Daily Pickup

เมื่อ “ซีรีส์วาย” ถูกบังคับให้ทำเกินหน้าที่

พริบตาเดียวผ่านไป วงการบันเทิงไทยหมกหมุ่นอยู่กับซีรียส์วายมาเกือบ 10 ปีได้แล้วเหมือนกัน จาก Sub-culture ที่เคยผิดบาปอย่างมหันต์ ได้รับความนิยมจนกลายมาเป็นสื่อกระแสหลัก ที่ใครๆ ก็ต้องเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง และแน่นอนว่าเรื่องของวายเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องในตลอดระยะเวลาที่มันถูกหยิบขึ้นมาอยู่บนดิน ตั้งแต่เรื่องของความเหมาะสม สื่อที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบน ความเกินเลยของการแสดง จนล่าสุดกับบทบาทที่อยากจะให้ซีรีส์วายกลายมาเป็นเครื่องมือของการขับเคลื่อนความเท่าเทียมกัน

เรามาดูวิวัฒนาการและการเปลี่ยนผ่านของซีรีส์วายกันดีกว่า ว่าแท้จริงแล้วเรื่องราวความรัก และความจิ้นของเหล่าสาววายมันได้เดินทางผ่านอะไรมาบ้าง

“เราคงคบกับมิวเป็นแฟนไม่ได้...แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้รักมิวนะ”

คงจะต้องเล่าความยากเย็นของการเป็นฟิควาย (Y Fiction) ในยุคนั้นเสียก่อน การครอบครอบฟิควาย 1 เล่มนั้นเหมือนการพกหนังโป๊ 1 แผ่นอยู่ในกระเป๋ากันเลยทีเดียว การจะหาซื้อก็ยากแสนยาก แม้แต่ร้านเช่าการ์ตูนยังต้องซ่อนฟิควายเอาไว้ในชั่นล่างสุดเพื่อหลบสายตาของคนในร้าน

จึงไม่แปลกใจที่ว่าทำไมซีรีส์หรือภาพยนต์วายนั้นก็ยังต้องแอบซุกซ่อนเอาไว้ มีแต่เรื่อง “รักแห่งสยาม” นี่แหล่ะ ที่สามารถขึ้นมาฉายบนจอเงินทั้งประเทศแม้ว่าใครหลายคนจะบอกว่าเป็นการตีหัวเข้าบ้าน หลอกคนไปดู หรือเป็น Click-Bailt ก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังเรื่องนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมของ Sub-Culture Y ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น มะเดี่ยวยังตอกย้ำความสำเร็จด้วย "Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ" หรือแม้แต่ทางพชร์ อานนท์ ก็ได้ส่ง “เพื่อน กูรักมึงวะ” ปูเบื้องต้นให้ผู้ชมทั้งหลายได้คุ้นเคยกลับกลิ่นของสิ่งที่เรียกว่าความเป็น "วาย” แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าทั้ง 3 เรื่องที่ยกขึ้นมานี้ ยังติดหล่มความคิดและสร้างภาพซ้ำของความไม่สมหวังในความรักเมื่อเป็นความสัมพันธ์ในแบบชาย - ชาย

“ผมก็แค่จับพี่ทำเมีย เกียร์ของพี่ก็เหมือนเกียร์ของผม”

เพดานของวายถูกดันขึ้นมาอีกสเต็ปกับเรื่องราวที่ถูกหยิบมาเล่าโดยสื่อใหญ่เจ้าตลาด แต่โครงสร้าง เรื่องราว และตัวละครก็ยังอยู่ภายใต้ความเป็นวายที่เข้มข้นแบบสุดๆ กับความรักบริสุทธิ์ของพระเอกและนายเอก ที่เป็นความรักของ “ชายแท้” ภายใต้กรอบความสัมพันธ์ ‘นายเป็นผู้ชายคนเดียวที่ผมรักได้’ เป็นความรักที่ยังอยู่ภายใต้กรอบและการยึดโยงผ่านเพศสภาพความเป็นชาย ในขณะเดียวกันพื้นหลังของเรื่องจะถูกวางไว้ด้วยเหล่า LGBTQIA ที่มีความชัดเจนทางเพศ ไม่ว่าจะออกสาวอย่างเห็นได้ชัด หรือไม่ก็เป็นทอมบอยพูดฮะๆ ครับๆ เพื่อสร้างความเปรียบเทียบความโรแมนติกระหว่างความรักของคู่วายกับความรักของ LGBTQIA 

Photo credit: GMM TV

พร้อมตอกย้ำความเป็นชายแท้ด้วยการ Sterotype ความเป็นชายที่วนเวียนอยู่กับวิศวะ เกียร์ และคณะแพทย์ ทำให้ช่วงหนึ่งซีรีส์วายวนอ่างอยู่กับ 2 คณะนี้ เช่น “โซตัส” และ “เดือนเกี้ยวเดือน” หรือแม้แต่การที่คู่พระเอก นายเอก นั้นมีแฟนเป็นผู้หญิงอยู่แล้วแต่ก็มีความสัมพันธ์ไบเซ็กชวลที่ดูมีภาษีดีกว่าเกย์ เป็นความรักในแบบชายแท้รักชายแท้ที่ผมจะมอบความรักให้กับผู้ชายคนนี้คนเดียวเท่านั้น เช่น “Together With me อกหักมารักกับผม”

“ผมไม่ใช่เมียคุณนะ”

ก็ต้องยอมรับว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ พื้นที่ของมุมมองและระนาบการยอมรับของซีรีส์วายถูกเปิดกว้างเพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนของเนื้อเรื่องหลักที่มีความหลากหลาย ให้พื้นที่ของความแตกต่าง รื้อสร้างชุดความคิดบางชุด และบางส่วนก็สามารถสะบัดหลุดจากขนบของซีรีส์วายในแบบเดิมได้ นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงความเป็นเกย์แบบไม่ต้องอ้อมค้อม normalize ความเป็นเกย์ให้กลายเป็นความธรรมดาในสังคมที่ทุกคนสามารถพบเจอได้ 

หลายครั้งที่ภาพยนต์ LGBTQIA ได้สร้างภาพความรักที่ดูตึงเครียด ยุ่งเหยิง ชีวิตที่มันหนักหนาสาหัสและการแบกรับโลกใบนี้ไว้ทั้งใบ แต่ก็ได้ซีรีส์วายในยุคนี้มาช่วยลดทอนความเข้มข้น ทำให้ภาพความรักของคนรักเพศเดียวกันดูเป็นเรื่องที่สามารถเจอได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ “Great Men Academy” กับการสลับร่างของเด็กหญิงมาอยู่ในร่างเด็กชาย ที่จะกลายเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้พระเอกต้องตั้งคำถามและเลือกว่าจะยอมรับกับความต้องการของตัวเองหรือไม่ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ" การ Coming of Age ที่ได้แรงสนับสนุนจากคนรอบข้างที่เข้าใจและมองความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่เป็นความรักในวัยเรียนที่แสนจะปกติ หรือ“นับสิบจะจูบ” ที่หมดยุคการอ้อมแอ้มซักเพราะพระเอกได้พูดออกไปโต้งๆ เลยว่าเขามีความสัมพันธ์กันอย่างเปิดเผย 

ซีรีส์วาย กับการขับเคลื่อนสังคม

ประเด็นนี้ถูกพูดถึงกันอย่างมากมายบนโลกโซเชียล ก่อนอื่นเลยอาจจะต้องเข้าใจว่า จุดเริ่มต้นของซีรีส์วายนั้นถูกทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของเหล่าที่เรียกตัวเองว่า ‘สาววาย’ หรือจะเรียกว่าเป็นเฟติชประเภทหนึ่งก็ยังได้ ด้วยต้นกำเนิดที่ไม่ได้มีมาเพื่อรับใช้หรือเป็นเครื่องมือของ LGBTQIA ตั้งแต่แรกเสียด้วยซ้ำ การเรียกร้องให้ซีรีส์วายนั้นช่วยขับเคลื่อนสังคมหรือมีส่วนร่วมในการสร้างความเท่าเทียมกันนั้นก็ดูจะเกินเลย Job Describtion ของซีรีส์เหล่านี้เกินไปเสียหน่อย แต่ครั้งจะพูดว่าซีรีส์วายไม่ได้มีส่วนร่วมใดๆ เลยอันนี้ก็คงจะใจร้ายไปเสียหน่อย เพราะในช่วงหลายปีมีนี้ซีรีส์วายก็ได้ละลายภาพของความรักในหมู่เกย์ ที่มีแต่ความผิดหวัง ความเศร้าเสียใจ และโรคภัย ให้กลายเป็นเรื่องราวความรักที่ดูแสนจะธรรมดา จับต้องได้ และไม่เป็นเรื่องฝันหวานอีกต่อไป