Art

‘PYE Space’ พื้นที่ศิลปะท่ามกลางไอหมอกแห่งเมืองพะเยา

หากกล่าวถึงจังหวัดพะเยา หลายคนก็คงจะขมวดคิ้วสงสัยว่าเมืองรองเล็กๆ แห่งนี้มีอะไรน่าสนใจ นอกจากกว๊านพะเยาและภูเขาที่แสนงดงามนอกตัวเมือง แม้จะไม่น่าเชื่อ แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จังหวัดพะเยาได้กลายมาเป็นหมุดหมายของงานศิลปะในโซนภาคเหนือ และเกิดพื้นที่ศิลปะมากมาย เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินได้ปล่อยของแสดงความสามารถกันอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ ‘ปวินท์ ระมิงค์วงศ์’ หรือ ‘อาจารย์โป้ง’ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะ ‘เมืองแห่งศิลปะ’ ที่คนรักศิลปะต้องแวะไปสัมผัสให้ได้สักครั้ง

อย่าเห็นแก่ตัวสถาน

“ช่วงแรกที่เรามาเป็นอาจารย์พิเศษ ทางมหาวิทยาลัยก็จองโรงแรมให้ แต่พอมาบ่อยขึ้น เราก็ลองคุยกับทางหลักสูตรว่า ขอเบิกงบมาเป็นค่าเช่าบ้านแทนได้ไหม เราจะได้ขนหนังสือมาไว้ที่นี่ ไม่ต้องขนไปขนกลับ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ด้วยระบบราชการ เราก็เลยตัดสินใจที่จะเช่าบ้านเอง ก็ตระเวนหาบ้านเช่า จนไปเจอบ้านไม้หลังใหญ่ที่ถูกปล่อยร้าง”

จากครูสอนดีเจในจังหวัดเชียงใหม่ อาจารย์โป้งตัดสินใจเลือกเส้นทางการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และย้ายมาอยู่จังหวัดพะเยา ขณะเดียวกันก็ปรับปรุงบ้านเช่าหลังใหญ่ให้กลายเป็น ‘พื้นที่ศิลปะ’ หลังจากที่เขามองเห็นว่านิสิตไม่มีพื้นที่จัดแสดงงาน เช่นเดียวกับสร้างพื้นที่ทำเวิร์กชอป จัดกิจกรรม และใช้ศิลปะเชื่อมโยงกับชาวบ้านในพื้นที่ จนเกือบจะกลายเป็นนิทรรศการชุมชน ทว่าต้องพับโครงการเก็บไป เมื่ออาจารย์โป้งจำเป็นต้องคืนบ้านเช่าให้กับเจ้าของ

“ตอนนั้นมหาวิทยาลัยกำลังจะแยกตัวเป็นเอกเทศ เขาก็ต้องเตรียมทุกอย่างเพื่อที่จะเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งมันต้องมีทุกอย่างใหม่หมดเลย เรามีโอกาสได้เข้าไปนั่งประชุมและเรียนรู้ระบบงาน ก็เลยได้เห็นว่ามีอาจารย์เห็นแก่ตัวเยอะมาก ทะเลาะกันในที่ประชุม ตบโต๊ะก็มี เราก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อพื้นที่ของเราว่า ‘อย่าเห็นแก่ตัวสถาน’ จนอยู่มาได้หนึ่งปี เจ้าของบ้านอยากได้บ้านคืน เราก็ต้องคืนบ้านไป”

เทศกาลศิลปะครั้งแรกของพะเยา

ขณะที่กำลังตามหาบ้านเช่าหลังใหม่ อาจารย์โป้งก็ได้รับการติดต่อจากเครือข่ายอาจารย์ ที่อยากใช้พื้นที่จังหวัดพะเยาในการแสดงผลงานของศิลปินต่างชาติ จนกลายมาเป็นเทศกาลงานศิลปะครั้งแรกของจังหวัด ซึ่งมีผลงานของนิสิตจากมหาวิทยาลัยพะเยา รวมถึงศิลปินจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจีน มาจัดแสดงให้ชาวพะเยาได้ชม

“เราได้ตึกแถวที่อยู่ใกล้ศาลหลักเมือง อยู่ในพื้นที่ที่มีถนนคนเดินวันอาทิตย์ ก็คิดว่าน่าจะดีกว่าอยู่ในซอย เราก็เลยเปิดตัวพื้นที่แห่งนี้ด้วยเทศกาลศิลปะครั้งแรกของพะเยา ต้องบอกว่าคนส่วนใหญ่จะมองว่า ศิลปะก็คือภาพเขียน ภาพดอกไม้ ภาพพระพุทธรูป แต่พอเขามาเจองานที่เป็นศิลปะเชิงแนวคิด ไม่ใช่งานตามขนบแบบที่เข้าใจ มีทั้งมีงาน performance งานเชิงแนวคิด งานไฟนีออนดัดเป็นตัวหนังสือ เขาก็เกิดความสนใจ แต่ตอนนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการเมืองที่กำลังรุนแรง ก็เลยกลายเป็นว่าเราถูกฝ่ายความมั่นคงจับตามองอย่างเข้มงวด แต่สุดท้ายเทศกาลก็จบไปได้ด้วยดี ซึ่งงานนี้ทำให้พะเยากลายเป็นหมุดหมายของศิลปะร่วมสมัยในโซนภาคเหนือ”

AR (T) CADE

เพราะมองว่าโลกสมัยใหม่ไม่จำกัดคนทำงาน และมหาวิทยาลัยพะเยาก็ไม่จำกัดความถนัดของผู้สนใจเข้าเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์กับศิลปกรรมศาสตร์ ทำให้ความจำเป็นของพื้นที่ศิลปะในจังหวัดมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อศิลปินรุ่นใหม่ไม่มีพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงาน นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้อาจารย์โป้งต้องเร่งหาพื้นที่ให้กับลูกศิษย์ของเขา เพื่อให้เกิดพื้นที่ศิลปะมากกว่าที่มีอยู่ในตอนนั้น

“เรามองว่านักเรียนศิลปะพะเยาจะมีตัวตนได้ก็ต่อเมื่องานถูกจัดแสดง ในช่วงนั้น เราได้พื้นที่ของหอศิลป์มหาวิทยาลัย แต่พอทำไปสักพัก มันก็เหมือนจัดกันเอง ดูกันเอง เพราะมหาวิทยาลัยพะเยามันไกลมาก เด็กเข้าถึงยาก คนนอกก็เข้าถึงยากมาก ด้วยโลเคชั่นที่ไม่เอื้อเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ต่อมาเขาก็ขอพื้นที่คืน เราไม่มีพื้นที่เลย แล้วพื้นที่ที่ทำเองก็รองรับได้ไม่เยอะ เราคุยกันตลอดว่าพะเยามีพื้นที่มากกว่านี้ ก็เลยช่วยกันหา แต่ดันติดเรื่องงบประมาณ จนนิสิตรุ่นที่ 4 ของเราได้แสดงที่ ‘AR(T)CADE’ (อาร์ตเขต) ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่ได้จัดแสดงงานในจังหวัดพะเยา แต่เราจัดแสดงได้แค่สองสัปดาห์ เพราะมันมีค่าใช้จ่าย”

ค่าใช้จ่ายจากการทำพื้นที่ศิลปะเพิ่มมากขึ้น แต่รายได้กลับไม่เพิ่มตามไปด้วย จึงทำให้อาจารย์โป้งต้องหารายได้เสริมอื่นๆ เพื่อนำมาสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ที่เขาตั้งใจทำขึ้น ทั้งการขายสเต็กและทำสลัดบาร์ในพื้นที่ศิลปะ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องโยกย้ายอีกครั้ง เมื่อต้องคืนอาคารในเมืองที่เช่าอยู่ ก่อนจะขยับเข้ามาอยู่ที่บ้านหลังเล็กในซอย และเปิดพื้นที่ศิลปะแห่งที่ 3 ของเขาด้วยงาน ‘เทศกาลสตรีทอาร์ต’ โดยนำผลงานของศิลปินกราฟฟิตี้จากจังหวัดเชียงใหม่มาจัดแสดง

PYE Space

“แต่ก็มีช่วงพลิกผัน คือหยุดทำไป 1 ปีหลังจากที่อกหัก เราไม่อยากทำอะไรเลย ก็เลยคืนบ้านเช่าแล้วย้ายกลับไปอยู่หอพักหน้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นตัดสินใจว่าจะไม่ทำอะไรแล้ว จะสอนอย่างเดียว แต่ในหัวก็มีโปรเจกต์อยู่ตลอดเวลา แล้วก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อเริ่มทำเรือคายัคที่กว๊านพะเยา”

แม้ต้องผ่านขั้นตอนมากมายกว่าจะสามารถทำให้การพายเรือคายัคกลายเป็นกิจกรรมดึงดูดคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว แต่อาจารย์โป้งก็สู้ไม่ถอย เช่นเดียวกับความตั้งใจที่จะเปิดพื้นที่ศิลปะอีกครั้ง จนกลายมาเป็น ‘PYE Space’ พื้นที่ศิลปะแห่งล่าสุดของเขา

“ด้วยความที่ธุรกิจแกลเลอรี ถ้ามีงานมาแสดง มีคนมาซื้องาน เราก็จะได้เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าขออนุญาตศิลปินเอาไฟล์งานมาทำเป็นโปสการ์ดขาย ซึ่งมันก็ขายได้นะ แต่มันไม่ใช่รายได้หลักที่จะจุนเจือเป็นค่าใช้จ่ายได้ เราก็เลยต้องควักเงินเดือน ซึ่งเราก็เอาที่ไหว อย่างมาเปิด PYE Space เราก็คิดจากพื้นฐานว่าเงินเดือนมีพอจ่ายและชีวิตไม่ลำบาก ถ้าไม่เหนื่อย เราก็ทำ ถึงได้ตัดสินใจมาทำตรงนี้ เพราะพะเยามันไม่มีพื้นที่ศิลปะจริงๆ ซึ่งพอเปิด ผลลัพธ์ที่ได้มันมากกว่าที่เราคิดเอาไว้เยอะเลย เราจัดนิทรรศการ ได้ฟีดแบคจากคนแถวนี้ ผู้คนเริ่มรู้จักเรา พูดคุยกับเรา เขารู้ว่าเราทำแกลเลอรี ทำงานศิลปะ แต่ไม่มีใครกล้าเข้ามาในพื้นที่ คือเขาไม่เคยเข้ามาดูเลย เราก็คิดว่าเพราะเราเป็นพื้นที่ปิดหรือเปล่านะ ทำไมเขาถึงไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่ของเรา”

“มันไม่อยู่ในความคุ้นชินของคนในพื้นที่ เขาคงเคยได้ยินคำว่าแกลเลอรีแหละ แต่เขาไม่รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไร อย่างหลายๆ ที่ที่เคยทำมา พอเขามาดูงานเสร็จก็ถามว่า “จ่ายเงินตรงไหน” เราถามกลับ “จ่ายค่าอะไรครับ จะซื้องานเหรอ” เขาตอบมาว่า “ค่าเข้ามาดูไง” เราก็เลยบอกว่าไม่มี ไม่เก็บ ซึ่งเขาก็สงสัยว่า แล้วเราทำไปทำไม”

พะเยารามา ๒๕๑๖ - ๒๕๖๔

เนื่องจากที่ตั้งของ PYE Space อยู่ตรงข้ามกับโรงหนัง ‘พะเยารามา’ ซึ่งเป็นโรงหนังเก่าแก่ของจังหวัดพะเยาที่ถูกทิ้งร้างไปแล้วหลายปี อาจารย์โป้งและเพื่อนๆ จึงได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ของโรงหนัง และพบว่ายังมีเศษของความทรงจำหลงเหลืออยู่ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาเริ่มเก็บข้อมูลโรงหนัง เข้าไปพูดคุยกับคนในพื้นที่ กระทั่งพบความจริงว่า โรงหนังแห่งนี้กำลังจะถูกเปลี่ยนให้เป็นอาคารหลังใหม่ของนักการเมืองในพื้นที่ และนำมาสู่การจัดกิจกรรมอำลาโรงหนัง ในชื่อ ‘พะเยารามา ๒๕๑๖ - ๒๕๖๔’

“เราอยากจัดกิจกรรมอำลาโรงหนัง จะมีงานศิลปะ ดนตรี ฉายหนัง ตลาดนัด กิจกรรมเวิร์กชอป เราก็วางแผนคร่าวๆ ทุกอย่างเริ่มจากศูนย์ ดูว่าอันไหนทำเองได้ พยายามใช้ของที่มีทั้งหมด อย่างเช่นเครื่องเสียง แต่ก็เคาะออกมาเป็นงบประมาณสี่หมื่นบาท ซึ่งถือว่าสูง เราก็เลยเอารถไปจำนำ เพราะไม่รู้ว่าต้องทำยังไงแล้ว เงินมันต้องมากองก่อน พอคิดได้ก็ทำ”

“จริงๆ แล้ว งานพะเยารามาเกิดขึ้นก็เพราะว่าคนพะเยา ถ้าอายุ 35 ขึ้นไป ทุกคนต้องเคยมาดูหนังที่นี่หมด เพราะมันมีอยู่โรงเดียว ทุกคนก็เลยมีความทรงจำร่วมกัน เราเอาไปโพสต์ในกลุ่มคนพะเยา ก็มีคนเข้ามาคอนเมนต์กันเยอะมาก เรื่องของหลายคนก็น่าสนใจ เราเลยตัดสินใจว่านี่จะเป็นงานเล่าเรื่องความทรงจำของโรงหนัง รวมถึงทุกอย่างที่มันเกิดขึ้น มีนิทรรศการโปสเตอร์หนัง เชิญอาจารย์ ‘มานิตย์ วรฉัตร’ ที่ทำหนังกลางแปลงมาร่วมเสวนาเรื่องการฉายหนัง แล้วก็จ้างทีมหนังกลางแปลงที่มีเครื่องฉายฟิล์ม เพราะเราอยากได้ความเป็นออริจินัล นอกจากนี้ก็มีอาจารย์มานิตย์มาพากย์สด เอางานเด็กมาจัดแสดงด้วย มันมีครบทุกอย่างที่เราอยากทำ”

พื้นที่สาธารณะ = พื้นที่ศิลปะของทุกคน

กิจกรรมงานพะเยารามา ๒๕๑๖ - ๒๕๖๔ สะท้อนว่า พื้นที่สาธารณะทำให้คนเข้าถึงง่าย เช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่สามารถดึงคนทุกกลุ่มให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรม ซึ่งอาจารย์โป้งก็ได้เรียนรู้ว่า การสื่อสารเรื่องศิลปะนั้นจำเป็นต้องมองข้ามเรื่องขอบเขตหรือเส้นกั้นระหว่างคนกับศิลปะ ดังนั้น หลังจากจบกิจกรรมดังกล่าว เขาจึงเริ่มมองหาพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ทั้งตลาดพะเยาอาเขตที่เคยจัดกิจกรรม AR (T) CADE และโรงหนังเมืองทองรามา เพื่อเปลี่ยนให้มันกลายเป็นพื้นที่ศิลปะอันผสมผสานด้วยวิถีชีวิตและความเป็นไปของสิ่งรอบข้าง

“ปัญหาของสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ศิลปินรุ่นใหม่ไม่มีทางที่จะเข้าไปสู่วงการได้จริงๆ ยิ่งเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยพะเยาด้วยแล้ว งานจะเจ๋งแค่ไหน ล้ำแค่ไหน มันก็ไม่มีแกลเลอรีที่จะเอางานไปจัดแสดง แล้วเราก็มองว่าเด็กของเราแต่ละรุ่น ส่วนใหญ่จบไปก็เข้าระบบหมดเลย ทำงานประจำ กินเงินเดือน ไม่มีใครเลือกที่จะเป็นศิลปินหรือทำอะไรเป็นของตัวเอง มันเป็นเพราะเศรษฐกิจ แล้วก็เครดิตของการเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ด้วย ตลาดก็แน่นอยู่แล้ว เราต้องยอมรับความจริง ไม่ได้หวังว่าเด็กของเราต้องไปยืนอยู่ในวงการขนาดนั้น แต่อย่างน้อยหลักสูตรที่ทำมาได้สอนให้เด็กคิดแล้วสามารถสร้างเส้นทางของตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยเทคนิคแบบไหน เราก็เลยคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ อย่างน้อยก็จะเป็นบันไดก้าวแรกสำหรับคนที่สนใจ”

(จากซ้ายไปขวา: บอส ภานุพงศ์ - โป้ง ปวินท์ - โนอาร์ พีรพล)

ในตอนนี้เองที่ ‘บอส – ภานุพงศ์ ไชยเลิศ’ และ ‘โนอาร์ – พีรพล บุญเทพ’ สองศิลปินรุ่นใหม่ที่นั่งอยู่กับเรามาตั้งแต่เริ่มต้นการสัมภาษณ์ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่าทำไมพื้นที่ศิลปะจึงมีความสำคัญกับพวกเขา โดยบอสสะท้อนว่า มันทำให้เขาสามารถแสดงผลงานและตัวตนได้ พร้อมๆ กับการสร้างความเข้าใจว่างานศิลปะไม่ได้มีแค่การวาดรูปเพียงเท่านั้น

“พื้นที่ศิลปะเป็นประโยชน์กับทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดจำเป็นต้องมีพื้นที่แบบนี้ เพราะว่ามันได้อะไรใหม่ๆ ได้ไอเดียใหม่ของคนรุ่นใหม่ ถ้าไม่มีพื้นที่หรือแนวความคิดใหม่ๆ มันจะไม่เกิดการพัฒนาขึ้นไป ก็จะอยู่แต่คนกลุ่มเดิมๆ ใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ไม่ได้เห็นองค์ความรู้ หรือไม่มีแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่เลย” โนอาร์เสริม

สุดท้ายนี้ เราถามย้ำกับอาจารย์โป้งอีกครั้งว่าเมืองเล็กๆ อย่างจังหวัดพะเยาจำเป็นต้องมีพื้นที่ศิลปะจริงๆ ใช่ไหม อาจารย์โป้งยิ้มกว้างก่อนตอบคำถามด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่าต้องมี

“อย่างน้อยเราก็ได้พัฒนาความเข้าใจของคน และเด็กๆ พวกนี้ก็จะมีที่ทางให้ได้ปล่อยของ” – อาจารย์โป้ง

แวะไปทักทายอาจารย์โป้งและดูศิลปะเจ๋งๆ กันได้ที่ ‘PYE Space’

Facebook: PYE Space