วันนี้ EQ ได้มีโอกาสคุยกับ ‘ปูเป้’ – จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพหญิงมืออาชีพ ที่ได้ร่วมงานกับ The New York Times พร้อมผลงานล่าสุดที่เรียกเสียงฮือฮา ด้วยการเป็นช่างภาพคนไทยที่ได้ถ่ายภาพบนพรมแดงงานประกาศรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 95 (The 95th Academy Awards) ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรื่องราวบนเส้นทางการเป็นช่างภาพของเธอจะเป็นอย่างไร เบื้องหลังการทำงานที่นิวยอร์กจะสนุกแค่ไหน และอะไรคือเหตุผลที่เธอประกาศชัดเจนว่าจะไม่กลับมาประเทศไทยอีก เราจะอาสาพาคุณไปทำความรู้จักกับปูเป้ให้มากขึ้น
อาชีพที่เกิดจากความชอบ และแรงซัพพอร์ตจากครอบครัว
“ก็เริ่มเหมือนกันทุกคนแหละ มันก็ทำเป็นงานอดิเรกที่ชอบก่อน มีกล้องถ่ายรูป ก็ถ่ายเพื่อน ถ่ายครอบครัว เวลามีงานโรงเรียนก็ถ่ายมาตั้งแต่ม.ปลายเลย พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เหมือนเดิม ถ่ายงานรับปริญญาอะไรอย่างนี้ ผ่านจุดนั้นมาก่อน แต่พอถ่ายงานรับปริญญาก็เริ่มมีตังค์เข้ามาแล้วนิดหน่อย 500 - 1,000 บาท” ปูเป้เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นช่างภาพของเธอ
ปูเป้เล่าให้เราฟังว่า เธอชอบงานด้านวิชวล งานภาพ มาตั้งแต่ตอนที่เรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอบอกกับเราว่าเธอชอบการเล่าเรื่องผ่านภาพ (Visual Storytelling) โดยเธอชอบงานที่เป็นภาพนิ่งมากที่สุด
ด้วยความที่เธอชอบดูภาพยนตร์ ทำให้หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย เธอตัดสินใจเข้าทำงานในแวดวงภาพยนตร์ โดยเริ่มทำงานเป็นฟรีแลนซ์ รับตัดต่อภาพยนตร์ แต่ด้วยการทำงานที่วนลูป อยู่แต่ในห้องไม่ได้ออกไปถ่ายภาพอย่างที่เธอชอบ บวกกับช่วงนั้นเธออกหักด้วย (เรียกว่าเข้าล็อกหนัง coming of age สุดๆ) ทำให้ปูเป้ตัดสินใจเลิกทำงานตัดต่อ และตีตั๋วออกเดินทางไปเรียนคอร์สถ่ายภาพที่อเมริกาแทน
“เราต้องใช้ชีวิตในห้องตัดต่อเพื่อรอวันว่างให้ออกไปถ่ายรูปที่เรามีความสุข เรารู้สึกว่ามันเครียด และไม่ควรใช้ชีวิตแบบนี้จริงๆ ก็เลยไปเทคคอร์สที่นิวยอร์ก คือที่บ้านมีเงินให้ก้อนหนึ่ง แล้วหลังจากนี้จะอย่างไรก็เรื่องของเราแล้ว”
วนลูป กองเบรคแตก และการหนีออกจากความซัฟเฟอร์ในแบบเดิมๆ
หลังจากไปเทคคอร์สถ่ายรูปที่อเมริกาอยู่พักใหญ่ๆ ปูเป้ก็ถูกเพื่อนชักชวนกลับเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และการออกกองอีกครั้ง ชีวิตติดลูปจึงวนกลับมาหาเธออีกครั้งเช่นกัน
“กลับไทยไปทำงานเบื้องหลังกองถ่าย ก็นี่แหละ ชีวิตการออกกองที่แบบ 16 ชั่วโมง, 18 ชั่วโมง, 24 ชั่วโมง ก็กลับมาอีกครั้ง แล้วก็กลายเป็นเรื่องปกติด้วยนะ ทั้งที่มันไม่ควรปกติหรือเปล่า”
การกลับมาทำงานครั้งนี้ตอกย้ำให้ปูเป้รู้สึกชัดเจนมากขึ้นว่า เธอทนกับชีวิตที่ต้องวนลูปแบบนี้ไม่ได้จริงๆ เธอเล่าให้เราฟังว่า ตอนที่กลับมาทำงานเบื้องหลัง เธอลุยแหลกทำงาน 3 กอง และต้องเจอกับการออกกองแบบ ‘เบรกแตก’ ที่ทำให้เธอต้องตื่นตี 5 เพื่อเริ่มงาน 6 โมงเช้า จนไปจบที่ 6 โมงเช้าของอีกวันหนึ่ง และกว่าจะกลับถึงบ้านได้นอนพักก็ 7 โมงเช้าเสียแล้ว
“ตอนนี้เราเห็นทุกคนกำลังสู้เพื่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่ดีขึ้นอยู่ ก็ขอบคุณมากเลยนะ เพราะเราก็ออกมาด้วยสาเหตุนี้ มันนรกมากอะ มันซัฟเฟอร์มาก แล้วชีวิตมันวนลูป คือ ไปกองโดยที่ไม่รู้ด้วยว่า วันนี้เบรกแตกหรือเปล่า แล้วไม่รู้ว่าต้องอยู่กับลูปนี้อีกนานแค่ไหน” ปูเป้กล่าว
“จริงๆ ใจเราอะ ชอบนิวยอร์ก” ปูเป้บอกกับเราก่อนเล่าว่า ตอนที่ตัดสินใจกลับมาไทย เธอได้ยื่นทำวีซ่าอเมริกาทิ้งไว้ ด้วยความหวังว่า เผื่อวันหนึ่งเธอจะได้กลับไปอีกครั้ง แล้ววังวนของการออกกองนี้ก็จบลง เมื่อเธอตัดสินใจจองตั๋วออกเดินทางสู่มหานครนิวยอร์กอีกครั้ง
“เราได้วีซ่าก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เหมือนเรารู้ว่าจะกลับไปได้แล้วแน่ๆ คือ พอเรากลับไทยมาสักพักวีซ่าก็ผ่าน เหมือนเรามีแบ็กอัพตัวเองไว้แล้วว่า ‘ถ้าไม่รอด กูไปแน่’ เรากดจองตั๋วเลย แล้วก็เป็นคนใจร้อน มีความคิดสั้นเหมือนกันนะ อาจจะไม่สั้น แต่ว่าไม่ไหวแล้ว”
New York is calling…
ปลายปี 2019 ปูเป้ตัดสินใจเดินทางไปนิวยอร์กอีกครั้ง เนื่องจากต้องหาเลี้ยงตัวเอง สกิลการถ่ายภาพจึงถูกดึงมาใช้หาเงินอีกครั้ง โดยเธอเล่าให้เราฟังว่า ในช่วงนั้นรายได้หลักๆ ของเธอมาจากการถ่ายภาพให้นักท่องเที่ยว เนื่องจากนิวยอร์กเป็นปลายทางที่คนเดินทางไปเยือนอยู่ตลอด และใครๆ ก็อยากมีภาพสวยๆ เก็บไว้ เธอจึงรับจ้างถ่ายรูป ควบคู่ไปกับการเป็นพนักงานในมิวเซียม เรียกได้ว่า อะไรที่ทำได้ เธอทำหมดทุกอย่าง
แต่แล้วโชคชะตาก็ท้าทายเธออีกครั้ง เมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2020 การระบาดของโควิด-19 เริ่มยกระดับขึ้นในอเมริกา ทำให้พิพิธภัณฑ์ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ นักท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักก็หายไปอีก
“เหมือนเราเพิ่งมา รายได้เราก็ไม่ได้มีขนาดนั้น เลยอยู่บ้านเฉยๆ อยู่เลี้ยงแมวเพื่อน ทำกับข้าว ดูซีรีย์ ตอนนั้นดู Sky Castle จบภายใน 2 วัน” ปูเป้เล่าถึงช่วงเวลาในชีวิตที่หายไป
จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2020 การเรียกร้องเรื่อง Black Lives Matter เริ่มเป็นกระแสขึ้นมา จากการที่ George Floyd ถูกฆาตกรรมโดยตำรวจ ทำให้ปูเป้ตัดสินใจแบกกล้องออกไปถ่ายผู้ประท้วงตามท้องถนน
“ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วเนอะ ก็อยากไปถ่ายรูป แล้วก็มีอย่างอื่นด้วยที่ไม่ใช่แค่ George Floyd บรรยากาศโควิดช่วงนั้น มันก็จะมีคนใส่แมสก์แบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วมันแปลก การประท้วงที่คนมันต้องห่างกัน เพราะโควิด เราต้องมานั่งล้างมือกันทุกคน อะไรพวกนี้มันประหลาดไปหมดเลย เราก็ถ่ายไว้แล้วก็พิทช์ไปให้ The New York Times ตอนนั้น” ปูเป้เล่า ก่อนจะอธิบายต่อว่า หลังจากส่งผลงานไปแล้ว เธอต้องรอกว่า 3-4 เดือน เพื่อที่จะได้รับงานแรกในช่วงเดือนตุลาคม กับงานถ่ายภาพร้านกิฟต์ช็อปที่กำลังมีปัญหาธุรกิจจากพิษโควิด และงานถ่ายบรรยากาศงานฮาโลวีน
ด้วยผลงานที่สนุก สดใส และมีพลัง ทำให้เธอได้รับโอกาสในการทำงานร่วมกับ The New York Times อยู่เรื่อยๆ จนในที่สุดโอกาสจากงานฝั่งโต๊ะข่าวแฟชั่น และศิลปะก็มาถึงเธอจนได้
จากปาร์ตี้วันเกิดดารา สู่พรมแดงออสการ์ 2023
“พอเริ่มถ่ายอะไรที่มันสนุกขึ้น เช่นครั้งหนึ่ง มันจะมีโจทย์งานประมาณว่า ‘นิวยอร์กเปิดเมืองแล้วจ้า’ เขาก็ให้เราไปถ่าย แล้วมันก็จะมีคนที่เต้น ปาร์ตี้กันสนุกๆ ในนิวยอร์ก เราก็ไปถ่าย ทำให้คนเริ่มเห็นมาเรื่อยๆ ว่าเราถ่ายปาร์ตี้สนุก ถ่ายปาร์ตี้ได้ เพราะฉะนั้นโต๊ะแฟชั่น โต๊ะศิลปะเขาก็บอกว่า เฮ้ย มันมีปาร์ตี้นั้น หรือมีอีเวนท์งานนี้ลองไปถ่ายสิ” ปูเป้เล่าให้เราฟังถึงเส้นทางการทำงานสายอีเวนท์แฟชั่น โดยเธอได้ถ่ายภาพในงานปาร์ตี้วันเกิดดารา ซึ่งเป็นหนึ่งในงานที่เธอชอบ เพราะ แค่เข้าไปเสพบรรยากาศปาร์ตี้ ได้เห็นคนสนุก คนเมา แล้วก็ถ่ายรูป โดยที่ไม่ต้องคุยกับใครก็ได้ ถ่ายเสร็จก็กลับบ้าน
นอกจากปาร์ตี้วันเกิดดาราแล้ว ปูเป้ยังเคยถ่ายรูปในงาน After Party ของ Met Gala อีกด้วย พอเธอทำงานกับโต๊ะแฟชั่น และศิลปะมาได้สักพักหนึ่ง โอกาสครั้งใหญ่ในชีวิตช่างภาพของเธอก็มาถึง เมื่อวันหนึ่งเธอถูกมอบหมายให้ถ่ายภาพบรรยากาศงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 (95th Academy Awards) โดยเธอได้รับมอบหมายให้ถ่ายภาพตำแหน่งบนพรมแดง (อีก 2 จุดคือ บริเวณนอกพรมแดง และภายในงาน ที่มีช่างภาพคนอื่นประจำอยู่)
“จริงๆ จุดพรมแดงน่าเบื่อสุด ที่สนุกที่สุดคือ นอกพรมแดง ไปถ่ายอะไรก็ได้ แต่ว่ามันมีคนที่เก่งกว่าเรา อันนี้ก็เหมือนเขาให้โอกาสเราได้ก้าวเข้าไปแล้ว แม้ว่าจะเป็นตำแหน่งที่น่าเบื่อที่สุดที่คนไม่ได้อยากถ่าย เพราะมันต้องอยู่เฉยๆ นานมาก 5 ชั่วโมง ยืนอยู่กับที่ แต่มันเป็นโอกาสที่เผื่อปีหน้า หรืออีก 2-3 ปีหน้า จะได้ไปอีก”
ปูเป้พูดถึงความรู้สึกที่ได้รับโอกาสนี้ให้เราฟังว่า เป็นโมเมนต์ที่เธอตื่นเต้นมาก ซึ่งเธอมองว่านี่คือ ความเชื่อใจที่เกิดจากการร่วมงานกันมากว่า 2 ปี โดยงานออสการ์เป็นอีเวนท์ใหญ่ที่ไม่ใช่จะส่งใครไปทำก็ได้ ซึ่งเธอยังคงมองว่าตัวเองเป็นมือใหม่อยู่สำหรับงานนี้อยู่เลย
“มันเป็นงานบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดแล้ว เครียดเลย คิดว่าแบบ จะซื้อกล้องใหม่ไหม ถึงขั้นนั้นเลย พอดีกล้องเราโมเดลมันเก่านิดหนึ่ง แล้วเราเป็นคนที่ไม่เก่งเทคนิค เราก็จะมีความกังวลด้วย เพราะมันต้องไลฟ์สดเลย ถ่ายภาพปุ๊บ รูปขึ้นระบบเลย ต้องต่อสาย ต่ออะไร แล้วเราต้องไปซื้อชุดใหม่ด้วย เพราะว่าบางทีปาร์ตี้มันก็ไม่ต้องแฟนซีหรูหราอะไร แต่พออันนี้คือ เขากำหนดมาเลยว่า ห้ามใส่รองเท้ากีฬา ห้ามใส่ยีนส์ ห้ามใส่นู่น ห้ามใส่นี่ ก็ต้องไปหาซื้อสูท ที่ชีวิตนี้ไม่เคยใส่สูทมาก่อน” ปูเป้เล่าถึงความตื่นเต้นในการเตรียมตัวไปถ่ายภาพบนพรมแดงออสการ์
แน่นอนว่าต่อให้เราจะเตรียมตัวหนักแค่ไหน ปัญหามันก็เกิดขึ้นได้อย่างที่เราคาดไม่ถึง เพราะ ในจังหวะก่อนพรมแดงเริ่มเพียง 1 ชั่วโมง ความขัดข้องของระบบภาพก็เกิดขึ้น ทำให้ปูเป้ต้องแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กล้องสำรองของช่างภาพที่ประจำตำแหน่งอยู่ในงาน แต่ด้วยความเป็นมืออาชีพของทีมเทคนิค ก็ทำให้เจ้าตัวสบายใจ ว่าจะฝากให้ทีมช่วยจัดการปัญหาได้ และทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดีในที่สุด
โมเมนต์จึ้งใจ กับเหล่าตัวมารดาแห่งวงการฮอลลีวูด
แน่นอนว่าพูดถึงการเดินพรมแดงในงานออสการ์ทั้งที จะไม่พูดถึงโมเมนต์ที่น่าจดจำก็คงจะแปลก เพราะ บนพรมแดงคืนนั้นมีแต่เหล่านักแสดง และเซเลบริตี้ตัวท็อปของวงการทั้งนั้น ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘Rihanna’ นักร้องสาวตัวแม่ (ลูกสอง) ที่ปูเป้บอกว่า เธอมาปรากฎตัวบนพรมแดงครั้งนี้เป็นคนสุดท้าย โดยโมเมนต์นั้นคือ เหล่าช่างภาพบนพรมแดงกำลังเก็บอุปกรณ์ เนื่องจากคิดว่าเสร็จงานแล้ว แต่พีอาร์ของงานก็เข้ามาแจ้งว่า ให้ทุกคนเตรียมอุปกรณ์ และรอถ่ายภาพ Rihanna ที่กำลังจะเดินเข้ามาก่อน “เราก็คิดว่า เออ เสร็จแล้วแหละ แต่ว่าพีอาร์บอกให้รอ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาตั้งใจมาเป็นคนสุดท้ายหรือเปล่า”
ซึ่งการทำงานกับเซเลบฯ ในวงการฮอลลิวูดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ปูเป้บอกกับเราว่า ความยากอยู่ที่ตัวบุคคลนั้นๆ เพราะบางครั้งเขาอาจจะยอมให้ถ่าย หรือไม่ยอมให้ถ่ายก็ได้ และบางครั้งเขาก็อาจจะให้เวลาที่สั้น หรือจำกัดมากๆ ทำให้ต้องแข่งขันกันเรื่องเวลา (นี่สินะความตัวแม่)
“โมเมนต์ประทับใจเหรอ มันเป็นความประทับใจตัวเองอะ คือเราเครียดนะก่อนที่จะเริ่มงานนี้ เพราะกลัวพังมาก พอเราถ่ายเสร็จปุ๊บรู้สึกโล่งมากเลย ที่ไม่พลาด เออ เรามาได้จนถึงจุดนี้ อะไรอย่างนี้” ปูเป้อธิบายถึงโมเมนต์ที่เธอประทับใจ ก่อนจะเสริมว่างานในครั้งนี้ เธอได้ไปถ่ายภาพในงาน Pre Oscar ของแฟชั่นเฮาส์สุดหรูอย่าง Chanel ซึ่งเธอตื่นเต้นมากที่ได้เจอ Kristen Steward และ Nicole Kidman สองดาราสาวที่เธอได้เห็นผ่านจอมาตลอดซึ่งเป็นอีกหนึ่งโมเมนต์สุดประทับใจของเธอเช่นกัน
เมื่อออสการ์อยาก inclusive ประตูแห่งโอกาสจึงเปิดกว้างขึ้น
อีกหนึ่งไฮไลต์ของงาน คือ การที่นักแสดงเอเชียถูกเสนอชื่อเข้าชิง และได้รับรางวัลใหญ่ในค่ำคืนนั้นถึงสองคน เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามปูเป้ถึงความรู้สึกในฐานะคนเอเชียเหมือนกัน เธอแสดงความคิดเห็นไว้ว่า
“ก็ดี แต่ก็ช้านะออสการ์ เรารู้สึกว่า อย่างไรออสการ์ก็มีเรื่องการเมืองอยู่แล้ว การที่เขาให้รางวัลอย่างนี้ เราว่ามันก็เหมือนเขาอยากจะประกาศตัวว่า เราเปิดรับความหลากหลายนะ inclusive นะ แต่ก็เป็นเพราะว่า มันไม่เคยเปิดมาก่อนไง แต่ว่าก็โอเค ก็ขอบคุณที่เปิด”
เจ้าตัวยังบอกอีกด้วยว่า ความ inclusive นี้ ส่งผลกับคนทำงานอย่างเธอเช่นกัน เพราะมันเปิดให้เธอได้รับโอกาสมากขึ้น จากการที่กำแพงเรื่องเชื้อชาติถูกทำลายลงไป ซึ่งเป็นเรื่องดี ที่ทำให้โอกาสสามารถเข้าถึงคนที่หลากหลายมากขึ้นไปด้วย
‘Women Talking’ ภาพยนตร์น้ำดีที่อยากให้มีมากขึ้นในสังคม
พูดถึงออสการ์ ก็ต้องพูดถึงหนัง ซึ่งจากที่เราถามปูเป้มาว่าในงานครั้งนั้น เธอเชียร์ภาพยนตร์เรื่องไหนเป็นพิเศษบ้าง ซึ่งคำตอบก็คือ ‘Everything Everywhere All At Once’ ภาพยนตร์จากค่าย A24 ที่กวาดรางวัลไปอย่างล้นหลามในค่ำคืนนั้น และ ‘Women Talking’ ภาพยนตร์ที่คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมกลับไป
“เราชอบ ‘Everything Everywhere All At Once’ นี่แหละ ชอบเรื่องนี้มาก แต่มีอีกเรื่องที่เรารู้สึกว่าเราชอบหนังเรื่องนี้มากๆ คือ ‘Women Talking’ ซึ่งเป็นหนังเฟมินิสต์เลย เป็นหนังที่ผู้หญิงมานั่งคุยกันเพื่อหาทางออกว่า เราจะทำอย่างไรในสถานการณ์ที่เราถูกผู้ชายข่มเหง เรารู้สึกว่า หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ควรมีอยู่ในสังคม คือมันไม่ใช่หนังที่ดูแล้วจะสนุก บันเทิง หรืออะไร แต�