ตั้งแต่กวีหญิงในตำนานอย่างแซฟโฟ (Sappho) หรือจะเป็นดอกไม้เขียวบนหน้าอกของ ‘ออสการ์ ไวลด์’ และ ‘เอลเลียต เพจ’ จนมาถึงดอกลิลลี่ที่กลายเป็นตัวแทนของหญิงรักหญิง หลากหลายความหมายที่แต่ละกลุ่มจะมอบให้ดอกไม้เพื่อเป็นตัวแทนการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของความเป็น LGBTQ+ เนื่องในเดือน Pride นี้ เรามาทำความรู้จักดอกไม้แต่ละชนิดที่นำเสนอตัวตนของเพศหลากหลายในแต่ละกลุ่มกันเถอะ
Violet: Lesbian
ตำนานยุคกรีกโบราณเล่าขานว่า ‘แซฟโฟ’ กวีหญิงแห่งเกาะเลสบอส เคยแต่งบทกวีสะท้อนอารมณ์ (Lyric Poetry) ที่มีเนื้อความสื่อถึงความรักระหว่างเพศหญิง โดยครั้งหนึ่งเธอได้บรรยายว่าตัวเองและคนรักของเธอสวมมงกุฎดอกไวโอเล็ต ทำให้คนรุ่นหลังที่ค้นพบตำนานนี้นำดอกไวโอเล็ตมาใส่ในงานเขียน และใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของ LGBTQ+
ในแง่ของภาษาดอกไม้ ดอกไวโอเล็ตมักหมายถึง ‘ศรัทธา ความจริงใจ และความถ่อมตน’ อีกนัยหนึ่งคือ การบอกถึงเจตนาที่จะเปิดเผยความในใจของตัวเอง และเคารพตัวตนของผู้อื่นไปในเวลาเดียวกัน สีม่วงจากดอกไวโอเล็ตนี้เองจึงเป็นที่มาของสีม่วงบนธงสีรุ้ง ที่สื่อถึงจิตวิญญาณอันแน่วแน่ของ LGBTQ+ ในวันนี้
Lily: Lesbian
ในปี ค.ศ. 1976 ดอกลิลลี่ก็เป็นที่รู้จักในฐานะคำแทนหญิงรักหญิงของญี่ปุ่น ซึ่งออกเสียงว่า ‘ยูริ’ (百合) โดยมีที่มาจากการพาดหัวปกนิตยสารชายรักชายแรก ‘บาระโซคุ’ (Barazoku) โดยคำว่า ‘ยูริ’ นั้นนอกจากจะแปลว่าดอกลิลลี่ได้แล้ว ยังถูกนำไปใช้เรียกสื่อในหมวดหมู่ของ Girls Love (หญิงรักหญิง) อีกด้วย
ด้วยความที่เลสเบี้ยนโรแมนซ์มีหลายระดับ ลิลลี่ขาวจึงสื่อถึงความรักบริสุทธิ์ ในขณะที่คาลล่าลิลลี่ที่มีรูปร่างคล้ายเครื่องเพศของผู้หญิง จะเน้นไปทางความรักที่เต็มไปด้วยความหลงใหลและแรงปรารถนา
Green Carnation: Gay
‘ออสการ์ ไวลด์’ (Oscar Wilde) นักเขียนชาวไอริชชื่อดัง ติดดอกคาร์เนชั่นสีเขียวตรงอกเสื้อในงานเปิดละครเวทีของเขาเรื่อง “Lady Windermere’s Fan” แต่หลังจากเขาถูกเปิดเผยว่ามีคนรักเพศเดียวกัน ดอกไม้ดอกนี้จึงกลายเป็นคำที่ใช้เรียกทางอ้อมของชายรักชาย
ในช่วงชีวิตของไวลด์นั้น คาร์เนชั่นสีเขียวไม่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ บางทีอาจเป็นอารมณ์ขันของเขาที่จงใจย้อมสีดอกคาร์เนชั่น เพื่อล้อเลียนและเสียดสีสังคมสมัยวิกตอเรียที่มองว่าคนรักร่วมเพศเช่นเขาเป็นสิ่งที่ ‘ผิดธรรมชาติ’ ก็เป็นได้
ล่าสุดในงาน Met Gala ปี 2021 ดอกไม้สีเขียวถูกหยิบมาใช้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อีกครั้ง เมื่อ ‘อีเลียต เพจ’ (Elliot Page) ปรากฎตัวบนพรมแดงงาน Met Gala ในสูท Balenciaga สีดำตัวโคร่ง นับเป็นครั้งแรกที่เขาปรากฎตัวต่อสาธารณะชน ในชื่อใหม่ ตัวตนใหม่ พร้อมแนบดอกกุหลาบสีเขียว เพื่อข้อความถึงคนทั้งโลกว่าเขาได้ยอมรับตัวเองในฐานะทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) อย่างเป็นทางการ
Trillium: Bisexual
เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา ไบเซ็กชวลคอมมูนิตี้ในเม็กซิโกนำดอกทริลเลี่ยมมาใส่เป็นส่วนหนึ่งของธงไบเซ็กชวลที่ออกแบบโดย ‘ไมเคิล เพจ’ (Michael Page) ดอกทริลเลี่ยมบนธงนั้นจะมีสีม่วง ซึ่งเกิดจากการผสมกันของสีชมพู (แรงดึงดูดกับเพศเดียวกัน) และสีฟ้า (แรงดึงดูดกับเพศตรงข้าม)
นอกจากภาษาดอกไม้ที่สื่อถึงความสมดุลแล้ว ในทางวิทยาศาสตร์ ดอกทริลเลี่ยมยังจัดอยู่ในตระกูลเดียวกันกับลิลลี่ และเป็นดอกไม้ชนิดแรกที่นักวิทยาศาสตร์จัดว่าเป็นไบเซ็กชวลเพราะมีสองเพศในดอกเดียวอีกด้วย
Rose: Transgender
“โปรดมอบกุหลาบแก่เราขณะยังมีชีวิต” (Give us our roses while we’re still here) เป็นคำกล่าวแสนเศร้าที่มักได้ยินในวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี ที่ผู้คนต่างมารวมกันเพื่อรำลึกถึงคนข้ามเพศที่ถูกฆาตกรรมด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง ทำให้บ่อยครั้ง ดอกกุหลาบเป็นภาพจำที่อยู่คู่กับทรานส์คอมมูนิตี้ยามไว้อาลัย
ไม่นานมานี้ ดอกกุหลาบถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ อีกครั้งพร้อมวัตถุประสงค์ที่ต่างออกไป ดอกไม้นี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลาย ความงดงาม และความรัก เมื่อนำมาตีความใหม่แล้ว จึงมีความหมายที่สื่อถึงการให้เกียรติและมองเห็นความงดงามที่อยู่ภายในตัวคนข้ามเพศ
Gladiolus: Queer
ในยุคร่วมสมัย ‘มอร์ริสซีย์’ (Morrissey) นักแต่งเพลงชาวอังกฤษจากวง “The Smiths” ได้เขียนเพลงแนวอินดี้ร็อกที่มีเนื้อความเกี่ยวกับความรักและความใคร่อย่างคลุมเครือ ไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เขามักปรากฏตัวโดยโบกดอกกลาดิโอลัสในมือ ยัดใส่กระเป๋ากางเกง หรือแม้กระทั่งโยนให้ผู้ชม หลังจากมอร์ริสซีย์ให้สัมภาษณ์ว่า เขารักมนุษย์โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเพศใด (humasexual) ดอกไม้ดอกนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของเควียร์ไปโดยปริยาย
อ้างอิง