Art

ดนตรี บทพิสูจน์ทางดนตรีกว่า 20 ปี ของ ‘SLUR’ สิ่งที่อยากจะ ‘อธิบาย’ และคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรก

Pop Rock Star แถวหน้าของวงการเพลงอินดี้ระดับตำนานอีก 1 วงในเมืองไทยอย่าง SLUR กับ 5 อัลบั้ม หลากบทเพลง และหลายงาน Festival ที่ยังคงติดหู ติดตา ให้ความสุข ความสนุก และเป็นภาพจำให้กับแฟนๆ ไม่ว่าพวกคุณจะนิยามพวกเขาว่าเป็นวงแบบไหน จะอินดี้ร็อก, การาจร็อก, โพสต์พังก์, อัลเทอร์เนทีฟร็อก หรือร็อกแอนด์โรล เพราะพวกเขาคือ วงดนตรีที่ก้าวข้ามผ่านทุกช่วงวัย และทุกแนวดนตรีที่กล่าวมาข้างต้นแทบทั้งสิ้น! ตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่เพาะบ่มเมล็ดพันธุ์ทางดนตรีจนออกมาเป็นวงที่มีคุณภาพ จากวันแรกจนถึงวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น SLUR ยุคไหนๆ พวกเขาก็มีคนรัก และชื่นชอบผลงานอยู่เสมอ วันนี้ ‘เย่’ – จักรพันธ์ บุณยะมัต (ร้องนำ, กีต้าร์), ‘เฮ้าส์’ – สรศักดิ์ จันทรมัณฑนา (กีต้าร์), ‘บู้’ – ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ (เบส) และ ‘เอม’ – ธิติพันธุ์ อนะวัชพงษ์ (กลอง) พวกเขาจะมาเล่าเรื่องเพลงล่าสุดอย่าง ‘อธิบาย’ และคอนเสิร์ตใหญ่ ‘SLUR Reunion Concert’ ให้ชาว EQ ฟัง

“ย้อนกลับไปเมื่อปี 2000 ผมกับ ‘เย่’ ไปงานปีใหม่ที่บ้านเพื่อน ตอนนั้นได้ดู MV ของวงดนตรีอังกฤษ-อเมริกา วง ‘The Strokes’ รู้สึกว่าเท่มาก เลยอยากทำวงแบบนั้นบ้าง เลยหาเพื่อน และฟอร์มวงกันเพื่อไปเล่นงาน Life in a day และ Fat Festival ตอนนั้นวงยังมีมือเบสคนเก่า และมีมือทรัมเป็ตซึ่งเป็นเพื่อนกับมือเบส ตอนนั้นมือเบสเขาต้องไปเป็นนักดนตรีมืออาชีพ เราเลยออดิชั่นหามือเบสใหม่ เลยได้เป็น ‘บู้’ เข้ามา เวลาผ่านไประยะหนึ่ง ‘เป้’ (อดีตมือกีตาร์ของวง) ตารางงานเริ่มไม่ตรงกับวง และเขาก็ดังมากๆ เป้เลยขอออกจากวง และเราก็ออดิชั่นหามือกีตาร์ใหม่อีก ก็ได้ ‘เฮาส์’ เข้ามาเป็นมือกีตาร์ตอนปี 2012 ครับ และพวกเราก็อยู่ด้วยกันมาจนถึงทุกวันนี้ครับ” – เอม

‘SLUR’ ชื่อนี้มีที่มาอย่างไร?

เย่: จริงๆ จะตั้งว่า ‘เสร่อ’ แหละ แต่คำว่า ‘SLUR’ มันเป็นวิธีเชื่อมโน้ต แค่อยากหาคำอะไรให้มันดูดี มันคือคำที่เชื่อมเสียงโน้ต 2 ตัว

เอม: สมัยวัยรุ่นเราจะชอบตั้งชื่อวงให้ดู Advance พอตั้งวงจริงๆ ก็อยากได้ชื่อวงที่ง่ายๆ สั้นๆ กระชับๆ ตอนนั้นไม่รู้ได้ยินใครพูดขึ้นมาว่า ‘SLUR’ ก็เพราะดี เป็นชื่อเดียวที่พูดขึ้นมาตอนที่นั่งคิดชื่อวง

ร็อกแบบไหนที่เป็น SLUR?

เอม: จริงๆ แล้ววงเรามีหลายยุคครับ เพราะตอนนี้เราออกมาแล้ว 5 อัลบั้ม วง SLUR เป็นวงที่อัพเดตเทรนด์ดนตรีของโลกใบนี้ตลอดเวลา เราก็เปลี่ยนแนวเพลงที่ฟังไปเรื่อยๆ Input ที่เราได้รับมาเรื่อยๆ และมี Output ที่เป็นงานดนตรีออกมา แต่ถ้าให้นิยามกลมๆ คงเป็น Indie Rock แต่ 2 อัลบั้มแรกอาจเป็น Garage Rock หรือ Post-Punk Revival พออัลบั้ม 3 เริ่มอยากได้เพลงที่ไม่เร็วมาก เลยเป็น Dance-Rock อัลบั้ม 4 เป้ออกจากวง ช่วงนั้นก็ตกตะกอนกันอยู่ เราก็ฟังเพลง Indie Rock 2010 ก็เป็น Surf-Rock, Surf-Pop แต่สุดท้ายพอทำกันออกมาก็อยู่ในแนว Indie Rock ประมาณนี้ครับ

SLUR กำลังพูดอะไรผ่านเพลง?

เย่: มันไปเรื่อยเลยครับ อยากจะแต่งอะไรก็แต่ง แล้วแต่ว่าอะไรที่เข้ามาแล้วโดนในตอนนั้น ผมไม่ได้เป็นนักแต่งเพลงแบบนักเขียนเนื้อเพลง เขียนคอนเซ็ปต์ แล้วพุ่งไปหาเพลงกระจายออกมา ผมเขียนจากที่ผมเจออะไรแล้วเขียน อาจมาจากเพื่อนๆ รอบข้าง ประสบการณ์ผ่านมาเจออะไร หรืออยากบ่นอะไร อยากด่าอะไร อยากระบายอะไร มันเป็นเรื่องระบาย และเรื่องรอบๆ ตัวมากกว่า เรื่องคอนเซ็ปต์เพลงมีนะครับ ประมาณ 30% แต่จะมาทางรับประสบการณ์ และมาระบายมากกว่า ส่วนนี้ 70%

เอม: พูดไปเรื่อย บ่นไปเรื่อย และไม่ค่อยมีเพลงรักสักเท่าไร แต่หลังๆ ก็เริ่มมีแล้ว

เย่: พอแนวเพลงเป็นแบบลอยๆ เบาๆ ก็เริ่มเขียนเนื้อเพลงไปทางนี้ด้วยการทดลองดูว่าเป็นไปได้ไหม เพราะว่า ถ้าเพลง ‘โรคจิต’ มาอยู่ในเพลง ‘หรือ’ คงแบบอะไรวะ

กว่าแต่ละเพลงจะออกมา SLUR ต้องทุ่มเทเวลาแค่ไหน?

เอม: มีตั้งแต่ 20 นาทีเสร็จ จนไปถึง 2 ปีก็มีครับ โอเค เย่แต่งมาก่อน เพราะเขาทำเนื้อร้องกับทำนองมา ถ้าแบบเร็วๆ ชั่วโมงหนึ่งก็เสร็จ เรียบเรียงกัน 20 นาทีเสร็จก็มี แต่ก็มีบางเพลงที่คล้ายกับการวาดรูป ที่วาดแล้วรู้สึกว่ามันไม่สวย เราก็ลบแก้ๆ แก้เสร็จวันนี้ พักไป 3 เดือนค่อยมาทำใหม่ก็มี ก็พักไปอีก บางเพลงกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ก็ใช้เวลาเป็นปีเหมือนกัน แต่แบบที่เย่แต่งชั่วโมงเดียวเสร็จ แจมในห้องซ้อม 30 นาทีเสร็จก็มีเหมือนกัน แล้วแต่เพลงครับ

ความยากง่ายในงานของ SLUR คืออะไร?

เย่: มันมีนะ มันมีระยะของมันล่ะ

เอม: (เพลงที่ทำ)เร็วสุด ผมยกให้เพลงหนึ่งซึ่งทำใส่ CD พิเศษขายตอนที่เราขายเสื้อ ชื่อว่าเพลง ‘ร้าย’ ไม่ได้ปล่อยเป็นซิงเกิ้ล หรืออัลบั้ม เกิดจากการเข้าไปอัดในห้องซ้อมแล้วแจมๆ กัน อันนี้ง่าย และเร็วจริง รวมบันทึกเสียงไม่เกิน 2 วัน แต่ที่เห็นว่ามันง่าย มันก็ผ่านกระบวนการคิดออกมา คิดเยอะ แล้วทำออกมาอย่างไรให้น้อย กลับไปเรื่องเดิมเลย เหมือนวาดรูปที่วาดอย่างไรให้ออกมาสวย และพอดี มันก็ต้องวาดลบๆ หรือบางทีวาดครั้งเดียวก็สวยเลย เพราะเราวาดมาเยอะแล้ว เรามองไม่ออกว่าเพลงอะไร(ยากที่สุด) บางเพลงใช้เวลา และแรงงานในการทำเยอะกว่าเพลงอื่น เป็นไปได้ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมามันก็ไม่ได้มีคำว่าง่าย หรือว่ายากขนาดนั้น

“มันขึ้นอยู่กับเราปักพินตรงไหนมากกว่า หรืออยากได้ SLUR ในวันไหน เพราะเราไม่ได้ทำเพลงเหมือนเดิมเหมือนวงอื่นๆ อาจจะมีวงคล้ายๆ เราที่ทำเพลงอัพเดตตลอดเวลา หรือทำแบบแนวดนตรีเดียวตลอด แต่วงเราเป็นวงที่ไม่ได้ทำแบบเดิมสักอัลบั้มเลย” – บู้

เพลงไหนที่บ่งบอกความเป็น SLUR มากที่สุด?

เย่: มันเป็นยุคอะ ถ้าเป็นยุคแรกก็เพลง ‘โรคจิต’

เอม: ถ้ายุค 2 น่าจะเป็น ‘เซโรงัง’ กับวิธีเล่นที่เปลี่ยนไป

เย่: ยุค 3 ก็เพลง ‘หรือ’ ‘หากใจ’

เอม: แต่ถ้าให้ผมเลือกเป็นเพลงล็อตที่ปล่อยไปได้สักพักคือ เพลง ‘แซง’ เป็นเหมือนสะพาน และรอยต่อที่พอดีระหว่าง SLUR ยุคแรก กับ SLUR ยุคใหม่ ตอนเด็กๆ เราอาจจะทำเพลงประมาณนี้ออกมาได้

เฮาส์: ผมเลือกเพลง ‘หรือ’ เพราะเป็นเพลงอัลบั้มแรกที่ผมได้ทำกับวง และเป็นเพลงที่สร้างความประทับใจในการไปเล่น จนได้รับการตอบรับที่ดีเสมอมา

บู้: ของผมเอาเป็น SLUR ณ ปัจจุบัน วันนี้ คือเพลง ‘อธิบาย’ เพราะว่าผมคิดว่าเราเดินทางมาตลอดล่ะ เราฟังเพลงอัพเดตมาตลอด รู้สึกว่าเพลงอธิบายคือเพลงของ SLUR ในวันนี้จริงๆ เป็นเพลงช้าที่ไม่เหมือนเพลงช้าทั่วๆ ไป ทั้งในเรื่องของการเลือกเสียง การ Arrange การเลือกใช้คอร์ด หรือเนื้อหาเองก็ตาม มันคือ SLUR ในวันที่เราสัมภาษณ์จริงๆ

“มันเป็นตัวแทน หรือยุคของเพลง” – เย่

การทำงานในเพลง ‘อธิบาย (CLEAR)’ เป็นอย่างไรบ้าง?

บู้: เพลงนี้เป็นเพลงที่ไม่ได้เกิดจาก Accident หรือ Feeling ในการแจม มันเป็นเพลงที่เราตั้งขึ้นมา และตั้งใจให้มันเป็นเพลงนี้จริงๆ หลายๆ เพลงของ SLUR คือ การแจมกันบ้าง เริ่มจากลีดกีตาร์ หรือคำร้องท่อนหนึ่ง หรือพี่เย่ตั้งใจแต่งท่อนอะไรสักอย่างมาก่อน โดยที่เกิดจากฟีลเขาจริงๆ หรือเขาไปรู้สึกอะไรมา แต่เพลงนี้เป็นเพลงที่เราวาง Direction เลยว่า มันจะเป็นอย่างไรตั้งแต่แรกในตอนเริ่มต้น เรามีเพลงช้าพอสมควรในยุคหลังๆ แต่เพลงช้าของเรา มันจะมี Riffs กีตาร์ที่เป็นเหมือนซิงเกิ้ลโน้ตมาเป็นเมโลดี้จำ แต่ SLUR ยังไม่เคยมีเพลงช้าที่ขึ้นเป็นทำนอง และไม่มีซิงเกิ้ลโน้ต เพลงนี้เป็นเพลงที่เราตั้งใจให้ไม่มีซิงเกิ้ลโน้ต พอเริ่มอยากได้เพลงอย่างนี้แล้ว พี่เย่ก็จะไปเขียนเนื้อ และทำนอง และมีพี่รุ่งมาช่วยเขียนเมโลดี้ด้วย มันเลยรู้สึกแตกต่างจากเพลงช้าอื่นๆ ของ SLUR คนที่ฟังเพลงนี้อาจคิดว่าเป็นเพลงช้าเพลงหนึ่งที่เพราะดี แต่สำหรับผม ผมว่ามันเหนือชั้นมากเรื่องเมโลดี้ หรือเรื่องการใช้คอร์ด เพราะไม่เคยทำแบบนี้มาก่อนเลย ถึงแม้จะ Complex จริงๆ แต่ก็ย่อยง่าย

“ทำไม่นานเลย อันนี้คือเร็วมาก ตอนช่วงมกราฯ กุมภาฯ ที่ผ่านมา ตีโจทย์แล้วแต่งเลยทำเลย แล้วได้เลย ทำ MV เลย” – (เย่)

ไอเดียของการใช้ภาษามือใน MV มาจากไหน?

บู้: กลับมาที่ผม ที่เป็นคนประชุมเรื่อง MV และ Art Direction ทุกอย่างของวงครับ เพลงอธิบาย ตอนแรกที่คุยกับผู้กำกับ MV ชื่อเปียโน ส่วนโปรดิวเซอร์ชื่อเฟรม เขาเป็นผู้กำกับคู่บุญของทีม Smallroom ในช่วงหลังที่ผ่านมา ผมบรีฟไปก่อนว่าอยากให้เพลงนี้เป็นเพลงที่เล่าเรื่องที่มีพลัง แต่เป็นการเล่าเรื่องที่มีกิมมิก ไม่เหมือนใคร และมีคอนเซ็ปต์ชัดเจน เราจะไม่เล่าเรื่องตรงไปตรงมา หรือเรียลไทม์มากๆ เขาก็พรีเซนต์มาแบบแรกเป็น Road Movie เป็นการขับรถ และพูดถึงความสัมพันธ์ที่กระท่อนกระแท่น ของ 3 คู่ แบบที่ 2 คล้ายๆ แบบแรกแต่มีแค่คู่เดียว ขับรถไปในทุ่งต่างจังหวัด เรารู้สึกว่ามันยังธรรมดาไปหน่อย ยังไม่มี Climax อะไรบางอย่าง เราก็บรีฟเขาไป พอวันที่ 2 ที่เขามาพรีเซนต์ เขาไปขยี้พวกนี้มาแล้วมาพรีเซนต์ใหม่ เราก็รู้สึกว่ามันว้าวขึ้นแล้วนะ

แต่เขาบอกว่ามีอีกไอเดียที่คิดสนุกๆ ขึ้นมาแต่เราชอบมากๆ คือ ‘การสื่อสารภาษามือ’ เราก็ไม่เคยเจอการสื่อสารแบบที่ไม่ได้พูดกันใน MV ไทยมาก่อน หรืออาจจะมีมาแล้วแต่นึกไม่ออก แต่เรารู้สึกว่าเหมาะกับ SLUR และเหมาะกับเนื้อเพลงนี้ การอธิบายบางทีไม่จำเป็นต้องพูดจาอย่างเดียว แต่มันคือการอธิบายด้วยภาษากาย หรืออธิบายด้วยสายตา บางทีการที่เรานั่งมองหน้ากันบางทีมันมีความรู้สึกบางอย่างที่เราอยากจะอธิบายให้คนๆ หนึ่งเข้าใจ เรารู้สึกว่ามันลึก และเป็นคอนเซ็ปต์ที่เราอยากได้ แล้วรู้สึกว่ามันมี Climax อะไรบางอย่าง สมมุติเมจิจะไม่ออก MV นี้จริงๆ แต่มันเท่สำหรับเราแล้ว เป็นการเล่าเรื่องที่ภาพ และเสียงมีการดีไซน์ของมันอยู่ วันนั้นล่ะเราเห็นประกายของเพลงนี้ พอเห็น MV จริงๆ ทุกคนชอบหมดครับ วงเองก็ชอบ ค่ายก็ชอบมากๆ

แล้ว SLUR มีอะไรที่อยากจะ ‘อธิบาย’ บ้างไหม?

เย่: มีร้านผลไม้ออนไลน์อยู่ตรง The Scene Town in Town ชื่อ ‘Nine billion fruit-ผลไม้เดลิเวอรี่’ ไปซื้อกันได้ (หัวเราะ)

เอม: ผมก็มีคลินิกความสวยความงามที่เปิดกับภรรยา อยากอธิบายว่า ตอนนี้ก็สามารถไปใช้บริการได้แล้ว อยู่ที่อาคารมหาทุน และแถวๆ ทองหล่อ ชื่อว่า ‘Privilege Clinic’ (หัวเราะ)

เฮาส์: โอเคฝากธุรกิจครับ ชื่อ ‘Onion’ ขายเสื้อผ้าอิมพอร์ตครับ

เย่: ฝากอธิบายเพลง ‘อธิบาย’ ให้เพื่อนๆ ฟังด้วย

บู้: ผมอธิบายเรื่องคอนเสิร์ตใหญ่ดีกว่า วงดนตรีเราทำมานานมากๆ วันก่อนไปบ้านเพื่อน และเล่นบอร์ดเกม และเพื่อนก็เปิดเพลง SLUR แรกๆ ก็รู้สึกเขินๆ พอหลุดจากความเขิน และนั่งตรวจเพลง และเพื่อนเปิดวนไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วเราเดินทางมาไกลมากๆ แล้ว เรามี Scene และ Chapter ที่น่าสนใจในแต่ละช่วงที่แตกต่างกัน และเราเป็นคนคิดต่างเรื่องเพลง และโปรดักชั่นมาโดยตลอด เลยกลับมาที่คอนเสิร์ตใหญ่ และคิดว่าครั้งนี้มันคือ การอธิบายเรื่องราวทั้งหมดที่เราเคยเดินทางมา รวมถึงการอธิบายที่มันไม่ใช่แค่เสียงอย่างเดียว มันคือ Visual ที่เรารู้สึกกับเพลงทุกๆ เพลง รวมถึง Lighting ที่เราอยากให้เป็น เราอาจไม่เคยเห็นโชว์ของ SLUR เต็มๆ ที่เป็นแบบคิดเองทุกอย่าง

‘SLUR REUNION CONCERT’ มีความพิเศษอะไรรออยู่บ้าง?

เอม: เรารู้สึกว่า วงเราอยู่ในซีนดนตรีของประเทศไทยมา น่าจะตั้งแต่ปี 2006 จากเพลง ‘โรคจิต’ และเราก็ไม่เคยมีคอนเสิร์ตใหญ่เป็นของตัวเอง ไม่รู้ว่าทำไม แต่เราอาจไม่เหมาะกับการเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ ที่ชอบเล่นเล็กๆ ใกล้ๆ กับคนดู จนเวลาผ่านไประยะหนึ่งก่อนที่จะมีโควิด พี่รุ่งพูดว่า โอเคก็มีไฟขึ้นมาและมีโควิดเกิดขึ้นมา “น่าจะถึงเวลาของพวกมึงแล้วนะ วงอื่นในค่ายเขาก็จัดกันไปหมดแล้ว Tattoo Colour จัดไปแล้ว พี่จีน กษิดิษ จัดไปแล้ว The Richman Toy ก็จัดไปแล้ว พี่เล็ก Greasy Cafe ก็จัดไปแล้ว ถึงตาพวกมึงแล้วล่ะ” ก็เลื่อนไปอีกปี แต่เราก็พูดอยู่เรื่อยๆ ว่าปีหน้าจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ โควิดมาก็เลื่อนไป 2 ปี โควิดยังอยู่ ก็เลื่อนเป็น 3 ปี ปีนี้แหละครับ ถ้าไม่จัดก็คงไม่ได้จัดแล้ว อายุสมาชิกก็เริ่มจะเยอะขึ้นแล้ว แน่นอนว่าเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรก และไม่รู้จะได้จัดอีกเมื่อไร คงไม่ได้รวมคนมารียูเนี่ยนมาเจอเพื่อนๆ กันได้บ่อยๆ ครับ

จริงๆ ถ้าเป็นในแง่ของดนตรี และ Art Direction บู้เป็นคนวางทุกอย่างเยอะมาก ทั้งคิดภาพรวม เพราะเขาชอบดูคอนเสิร์ตมากๆ เวลาเขาไปดูคอนเสิร์ตต่างประเทศ เขาชอบตรงไหน ก็อยากจะเห็น SLUR คอนเสิร์ตใหญ่ในแบบที่เขาชอบ ซึ่งปกติถ้าเป็นงานจ้าง เราจะไม่เคยได้สิ่งเหล่านี้ ถ้าเป็นวง SLUR วงเดียวมันจะไปได้ขนาดไหน มันก็คงเกิดได้ครั้งนี้แหละครับ

เย่: พวกซาวด์หรือเสียง เราก็เตรียมเรื่องอุปกรณ์ เรื่องซ้อม เดี๋ยวรวมกันอีกทีแต่ต้องซื้อของก่อน

เอม: ที่สำคัญก็เป็นเรื่องของภาพลักษณ์ครับ ผมก็เริ่มทำหน้าให้เรียวลง ฉีดโบท็อกซ์ ย้อมผม ไม่ได้ย้อมมา 20 ปีแล้วก็ลองซะหน่อย

เฮาส์: ส่วนเพลงก็ยังเล่นเข้าขากันอยู่ แล้วเพลงที่ไม่ได้เล่นก็ไปเล่นกันมาบ้างแล้ว

เย่: เหลือเพลงที่ไม่ค่อยได้เล่นก็ไม่ค่อยเยอะ เพราะว่าช่วงหลังๆ เราก็เล่น ก็แค่เหมือนมาทวนกันบ่อยๆ

เอม: เซอร์ไพรส์ไม่มี เพราะเราบอกไปหมดแล้ว ก็เป็นการรียูเนี่ยนกับสมาชิกเก่า ซึ่งไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเซอร์ไพรส์หรือเปล่า แต่ผมเซอร์ไพรส์ตัวเอง ผมคิดว่าเราจะตามรวมกลับมาได้ในทุกๆ คนที่เป็น SLUR และผมก็เชื่อว่ามันจะมีแฟนเพลงของวง SLUR ในยุคแรกๆ ที่รุ่นราวคราวเดียวกับผม ซึ่งมีครอบครัว หรือมีหน้าที่การงานกันไปหมดแล้ว อาจจะไม่ได้มาตามวงเหมือนแต่ก่อน ถ้าเขาไม่ได้ดู SLUR มาตั้งนานแล้ว ถ้าจะมีสักงานที่อยากจะชวนคนกลุ่มนี้มาดู น่าจะเป็นโชว์ SLUR ที่อยากจะพรีเซ็นต์ให้แฟนเพลงของเราที่เขาเสียเงินซื้อตั๋วมาดูพวกเรา ได้รับชม และรู้สึกอิ่มเอมกับวงเรามากที่สุดเท่าที่จะทำได้

บู้: คอนเสิร์ตครั้งที่ 2 เราอาจจะใช้ไอเดียที่ทำตรงนี้ไปหมดแล้ว ความสดใหม่มันอาจไม่เท่าครั้งแรก แต่คิดว่าไม่น่าจะมี เพราะวงชอบเล่นงานสเกลเล็กๆ มากกว่า เพราะฉะนั้น ครั้งนี้มาดู SLUR ของแท้ดีกว่าว่ามันจะเป็นอย่างไร คือการดีไซน์ครบองค์จริงๆ มันไม่ใช่แค่งานนี้เราไปเล่นแล้วเราได้แค่ไปเล่นแล้วลงมา อันนี้คือการจัดการทุกกระเบียดนิ้วจริงๆ เพราะฉะนั้น ใครที่พอจะรู้จักวงเรา หรือเป็นแฟนเพลงอยู่แล้ว มาดูเถอะ มันหาดูไม่ได้อีกแล้ว และการที่เป็นวงดนตรีแล้วไม่มีคอนเสิร์ตใหญ่เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นเจตนาลึกๆ ของศิลปินอยู่แล้วที่เราอยากจะมีคอนเสิร์ตเต็มๆ สักครั้งในชีวิต มันอาจจะเป็นครั้งแรก และครั้งสุดท้าย

เอม: อุ๊บอิ๊บนะ แต่ก็ไม่อยากปักธงตัวเองที่จะเป็นครั้งแรก ครั้งเดียว และครั้งสุดท้ายที่จะเป็นคอนเสิร์ตใหญ่แบบเต็มปากเต็มคำก็ได้

รู้สึกอย่างไรบ้างกับคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวง SLUR?

เอม: ณ ตอนนี้ยังไม่รู้สึกอะไรเลย ก่อนขึ้นเวทีอาจจะตื่นเต้นก็ได้ ต้องเตรียมการ และมีสิ่งที่ต้องทำเยอะมากเลย วุ่นวาย และหัวหมุน แบบผมต้องทำอันนี้นะ บู้ต้องไปคิด Art Direction ให้จบนะ เย่ต้องแต่งเพลงเพิ่มนะ เราต้องรีบทำเสื้อขายนะ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีตังค์กินข้าว ก็เกี่ยวเนื่องกันไปหมดเลย รู้สึกเหมือนเรากำลังจะทำสิ่งที่เป็นเหมือนแลนด์มาร์ก หรืออะไรสักอย่างในชีวิตของพวกเรา 4 คนขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ถามว่าตื่นเต้นไหม ก็ไม่ตื่นเต้นเลย เหมือนทำกันอยู่ประจำ แต่วันที่เราไปเล่นให้คนอื่นดูเราอาจจะตื่นเต้น

“มันเป็นคอนเสิร์ตที่เล่นนานที่สุดในชีวิต ประมาณ 40 กว่าเพลง ประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง ผมค่อนข้างเชื่อเรื่องความสดใหม่ในครั้งแรก ผมคิดว่าการมีคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรก มันคือการรวมไอเดีย หรือประสบการณ์ทั้งหมดที่เคยตกผลึก 20 ปีมาใช้ในครั้งนี้” – บู้

การเดินทางของ SLUR กว่า 20 ปี มีโมเมนต์อะไรที่ชอบ หรือประทับใจบ้าง?

บู้: ผมบอกแฟนตลอดเลยว่า ผมโชคดีที่มีวงดนตรีที่นิสัยดีมากทุกคนเลย วงๆ หนึ่งมันต้องมีอีโก้อยู่แล้ว มากน้อยแต่ละคน แต่พอวงมาอยู่ด้วยกัน ผมรู้สึกว่าเขาให้เกียรติซึ่งกันและกัน พื้นฐานทุกคนเป็นคนนิสัยดีจริงๆ รักเพื่อนและรักในดนตรีจริงๆ ซึ่งผมไม่รู้นะ แต่วงอื่นอาจมีมากกว่าผมก็ได้ แต่ผมแฮปปี้ที่จะอยู่วงนี้แล้ว

เย่: ก็คล้ายๆ กัน

เอม: เป็นคำถามที่เขินสำหรับผม วงผมคือแบบตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ทุกวันนี้มีครอบครัว มีลูกอะไรกันหมดแล้ว คนรุ่นเดียวกับผมที่เอาเวลาไปใช้กับหน้าที่การงาน ครอบครัว เขาก็ไปไกลหมดแล้ว ผมเอาเวลาส่วนมากของชีวิตไปใช้กับวงนี้ แต่ไม่เคยเสียใจเลย มันไม่ได้ทำให้ชีวตผมเจริญขึ้นนะ หรือทำให้มีเงินเอาไปให้ครอบครัว แต่มันเป็นที่พึ่งทางใจสุดท้ายของผม เราโตมาขนาดนี้ เราได้สร้างสรรค์อะไรบางอย่างให้กับวงการหนึ่งที่พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าคือผลงานของเราจริงๆ ได้ เป็นความภูมิใจลึกๆ ถ้าในอนาคตลูกผมโต มาเจอว่าพ่ออยู่วงนี้ เขาก็อาจจะภูมิใจในตัวพ่อ

เฮาส์: น่าดีใจสำหรับผมที่ถึงแม้จะเข้ามาทีหลัง แต่นั่นเป็นเวลาที่ผมเกือบจะยอมแพ้เล่นดนตรีแล้ว แต่โชคดีที่เป็นจังหวะที่ผมยังมีไฟอยู่ ซึ่ง ณ ตอนนั้นผมได้ทำธุรกิจที่ตัวเองชอบมากๆ ผมเลยได้ทำอาชีพที่ผมชอบทั้ง 2 อาชีพไปพร้อมๆ กันโดยไม่ขัดแย้ง และบาลานซ์ของชีวิตก็ดี

20 ปีผ่านไป มีอะไรเปลี่ยนแปลง หรือยังมีอะไรเหมือนเดิมบ้าง?

บู้: สิ่งที่เหมือนเดิมคือ ทุกๆ คนยังมีไอเดีย มี Energy ในการทำเพลง ผมไม่เคยฟังเพลง SLUR แล้วรู้สึกธรรมดาเลย ตรงนี้มันคือไอเดียพี่เย่จริงๆ ที่รู้สึกว่าเขาเริ่มมา ไม่ว่าเราจะทำเพลงอย่างไรก็ตาม เราทำไม่เหมือนชาวบ้าน ซึ่งตรงนี้คือข้อดีของวง ผมตื่นเต้นกับทุกๆ เพลงใหม่ของวง SLUR รวมทั้งอัลบั้มใหม่ทุกอัลบั้ม บางอัลบั้มอาจจะ Success บางอัลบั้มคนอาจพูดถึงน้อยลง แต่เราก็ยังประคองมาได้จนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะไปเล่นคอนเสิร์ตที่ไหนก็ตาม แฟนเพลงจะน่ารักกับเราเสมอ ถึงแม้แฟนเพลงจะเปลี่ยน Gen ไปแล้ว แต่ความสม่ำเสมอของแฟนเพลงมันมีมาตลอด สิ่งนี้ล่ะที่ทำให้วงได้รับพลังมาทำงานต่อ

เอม: มีอย่างหนึ่งที่คิดว่าเปลี่ยนแน่ๆ คือ สมรรถภาพทางกายของทุกคนลดลง เหมือนนักบอลพออายุเยอะขึ้น มันก็เล่นได้ไม่เหมือนแต่ก่อน ผมรู้สึกว่าในฐานะวงดนตรี มันมีเรื่องนี้เข้ามาเกี่ยว แต่ก่อนอาจจะเห็นเย่กระโดดโลดเต้นไปทั่วเวที เฮาส์เหวี่ยงกีตาร์ ผมชูไม้ชูมือ มีบางโชว์ที่สนุกแล้วอยากจะทำท่าโน้นท่านี้ แต่เริ่มเหนื่อยแล้วตอนนี้ ทุกวันนี้เล่นแค่ 1 ชม. ยังเหนื่อยเลย แต่ผมตีกลองอยู่ข้างหลัง เห็นเพื่อนๆ 3 คนอยู่ข้างหน้า เราเห็นเย่ทำหน้าที่ของตัวเอง บู้ทำหน้าที่ของตัวเอง เฮาส์ทำหน้าที่ของตัวเอง เรายังทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี และได้ทำสิ่งที่ชอบร่วมกันแล้วมันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้เหมือนเดิม

SLUR ในวัย 20 ปี น่าจะเป็นคนแบบไหน?

เอม: พวกเราเคยอยู่ในวัย 20 ปีมาแล้ว มันก็น่าจะเป็นแบบตอนนั้น ตอนอัลบั้มแรก ไม่ได้รู้สึกว่าตอนอัลบั้มแรกไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง แต่โคตรเป็นตัวของตัวเอง

บู้: ตอนนั้นเหมือนเป็นระเบิดของพลังวัยรุ่นจริงๆ พอมันอัดอั้นมากๆ มันก็ออกมาผ่านการแสดงออก การแต่งตัว การใช้เครื่องดนตรี การไปแสดงบนเวที เราผ่านมาหมด ทั้งการทำลายกีตาร์ หรือการกระโดดข้ามกลอง การที่พี่เย่เอาเอฟเฟกต์ที่เป็นกระเป๋านักธุรกิจมา เอาบัตรประชาชนมาใช้เป็นปิ๊กกีตาร์ พอเรามีประสบการณ์ เราก็รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ทำให้เรามีวุฒิภาวะบางอย่าง แต่ตอนเด็กๆ เราอาจไม่รู้อะไรเลย แต่เรามีข้อดีบางอย่าง

“ผมคิดว่าถ้าไปเล่นงานๆ หนึ่ง แต่แฟนเพลงไม่ใช่กลุ่มของพวกเราเลย อาจมาดูวงต่อไป หรือไปเล่นตามผับ และไม่สนใจวงบนเวที ผมคิดมาตลอดนะ ทุกโชว์ของผม ซึ่งผมเป็น Front Man ถึงแม้แค่ร้องประสาน แต่ทุกโชว์ผมต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เขารู้จักวงผมให้ได้ ทุกๆ โชว์ผมจะคิดว่าไม่มีแต้มต่อ ถ้าวันไหนมีแต้มต่อถือว่าโชคดี ถึงแม้เขาจะอิน หรือไม่อินแนวที่เราเล่น แต่เขาก็รู้แล้วว่าวงนี้ SLUR นะ แค่นั้นผม Success แล้ว” – บู้

เคยเจอเรื่องยากๆ หรือเรื่องที่ท้าทายกันบ้างไหม?

บู้: ความยากที่สุดในวง คือ การต้องให้ใครออกจากวง ช่วงที่ ‘เป้’ หรือ ‘แบงค์’ ออก เป็นเรื่องทที่หนักใจที่สุดแล้ว ไม่ใช่เรื่องโปรดักชั่น หรือการแต่งเพลงเพราะ SLUR ทะเลาะกันน้อยมาก เราไม่ทะเลาะกันมาเป็น 10 ปีแล้ว มันเลยเป็นเรื่องการเปลี่ยนสมาชิกมากกว่าที่ยาก

เอม: มีบางโชว์ที่เจอคนดูที่เขาไม่ได้เป็นแฟนเพลง มันทำให้เราเอ๊ะ และรู้สึกว่าทำอะไรกันอยู่ พอคิดๆ ไปมันก็เป็นอีกหนึ่งหน้าชีวิตที่หลายๆ วงเคยพบเจอ แต่ถามว่ารู้สึกแย่ไหมก็รู้สึก เราทำเพลง เราเสียเงินซื้ออุปกรณ์ เพื่อทำให้โชว์ออกมาดี แล้วบางทีคนที่ฟังเราอยู่เขาไม่ได้จะสนใจฟังเราขนาดนั้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแย่ทั้งหมด เพราะใน 100 คน อาจมีสัก 2-3 คนที่ตั้งใจมาดูวงเรา แต่ถ้าเราไม่เห็นเลยเราก็รู้สึกเหนื่อยๆ เหมือนกัน

อะไรคือสิ่งที่ได้รับจากการเป็น SLUR?

เอม: ที่พักพิงทางใจ ชีวิตเรามันก็มีเรื่องอื่นให้คิดเยอะแล้ว นี่คือจิตวิญญาณของเรานะ มันมีความรู้สึกบางอย่างที่เราได้ทำเพลง และเราได้ขึ้นไปเล่นบนเวที และมีคนรีแอคกลับมา หมวกใบอื่นที่ผมใส่อยู่อาจให้แบบนี้กับเราไม่ได้ ดีจังที่เราได้รับโอกาสแบบนี้ ที่แฟนเพลงให้เราได้ไปเล่นคอนเสิร์ต

ในอนาคตอันใกล้ SLUR มีอะไรให้ติดตามบ้าง?

เย่: จะมีซิงเกิ้ลใหม่อีก 1 เพลงก่อนคอนเสิร์ต ประมาณนั้นครับ

บู้: อาจจะมี EP หรือ LP ต้องรอดูทางค่ายก่อน หลังคอนเสิร์ตใหญ่ เลยไม่ค่อยได้โฟกัสอนาคต แต่ทำเพลงต่อแน่นอน Merchandise ก็พยายามให้มันเดือดตลอดเวลาในทุกๆ ปี

เอม: วงยังไม่น่าจะแตกครับ ถ้าออก Merchandise อะไรก็ช่วยซื้อกันหน่อยนะครับ

“ไม่ว่าจะรู้จัก SLUR บ้าง หรือชอบเพลงนี้เพลงเดียว ชอบ 3-4 เพลง หรือชอบทั้งอัลบั้ม หรือชอบทุกอัลบั้ม ควรจะดู SLUR ในคอนเสิร์ตใหญ่ SLUR Reunion Concert ครั้งนี้ เพราะนี่คือตัวตนของเราตลอดระยะเวลา 20 ปีครับ” – บู้

อัพเดตผลงานต่างๆ ของ SLUR ต่อได้ที่

YouTube: SMALLROOM
Facebook: SLUR
Instagram: @slurband
Twitter: SLUR