‘Samui Song ไม่มีสมุยสําหรับเธอ’ ฉายครั้งแรกในวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 2017 ได้นักแสดงหลักชื่อดังอย่าง ‘พลอย – เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์’ ‘เดวิด อัศวนนท์’ และ ‘ปู – วิทยา ปานศรีงาม’ ภาพยนตร์แนวทริลเลอร์ดราม่า ผลงานกำกับของ ‘ต้อม – เป็นเอก รัตนเรือง’ บอกเล่าชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องเข้าไปเกี่ยวพันกับความพิศวงงมงายในลัทธิ ความลับ และฆาตกรรม ซึ่งนำพาไปพบกับความสัมพันธ์อันแสนยุ่งเหยิงที่ไม่สามารถแก้ไขได้
เรื่องราวทั้งหมดดำเนินโดย ‘วิยะดา’ (แสดงโดย พลอย เฌอมาลย์) นักแสดงสาวชื่อดังที่แต่งงานกับชายชาวต่างชาติ ‘เฌอโรม’ (แสดงโดย สเตฟาน เซ็ดนาวี) ซึ่งหลงใหลและคลั่งไคล้ในลัทธินอกกระแส จนทำให้ชีวิตคู่ดำเนินอยู่บนความขัดแย้งทางด้านความเชื่อและการกดขี่ในความสัมพันธ์ เฌอโรมทำทุกอย่างเพื่อลัทธินอกกระแสถึงขั้นที่ยอมถวายตัวภรรยาของตัวเองให้เจ้าลัทธิ ที่เฌอโรมเรียกว่า ‘ท่าน’ (แสดงโดย วิทยา ปานศรีงาม) เมื่อความอดทนของวิยะดาถึงขีดจำกัด นำมาซึ่งแผนการลับๆ ด้วยการจ้างวานชายแปลกหน้าที่เพิ่งพบเจออย่าง ‘กาย’ (แสดงโดย เดวิด อัศวนนท์) เพื่อทำให้สามีของตนเองหายไปจากโลกนี้ เธอจะได้เป็นอิสระจากลัทธิประหลาดเสียที
หลายคนที่ยังไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้อาจจะตั้งแง่ เพราะกลัวว่าเนื้อเรื่องจะเข้าใจยาก แต่เมื่อนักเขียนได้ลองดูแล้ว อยากจะนำเสนอว่า “Samui Song ไม่ได้ดูยากอย่างที่คิด” คนดูหลายคนอาจจะติดตรงที่คิดว่าหนังของพี่เป็นเอกคงดูยากเหมือนหนังเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา อย่างเช่น ผลงานภาพยนตร์เรื่อง ‘หมานคร’ หรือ ‘ฝัน บ้า คาราโอเกะ’ แค่ต้องตั้งใจดู เพราะผู้กำกับหยอดเหตุและผลเอาไว้ในแต่ละฉากแล้ว ในบางฉากก็แทบจะเดาได้ด้วยซ้ำ แต่ในทางกลับกัน บางฉากที่เราคิดว่าน่าจะเดาได้ถูกต้อง ตัวหนังกลับทำเอาเดาเนื้อหาไม่ออกว่า มันจะไปจบและลงเอยอย่างไรเสียอย่างนั้น
ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาพยนตร์เรื่องนี้ทิ้งบางสิ่งเอาไว้ให้คนดูกลับไปคิดต่อหลังรับชมเสร็จ เพราะการตัดต่อของมันไม่ได้เรียงลำดับเวลาเกิดเหตุการณ์ให้ แต่พอรับชมไปสักพัก หนังจะค่อยๆ เฉลยและเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ให้เราเอง แต่ถ้าสติหลุดจากหนังไปสักนาทีก็อาจจะพลาดประเด็นสำคัญไปโดยไม่รู้ตัว และจะกลับมางงทีหลังตอนท้ายเรื่อง
Samui Song เป็นได้ทั้งหนังที่มีไว้ดูขำๆ ไม่ได้เก็บเอามาคิด กับดูแล้วรู้สึกว่าต้องเก็บเอามาคิดทบทวน มันสอดแทรกไปด้วยความตลกร้ายที่เกิดขึ้นจริงในสังคม รวมถึงประเด็นเสียดสีจิกกัดบ้านเมือง มิหนำซ้ำ ผู้กำกับยังจิกกัดตัวเองในบทหนังอีกต่างหาก และต้องขอชื่นชมเรื่องงาน aesthetic ของภาพยนตร์เรื่องนี้ เรียกได้ว่าภาพสวย และองค์ประกอบในแต่ละฉากก็ล้อกันไปได้ดี มีหลายครั้งที่ผู้กำกับจงใจใช้ภาพเล่าเรื่อง ปล่อยซีนนานๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนดูหลุดไปจากตัวพล็อตเลย เราจะสัมผัสได้ถึงกลิ่นอายหนังไทยที่ลอยออกมาจากการเกรดสีของแต่ละฉาก
ในส่วนของตัวบท ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงใช้เวลาในการเขียนและกำกับการแสดงเป็นเวลานาน เพราะในส่วนของตัวบทเองก็ถูกเรียบเรียงออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนไม่ใช่บทในหนัง ขณะที่กำลังดูอยู่ นักเขียนรู้สึกเหมือนว่าได้ฟังบทสนทนาทั่วไปที่ใครๆ เขาก็พูดกัน รวมถึงการตัดต่อที่ชวนให้ลุ้นระทึกไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ในหนัง ทั้งสกอร์เพลงที่เล่นกับใจคนดู ทำเอาบางฉากลุ้นจนแทบตัวโยน
การแสดงของนักแสดงหลัก อย่าง พลอย เฌอมาลย์, เดวิด อัศวนนท์ และ วิทยา ปานศรีงาม ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในที่สุดของหนังเรื่องนี้เลยเช่นกัน สำหรับนักแสดงมากฝีมืออย่างคุณพลอย คนดูสามารถวางใจได้เลยว่าหนังเรื่องนี้คุ้มค่าที่จะดู เพราะเขาเก็บทุกเม็ดจริงๆ การแสดงไหลลื่น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางหน้าตา อารมณ์ น้ำเสียงที่ใช้ พลอยได้นำเสนอมุมของวิยะดาอย่างสมบทบาท รวมไปถึงคุณวิทยาที่รับประกันความสามารถจากหนังฮอลลีวูดมากมาย การแสดงของคุณวิทยาผ่านบท ‘ท่านเจ้าคณะ’ เจ้าของลัทธินั้น เหมือนกับว่าเขาได้แผ่รังสีอันน่ากลัวออกมาตลอดการปรากฏตัวผ่านหน้าจอ แต่แอบเสียดายคุณเดวิด ในบทของกาย กลับมีบทบาทน้อยกว่าที่ควร ถ้าหากมีฉากเค้นอารมณ์มากกว่านี้ เราอาจจะได้รับชมฝีมือการแสดงของคุณเดวิดมากกว่าเดิม
ถ้าหากใครยังไม่เคยดูเพราะกลัวว่า Samui Song จะดูยาก นักเขียนขอแนะนำให้ลองเปิดใจและซึมซับไปกับพล็อตของหนังเรื่องนี้ เพราะมันคือหนังที่ยังเก็บความเป็น เป็นเอก รัตนเรือง ไว้ได้อย่างลงตัว ความสมจริงของภาพที่สอดคล้องไปกับตัวบทยังคงเป็นเอกลักษณ์และลายเซ็นของผู้กำกับคนนี้ อีกทั้งมันยังสามารถดูเพื่อความบันเทิง แต่ก็เต็มไปด้วยแง่คิด สะท้อนและเสียดสีสังคมได้อย่างกลมกล่อมอีกด้วย