค่อนข้างหลากหลาย 90% ของบ้านไม้ขาวเรายังคงของเดิมไว้ แม้กระทั่งโซนคาเฟ่ก็ยังเป็นโซนเดิมของบรรยากาศที่บ้าน พื้นที่ในสวนต้นไม้ใหญ่อย่างต้นแก้วที่ปลูกก็เป็นต้นไม้เก่าแก่ดั้งเดิม มีอายุประมาณ 80 ปี เราก็เพิ่มในส่วนไม้กระถาง ตัวบ้านอายุ 150 ปี เป็นบ้านของคุณย่าเพื่อน เราไปมาหาสู่ตั้งแต่เด็กๆ จนสนิทกัน จากนั้นบ้านถูกปิดตายไปประมาณ 25 ปี เลยลองคุยกัน 3 คน และลองมาดูที่นี่ ซึ่งมันก็คือช่วงนี้ของปีที่แล้ว” – ต้น
พื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ของเหล่าศิลปิน
ต้น: เราวางไว้ว่า อยากให้เป็นพื้นที่ๆ แลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ศิลปะกันระหว่างศิลปิน ทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นเล็ก หน้าเก่า หรือใหม่ เป็นพื้นที่ๆ ให้เขาได้โชว์ของ และมีโอกาสได้แสดงงาน เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราเปิดรับคือ ไอเดียทั้งหมด หรือสิ่งที่ใครสนใจ หรืออยากมาทำอะไรที่นี่เราก็ยินดี ถ้าสิ่งนั้นสอดคล้องกับพื้นที่ของที่นี่
กิจกรรมที่เกิดขึ้นที่นี่มีทั้งดนตรี ภาพยนตร์ เครื่องดื่ม และศิลปะ มีเรื่องการแสดง เรื่องออกกำลังกาย
เติ้ล: จริงๆ เพื่อนสนิทผมทำโครงการ 'โนราห์ไทยฟิต' คือ การเอาท่ารำไทยมาดัดแปลงเป็นท่าออกกำลังกาย คล้ายแอโรบิก มีการออกแบบเสื้อผ้า และท่าทางให้เหมาะสมกับความเป็นไทย โดยผมเขียน Proposal ไปขอทุนที่สำนักงานสื่อสร้างสรรค์ ซึ่งโครงการนี้เคยลงพื้นที่ไปที่ปัตตานี โดยได้ทำการเก็บข้อมูล สืบค้น และไปเรียนรู้ท่ารำที่แท้จริงจากครูโนราห์ จากนั้นก็กลับมากรุงเทพฯเพื่อปรึกษากับนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อออกแบบท่าเต้นให้สอดคล้องกับสรีระ และดีไซน์ให้เหมาะกับทุกเพศทุกวัย
พื้นที่สารพัดประโยชน์สำหรับคนทุกวัย
เติ้ล: มีตั้งแต่เด็ก 7-8 ขวบ นักศึกษา จนกระทั่งศิลปินรุ่นใหญ่ ด้วยความที่อยู่ย่านกลางเมืองเก่าของกรุงเทพฯ มีนักท่องเที่ยว และมีชาวต่างชาติที่เดินเข้ามาแวะชิมกาแฟ และที่นี่มี Airbnb ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักตลอด ราคาคืนละประมาณ 2,095 บาท ตรงโซนคาเฟ่ก็มีหลากหลาย ทั้งเด็กนักเรียน หรือผู้ใหญ่วัยทำงานก็เข้ามานั่งพูดคุย หรือถ่ายรูป แต่หลักๆ จะเป็นกลุ่มเพื่อนศิลปิน รุ่นพี่รุ่นน้อง ที่เข้ามาแฮงเอาท์ หรือมาใช้เวลาอยู่ด้วยกันที่นี่ มาดูงานอาร์ตแล้วมานั่งแฮงเอาท์กันต่อครับส่วนใหญ่
ต้น: เติ้ลสอนศิลปะวันอาทิตย์ ก็จะมีนักเรียนศิลปะ เติ้ลก็มาวาดรูป คลาสที่เพิ่งมีไปคือ 'ร้อยพวงมาลัย' อันนั้นเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เป็นคนจีน เขาก็เข้ามาหามาเจอกิจกรรมจนได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มันคือ Community
เติ้ล: เรามีจัดแข่งเกม Winning เป็นเกมกดยุค 90 จะมีกลุ่มคนอายุ 30 ขึ้นไปมาเล่น ทำให้มีกลุ่มคนหลากหลายวนเวียนเข้ามาที่เราเรื่อยๆ โดยจัดกิจกรรม Winning ชื่อ Payaq Cup แข่งฟุตบอลซึ่งเป็นที่นิยมมากในยุค 90 เราดีไซน์เสื้อให้เพื่อไว้ใส่แข่งขันกัน เราจัดแข่งขันมา 3 อาทิตย์แล้ว
โปรเจกต์ 'บ้านไม้ขาว' แรงบันดาลใจในความทรงจำ
ต้น: มันคือความพิเศษจากชื่อโปรเจกต์ 'บ้านไม้ขาว' เราจึงต้องการพื้นที่ และผนังที่เป็นสีขาว Mode & Tone ของที่นี่จึงเป็นสีสว่าง ส่วนเรื่องการตบแต่งเราค่อยๆ เติมเข้ามา เพราะเราไม่ได้มีงบประมาณเยอะ ของที่เห็นคือของเดิมที่เหลืออยู่ โต๊ะ เก้าอี้ก็ของเดิมๆ แม้กระทั่งตู้เย็น ที่มันพังคือหลังคา เลยต้องยกขึ้นและปรับสโลปใหม่ ไม้ม้านั่งก็ดัดแปลงมาจากบันไดบ้านที่รื้อออกมา เราเอาวัสดุต่างๆ ของบ้านที่เหลือใช้มาทำใหม่ให้เกิดประโยชน์ ไม้ระแนงก็ของเดิมๆ เราก็เปลี่ยนโครงสร้างเป็นเหล็ก ตัวห้องคาเฟ่เดิมเป็น Open-air เราก็ทำเป็นกระจก
เติ้ล: แม้กระทั่งตัวพื้นไม้ด้านนอกก็เป็นพื้นบ้านเดิมๆ มันผุแค่ฝ้า ทุกอย่างยังคงเดิม และพวกเราก็ใช้ความรู้แต่ละด้านที่มีมาช่วยกัน ผมทำ Space อาจารย์แก๊ปก็เป็น interior ทำเรื่องตบแต่ง ส่วนต้นก็ดูเรื่องศิลปะและอาร์ตเวิร์ก
'ช่องลม' ของบ้าน และ 'จินตนาการ' สู่งานออกแบบโลโก้
เติ้ล: ตอนผมเข้ามาดูที่นี่ ผมมองช่องลมเป็นลายเสือ มันเหมือนหัวเสือ
ต้น: จริงๆ มันคือลายไม้ทั่วๆ ไป แต่วันนั้นตอนเราเดินลงบันไดแสงมันผ่าน ดูแล้วแบบรู้สึกว่ามันคือเสือ เลยคุยกับเติ้ลว่าเห็นเหมือนกันไหม
เติ้ล: ผมเลยถอดมาเป็นโลโก้ Payaq บิดนิดหน่อยให้เข้าที่เข้าทาง ดูเป็นเสือชัดเจนขึ้น ประตูเลยทำลายฉลุ และไดคัทให้เป็นหน้าเสือแบบชัดๆ ด้วย
ต้น: มันก็คือเรื่องที่เราชอบเสือเหมือนกัน
เติ้ล: ตอนนั้นเป็นปีเสือ โชว์แรกของที่นี่ชื่อ 'เสือ 11 ตัว' ผมก็เชิญศิลปิน 11 คนมาพรีเซนต์ความเป็นเสือของแต่ละคน
ต้น: ทำวันที่ 11 เดือน 11 เลี้ยงยาดองเหล้าเสือ 11 ตัว
เติ้ล: และมีเสือร้องไห้
แกลเลอรี่ที่ชุบชีวิตงานศิลป์ทั้งเก่า และใหม่เข้าด้วยกัน
เติ้ล: เพื่อนที่เป็นเจ้าของบ้าน ไม่ได้เรียกร้องหรือร้องขออะไรเลย แค่ให้เราดูแลบ้านให้เขา เขาก็แฮปปี้มากแล้ว เราเลยคุยกันว่า อยากมีห้องที่สามารถเก็บพื้นที่ให้เป็นที่ระลึกให้กับเพื่อนที่เป็นเจ้าของบ้าน จึงเป็นที่มาของ 'ห้องบ้านไม้ขาว' เป็นห้องที่จัดแสดงประวัติความเป็นมาของบ้าน ถ้าเราเข้าไปจะเห็นตัวโฉนดและภาพสถาปัตยกรรมตัวอาคาร ภาพคุณปู่คุณย่าของเพื่อน ของที่อยู่ในห้องทั้งหมดคือของในวันที่เขาย้ายออกไปแล้วเขาไม่ได้เอาอะไรไปเลย เลยต้องคัดเลือกของบางอย่างและคุยกับเพื่อนเจ้าของบ้านว่าของเหล่านี้มีมูลค่า แต่เขาไม่เอาไปไหน เราเลยค่อยๆ เก็บรวบรวมว่าจะเอาอะไรไปไว้ตรงไหน แล้วผมต้องขนของส่วนหนึ่งไปเก็บไว้ที่โกดัง
ต้น: กระถางก็ของเขา เราแค่ซื้อต้นไม้มาใส่ โคมไฟที่เห็นคือของเดิมหมดเลย สภาพบ้านเหมือนคนที่อยู่บ้านหลังนี้ตลอด แล้ววันหนึ่งเขาไม่อยู่ ของเลยถูกทิ้ง เราเลยคัดของที่เป็นตัวตนของตระกูลของเพื่อนเพื่อจัดวางไว้ในห้องทั้ง 2 ห้อง ส่วนนี้เลยเป็นนิทรรศการถาวรไปสำหรับห้องบ้านไม้ขาว
อีกส่วนคือ 'ห้องพยัคฆ์พาณิชย์' Shop ที่รองรับผลงานของศิลปิน หรือ ชิ้นงานที่นำมาฝากขาย เราก็จะจัดวางในส่วนนี้ให้
เติ้ล: ส่วนพื้นที่ข้างล่างช่วงที่มีอีเวนต์ หรือเวิร์กช็อป จะใช้พื้นที่บริเวณนั้น แต่บางโชว์จะใช้พื้นที่ทั้ง 2 ชั้นเลย แต่ส่วนใหญ่ชั้นบนจะใช้เป็นการแสดงงานโชว์เป็นหลัก และทุกๆ วันเสาร์ต้นเดือนเราจะมีโปรแกรมฉายภาพยนตร์ เป็นหนังรางวัลหรือหนังอาร์ต เป็น Community ของคนรักหนัง ผู้กำกับหรือคนเขียนบทหนังเรื่องนั้นจะมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ชม เป็นพื้นที่ๆ ทำให้คนที่สนใจหนังได้เข้าถึงตัวผู้กำกับได้ อันนี้เป็นส่วนของกิจกรรมที่เราจัดทุกเสาร์ต้นเดือน
ส่วนด้านบนห้องแต่ละห้องเราจะตั้งชื่อล้อไปกับผ้ายันต์ของศาลเจ้าพ่อเสือ ลักษณะ สี โดยแบ่งตามประเภทของเสือ อย่าง 'เสือสมิง' คือ ห้องตรงกลาง ซึ่งเดิมเป็นห้องพระ ซึ่งเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และมีห้อง 'เสือโคร่ง' 'เสือพาดกลอน' 'เสือลายเมฆ' ซึ่งแต่ละห้องจะพูดถึง Space ของตัวเอง
ส่วนพาร์ทของดนตรี จะมีทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ โดยวันศุกร์จะมีดีเจมาเปิดเพลงตั้งแต่ทุ่มตรงเป็นต้นไป เป็นแนว เรกเก้ อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนเสาร์-อาทิตย์ เป็นอคูสติก
เติ้ล: ทุกเดือนจะมีวง Miraculous มาเล่นที่นี่ Kai-Jo Brothers ก็เคยมาเล่นที่นี่นักดนตรีเต็มลานเลยครับ
พื้นที่เปิดรับสำหรับทุกๆ ความตั้งใจ
ต้น: เราเลือกจากความสัมพันธ์ก่อนครับ เลือกจากเพื่อนพี่น้อง 3 โชว์แรกที่ผ่านมาของเราเกิดจากมิตรภาพ ดึงและชวนมาจัดงานร่วมกัน พอพื้นที่เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โชว์จากนี้ไปจนถึงมีนาคมปีหน้ามีโชว์ทุกเดือน ซึ่งคนพวกนี้เราช่วยเขาดูเรื่องคแนเซปต์หรือแนวทาง โดยเขาจะเดินเข้ามาหาเราเองถ้าเขาอยากจัดงานที่นี่ ซึ่งเราจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ และจัดแสดงงานทุกสัปดาห์
เติ้ล: ด้านนอกเป็น Art Market มีดนตรี ซึ่งเราก็ครีเอทร่วมกัน เพราะฉะนั้น ต้องคุยและทำความเข้าใจกันก่อน เพราะเราก็ไม่ได้เปิดกว้างว่าใครมาก็ได้ เพราะมันต้องคลิกกับพวกเราด้วย
มนตร์สะกดของบ้านลับในตรอก
ต้น: Space และบริบทรอบๆ ของที่นี่ จอดรถยาก เข้าถึงยาก หลง ลับ บางคนก็มองว่าดี เหมือนถูกสะกด เพราะเดินเข้ามาเป็นตรอกซอยแคบๆ แล้วมาเจอตู้มเดียวคือ บ้านที่มี Open Space 99% ของคนที่มาที่นี่จะชอบเมื่อเขามาถึงที่นี่แล้ว
เติ้ล: แต่เพื่อนบ้านแถวนี้เขาจะรู้เลยว่า ถ้ามีคนแปลกๆ มา เขาจะกวักให้เข้ามาในนี้หมดเลย พวกพี่ๆ แก๊งปากทางน่ะครับ
“เราต้องการให้พื้นที่ตรงนี้เป็น Community สำหรับคนที่สนใจ และรักงานศิลปะได้มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพราะมันไม่มี Art Space ที่ไหนที่มานั่งคุย แลกเปลี่ยน และมาแฮงเอาท์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา” – ต้น
Gallery Cafe & Bar?
ต้น: ตอนแรกเราทำแค่ Cafe ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเครื่องชงกาแฟ เพิ่งทำได้ 2 เดือน เริ่มจากที่พวกเราชอบดื่ม เวลาเราเข้ามานั่งทำงาน โปรเจกต์นี้เราผูกพันกับมันมาก เราอยู่กับมัน และค่อยๆ ดูมัน เพราะมันไม่สามารถเขียนแบบได้ 100% ต้องอาศัยการคุยกันหน้างาน เราเห็นมันอยู่ทุกวัน และค่อยๆ พัฒนามันไป ซึ่งตัวผมเองก็ทำธุรกิจส่วนตัวเป็น Cafe & Farm เลยขนขนมที่ฟาร์มมาไว้ที่นี่ ซึ่งที่นี่มีทั้งเน้นดื่มเหล้าได้ กาแฟก็มี และมีอาหารที่เราสามารถบริหารจัดการได้ ซึ่งตอนนี้มันน่าจะนิ่งแล้ว
ต้น: เครื่องดื่มที่นี่ก็ดีไซน์ให้เป็นตัวเราทั้ง 3 คน ผมกับเติ้ลชอบดื่มแสงโสม เราก็นำมา Twist ให้เป็น ‘พยัคฆ์’ เครื่องดื่มแนว Gentleman อีกอันคือ ‘ดอกไม้ขาว’ ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของที่นี่ คือการ Infuse ของต้นไม้ และดอกไม้ที่นี่ โดยผ่านกระบวนการ บวกกับน้ำเต้าหู้ที่ผมทำ เลยนำมาทำเป็นฟองโฟมของเมนูนี้ ส่วน ‘พยัคฆ์ซาวร์’ หรือ ‘พยัคฆ์เปรี้ยวตีน’ คล้ายๆ วิสกี้ซาวร์ มีความสดชื่นเวลาดื่ม โดยเครื่องดื่มทุกแก้วจะถูกตกแต่งด้วยดอกไม้ที่ปลูกที่นี่
เติ้ล: ลองสังเกตดีๆ ต้นไม้ทุกต้นของที่นี่จะมีดอกไม้เป็นดอกสีขาวทั้งหมดเลย
ศิลปะ และ ‘ความงาม’
ต้น: การแสดงออกทางด้านความคิด อารมณ์ ของคน หรือศิลปิน จะสื่อสารระหว่างผู้วาดกับผู้ชม จึงจะมีความสมบูรณ์แบบในศิลปะนั้นๆ ที่นี่เชื่อในพลังความงามของศิลปะ และพลังทางความคิดสร้างสรรค์ของคน ผมเชื่อว่าศิลปะสร้างโลก
เติ้ล: มันคือความสวยงามที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนใคร นั่นคือ ศิลปะ จะสวยมากหรือน้อยก็คือศิลปะ แต่ที่นี่ไม่ได้ตัดสินศิลปะที่ความงาม เราตัดสินที่คอนเซปต์ของงานเขา
“ความงามเป็นเรื่องปัจเจก ที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ และความหลากหลาย” – ต้น
ศิลปะที่แท้จริงต้องเข้าถึงทุกคน
ต้น: พื้นที่ศิลปะสมัยนี้มันไม่ได้อยู่ในกรอบ และไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์ด้วยศิลปินระดับชาติ หรือระดับประเทศ คนกลุ่มนั้นที่เป็นคนสร้าง Mindset ให้กับลูกศิษย์ของเขารู้สึกอึดอัด และต้องเดินตามเส้นทางหรือกรอบ แต่ศิลปะจริงๆ มันถูกออกแบบ และสร้างมาเพื่อต่อรองกับอำนาจ มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ และความรู้สึก ซึ่งศิลปินรุ่นใหม่ๆ มีวิธีการถ่ายทอดงานศิลปะในแบบที่เขาต้องการ ชอบ หรือถนัด ทำให้ Street Art หรือคนที่จะเข้าถึงศิลปะเข้าถึงได้ง่าย
ความงามแบบนั้นคือ ความงามแบบเก่าที่คนไม่เข้าใจ ไปดูแล้วผิดไม่ได้ หรือปรับเปลี่ยนไม่ได้ ในขณะที่ปัจจุบันโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ศิลปะมันเปิดกว้างกว่านั้น เทคนิคต่างๆ ถูกเอามาใช้ผสมผสาน และพื้นที่ๆ มันไม่เพียงพอต่อจำนวนศิลปิน เพราะการเข้าไปจัดงานใน Art Gallery ต้องมีงานระดับไหน เลือกศิลปินคนนี้มาแล้วขายงานได้ไหม มันมีรูปแบบของมันอยู่ ซึ่งผมเชื่อว่าศิลปะที่แท้จริง ต้องเข้าได้ถึงทุกคน
“หลายๆ ครั้งที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจรัฐผ่านกระบวนการคิดของผู้สร้างสรรค์งาน เมื่อเอาศิลปะไปเทียบกับวัฒนธรรมชั้นสูง หรือเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา ชนชั้นปกครอง มันเลยกลายเป็นของสูงที่เข้าไม่ถึง ศิลปินพวกนี้จะค่อยๆ แก่ตายหายไป” – ต้น
ศิลปินไส้แห้ง?
เติ้ล: อันนั้นเป็นเรื่องของตัวศิลปินเองมากกว่าว่าเจ๋งแค่ไหน ถ้าเจ๋งจริงมันก็รอด มันก็ไม่แห้งครับ แต่ไส้ผมเปียกทุกวันเลยครับ (หัวเราะ)
ต้น: ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ถ้าเราทำงานออกมาดี วันหนึ่งคนก็จะมองเห็นคุณค่าของงานเรา จึงเป็นเรื่องของประสบการณ์เพราะใครๆ ก็วาดรูปได้ ถ้าวาดแล้วมีคนเข้าใจ มันก็จะรันไปด้วยตัวของมันเอง จะเขียนรูปวันแรกแล้วดังเลยก็คงเป็นไปไม่ได้
ศิลปินตอนนี้เยอะมากที่ทำงานด้านศิลปะ เทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องทำให้การแพร่กระจายง่าย คนเลยมีสื่อและช่องทางของตัวเอง
เติ้ล: Social Media มันพยุงกันได้ครับ
ต้น: คนที่ยังยืนได้คือ คนที่รักมันจริงๆ มันถึงจะอยู่ได้ ต้องฝึกฝน ต้องวาดรูปทุกวัน ผมคิดว่าศิลปะในยุคนี้ยังไปได้สบายๆ นับวันยิ่งสนุกและหลากหลาย เราสามารถเป็นเพื่อนกันได้ทั่วโลก เพราะมีเดียเข้าถึงง่าย
ศิลปะที่ก้าวข้ามผ่านแต่ละยุคสมัย
เติ้ล: เปลี่ยนแปลงแน่นอนครับ เครื่องไม้เครื่องมือทุกอย่าง องค์ประกอบมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เมื่อก่อนเทคนิคอาจไม่มากขนาดนี้ เพราะอุปกรณ์ก็ยังไม่มีมากเทคนิคก็น้อย แต่ตอนนี้โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว มีการนำเข้า มี YouTube สอนเทคนิค การพัฒนามันเห็นๆ ทำให้คนมีทักษะ หรือเทคนิคที่เจ๋งขึ้นเรื่อยๆ
ต้น: ด้วยเทคโนโลยี หรือเทคนิค การวาดภาพ 2D ทำให้เป็น 3D ได้ โลกมันพัฒนาไปเรื่อยๆ และศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ มันเลยถูกพัฒนา และเปลี่ยนความเชื่อเท่านั้นเอง จากเดิมที่เป็นแบบจารีต หรือแบบ Realistic มันก็มีคนที่ชอบด้านนั้นไปเลย อย่างคนที่ทำ Abstract สื่อผสม ผมเห็นเขาใช้เทคนิคอะไรใหม่ๆ หรือรูปแบบการทำงานที่ผสมผสาน
ขับเคลื่อนวงการศิลปะไทยให้เดินหน้าไปแบบ ‘พยัคฆ์’
เติ้ล: อย่างน้อยที่นี่ก็เป็นเวที หรือจุดเริ่มต้นให้ศิลปินหน้าใหม่หลายๆ คน เราพยายามจะดันทุกๆ คน อย่างน้องๆ ที่ไม่เคยโชว์แต่ฝีมือดี ผมก็พยายามดันเต็มที่และช่วยพยุง แม้กระทั่งตัวผมเองที่คิดว่าน้องคนนี้มันมีของ นอกจากเราจะพามาโชว์ที่นี่ เรายังพาไปโชว์ที่อื่นด้วย
ต้น: สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือ การให้โอกาส ซึ่งพื้นที่ตรงนี้ก็ถูกสร้างมาด้วยวัตถุประสงค์นั้น เราต้องการสร้างคลาสหรือการเวิร์กช็อปอะไรบางอย่างที่สร้างเยาวชนหรือกลุ่มคนใหม่ๆ ให้เขามีความรู้ความเข้าใจเรื่องการสร้างสรรค์งาน เราคงเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะเราเปิดยังไม่ถึงปียังมีศิลปินที่อยากเข้ามาทำงานกับเราและอยากใช้พื้นที่ของเรา ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า เราไม่ได้คิดเรื่องผลประโยชน์ของการสร้าง Art Gallery เลย เพราะเงินทั้งหมดที่ลงไปกับพื้นที่นี้ มันไม่มีทางคืนทุน แต่ทุกวันนี้สิ่งที่ได้มาคือ ความภูมิใจ และ ความรัก
เติ้ล: ไม่ต้องคิดว่าจะคืนทุนตอนไหน แต่ทำอย่างไรให้เรายืนได้ในระยะตรงนี้ได้ ตัวคาเฟ่เลยถูกให้ความสำคัญ เพราะมันสามารถสร้าง Passive Income ให้เราได้ จริงๆ มันคือรายได้หลักเลยแหละ เรามี Airbnb เพื่อช่วยหมุนและซัพพอร์ตเงินให้เข้ามา แต่พื้นที่ๆ เราไม่มีทางจะเปลี่ยนเลยคือ Space ที่เป็นพื้นที่ศิลปะครับ
“มีอยู่วันหนึ่ง ผม Light Painting โชว์ แล้วมีน้องคนหนึ่งถือเฟรมมาหาเพื่อนผมที่เป็นศิลปินญี่ปุ่น ผมเห็นแล้วทึ่งว่านี่คืองานเด็ก แล้วเขาไม่เคยไปโชว์ที่ไหนสักครั้งในชีวิต ผมก็ชวนและพาไปโชว์ เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ผลักดันดาวได้สักดวงสองดวง พยายามช่วยผลักดันน้องๆ รุ่นใหม่ แม้กระทั่งในโซเชียลถ้าเห็นคนไหนแล้วรู้สึกคลิกผมเข้าหาเลย” – เติ้ล
ความท้าทาย และความประทับใจในทุกย่างก้าวของเสือ
ต้น: จริงๆ โครงสร้างทั้งหมดมันไปได้หมดแล้ว ปัจจัยภายนอกอันเดียวที่เราจะมีปัญหาคือ เพื่อนผมเอาบ้านคืน (หัวเราะ) ถ้าที่นี่เป็นที่ๆ คนรู้จักมากขึ้น และเราดูแลคนที่เข้ามาเยี่ยมเราได้ ทำให้พวกเขาประทับใจ เขาก็จะกลับเข้ามาอีก ซึ่งตรงนี้จะมี Atmosphere แบบสบายๆ เป็นกันเองเหมือนมาบ้านเพื่อน
เติ้ล: ภูมิใจที่สุดคือ ได้มิตรภาพจากคนที่เข้ามาร่วมงานกับเราทุกคนเลย
ต้น: ถ้าเห็นภาพกิจกรรมที่เกิดขึ้นที่นี่จะเข้าใจ เพราะเราไม่ได้ต้องการความสำเร็จในรูปแบบของเงินเพียงอย่างเดียว เงินแค่เอามาหล่อเลี้ยงให้ Space ของเราอยู่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่เรารู้สึกภูมิใจกับมันคือ ที่เล็กๆ ตรงนี้ เรามีวงดนตรี Kai-Jo Brothers มาเล่นให้เรา มีวง Miraculous มีนักร้อง มีเพื่อนฝูงที่เป็นนักดนตรีและคนทำงานศิลปะ ศิลปินที่เดินหน้ากันเข้ามาแลกเปลี่ยน เหมือนมาเติมเต็มกัน ทั้งนั่งคุย แชร์ และ แลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันเป็น Community แบบที่เราต้องการและอยากเห็น นั่นคือ ความภาคภูมิใจของพวกเรา
อุปสรรค และปัญหาก่อนจะผ่านมาเป็น Payaq
ต้น: น่าจะผ่าน เคลียร์ และคลี่คลายไปหมดแล้ว เรื่องการก่อสร้างก็จบแล้ว ของที่มีเราก็พร้อมที่จะดูแล เราแทบจะไม่มีเลย เพราะเราก็ช่วยกัน
เติ้ล: เรื่อง Connection ลงตัว ตอนแรกคิดว่าเราน่าจะมีปัญหาเรื่องเสียง เพราะเวลาเล่นดนตรีมันดังมาก แต่ปรากฏว่าไม่มีปัญหา เพื่อนบ้านก็แฮปปี้ดี เราขออนุญาตเขต ขออนุญาตสถานีตำรวจ และประสานงานกับเพื่อนบ้านว่าวันนี้จะมีดนตรี และเราจะฟิกเรื่องเวลากับเขา
ต้น: ปัญหาแรกคือ โชว์แรกๆ ที่เรารีบรัน เพราะเรารีบทำกันมาก ตอนนั้นเลยต้องคุยกับคนเยอะ
เติ้ล: แต่เราก็ใช้แต้มบุญที่มีดึงศิลปินมา (หัวเราะ)
หัวใจสำคัญในการทำ Payaq Gallery Cafe & Bar
ต้น: เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องรักษาไว้คือ แนวความคิดสร้างสรรค์เรื่องการจัดการกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่พยัคฆ์ ซึ่งไม่อยากให้ใครจับทางเราได้ว่าเราจะทำอะไร ถ้าพูดถึงแง่การแข่งขันงานแกลเลอรี่เราไม่มีอะไรแข่งกับใครได้เลย แต่สิ่งที่เรามีแล้วคนอื่นไม่มีคือ เขาไม่มี Space แบบนี้ ซึ่งใครเข้ามาก็ตายทุกราย เมื่อมีคน มีเพื่อนฝูง มีเสียงดนตรี มันจะเห็นบรรยากาศชัดขึ้น เราเริ่มคิดถึงศิลปะในรูปแบบที่หลากหลาย นั่นคือ ความท้าทายของพวกเรา
“เราอยากทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เราหยุดคิดที่จะทำให้มันแตกต่างจากที่อื่นไม่ได้ เราจึงครีเอทกิจกรรมเล็กๆ ขึ้นมา ซึ่งอาจจะมีคนแค่กลุ่มเล็กๆ แต่มันคือกลุ่มเฉพาะจริงๆ และเราก็ได้ทำตรงนั้น ได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่เราคิด ก็มีคนบ้าเหมือนเรา” – ต้น
ความคาดหวังของ Payaq Gallery Cafe & Bar
ต้น: อยากให้เป็นพื้นที่ ที่ให้คนนึกถึง ว่ามาบ้านพยัคฆ์แล้วอยากมาอีก มันไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะอย่างเดียว แต่มันคือไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่ง ที่เขามาแล้วจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เราพยายามจะทำหน้าที่ของเราตรงนี้ให้ดีที่สุด
ต้น: ได้แลกเปลี่ยนไอเดียซึ่งกันและกัน เพราะที่นี่คือ Community เหมือนได้ต่อยอดไอเดียการทำงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกหรือผู้ก่อตั้งพื้นที่นี้ เพราะเราเจอคนทุกวัน
Payaq Gallery Cafe & Bar ในอนาคต
ต้น: มีแพลนจะทำแค่เฉพาะในสวน ทำแค่เก้าอี้ให้นั่ง เพราะกลางวันแดดค่อนข้างแรง ส่วนคาเฟ่เรื่องเมนูเราเพิ่มตลอดครับ เดิมมีแค่กาแฟกับขนม ตอนนี้มีอาหารเยอะขึ้น มีหลายอย่างมากขึ้น ที่คิดไว้ว่าอยากทำคือ ไอศกรีม ตอนนี้อยู่ระหว่างรอสูตรให้ลงตัวครับ เราต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะถ้าคนที่มาเจอของซ้ำๆ เดิมๆ เราก็เลยต้องปรับโน่นนี่นั่นตลอดเวลา
เติ้ล: ตัว Space เราก็ต้องปรับอยู่ตลอดเวลาครับ
Payaq Gallery Cafe & Bar
58 วัดมหรรณพาราม 1 เสาชิงช้า เขตพระนคร
กรุงเทพมหานคร 10200 (Google Map)
เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00 - 23.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Facebook: Payaq Gallery Cafe & Bar
Instagram: payaq.gallery