สำหรับผู้นำระดับโลก 'สัตว์เลี้ยง' ไม่ได้เป็นเพียงสมบัติส่วนตัวที่เลี้ยงไว้เพื่อความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทส่วนหนึ่งในการสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตร และมีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้นำประเทศ เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องราวความรักความผูกพันระหว่างผู้นำประเทศกับสัตว์เลี้ยงของพวกเขา ยังเผยให้เห็นถึง 'มิตรภาพอันไร้ขอบเขต' ของมนุษย์คนหนึ่ง และสัตว์เลี้ยงที่เป็นเหมือนเพื่อนคู่ใจ
สหรัฐอเมริกาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมิตรภาพระหว่างผู้นำประเทศ และสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ใน 'ทำเนียบขาว' สถานที่ทำงาน และที่พักอาศัยของประธานาธิบดี ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทของสัตว์เลี้ยงของเหล่าประธานาธิบดี อาจไม่ได้เป็นเพียงเพื่อนแก้เหงา แต่ยังแฝงนัยทางการเมืองไว้บ้างไม่มากก็น้อย
แมทธิว คอสเตลโล นักประวัติศาสตร์อาวุโสของสมาคมประวัติศาสตร์ทำเนียบขาว (White House Historical Association) เคยให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า สัตว์เลี้ยงในทำเนียบขาวสะท้อนให้เห็นถึงบุคลิกภาพของผู้ครอบครอง และบางครั้งสัตว์เหล่านี้ก็มีบทบาทสำคัญต่อภาพลักษณ์ด้านการปกครอง “สัตว์เลี้ยงทำให้ประธานาธิบดีมีความเป็นมนุษย์มากขึ้นเล็กน้อย เพราะเป็นภาพที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับผู้คนมากที่สุด เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักจะมีสัตว์เลี้ยงของตัวเอง อย่างน้อยก็สักหนึ่งครั้งในชีวิต”
ทำเนียบขาวได้เปิดต้อนรับสัตว์เลี้ยงกลุ่มแรก คือ ม้า และสุนัข ของจอห์น แอดัมส์ ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสหรัฐฯ เมื่อราวปี 1797 หลังจากนั้น สถานที่แห่งนี้ก็แทบไม่ว่างเว้นจากการเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยง ยกเว้นในสมัยของประธานาธิบดี 3 คน ได้แก่ เจมส์ เค. พอล์ค, แอนดรูว์ จอห์นสัน และโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ได้มีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องราวความรักระหว่างประธานาธิบดีกับสัตว์เลี้ยงในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ มากมาย และ EQ ก็ได้คัดเลือกมาให้ทุกคนได้อ่านกัน
โธมัส เจฟเฟอร์สัน และนกม็อกกิงเบิร์ด 'ดิ๊ค'
โธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐฯ มีสัตว์เลี้ยงเป็นของตัวเองจำนวนมาก ตั้งแต่สุนัข ม้า แกะ ไปจนถึงลูกหมีกริซลี (ซึ่งภายหลังได้มอบให้ชาร์ลส์ วิลสัน พีล เลี้ยงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนตัวในฟิลาเดลเฟีย) แต่สัตว์เลี้ยงที่เขาโปรดปรานมากที่สุดคือ นกม็อกกิงเบิร์ด
เจฟเฟอร์สันเริ่มเลี้ยงนกม็อกกิงเบิร์ดตัวแรกเมื่อปี 1772 ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี และด้วยเสียงร้องอันไพเราะ พร้อมความสามารถในการเลียนแบบเสียงของเจ้านกชนิดนี้ ทำให้เจฟเฟอร์สันหลงใหลในเสน่ห์ของมัน และหามาเลี้ยงเพิ่ม จนกระทั่งในช่วงที่อยู่ในตำแหน่ง เขาเลี้ยงม็อกกิงเบิร์ดไว้อย่างน้อย 4 ตัว ซึ่งตัวที่เขารักมากที่สุดมีชื่อว่า 'ดิ๊ค'
คนใกล้ชิดเจฟเฟอร์สันคนหนึ่งเขียนไว้ว่า เจฟเฟอร์สันรักนกมาก เขาจะอยู่ไม่ได้หากปราศจากสิ่งที่เขารัก นกและดอกไม้ คือสิ่งที่เขาทะนุถนอมเป็นที่สุด โดยปกติ ดิ๊คจะอาศัยอยู่ในกรงที่แขวนใกล้หน้าต่าง ท่ามกลางดอกกุหลาบ และเจอเรเนียม แต่เมื่อเจฟเฟอร์สันกลับมา เขาจะเปิดกรงให้นกได้บินอย่างอิสระ ซึ่งเจ้าดิ๊คจะมาเกาะที่โต๊ะ ร้องเพลงคลอขณะที่เจฟเฟอร์สันทำงาน หรือเกาะอยู่บนไหล่ราวกับคอยดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเจฟเฟอร์สันเริ่มเล่นไวโอลิน ดิ๊คจะร้องเพลงตามเสียงไวโอลิน หรือแม้กระทั่งตอนที่เจฟเฟอร์สันต้องการงีบหลับ ดิ๊คจะกระโดดขึ้นบันไดตามไปทีละขั้น และร้องเพลงให้ฟังบนเบาะ
มาร์กาเร็ต บายาร์ด สมิธ นักเขียน และเพื่อนของเจฟเฟอร์สัน เขียนบรรยายความรักของเจฟเฟอร์สันที่มีต่อนกไว้เมื่อปี 1806 ว่า เขารัก 'พลังอันแสนเพราะพริ้ง ความฉลาดอันพิเศษ และนิสัยอันน่าเสน่หา'
ดิ๊คอยู่กับเจฟเฟอร์สันเป็นส่วนใหญ่ในแต่ละวัน
ขณะที่เจฟเฟอร์สันอาศัยอยู่ในคฤหาสน์มอนติเซลโล ยังไม่มีนกม็อกกิงเบิร์ดป่าอาศัยอยู่บริเวณนั้น ทว่า 20 ปี หลังจากที่เขาเสียชีวิต ประชากรนกม็อกกิงเบิร์ดก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นในป่า จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
อับราฮัม ลินคอล์น กับเจ้าสุนัข ‘ฟิโด’ และไก่งวง 'แจ็ค'
อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐฯ เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงธรรมดาอย่างแพะ แมว ม้า กระต่าย รวมทั้งสุนัขชื่อ ‘ฟิโด’ ที่ถูกลอบฆ่าในช่วงไม่กี่เดือนหลังจากที่ลินคอล์นถูกลอบสังหาร และคำว่า Fido ก็กลายเป็นคำที่ใช้เรียกแทนสุนัข โดยมีที่มาจากเจ้าฟิโดนี่เอง
อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยงประจำทำเนียบขาวในสมัยของลินคอล์นอีกชนิดหนึ่งคือ 'แจ็ค' เจ้าไก่งวงที่ถูกส่งมาทำเป็นอาหารในงานเลี้ยงเทศกาลคริสต์มาส เมื่อปี 1863 แต่ถือว่าดวงแข็งมาก เพราะเจ้าแจ็คได้พบกับแทด ลินคอล์น ลูกชายคนสุดท้องวัย 10 ปี ของอับราฮัม ลินคอล์น และได้กลายเป็นสัตว์เลี้ยงคู่ใจของแทดในที่สุด
ทว่าเมื่อคริสต์มาสใกล้จะมาถึง แทดรู้ดีว่าแจ็คจะต้องถูกนำตัวไปฆ่าเพื่อทำเป็นอาหาร จึงบุกเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทั้งน้ำตา และขอร้องให้พ่อละเว้น 'โทษประหาร' ไก่งวงตัวนี้ หลังจากนั้น ว่ากันว่าเหตุการณ์นี้เป็นที่มาของการถ่ายภาพอภัยโทษไก่งวงในเทศกาลขอบคุณพระเจ้าในปัจจุบันอีกด้วย
ธีโอดอร์ รูสเวลต์ กับสัตว์เลี้ยงทั้ง 48 ตัว
ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 26 ผู้เป็นสายแอดเวนเจอร์ และมีสัตว์เลี้ยงอยู่ในครอบครองมากที่สุดถึง ‘48 ตัว’ แถมยังมีหลากหลายประเภทด้วย จากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์เลี้ยงของรูสเวลต์ประกอบด้วยหมีขนาดเล็ก, หมู, นกแสก, ไฮยีนา, สิงโต, กิ้งก่า, งูการ์เตอร์, หนูตะเภา, ม้าแคระ, แบดเจอร์, ไก่ตัวผู้และตัวเมีย (ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นไก่ขาเดียว) รวมทั้งสุนัข และม้าสายพันธุ์ต่างๆ
รูสเวลต์มักจะได้รับสัตว์แปลกๆ เป็นที่ระลึกในโอกาสต่างๆ ครั้งหนึ่งผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันในเวสต์ เวอร์จิเนีย ได้มอบหมีให้รูสเวลต์ ซึ่งลูกๆ ของเขาตั้งชื่อว่า ‘โจนาธาน เอ็ดเวิร์ด’ ตามชื่อบรรพบุรุษของแม่ อีดิธ รูสเวลต์ และในปี 1904 กษัตริย์เมเนลิคแห่งอะบิสซิเนีย ได้มอบลูกสิงโตชื่อ ‘โจ’ และไฮยีนาชื่อ ‘บิลล์’ ที่ 'หัวเราะเกือบตลอดเวลา' ตามรายงานของ New York Times ในขณะนั้น
เรื่องราวสุดป่วนของสัตว์เลี้ยงของรูสเวลต์ยังไม่จบเท่านั้น เพราะยังมีเรื่องเล่าว่า ชาร์ลี รีดเดอร์ คนรับใช้ประจำบ้านรูสเวลต์ เคยช่วยลูกๆ ของรูสเวลต์แอบพาม้าแคระชื่อ ‘อัลกอนควิน’ เข้าไปในทำเนียบขาว และพาขึ้นลิฟต์ขนของไปที่ห้องนอนของอาร์ชี ลูกชายคนหนึ่งของรูสเวลต์ ซึ่งกำลังป่วยด้วยโรคหัด เมื่ออาร์ชีเห็นเจ้าม้าแคระ ก็โผเข้ากอดด้วยความดีใจ จนม้าถึงกับเซ เสียงย่ำเท้าบนพื้นของอัลกอนควิน ทำให้คนทั้งบ้านต้องรีบมาที่ห้องนอนของอาร์ชี ในที่สุดก็ความลับแตก และอาร์ชี่ก็ถูกดุ
แคลวิน คูลิดจ์ กับแรคคูน 'รีเบกกา'
แคลวิน คูลิดจ์ ประธานาธิบดีคนที่ 30 ของสหรัฐฯ ผู้เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงทั้งชนิดธรรมดา และไม่ธรรมดา ตั้งแต่สุนัขสายพันธุ์ต่างๆ, เป็ด, ห่าน, แมว, นกคานารี, แมวป่า, ลูกสิงโต, ฮิปโปแคระ, ละมั่ง, จิงโจ้แคระ และหมี แต่สัตว์เลี้ยงที่ครอบครัวคูลิดจ์รักมากที่สุด คือเจ้าแรคคูนชื่อ 'รีเบกกา'
จากข้อมูลของพิพิธภัณฑ์สัตว์เลี้ยงของประธานาธิบดี รีเบกกาได้เข้ามาเป็นสมาชิกของครอบครัวคูลิดจ์เมื่อปี 1926 โดยถูกส่งตัวมาจากมิสซิสซิปปี เพื่อมาทำเป็นอาหารในเทศกาลขอบคุณพระเจ้า ทว่าเจ้าแรคคูนตัวนี้กลับมีนิสัยน่ารัก และเป็นมิตร ครอบครัวคูลิดจ์จึงเปลี่ยนใจ และรับเลี้ยงไว้
ในแต่ละวัน รีเบกกาจะต้องใส่ปลอกคอ และสายจูง เดินเล่นในสนามหญ้ารอบทำเนียบขาว โดยปลอกคอของนางปักข้อความว่า 'White House Raccoon' (แรคคูนทำเนียบขาว) ตามรายงานของสมาคมประวัติศาสตร์ทำเนียบขาว
รีเบกกามักจะทำตัวโดดเด่นอยู่ในสปอตไลต์ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำตัวเกเรเพื่อดึงความสนใจของผู้คนในการแข่งขันหาไข่อีสเตอร์ประจำปี 1927 นอกจากนี้ ในปี 1927 นิตยสาร Times รายงานว่า 'รีเบกกาหนีออกจากที่พักของครอบครัวคูลิดจ์ในเซาท์ดาโกตากลางดึก ปีนขึ้นไปบนต้นไม้สูง และไม่ยอมลงมาแม้ว่าทุกคนจะอ้อนวอนก็ตาม' และในที่สุด รีเบกกาก็ถูกส่งตัวไปอยู่ที่สวนสัตว์ร็อกครีก
แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ และสุนัข 'ฟาลา'
แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ หรือที่เรียกกันโดยย่อว่า FDR เป็นประธานาธิบดีคนที่ 32 ของสหรัฐฯ และยังเป็นเจ้าของเรื่องราวอันน่าประทับใจ นั่นคือมิตรภาพ และความผูกพันระหว่างตัวเขากับเจ้า 'ฟาลา' สุนัขพันธุ์สก็อตติช เทอร์เรีย เพศผู้
ฟาลาได้พบกับรูสเวลต์เป็นครั้งแรกในฐานะของขวัญวันคริสต์มาสที่ญาติห่างๆ คนหนึ่งมอบให้ ชื่อเดิมของมันคือ ‘บิ๊กบอย’ แต่รูสเวลต์เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘Murray the Outlaw of Falahill’ ตามชื่อของ John Murray of Falahill บรรพบุรุษชาวสก็อต และกลายเป็นชื่อฟาลาในที่สุด
ฟาลาเป็นสุนัขที่ฉลาด และได้รับการฝึกมารยาท พร้อมทั้งความสามารถอย่างดีจากเจ้าของเดิม ก่อนเข้ามาอยู่ในทำเนียบขาวเมื่อปี 1940 โดยในช่วงแรก มันถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจากปัญหาในลำไส้ รูสเวลต์ทราบในภายหลังว่าฟาลาหาทางเดินไปเข้าครัวเอง และกินอาหารมากเกินไป ดังนั้น เขาจึงสั่งห้ามทุกคนให้อาหารฟาลา และฟาลาสามารถกินอาหารจากเขาได้เพียงคนเดียว
ไม่ว่าจะปฏิบัติภารกิจที่ใด ฟาลามักจะติดตามรูสเวลต์ไปด้วยเสมอ ไม่เว้นแม้กระทั่งขณะที่รูสเวลต์เดินทางไปรักษาอาการอัมพาตที่วอร์มสปริง จอร์เจีย จนกระทั่งวันที่ 12 เมษายน 1945 รูสเวลต์ถึงแก่กรรม และหลังจากนั้นไม่กี่นาที ฟาลาก็มีพฤติกรรมแปลกๆ ทั้งเห่า ขู่ และเอาหัวโขกประตูกั้นให้พัง แล้ววิ่งขึ้นไปบนเนินเขา
ฟาลาได้เข้าร่วมพิธีศพของรูสเวลต์ และหลังจากนั้นก็อยู่ในความดูแลของเอลีนอร์ รูสเวลต์ ภริยาม่ายของอดีตประธานาธิบดีรูสเวลต์ เธอกล่าวถึงสุนัขตัวนี้ในอัตชีวประวัติว่า ฟาลาไม่สามารถปรับตัวได้เลย นับตั้งแต่ที่รูสเวลต์จากไป ครั้งหนึ่งในปี 1945 เมื่อนายพลไอเซนฮาวเออร์เดินทางมาวางพวงหรีดในพิธีศพของรูสเวลต์ ฟาลาได้ยินเสียงไซเรนจากรถนำขบวน ก็ลุกขึ้นยืน หูตั้ง ราวกับหวังว่าจะเห็นเจ้านายเดินเข้ามาอย่างที่เคย และหลังจากที่ย้ายมาอยู่กับเอลีนอร์ที่วัลคิล ฟาลามักจะหมอบอยู่ใกล้ประตูห้องรับประทานอาหาร เพื่อที่จะมองเห็นทางเข้าบ้านทั้งสองจุด เหมือนอย่างที่เคยทำสมัยที่รูสเวลต์ยังมีชีวิตอยู่ เนื่องจากรูสเวลต์มักจะตัดสินใจออกไปข้างนอกแบบกระทันหัน ฟาลาจึงต้องคอยเตรียมตัวไว้ เพื่อให้พร้อมที่จะร่วมเดินทางไปกับเจ้านาย
“ฟาลายอมรับฉันหลังจากที่สามีของฉันเสียชีวิต แต่ฉันก็เป็นเพียงคนคนหนึ่งที่มันทนอยู่ด้วย จนกว่าเจ้านายของมันจะกลับมา” เอลีนอร์ รูสเวลต์ กล่าวไว้ในหนังสือ
ในช่วงบั้นปลายชีวิต ฟาลามีสุขภาพทรุดโทรมลง และหูหนวก มันถูกการุณยฆาตเมื่อวันที่ 5 เมษายน 1952 ก่อนจะถึงวันเกิดปีที่ 12 เพียง 2 วัน ร่างของฟาลาถูกฝังอยู่ใกล้กับหล