Art

Art + Toys = ‘Poriin’ – เปิดเส้นทาง Art Toy Designer ของ ‘ริน’ กับการออกแบบของเล่น ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆ

‘Art Toys ไม่ใช่แค่งานศิลปะ แต่เป็นเรื่องราวของศิลปินที่ถ่ายทอดมันออกมาในรูปแบบของโมเดล’ 

วันนี้ EQ อยากพาทุกคนไปคุยกับ ‘ริน’ – ศิรินญา ปึงสุวรรณ (@riin_poriin) ดีไซเนอร์อาร์ตทอยเจ้าของแบรนด์ ‘Poriin’ (โพ-รีน) ผ่านเรื่องราว และเส้นทางของดีไซเนอร์ผู้หญิงในวงการที่หลายคนมองว่า ‘ผู้ช๊าย ผู้ชาย’ พร้อมเรื่องราวที่เธออยากบอกเล่าผ่านของสะสมสุดน่ารักเหล่านี้ จุดเริ่มต้น, เป้าหมาย และความเป็นผู้หญิงสำคัญกับเส้นทางของรินอย่างไร เราไปทำความเข้าใจเรื่องนี้พร้อมๆ กันเลยดีกว่า

ออกสตาร์ทด้วยตัวเองตั้งแต่แรกจนมาเป็น ‘Poriin’ ในวันนี้

ถ้าจะให้เท้าความไปถึงจุดเริ่มต้นของ ‘Poriin’ คงต้องพูดว่า มันเริ่มมาจากความชอบ และความหลงใหลในงานศิลปะของริน เธอบอกกับเราว่า เธอชอบ และเริ่มสะสมโมเดล, ตุ๊กตา และของเล่นต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก พอเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย แม้ว่าเธอจะเลือกเรียนวิทยาศาสตร์ตามความคาดหวังของครอบครัว แต่รินก็ใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการตระเวนชมงานนิทรรศกาล และอีเวนท์ศิลปะต่างๆ เพื่อศึกษาขั้นตอน หรือรูปแบบการทำงานศิลปะเหล่านั้น

“มันจะมีอีเวนท์ Art Toys หนึ่งจัดที่พารากอน เป็นอีเวนท์อาร์ตทอยแรกที่เราไปชม แล้วเราก็พยายามเอาตัวเองไปทำความรู้จักกับดีไซเนอร์ตรงนั้น แล้วก็ขอคอนแท็กเขาไว้เพื่อดูวิธีการทำงาน ศึกษาการทำงาน แล้วก็เริ่มฝึกทำอาร์ตทอยตั้งแต่ตอนนั้น”

รินเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำ Art Toys พร้อมอธิบายเพิ่มว่า ณ ตอนนั้นยังไม่มีโรงงานที่ซัพพอร์ตการทำอาร์ตทอย ดังนั้นการหล่อเรซิ่น, ทำพิมพ์, ทำต้นแบบ ไปจนถึงการทำสีโมเดล จึงเป็นหน้าที่ที่รินต้องเรียนรู้ และทำมันด้วยตัวเองทุกขั้นตอน

“ในช่วงแรกทำทุกกระบวนการเองทั้งหมดเลย มันสนุกมากเลยนะ (หัวเราะ) รินจะมีสมุดเป็นเล่มๆ ที่คอยจดสูตรว่า ต้องผสมสารอะไรขนาดไหน ปริมาณเท่าไร แล้วจะใช้เวลาแห้งกี่นาที ด้วยความที่เราเป็นสายทำงานไว เราก็อยากจะหาสูตรที่หล่องานได้ไวที่สุด”

ทุกๆ ขั้นตอนตั้งแต่การคิดคำนวณ จนถึงลงมือทำ เปรียบเหมือนการทดลองวิทยาศาสตร์ขนาดย่อมที่รินรู้สึกสนุก และมีความสุขกับมันจริงๆ

“อาจจะเพราะรินเรียนวิทยาศาสตร์มาด้วยมั้ง เลยรู้สึกสนุกกับการคิดคำนวณ”

คาแร็กเตอร์สุดไอคอนิก กับการร่วมงานเอเจนซี่แดนมังกร

หลังจากรินฝึกฝีมืออยู่ร่วมสองปี อาร์ตทอยก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศไทย เริ่มมี Art Toys หลากหลายแบบออกมาในตลาด มีอีเวนท์เกี่ยวกับของสะสมเหล่านี้ (หนึ่งในนั้นคือ Thailand Toy Expo ครั้งแรกในปี 2013) รวมถึงนายทุนจากจีนก็เข้ามาให้ความสนใจกับตลาด Art Toys เมืองไทยมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รินได้คาแร็กเตอร์ไอคอนิกของแบรนด์อย่าง ‘Fenni’ (เฟน-เน่) เจ้าเฟนเนกฟอกซ์หน้าตาน่ารักที่สร้างภาพจำให้แบรนด์ Poriin พอดี

“ตอนนั้นทางนักลงทุนจีนเขามาเห็น ก็เลยติดต่อเข้าไปคุย ขอทำสัญญา เอาไปทำในปริมาณที่เยอะขึ้นกว่าตอนหล่อเอง แต่จะเรียกว่าเป็นแมสโปรดักชั่นไหม ก็อาจจะยังไม่ได้ถึงขนาดนั้น (หัวเราะ)”

ในช่วงแรกของการร่วมงานกับเอเจนซี่ที่จีน รินยังคงทำเองทุกอย่าง เพียงแค่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องไอเดีย หรือกำลังผลิตบ้างในบางชิ้นงาน “ช่วงแรกก็ยังหัวหมุนอยู่ประมาณหนึ่งเลย (หัวเราะ) ก็จะเหนื่อยนิดหนึ่ง แต่ก็ยังสนุกอยู่” เธอมองว่านี่คือ การเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับการทำงานของเธอ

ความต่างของวัฒนธรรมย่อมทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน ซึ่งปัญหาใหญ่ในการทำงานร่วมกันครั้งนี้ รินเล่าว่า มันเป็นเรื่องการปรับจูนสไตล์ของอาร์ตทอย ให้เข้ากับตลาดของประเทศจีน โดยที่จะต้องไม่ทิ้งตัวตนความเป็น Poriin ไป 

“เขาเป็นนายทุนจากจีน ตลาดที่เขามองเห็นก็เป็นตลาดจีน ซึ่งบางครั้งสไตล์มันอาจจะไม่ตรงกับที่เราทำ ก็ต้องหาตรงกลางที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย แล้วกลุ่มลูกค้าก็ต้องชอบมันด้วย” 

โลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ชัดเจนด้วยตัวตนของ Poriin

พอได้คุยกันมาถึงตอนนี้ เราก็อยากรู้ขึ้นมาว่า อะไรที่ทำให้นายทุนจีนตัดสินใจเลือกเซ็นสัญญากับรินในครั้งนั้น คำตอบของรินคือ ในกรณีของเธอ เอเจนซี่ที่จีนถูกใจดีไซน์ของเจ้า Fenni รวมถึงสตอรี่เบื้องหลังของมัน ที่พูดถึงความรักเดียวใจเดียว มีคู่ครองเดียวของเฟนเนกฟอกซ์ และความไม่สมบูรณ์แบบที่ถูกซ่อนเอาไว้ในคาแร็กเตอร์นี้ (ซึ่งรินบอกว่า อยากให้ทุกคนลองหาให้เจอ แล้วตีความมันด้วยตัวเอง) 

ซึ่งก็ทำให้เราสนใจว่า อะไรคือตัวตนของ Poriin?

“มันเหมือนเราสร้างโลกใบหนึ่งขึ้นมา ให้มันเป็นโลกของความไม่สมบูรณ์แบบ ก็เหมือนกับชีวิตเราทุกคน เหมือนโลกที่เราอยู่ตอนนี้ ไม่มีใครหรอกที่จะสมบูรณ์แบบ แต่ความไม่สมบูรณ์แบบนี่แหละ ที่รวมกันแล้วทำให้โลกสวยงาม”

รินตัดสินใจถ่ายทอดความไม่สมบูรณ์ต่างๆ จากมุมมองของเธอ ลงไปในคาแร็กเตอร์ที่เธอสร้างขึ้น ความไม่สมบูรณ์แบบเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน อย่างเช่นเจ้า ‘Hy-de’ (ไฮ-ดี้) คาแร็กเตอร์ไฮยีน่าที่มาพร้อมผ้าปิดปาก อาจจะมองดูน่ารัก แต่เมสเสจที่ซ่อนเอาไว้อย่าง การถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก และการไม่สามารถดีเฟนด์ตัวเองได้ ก็แอบบาดลึกในใจของใครหลายๆ คนเช่นกัน

“รินพยายามทำคาแร็กเตอร์ออกมาให้ทัชใจคน ให้มันสามารถเป็นตัวแทนที่จะถ่ายทอดเรื่องราวของคนคนนั้นออกไปได้อีก”

นี่แหละตัวตนของ Poriin…

Art Toys จุดเชื่อมโยงของศิลปะที่ไม่ได้จำกัดไว้ด้วยเพศ

“อันนี้อยากพูดมานานแล้ว ในช่วงแรกแทบจะมีแต่ผู้ชายเลย”

รินพูดขึ้นเมื่อเราถามถึงการเป็นดีไซน์เนอร์หญิงในวงการนี้ เธอเล่าว่า ณ ตอนนั้นมองไปทางไหนผลงานออกแบบก็เป็นฝีมือผู้ชายแทบทั้งหมด ต่อให้หน้าตามันจะดูน่ารัก มุ้งมิ้งแค่ไหนก็ตาม “ตอนนั้นรินเข้ามาในช่วงที่ยังเด็กด้วยแหละ เราเลยรู้สึกเหมือนเป็นคนกลุ่มน้อยในที่ตรงนั้น” รินอธิบาย พร้อมเล่าต่อว่า ถึงตอนนั้นผู้หญิงในวงการอาร์ตทอยจะยังมีน้อยอยู่ แต่การที่เธอเข้ามาในวงการนี้ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ก็เป็นข้อดีที่ช่วยให้เธอสามารถเข้าหานักออกแบบรุ่นพี่เพื่อขอคำแนะนำ และขอความช่วยเหลือได้ง่าย จนเธอสามารถสั่งสมความรู้ และทักษะต่างๆ กระทั่งประสบความสำเร็จในวันนี้

“อาจเป็นเพราะ เขาเอ็นดูที่เราเป็นเด็กด้วยมั้ง (หัวเราะ)”

เมื่อ Art Toys ได้รับความนิยมมากขึ้น มีคนรู้จักของสะสมประเภทนี้มากขึ้น ทำให้ผู้คนมากหน้าหลายตาเริ่มตบเท้าเข้ามาเดินในเส้นทางดีไซเนอร์กันเยอะ สัดส่วนของดีไซเนอร์ผู้หญิงในวงการนี้จึงมีมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

“จนตอนนี้รินมองว่า มันแทบจะเท่าๆ กันเลยในเรื่องของสัดส่วนดีไซเนอร์ผู้หญิงกับผู้ชาย”

Photo Credit: @poriin_poriin และ @pethipster

สำหรับรินแล้วการเป็นผู้หญิงในวงการนี้ไม่เคยทำให้เธอรู้สึกกดดันเลยเพราะ เธอรู้สึกมาตลอดว่างานศิลปะ เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน... 

แต่ก็ใช่ว่า การเริ่มทำอาร์ตทอยด้วยตัวเอง จะไม่ยากลำบากสำหรับผู้หญิงอย่างเธอ “การทำ Art Toys ก็เหมือนงานช่าง ในช่วงแรกที่ต้องทำเองทั้งหมด มันก็มีบ้างที่รู้สึกเหนื่อยยาก มันจะมีบางจุดที่เหมือนงานช่างไม้ ต้องใช้อุปกรณ์งานช่างที่เราไม่ถนัด” รินบอกกับเราก่อนจะย้ำว่า ถึงมันจะยาก ก็แค่ต้องปรับตัวไปกับมัน และเธอมั่นใจว่าผู้หญิงก็ทำงานนี้ได้

แม้ว่าตอนนี้รินจะกลับมาทำงานผลิตด้วยตัวเองเป็นหลักแล้ว แต่ก็ยังดีที่มีเทคโนโลยี และอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถทุ่นแรงให้เธอได้ ทำให้รินยิ่งมั่นใจว่าผู้หญิงสามารถทำงานตรงนี้ได้อย่างแน่นอน

“รินยังรู้สึก และเชื่อเสมอว่าผู้หญิงทำทุกอย่างได้เหมือนผู้ชายค่ะ”

เมื่อมีผู้หญิงเข้ามามากขึ้นมันมีอะไรเปลี่ยนไปบ้างไหม เราถามรินก่อนจะได้คำตอบกลับมาว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ภาพรวมของชิ้นงานที่ดูสดใสขึ้น มีงานดีไซน์หลากหลายแนวมากขึ้น 

“ไม่ใช่เพราะผู้หญิงเข้ามาซะทีเดียวหรอก แต่เป็นเพราะตลาดมันเปิดกว้างขึ้นมากกว่า” 

“สำหรับรินงานศิลปะมันไม่ได้โฟกัสว่าจะเป็นหญิง หรือเป็นชาย แค่เป็นคนที่รัก และเข้าใจมัน ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็สามารถเข้ามาเป็นผู้ผลิต และนักสะสมได้ทั้งนั้น”

รินบอกว่า อาร์ตทอยทุกวันนี้ไม่ได้ทำออกมาเพื่อเพศไหนเป็นพิเศษแล้ว อาจจะมีอยู่บ้างที่ Art Toys ถูกดีไซน์โดยยึดจากกลุ่มเป้าหมายเพศใดเพศหนึ่ง แต่ก็เป็นเพียงการทำให้สไตล์ในการทำงานของศิลปินชัดเจนขึ้นเท่านั้น 

“ดีไซเนอร์บางคนก็เลือกทำตามสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่มาจากตัวเอง แล้วไม่ว่าใครจะมาชอบงานเขา มันก็เป็นไปได้ทั้งหมด” รินเสริม

แล้วลูกค้าของ Poriin ล่ะ?

“อยากลองให้ทายจากสไตล์งานดูจังเลย”

แค่ได้ยินคำตอบนี้เราก็พอจะเดาได้ว่ารินคงมีลูกค้า ‘ผู้ชาย’ อยู่ไม่น้อยเลย

“พอเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการอาร์ตทอยมองเข้ามา ก็จะคิดว่า งานแบ๊วๆ งานน่ารักแบบนี้ กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้หญิง หรือเด็ก แต่ว่าจริงๆ แล้ว พอมาดูหลังบ้าน มันจะเท่าๆ กันเลย บางล็อตของริน ผู้ชายซื้อเยอะกว่าด้วยซ้ำ แต่เค้าอาจจะซื้อไปให้แฟนก็ได้นะ (หัวเราะ)”

เพราะอยากเล่าเรื่อง ความสำเร็จจึงอยู่ที่เรื่องเล่า

พอพูดถึงลูกค้าก็คงอดไม่ได้ที่จะต้องถามถึงฟีดแบ็ก 

รินบอกว่าเสียงตอบรับจากลูกค้าที่เธอประทับใจ จะมาในรูปแบบของการเชื่อมโยงเรื่องราวจากเหล่าคาแร็กเตอร์ เข้ากับประสบการณ์ของลูกค้า ซึ่งเธอมองว่านี่คือ ความสำเร็จในการทำแบรนด์ Poriin 

“การที่เราถ่ายทอดเรื่องราวออกไปแล้วมีคนที่รับรู้ได้ เข้าใจจริงๆ ณ จุดนั้นคือ เราประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นคือ กำไรแล้ว” รินกล่าว

รินบอกว่าลูกค้าบางคนใช้อาร์ตทอยของเธอเป็นเหมือนเพื่อนคู่กาย ที่พาออกไปเที่ยว ไปทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน เหมือนเพื่อนคลายเหงา หรือกับบางคนก็อินในเรื่องราวของเหล่าคาแร็กเตอร์มากๆ จนใช้มันเป็นจุดเชื่อมกับเรื่องราวชีวิตของตัวเอง

“บางคนก็อัดคลิปกลับมาให้เราดูนะ แล้วก็ร้องไห้เล่าเรื่องราวของเขาให้ฟัง นี่เป็นความประทับใจที่ เรื่องราวของเราถ่ายทอดไปถึงเขาได้ เหมือนเราสื่อสารสำเร็จ”

“ถึงจะไม่ใช่เรื่องราวเดียวกัน แต่เราก็สามารถเข้าใจมันได้ด้วยความหมายเดียวกัน” 

ไม่ใช่แค่งานศิลปะ แต่เป็นชีวิตของศิลปิน

แน่นอนว่า เมื่อมีคนที่เข้าใจ ย่อมมีคนที่ไม่เข้าใจอยู่คู่กันเสมอ ซึ่งรินก็ยืนยันกับเราว่าทุกวันนี้เธอก็ยังเจอคนที่ไม่เข้าใจว่า Art Toys คืออะไร หรือมีไว้ทำไม

“อย่าว่าแต่คนอื่นเลย ทุกวันนี้แม่ยังถาม แม่ยังไม่เข้าใจเลย (หัวเราะ) แต่ลูกชอบแม่ก็โอเค”

“ช่วงก่อนหน้านี้ ที่รินเข้าวงการมาใหม่ๆ แล้วคนยังไม่ค่อยรู้จักงานอาร์ตทอย เวลาเราพาน้องออกไปตามคาเฟ่ ไปถ่ายรูปตามที่ต่างๆ ไปสวนสาธารณะ เราจะถูกคนมองแปลกๆ เป็นฟีลเหมือน เฮ้ย ทำไมโตแล้วยังเล่นของเล่นอยู่”

“แต่ทุกวันนี้เราแค่ยิ้มสู้ไป แล้วก็ถาม ‘น่ารักมั้ยคะ’ (หัวเราะ)”

เราเลยลองให้รินคิดดูว่า ถ้าตอนนี้อธิบายให้คนที่ไม่เข้าใจฟังได้ Art Toys สำหรับรินคืออะไร?

“Art Toys ไม่ใช่แค่งานศิลปะ แต่เป็นเรื่องราวของศิลปินที่ถ่ายทอดมันออกมาในรูปแบบของโมเดล งานของรินเป็นเหมือนไดอารีชีวิตของริน การที่รินสร้างคาแร็กเตอร์แต่ละตัวขึ้นมา มันเล่าว่า ในช่วงนั้นรินผ่านอะไรมา เจอเรื่องราวอะไร และอยากถ่ายทอดอะไรให้คนได้รับรู้”

รินเปรียบการสะสมอาร์ตทอยเอาไว้ว่า นอกจากจะเป็นการซื้องานศิลปะ และเรื่องราวของศิลปินคนหนึ่งแล้ว ยังเป็นการบันทึกเรื่องราวของนักสะสมเอาไว้ด้วย 

“เวลาได้เห็นน้อง (อาร์ตทอย) ก็เหมือนเราได้เห็นเรื่องราวของเขาไปด้วย เหมือนเป็นการเก็บความทรงจำในรูปแบบหนึ่ง เราจะจำได้ว่าเราได้มันมาจากงานไหน เราซื้อมันมากับใคร”

ภาพฝันอันไร้ที่สิ้นสุด กับอนาคตที่ Poriin จะอยู่รอบตัวเรา

ตลอดเวลาที่ได้คุยกัน รินย้ำกับเราอยู่เสมอถึงภาพของความฝันที่เธออยากให้ Poriin เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เข้าถึงคนได้มากขึ้น ได้ออกไปแสดงตัวตนในประเทศที่เธอยังไม่เคยไป และหวังว่าเรื่องราวที่เธอใส่ไว้ในทุกๆ คาแร็กเตอร์จะถูกส่งไปถึงใครหลายๆ คนได้

“เรามองไม่เห็นจุดสิ้นสุด หรือจุดที่สูงที่สุดของมัน เราเห็นแต่การไปเรื่อยๆ พอถึงต�