Art

แรงบันดาลใจของเส้นสายจากธรรมชาติ สู่งานอาร์ตที่สวมใส่ได้ของ ‘Phana Design’

“เครื่องประดับของ Phana Design มันคือการไปเพิ่มศิลปะบนตัวคนอื่น มันเข้าไปตกแต่ง มันเข้าไปประดับที่คน มันคืองานอาร์ตหนึ่งชิ้นคุณสามารถวางตกแต่งที่บ้านได้ วางไว้ก็เหมือนศิลปะหนึ่งชิ้น”

‘โอ๋’ – พนัชกร กิจเมธาวรกุล ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Phana อธิบายถึงเครื่องประดับจากแบรนด์ของเธอให้เราฟังว่า งานดีไซน์ของเธอไม่ใช่แค่เครื่องประดับที่เอาไว้สวมใส่ แต่มันคือสิ่งที่เจ้าตัวเรียกว่า ‘Wearable Art’ หรืองานศิลปะที่สวมใส่ได้ ซึ่งสีสันที่สดใส และลวดลายที่โดดเด่นสะดุดตา ทำให้เราอยากนำงานดีไซน์จาก Phana มาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักในวันนี้

จุดเริ่มต้นของงานคราฟต์ และแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ

Phana Design เริ่มต้นจากจุดเริ่มต้นแสนคลาสสิกของแบรนด์ธุรกิจหน้าใหม่ในทุกวันนี้ อย่างการหากิจกรรมทำในช่วงที่ต้อง Home Isolation ระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19

“พอดีตอนนั้นโอ๋เพิ่งเรียนจบป.โทกลับมา แล้วก็เป็นช่วงโควิด-19 เลย แล้วต้นปี 2020 เราก็เหมือนต้องอยู่บ้าน แล้วไม่รู้จะทำอะไร หมายถึงว่า เราไม่สามารถออกไปหาวัสดุอะไรได้ เราก็เลยลองคิดหาสิ่งที่เราสามารถทำเองได้ที่บ้าน แล้วก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง” โอ๋เล่าก่อนจะเสริมว่า เธอไม่ได้ตั้งใจจะทำสิ่งนี้เป็นธุรกิจจริงจัง เพียงแต่ทำฆ่าเวลา และขายให้เพื่อนๆ และคนรอบตัวเท่านั้น

ซึ่งสินค้าชิ้นแรกๆ ที่โอ๋ทำออกมาขายคือ ‘ต่างหู’ ซึ่งในวันนั้นยังไม่มี Phana Design ด้วยซ้ำ

“เราเริ่มจากการทำต่างหูก่อน จริงๆ ตอนเริ่มแรกเรายังไม่ได้คิดถึงแบรนด์ ไม่ได้คิดถึงอะไรเลย เราก็ทำแค่ปั้นดินให้เป็นต่างหู มันก็จะเป็นดีไซน์แบบตามใจฉันไป แต่พอเราเริ่มรู้สึกว่า เฮ้ย มันน่าสนใจ มันต่อยอดได้ เราก็เริ่มมาคิดว่า ถ้าเราจะทำเป็นแบรนด์เราจะทำอย่างไร มันถึงค่อยๆ เริ่มมีการออกแบบที่ชัดเจนมากขึ้น

พอเราเริ่มจริงจังขึ้นเราก็เลยคิดว่า แบรนด์เราจะใช้ชื่อว่าอะไร ก็ออกมาเป็น ‘Phana’ ย่อมาจากชื่อจริงของเรา คือ ‘พนัชกร’ แล้วความหมายของ ‘พนา’ ในภาษาไทยมันแปลว่า ‘ป่าไม้’ เราก็เลยคิดว่า เราเอาชื่อแบรนด์ มาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชิ้นงาน ให้มีลวดลายมาจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา”

“แรงบันดาลใจในการออกแบบ พอเราเลือกให้มันเป็นรูปทรงของธรรมชาติ เราก็เห็นข้อดีของรูปทรงธรรมชาติว่า รูปทรงของธรรมชาติมันไม่มีขอบเขตตายตัว เราอาจมองว่า ภูเขาต้องเป็นรูปทรงแบบนี้ แต่อีกคนอาจจะมองเป็นรูปทรงอีกแบบหนึ่ง เรารู้สึกว่า ของที่มันธรรมชาติสร้างขึ้น มันไม่มีขอบเขต หรือไม่มีรูปแบบตายตัวที่แน่นอน มันให้อิสระทางความคิด ทั้งคนออกแบบ และคนที่พบเห็น”

Phana Design แบรนด์เครื่องประดับรูปร่างแปลกตา ที่หยิบเอาแพทเทิร์นของธรรมชาติมาบอกเล่าในรูปแบบของงานอาร์ตที่สวมใส่ได้ จึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งนอกจากรูปแบบงานดีไซน์ที่ไม่เหมือนใครแล้ว สีสันที่จัดจ้านสะดุดตาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่โอ๋ยกให้เป็นจุดเด่นของแบรนด์

“จุดเด่นของเราน่าจะเป็นเรื่องของงานออกแบบที่มีสีสันสดใส ถ้าเราไปเห็นงานดินเบา ดินปั้นในแบรนด์อื่น เขาจะทำเป็นรูปสัตว์ เป็นตุ๊กตา แต่ว่าของเรามันจะเป็นการเอามาทำเครื่องประดับที่มีสีสันสดใส แล้วก็มีดีไซน์ที่แปลกใหม่”

‘ความแปลกใหม่’ ที่เราเห็นได้จากงานดีไซน์ของโอ๋คือ การนำเอา Polymer Clay มาขึ้นรูปเป็นลวดลาย หรือแพทเทิร์นของเครื่องประดับ ซึ่งโอ๋ให้เหตุผลว่ามันเป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ตกแล้วไม่แตก และสามารถผสมขึ้นมาเองได้ซึ่งทำให้สินค้าที่เธอทำออกมาแต่ละครั้ง อาจจะมีเฉดสีที่ต่างกันออกไป เนื่องจากเป็นงาน Hand Craft ที่เธอผสมสีด้วยตัวเอง

“ยกตัวอย่างกระเป๋า ในแต่ละใบมันก็คงไม่เหมือนกันเป๊ะอะไรอย่างนี้ ใช่เนื่องจากเราผสมสีเองทุกอย่าง รวมถึงการตัดลวดลายด้วย ดังนั้นในแต่ละใบมันอาจจะมีขอบตรงนั้นใหญ่หน่อย อีกขอบหนึ่งอาจจะเล็กกว่าหน่อย ดูผ่านๆ ก็อาจจะรู้สึกเหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันก็ไม่ได้เหมือนกันแบบเหมือนโรงงานผลิตอะไรอย่างนั้น มันจะมีความเฉพาะตัวในงานแต่ละชิ้นของมันเอง เพราะเราทำด้วยมือ”

พอได้ฟังว่า โอ๋ทำทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า เสน่ห์ของ ‘งานคราฟต์’ ในมุมของเธอคืออะไร

“อย่างที่บอกไปว่า งานแต่ละชิ้นมันจะไม่เหมือนกัน สีแต่ละครั้งที่เราผสมมันก็จะไม่มีทางเป็นสีเดิม บางทีมันก็จะมีอันที่เข้มกว่านิดหนึ่ง หรืออันที่อ่อนกว่านิดหนึ่งนะ มันก็เป็นเสน่ห์ของการทำมือที่มันไม่ใช่แพทเทิร์นโรงงานอะ ไม่ใช่ของที่เหมือนกันไปหมดทุกชิ้น อันนี้แหละเสน่ห์ของงานคราฟต์”

เครื่องประดับที่ทำให้ผู้สวมใส่เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ

“งานดีไซน์ล่าสุดของแบรนด์ก็จะเป็นกระเป๋าค่ะ” โอ๋ตอบเมื่อเราถามว่าอะไรคือสินค้าชิ้นล่าสุดของ Phana Design ซึ่งเราก็คงจะไม่พูดถึงเจ้ากระเป๋า ‘Collyn’ กระเป๋าถือดีไซน์เก๋ที่เป็น Signature ของแบรนด์ ที่มาพร้อมกับลูกเล่นที่สามารถถอดจี้ Polymer Clay ตรงกลางกระเป๋ามาสวมกับสร้อยคอได้  

“ตอนแรกเราทำแค่เครื่องประดับ แล้วมันก็รู้สึกว่า ถ้าเราจะขยายโปรดักต์ไลน์ไปทำสิ่งของที่ใหญ่ขึ้นเราจะสามารถทำได้ไหม แล้วเราก็รู้สึกว่า กระเป๋ามันมีความน่าสนใจ แต่ด้วยข้อจำกัดของ Polymer Clay ที่ไม่สามารถทำให้มีขนาดใหญ่มากๆ ได้ เราก็เลยต้องลองสร้างลวดลายแพทเทิร์นขึ้นมาใหม่ แล้วก็ทำให้มันเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเราค่อยเอามาต่อกันให้เป็นลวดลาย ถ้าสังเกตมันจะเหมือนชิ้นส่วนประมาณ 5 ชิ้น เจาะรูแล้วเอาห่วงมาร้อยต่อกันให้เป็นชิ้นใหญ่ขึ้นมาเป็นลายกระเป๋า แล้วเราเริ่มมาจากการทำเครื่องประดับ เลยคิดว่า ถ้ากระเป๋ามันเป็นเครื่องประดับได้ด้วย มันก็น่าสนใจ เราก็เลยเห็นข้อดีของการที่เราต่อชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน เราก็เลยคิดว่า ถ้าเราดึงให้ชิ้นหนึ่งถอดออกมาได้ มันก็ทำเป็นสร้อยคอได้ เราก็เลยเอาข้อดีตรงนี้มาใช้ ก็เลยเกิดเป็นคอลเลกชั่นตัวกระเป๋านี้ขึ้นมา

เราออกแบบสินค้าให้มีความแปลกใหม่อยู่เสมอ หมายถึงว่า เหมือนเราสร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า อย่างตัวกระเป๋าเราก็ไม่ได้ออกแบบให้มันเป็นแค่กระเป๋า แต่เราก็คิดว่า มันคือ งานอาร์ตหนึ่งชิ้น แล้วลวดลายของดินปั้นเราสามารถถอดออกมาเป็นจี้สร้อยคอได้ เหมือนมันสร้างประสบการณ์ที่ลูกค้าเห็นแล้วรู้สึกว่า มันไม่ใช่กระเป๋าแค่อย่างเดียวนะ แต่คุณสามารถปรับเอาส่วนนี้ออกมาทำเป็นเครื่องประดับได้อีก” โอ๋อธิบาย

นอกจากความอเนกประสงค์ หรือจะเรียกว่า ‘ลูกเล่น’ แล้ว โอ๋ยังเรียกสินค้าจาก Phana Design ว่า ‘Wearable Art’ อีกด้วย เราเลยให้เธอช่วยอธิบายให้ฟังว่า งานศิลปะที่สวมใส่ได้ในมุมมองของดีไซเนอร์สาวคืออะไร

“ทุกคนอาจจะคิดว่ามันเป็นแค่สิ่งของ เป็นเครื่องประดับ แต่โอ๋มองว่า Wearable Art มันหมายความว่า เครื่องประดับของโอ๋อะ มันไปเพิ่มศิลปะบนตัวคนอื่น มันเข้าไปตกแต่ง เข้าไปประดับที่คน ดังนั้นเวลาเราออกแบบเราจะนึกถึงบอดี้ของคน อย่างต่างหู ถ้าเห็นรูปทรงก็จะรู้ว่าเราจะออกแบบให้มันเข้ากับตำแหน่งหูของคนว่า ถ้ามันพับไปข้างหลังมันจะเกิดอะไรขึ้น รูปทรงมันไม่ได้อยู่แค่เหมือนที่เรามองเห็นจากด้านหน้านะ คนที่มองด้านข้างก็จะเห็นเป็นอีกรูปหนึ่ง

ตัวกระเป๋าก็เหมือนกัน เรามองว่ากระเป๋ามันคือ งานอาร์ตหนึ่งชิ้น คุณสามารถวางตกแต่งที่บ้านได้ วางไว้ก็เหมือนศิลปะหนึ่งชิ้น

เพราะว่าเราก็มีการใช้เทคนิคสะบัดสีลงไปบนดินด้วย ให้มันรู้สึกเหมือนมีความเป็นงานศิลปะหนึ่งชิ้น”

งานปั้นดิน สถาปัตยกรรม และความคิดถึง

ต้องยอมรับว่า ครั้งแรกที่เราเห็นงานดีไซน์ของโอ๋ เราก็อดนึกถึงความทรงจำวัยเด็กอย่างการปั้นดินน้ำมันเล่นไม่ได้ ซึ่งดีไซเนอร์สาวก็บอกกับเราว่า เธอเองก็มีความทรงจำที่คิดถึงซ่อนอยู่ในงานออกแบบเหล่านี้เช่นกัน

“จริงๆ มันมี Nostalgia อยู่ มันอาจจะทำให้นึกถึงตอนที่เราปั้นดินตอนเด็กๆ ที่เราก็จะรู้สึกว่า มันเป็นของที่ย้อนวัย แต่ตอนเด็กๆ เราอาจไม่เห็นคุณค่าของมันขนาดนั้น หรือบางคนอาจจะมองว่า มันคือดินน้ำมันที่ราคาถูกเล่นแล้วก็ทิ้ง แต่เราก็รู้สึกว่า มันไม่จริงนะ มันสามารถเพิ่มมูลค่าของงานได้ แล้วมันก็เหมือนเราสนุกกับมันด้วย แต่อันนี้เป็นแค่ความรู้สึกเล็กๆ นะ

Nostalgia อีกอย่างหนึ่งก็คือ โอ๋เรียนจบปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรม ภาควิชาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วสมัยเรียนเราก็อยู่กับงาน Landscape เรามีวิชาเรียน Landscape แล้วมันก็จะมีการตัดคอนทัวร์ ทำ Topography ซึ่งตัวกระเป๋าก็ได้แรงบันดาลใจมาจากการนึกถึงสมัยตอนเรียนเลย เพราะว่าเราเรียนจบมาแล้วทำงานสายสถาปัตย์ แต่ว่าตอนนี้เราไม่ได้ทำแล้ว แต่ว่าเรายังรักในวิชาชีพนี้อยู่ เราก็เลยพยายามแอบเอาความรู้สมัยที่เราเรียนมาใช้กับงานปัจจุบัน เวลาเราตัดลายเราจะนึกถึงสมัยเรียนที่เรานั่งทำคอนทัวร์ นั่งทำโมเดลภูเขา หรือโมเดลทะเล มันก็ได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงเรียนด้วย”

“ถ้าเป็นเพื่อนในวงการสถาปนิกใกล้ตัว จะรู้กันว่า มันคือการออกแบบมาจากลวดลาย Landscape คนใกล้ตัวที่เรียนด้วยกันมาจะเข้าใจได้ทันทีว่า งานออกแบบมีอะไรซ่อนอยู่” โอ๋เล่าให้เราฟังถึงฟีดแบ็กจากเพื่อนๆ ในวงการสถาปนิก

บทเรียนสำคัญของการผันตัวจากนักออกแบบ สู่นักธุรกิจ

ไหนๆ ก็พูดถึงฟีดแบ็กจากลูกค้าแล้ว เราจึงชวนโอ๋คุยต่อถึงฟีดแบ็กจากลูกค้าที่เข้ามาเจอผลงานของเธอต่อ

“ถ้าเป็นลูกค้าที่เจอตอนเราไปออกบูธ เราก็จะเจอหลายแบบมาก ก็จะมีฟีดแบ็กแรกก็คือ เขาจะชอบมาก เขาจะรู้สึกว่ามันแปลกใหม่ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องอธิบายด้วยนะ เพราะว่าบางคนเขาไม่สามารถมองแล้วเข้าใจได้เลย เขาก็จะต้องเข้ามาถาม เราก็อธิบายว่ามันเป็นงานดินเบานะ ตัวกระเป๋าสามารถถอดออกมาเป็นสร้อยคอได้นะ มันต้องมีการอธิบายนิดหนึ่ง แล้วเขาก็จะเริ่มรู้สึกว่า มันน่าสนใจ มันแปลกดี หรือถ้าลูกค้าออนไลน์ พอได้ไปเขาก็จะทักเรากลับมาว่า มันสวยมากเลย สะพายแล้วมีแต่คนทักว่าสวย ไม่เคยเห็น

เวลาเขาชม เราก็รู้สึกประทับใจหมดเลย เขาซื้อไปเราก็ประทับใจหมดแหละ แต่ว่าจริงๆ มันก็มีคนที่เขาไม่เข้าใจนะคะ หมายถึงว่าเขาเห็นแล้วเขาคิดว่ามันเป็นพลาสติก หรือบางคนก็มองว่ามันเป็นแค่ดินเบาทำไมขายราคานี้ แพงจังอะไรอย่างนี้ แต่เขาไม่ได้เข้าใจว่า กระบวนการผลิต หรือการออกแบบเราทำเองทั้งหมดนะ เราไม่ได้ไปเอาดินสำเร็จรูปมานะ”

ได้ฟังแบบนี้เราจึงอยากรู้ว่า ความยากง่ายในการทำแบรนด์ Phana Design คืออะไร

“โอ๋ชอบตอนออกแบบนะ ตอนที่เราต้องคิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา รู้สึกว่ามันสนุก มันท้าทาย เหมือนก่อนที่จะได้กระเป๋ามามันก็คิดมาเยอะเหมือนกัน มันก็มีความท้าทาย ต้องทดลองนะ แล้วพอได้มามันก็เป็นความภูมิใจอะ แต่โอ๋ว่าการทำงานมันก็คงไม่สุขตลอดหรอกเนอะ มันก็ต้องมีที่ทุกข์บ้าง สำหรับโอ๋ความยากคือ การขาย เราเป็นนักออกแบบ เรารู้สึกว่าเราสนุกทุกครั้งที่เราได้แบบออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่พอถึงตอนที่เราจะต้องนำชิ้นงานไปขาย เราจะรู้สึกว่า เราไม่อยากทำมัน แต่พอมันขายได้มันก็มีความสุขอีกอย่างหนึ่ง (หัวเราะ) ช่วงแรกๆ ที่ไปออกบูธจะเป็นคนที่เงียบมาก ไม่พูดอะไร เราจะบอกแม่ว่า ถ้าเขาชอบเขาเดินมาหาเรา แต่ว่าตอนหลังก็คือค่อยๆ ปรับ” โอ๋บอกกับเรา ก่อนจะเริ่มเล่าถึงบทเรียนที่ได้จากการทำแบรนด์ของตัวเอง

“จริงๆ ก็ได้บทเรียนเยอะเหมือนกัน บทเรียนแรก ง่ายๆ เลย โอ๋คิดว่า ทุกอย่างมันต้องใช้ความอดทน คือตั้งแต่ตอนที่เราทำดินขึ้นมาเองมันก็ไม่ได้ง่าย เพราะว่าเวลาเราไปเปิด YouTube เขาก็ทำให้เราดู แต่พอเรามาทำจริงมันไม่ได้อย่างที่ดู แล้วมันก็ต้องทดลอง ก็ทดลองมาเยอะจนเคยคิดว่า หรือไปซื้อดินสำเร็จดี แต่เราก็รู้สึกว่า ถ้าเราทำเองมันก็อาจจะเป็นความแบบภูมิใจอย่างหนึ่งไหมนะ แต่มันก็อย่างที่บอก มันใช้เวลา แล้วก็ทดลองมาเยอะ แต่สุดท้ายพอมันสำเร็จเราก็รู้สึกว่า ดีที่เราไม่ไปหยุดมันกลางคันเนอะ

อีกบทเรียนก็น่าจะเป็นเรื่อง การทำธุรกิจ อย่างที่บอกว่า เราเป็นนักออกแบบมาก่อน ตอนทำงานสถาปัตย์เราก็รู้สึกว่า เราออกแบบตามความต้องการของลูกค้าทั้งหมด แต่พอมาออกแบบเองเรารู้สึกว่า เราอยากทำสิ่งที่ตามใจเรา ดังนั้นตอนแรกก็จะออกแบบตามใจโอ๋เลย แล้วก็มองว่า ถ้าคนที่ชอบเขาก็จะเข้ามาสนใจเอง

แต่พอเราได้ทำธุรกิจจริงๆ คนรอบตัวก็จะบอกว่า มันก็ไม่ได้เสมอไปหรอก เราก็ต้องนึกถึงลูกค้าบ้าง เราก็เลยรู้สึกว่า จริงๆ ถ้าเรารับฟัง เราเปิดใจ มันก็จะดีกับเรา เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งหมดเราก็แค่เพิ่มเติมสิ่งที่มันดีกับเราและลูกค้า”

“ถ้าเราจะยึดว่า เราออกแบบทุกอย่างให้สวยแค่ตามมุมมองของเราไม่ได้ เราก็ต้องคิดถึงมุมมองคนอื่นด้วย”

ก่อนจากกันโอ๋ก็ได้เผยให้เราฟังว่า เธออยากขยายไลน์สินค้าออกไปอีกในอนาคต

“แพลนในอนาคตคิดว่า อยากทำโปรดักต์ไลน์อื่นอีก จริงๆ ก่อนหน้าที่จะเริ่มทำธุรกิจนี้ ตอนกลับมาใหม่ๆ โอ๋อยากทำแบรนด์เสื้อผ้า แต่พอมาเจอโควิดก็เลยเกิดเป็นแบรนด์นี้แทน ก็เลยคิดว่า ถ้ามีโอกาสอยากจะปรับบางอย่างให้ความเป็น Phana Design ของเรามันไปเล่นกับเสื้อผ้าได้ หรือเป็นโปรดักต์ไลน์อื่นๆ ต่อไป”

ติดตามงานออกแบบจาก Phana Design ได้ที่

Instagram: phana.design

Facebook: Phana.design