Art

“ประชาธิปไทป์” บอกเล่าการเมืองและสังคมผ่านศิลปะของของตัวอักษร

ศิลปะกับการเมืองนับเป็นอีกหนึ่งสุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้านสุดคลาสสิค เสน่ห์ของการระบายความอัดอั้นตันใจโดยอาศัยการตีความนั้นคือการที่เราเข้าใจในข้อความชุดเดียวกันโดยที่เราไม่ต้องพูดกันแม้แต่ประโยคเดียว สร้างความรู้สึกร่วมของความเป็นพรรคพวกเดียวกัน ที่รู้สึกร่วมกันต่อเหตุการณ์นั้นไปด้วย และแน่นอนว่าชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว ผลงานเหล่านี้จะเป็นเหมือนพงศาวดาร เครื่องบันทึกเหตุการณ์ในมุมมองของประชาชน บันทึกเพื่อประชาชน 

สุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้านที่เราจะพาทุกคนไปรู้จักคือ “ประชาธิปไทป์ (PrachathipaType)” เพจที่เล่าเหตุการณ์การเมืองผ่านศิลปะของตัวอักษรและเป็นพื้นที่ช่วงชิงความหมายของตัวอักษรไทย

จุดเริ่มต้นประชาธิปไทป์

จุดเริ่มต้นของ “ประชาธิปไทป์” ทางเพจเล่าให้เราฟังว่า เป็นคนสนใจการเมืองมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องมาทำงานตรงนี้ ภาพบ้านเมืองและสังคมที่แย่ลง ทำให้หลายคนเริ่มมองไม่เห็นอนาคต จึงเข้ามาแตะเรื่องการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ จนช่วงม็อบ 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ทาง Headache Stencil อยากได้ตัวหนังสือ ‘ศักดินาจงพินาศ’ ไปพ่นเป็นทางม้าลายบนถนนราชดำเนิน เราเลยออกแบบตัวอักษรให้ ปรากฎว่าภาพนั้นมียอดไลก์เป็นจำนวนมาก จึงเปิดเพจประชาธิปไทป์ขึ้นมา

“ในฐานะบทบาทดีไซเนอร์ พยายามมองหาความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอักษรภาษาไทยอยู่เสมอ เราไม่ค่อยเห็นตัวอักษรไทยในสเกลใหญ่ เราก็เลยใช้พื้นที่นี้เป็นที่ปล่อยของ ได้ทดลองบางอย่างที่งาน Commercial ทำไม่ได้ มันเป็นแบบฝึกหัดที่ดีในฐานะดีไซเนอร์และคนชอบตัวอักษรภาษาไทย ที่ไม่รู้ว่าควรจะดีใจหรือเศร้าใจที่การเมืองไทยมีประเด็นมาให้เราจับทำเป็นงานอยู่เรื่อยๆ เลย”

“การทำงาน Real Time เพื่อตอบรับกับความบ้าๆ บอๆ ของรัฐไปเรื่อยๆ มันไม่ก่อให้เกิดอะไรมาก เราก็คิดว่าพื้นที่นี้เป็นทางออกที่เติมเต็มตัวเอง”

การเมืองในศิลปะของตัวอักษร

เมื่อเข้าไปส่องในเพจ เราจะเห็นคำอธิบายที่เขียนว่า “ประชาธิปไทป์ - การเมืองในศิลปะของตัวอักษร” เราจึงถามเหตุผลถึงการอธิบายข้อความนี้

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองมีผลต่อวิธีคิดและอารมณ์ของสังคมจนเกิดเป็นศิลปะ”

“ผมคิดว่าในงานศิลปะทั้งหลายทั้งปวงมันมีเรื่องการเมืองอยู่แล้ว วัตถุดิบที่ทำให้คนสร้างงานศิลปะก็เป็นผลจากสภาพแวดล้อมและสภาพสังคมที่หล่อหลอมกระบวนการคิด แล้วตัวอักษรมันไปอยู่ได้อย่างไร คือถ้าเราเป็นคนสนใจประวัติการออกแบบตัวอักษร อย่างตัวภาษาไทยที่ใช้ปากกาหัวตัดเขียน กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์คิดค้นขึ้น ถ้าตัดประวัติทางสังคมและการเมืองออกไป เราอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ถ้าเรามองอีกทีในสมัยนั้นจะมีคนไทยซักกี่คนที่สามารถเข้าถึงปากกาหัวตัดซึ่งเป็นปากกาฝรั่งแล้วมีเวลาคัดตัวอักษรไทย คิดโครงสร้างการลากเส้น จะเป็นใครได้บ้าง ก็ต้องเป็นคนที่มีตำแหน่งสูงทางสังคม แล้วทำงานเพื่อสังคมชั้นสูง ก่อนที่ตัวอักษรจะผ่านการเดินทางมาจนเป็นของประชาชน สำหรับในบริบทปัจจุบัน ผมคิดว่าแต่ละฟอนต์ที่เราทำ เหมือนเราอยากจะบันทึกเรื่องราวทางการเมืองเอาไว้”

การปิดกั้นทางการเมืองและศิลปะของรัฐไทย

“สิ่งที่รัฐประสบความสำเร็จที่สุดคือ การที่ทำให้ประชาชนสามารถเลือกที่จะเซนเซอร์ตัวเองได้ เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย”

“สิ่งที่รัฐปิดกั้นไม่ได้มีแค่เป็นศิลปะ แต่มันลามไปถึงการตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ธรรมดา ส่วนการแสดงออกทางศิลปะมันไม่ใช่เพิ่งมามีในม็อบนี้ แต่คราวนี้ที่เรารู้สึกว่ามันเยอะเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งคือสังคมยุคนี้ผู้คนมีทักษะในการสร้างสรรค์มากขึ้น เครื่องมือเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สื่อที่อยู่ในมือประชาชนก็พร้อมที่จะกระจายมากขึ้น ด้วยความที่เขาปิดกั้นการพูดตรงๆ คนก็ต้องรู้จักพลิกแพลง คนไทยจริงๆ เป็นชาติที่มีทั้งอารมณ์ขัน ความทะลึ่งตึงตัง และกวนตีนโดยธรรมชาติอยู่แล้ว พอโดนบีบมากเข้าก็หาวิธีการแสดงออกด้วยศิลปะหลายแขนง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องน่ายินดี โดยส่วนตัวเชื่อว่าหน้าที่ของงานศิลปะนอกจากสะท้อนความเป็นจริงและบันทึกเรื่องราวของสังคมแล้ว มันต้องเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในสังคม”

แบบเรียนพยัญชนะไทยฉบับการเมืองไทยร่วมสมัย

โปรเจกต์ “แบบเรียนพยัญชนะไทย” เรียกได้ว่าเป็นโปรเจกต์ใหญ่ของทางประชาธิปไทป์ หลายคนอาจจะเห็นจากงงาน Bangkok Art Book Fair ที่ผ่านมา หรือได้จากเพลง “กอ เอ๋ย กอ กราบ” ของ Rap Against Dictatorship เราจึงถามถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้

“หนังสือเรียน ก-ฮ ถ้าเรากลับไปดูพวกสื่อเก่าๆ เราจะเห็นว่าภาพประกอบจะแอบแฝงอุดมการณ์รัฐบางอย่าง ธ.ธง ยังไงก็เป็นธงชาติไทย ท.ทหารอดทน ทหารต้องดูกล้าหาญและรักชาติมาก ญ.หญิง น่าสนใจตรงที่ว่าภาพประกอบ ญ.หญิง ในแบบเรียนเก่าแต่ละช่วงก็เปลี่ยนไปตามบทบาท หรือมาตรฐานความ “โสภา” ที่รัฐอยากให้เป็น เราเลยรู้สึกว่าเครื่องมืออย่างนึงที่รัฐสร้าง กำหนด และควบคุมความคิดประชาชนก็คือ แบบเรียน” 

“เราเคยคุยกับพี่ท่านนึงที่เป็นศิลปินที่ทำงานในประเด็นการเมืองมานาน เขารู้สึกว่าโรงเรียนคือปราการสุดท้ายของฝั่งผู้ถืออำนาจรัฐที่จะควบคุมความคิดของเยาวชน ถ้าสามารถควบคุมสิ่งที่สอนได้ในโรงเรียน ก็พอจะกล่อมเกลาหรือปลูกฝังให้โตขึ้นมาอยู่ฝั่งเดียวกันได้ เราก็เลยคิดว่าการทำแบบเรียนคือ วิธีที่จะเขย่าและขโมยความหมายออกมา มันน่าสนใจตรงที่ว่า กอไก่ถึงฮอนกฮูก มันเป็นคำที่ง่ายๆ มีไว้เพื่อให้ท่องจำได้เท่านั้น ถ้าเราเปลี่ยนให้แต่ละคำมีประเด็นทางสังคมในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่คุณควรตระหนักหรือเห็นคำนี้แล้วคุณไปค้นคว้าต่อ มันจะทำให้เข้าใจสภาพสังคมและปัญหาต่างๆ ที่รายล้อมประเทศไทยได้ดีขึ้นไหม 

หลังจากที่ตั้งโจทย์นี้ขึ้นมา เราก็คิดว่าอยากแตะประเด็นอะไรบ้าง ซึ่งพยายามจะแตะในทุกๆ ประเด็นให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งทุนผูกขาด, คอร์รัปชัน, ตำรวจ, ทหาร, สื่อ, ระบบยุติธรรมที่เอนเอียง, การใช้อำนาจรัฐไล่รื้อชุมชน, ฯลฯ แต่ว่าใน ก-ฮ ที่ไม่มีประเด็นเรื่องการศึกษา เพราะรู้สึกว่าฟอร์มของมันออกมาให้รูปแบบเรียน คือตรงที่สุดแล้วว่าเราจะพูดถึงเรื่องการศึกษา”

การร่วมงานกับ “นักเรียนเลว” และ “Rap Against Dictatorship”

“ตั้งแต่แรกที่ทำหนังสือ เรารู้สึกว่าต้องมีอาขยานเพราะเราจะไปช่วงชิงความหมายในการท่อง ก-ฮ มา เราก็นึกถึงนักเรียนเลว เขาเป็นเยาวชนที่ออกมาสู้เพื่อตัวของเขาเอง เราคุยกับนักเรียนตั้งแต่ยังทำงานภาพไม่เสร็จว่าจะให้นักเรียนเลวมาอ่านให้ แต่ที่ทำเพลงแร็ป เป็นความบังเอิญที่น่าสนุกมากกว่า ตอนต้นปีที่กำลัง ก-ฮ อยู่ ตอนนั้นเรากำลังทำปกเพลง “งบประมาณ” ให้ Rap Against Dictatorship อยู่ เขาเอาเนื้อเพลงและเดโม่มาให้ฟัง สิ่งที่มันอยู่ในเพลงนั้น มันตรงกับภาพ ง.งู ที่เราทำไว้พอดี เราก็เลยส่งงาน ก-ฮ ให้ดูก็เลยออกมาเป็นปก และ Lyrics Video เพลงงบประมาณ แล้วเขาก็ถามว่า ก-ฮ ที่ทำอยู่เป็นยังไงบ้าง เราก็เลยส่งอาขยานแบบไม่เสร็จสมบูรณ์ไป เขาก็ว่ามันแร็ปได้ เด็กไทยท่องอาขยานอาจเบื่อ ถ้ามันเบื่อก็มาแร็ปสิ! พอเพลงแร็ปเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เราก็รู้เลยว่าโปรเจกต์นี้มันสมบูรณ์ขึ้นไปอีกขั้นเลย รวมๆ แค่เสียดายว่าไม่ได้เปิดตัวเป็นนิทรรศการ โชว์ภาพใหญ่ๆ และมี Rap Against Dictatorship มาร้องสดๆ”

ปัญหาการศึกษาไทย

“ปัญหาคือมันไม่ทำให้เด็กๆ รู้จักตัวเอง ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเลย พอเด็กไม่รู้จักตัวเอง เรียนๆ ไปเพื่อให้มันจบตามทามไลน์ คือถ้าคุณไม่รู้จักตัวเอง คุณก็จะไหลไปตามเส้นทางที่สังคมกำหนดให้ พอการศึกษาไม่ได้ทำให้คนรู้จักตัวเอง มันก็ทำให้คนเป็นซอมบี้ออกมาเรื่อยๆ เราไม่ได้มีคนที่มีคุณภาพออกมาสู่สังคม อีกเรื่องหนึ่งคือนอกจากไม่ทำให้รู้จักตัวเองแล้ว ยังไปดับฝันของคนที่เขามีประกายอะไรบางอย่างด้วย ทำไมเราไม่มีระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กกล้าฝัน กล้าที่จะลองผิดลองถูกจนรู้จักตัวเอง และเดินตามความฝันว่ามันจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม”

โปรเจกต์ถัดไป

“กำลังจะมีฟอนต์ลายมือของบุคคลสำคัญคนหนึ่ง”

ติดตามและอัปเดตผลงานประชาธิปไทป์ทั้งหมดได้ที่ 

Facebook: PrachathipaType

Instagram: prachathipatype

Twitter: @prachathipatype

เพลง กอ เอ๋ย กอ กราบ (feat. Protozua) - Rap Against Dictatorship x PrachathipaType