Art

รอยยิ้มและคราบน้ำตา บนเส้นทางแห่งการเติบโตของ ‘สอง ศาศวัต’

เรียกว่าปี 2022 คือปีทองของ ‘สอง – ศาศวัต เลิศฤทธิ์’ ผู้กำกับฝีมือดีแห่งยุค ผู้อยู่เบื้องหลังมิวสิกวิดีโอของศิลปินดังทั่วฟ้าเมืองไทย แต่การก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการไม่ใช่เรื่องง่าย และสองก็ได้ผ่านเรื่องราวในชีวิตมากมาย ที่ได้สร้างทั้งรอยยิ้มและรอยน้ำตาให้กับเขา จากจุดที่ต้องนอนอยู่บนเตียงคนไข้ ไม่รู้ว่าตัวเองจะกลับมาเดินได้อีกไหม สู่การเดินทางออกจากสิ่งที่เป็นอยู่ เพื่อไปค้นพบตัวเองในต่างแดน และนี่คือเรื่องราวชีวิตที่สองอยากแบ่งปันให้ทุกคนได้ฟัง และหวังว่าประสบการณ์ที่เคยผ่านเข้ามาในชีวิตของเขา จะเป็นแรงบันดาลใจหรือช่วยเยียวยาหัวใจใครก็ตามที่กำลังสิ้นหวังได้บ้าง

เด็กน้อยผู้รักงานศิลปะ

“ความสนใจในงานศิลปะหรืองานดีไซน์ มันอยู่กับตัวสองมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่มันมาในรูปแบบของการดูการ์ตูนเยอะ แล้วก็มาพร้อมกับดนตรี ตอนเด็กๆ เราชอบวาดรูป ชอบดูการ์ตูน เราก็เลยอยากวาดรูปเป็น อยากเขียนการ์ตูนเป็น แล้วมันก็มากับการที่ชอบฟังเพลงโดยไม่รู้ตัว แต่ตอนนั้นเราไม่ได้อยากเป็นผู้กำกับ เพราะไม่รู้ว่าอาชีพผู้กำกับคืออะไร” สองเริ่มต้นเล่า

การวาดรูปและงานศิลปะคือคำตอบเดียวในใจของสองในวัยเด็กมาโดยตลอด สองจึงไม่ลังเลที่จะเลือกเรียนกราฟิกดีไซน์ในระดับมหาวิทยาลัย แม้ยังไม่มั่นใจนักว่าเส้นทางศิลปะของตัวเองในอนาคตจะไปในทิศทางใด แต่อย่างน้อย การได้เดินเข้ามาในแวดวงศิลปะก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับสองในช่วงโมงยามนั้น

“เราได้ค้นพบตัวเองเรื่อยๆ ระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัย อย่างแรกที่ค้นพบคือเราไม่เอนจอยกับงานกราฟิกเลย เราไม่ชอบงานศิลปะสองมิติ การวาดภาพ หรืออะไรที่เราเคยโตมากับความรู้สึกที่มีต่อพวกมัน มันไม่ใช่ความสุขของเราอีกต่อไป เหมือนกับว่ามีความกดดันที่เพิ่มมากขึ้น มองไปรอบๆ ตัวก็เห็นคนที่ประสบความสำเร็จในรุ่นเดียวกันเยอะมาก มีคนวาดภาพประกอบตั้งแต่ตอนเรียนเยอะเลย บางคนก็มีลายเส้นเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ช่วงที่เรียนอยู่ ความสุขเกี่ยวกับการวาดภาพของเรามันลดลง และงานออกแบบที่ไม่เคยชอบมันอยู่แล้วก็ยิ่งน้อยลงไปอีก เหมือนทุกอย่างเป็นการทำงานเพื่อตอบสนองระบบ ตอบสนองความต้องการอะไรบางอย่าง เราที่มีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวเยอะก็เลยรู้สึกไม่มีความสุขกับสิ่งที่กำลังทำอยู่”

เมื่อค้นพบ ‘ความไม่ชอบ’ สองก็ได้ค้นพบ ‘ความชอบ’ ของตัวเองด้วยเช่นกัน การเรียนวิชา Corporate Identity นำไปสู่การค้นพบว่าตัวเองชื่นชอบสิ่งที่เป็น ‘เชิงแนวความคิด’ หรือการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่มีข้อจำกัดว่าผิดหรือถูก กระทั่งการได้มีโอกาสไปฝึกงานกับครีเอทีฟเฮ้าส์แห่งหนึ่งเป็นเวลา 3 เดือน ก็ทำให้สองมองเห็นตัวเองชัดเจนมากขึ้น

“ในช่วง 3 เดือนนั้นสนุกมาก สนุกกว่าการเรียนตลอด 2 ปีที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเยอะ มันได้ทำอะไรที่ออกนอกกกรอบ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้อยู่กับเพลง ได้อยู่กับภาพเคลื่อนไหว ได้เล่าเรื่อง ได้สื่อสารกับมนุษย์ กลายเป็นว่าเราค้นพบอีกสิ่งหนึ่งที่ชอบและรู้สึกกับมันมากๆ นั่นคือการสื่อสารกับมนุษย์และการสื่อสารมนุษย์ออกมา เป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์มากๆ ในระหว่างการเติบโตช่วงนั้น”

สังเวียนงานภาพเคลื่อนไหว

หลังจากค้นพบว่าตัวเองชอบการเล่าเรื่องมนุษย์ผ่านงานเคลื่อนไหว สองก็มีโอกาสช่วยเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยทำแฟชั่นฟิล์ม ซึ่งเป็นตัวตอกย้ำความชอบงานภาพเคลื่อนไหวของเขาให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกตื่นเต้นที่ได้จับกล้อง ถ่ายทำ ตัดต่อ หรือเลือกเพลงประกอบ

“การที่เราไปช่วยเพื่อนทำแฟชั่นฟิล์มในตอนนั้น มันไม่ได้รายได้ แต่เราสนุกมาก เราอยากตัดงานเมื่อกลับมาถึงห้อง อยากเอาฟุตเทจในกล้องออกมาตัด อยากหาเพลงมาใส่ มันสนุก ตื่นเต้น และมีความสุขมากๆ เลย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบว่าตัวเองอยากทำภาพเคลื่อนไหว เราก็เลยพยายามคิดว่าภาพเคลื่อนไหวมีอะไรได้บ้าง และเราจะไปถึงไหนได้บ้าง”

“สองคิดว่าถ้าเรียนจบแล้วจะไปโฟกัสกับการทำงานวิดีโอเลย โดยที่ก็ไม่รู้หรอกนะว่าจะทำอะไร คือเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มจากศูนย์จริงๆ ตอนแรกเราถือกล้องไปถ่ายและกำกับเอง แล้วเราก็ไม่รู้หรอกว่าการกำกับคืออะไร ไม่มีความรู้อะไรเลย ไม่เคยเรียนตัดต่อ ไม่เคยเรียนทำสื่ออะไรเลย ฝึกเองหมด Youtube คืออาจารย์ มันเป็นความสนุกล้วนๆ เลย พอเรียนจบก็เริ่มมีคนให้โอกาสบ้าง แต่มันเป็นโอกาสเล็กๆ น้อยๆ เราก็พยายามปั้นภาพลักษณ์ของตัวเองให้คนจดจำได้ว่า คนนี้เป็นเด็กจบกราฟิก แต่ทำภาพเคลื่อนไหว ทำวิดีโอเป็น เล่าเรื่องได้ เราน่าจะมีบางมุมที่ต่างจากคนที่เรียนภาพยนตร์มาโดยตรง อาจจะอยู่ในสังเวียนนี้ได้ และอาจจะอยู่รอด”

สองเข้าไปฝึกงานอีกครั้งกับโปรดักชั่นเฮ้าส์แห่งหนึ่ง เพื่อให้ตัวเองได้เข้าใกล้กับวงการภาพเคลื่อนไหวมากกว่าเดิม พร้อมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงาน และก็เริ่มมีโอกาสที่หยิบยื่นมาให้เขามากขึ้นเช่นกัน เรียกว่าการเติบโตบนเส้นทางสายงานภาพเคลื่อนไหวของสองเป็นก้าวเล็กแต่สม่ำเสมอ ทว่าการทำงานในแวดวงนี้ก็แสนโหดร้ายและค่อยๆ กัดกินตัวตน จนสองมาถึงจุดที่มืดดำที่สุดของชีวิต

มรสุมชีวิตในวัย 25 ปี

“สองบอกตัวเองตลอดว่าเราเก่ง เรามีข้อดี ทุกงานที่ปล่อยออกมาในช่วงนั้นจะมีเพื่อนๆ พี่ๆ ในวงการเริ่มมาชื่นชม บอกว่าเราเก่ง แต่สิ่งที่มันบั่นทอนก็มาพร้อมกับคำชม สองไม่เคยได้โอกาสทำงานหรือมีโอกาสยื่นมาให้มากกว่านั้น เหมือนทุกโอกาสที่เราได้รับก็ยังมาจากพี่ๆ คนเดิม เพราะฉะนั้น ตอนนั้นจึงเหมือนการที่เราอยู่ในบ่อน้ำเล็กๆ ยังไม่มีโอกาสกระโดดไปบ่อที่ใหญ่กว่านั้น ก็เลยพยายามทำให้คนเห็นเรามากกว่าเดิม เราตั้งใจทำงาน ทำให้ทุกอย่างออกมาดีกว่าเดิม พยายามขวนขวายและศึกษาทุกอย่าง แต่ทำยังไงก็เหมือนไม่พอสักที มันใช้เวลานานมากจนเราท้อ”

สองเริ่มมองเห็นโลกความเป็นจริงที่แสนโหดร้ายของชีวิตการทำงาน ที่ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือพยายามมากแค่ไหนก็รู้สึกเหมือนย่ำอยู่กับที่ เป้าหมายที่สองมุ่งมั่นจะไปให้ถึงดูเหมือนจะค่อยๆ อยู่ไกลออกไป ในขณะที่จิตใจถูกกัดกินจากความพยายามที่ไม่ออกดอกออกผล ร่างกายก็ประท้วงการทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ด้วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทในวัย 25 ปี

“พออายุ 25 ปี ร่างกายก็มาทรุด สองเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ป่วยจนเดินไม่ได้ในช่วงเวลา 2 เดือน และช่วงนั้นก็มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นเยอะ พ่อตรวจเจอมะเร็ง ต้องรักษา และเป็นครั้งแรกที่เราเห็นพ่อดูแลตัวเองไม่ได้ มันก็ค่อนข้างพังอยู่ข้างในเหมือนกัน แล้วที่บ้านก็มีอุบัติเหตุ ความรักก็มีปัญหา ทุกอย่างมันตลกร้าย แถมยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เรารู้สึกว่าทุกอย่างข้างในพังไปหมด เด็กคนหนึ่งที่เจอเรื่องเยอะขนาดนั้นก็เลยมีความคิดลบ มันมีความไม่เข้าใจอะไรอยู่เยอะ และพร้อมที่จะโทษโน่นโทษนี่”

ลุกขึ้นเดินอีกครั้งหลังมรสุม

“วันที่หายและกลับมาเดินได้ สองตัดสินใจที่จะไปนิวยอร์กเลย คือตอนที่หมอนรองกระดูกยังเจ็บมากๆ ร่างกายทั้งช่วงบนและช่วงล่างทำอะไรไม่ได้ ต้องนอนติดเตียง มีคุณพ่อคุณแม่ คุณย่า ญาติๆ หรือพยาบาลมาดูแลเราบนเตียงนอน เราลุกไปเข้าห้องน้ำเองยังไม่ได้เลย แล้วมันเซ็งมาก เราอายุ 25 เองนะ มันเป็นความคิดที่ว่า ถ้าให้ทุกอย่างจบลงตรงนี้ มันก็หมายความว่าเราทำงานหนักเพื่ออะไรก็ไม่รู้ จนร่างกายเป็นแบบนี้ ตอนนั้นเราเลยได้คำตอบหนึ่งว่า วันที่กลับมาเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำ เราจะไม่เสียเวลากับอะไรอีกแล้ว จะไม่เสียเวลากับความคิดลบๆ ความพยายามที่เปล่าประโยชน์ หรือการตั้งคำถามที่จะไม่นำไปสู่อะไรอีก แล้วเราก็จะไม่เสียเวลากับการทำร้ายตัวเองและคนอื่นอีกต่อไป”

การป่วยไข้ทำให้สองมองเห็น ‘ตัวเอง’ มากขึ้น เช่นเดียวกับมองเห็น ‘คนรอบข้าง’ ที่ไม่เคยปล่อยมือเขาไปในวันที่อยู่ในจุดต่ำสุดของชีวิต นั่นทำให้สองให้ความสำคัญกับความรักมากขึ้น เลิกหมกมุ่นกับความคิดลบ และตั้งใจใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างเคารพและซื่อสัตย์กับตัวเองมากที่สุด

“ตอนเด็กเราโดนสังคมหรือบรรทัดฐานของสังคมบังคับให้เป็นเด็กผู้ชาย สองไม่กล้ายอมรับว่าตัวเองเป็นอะไร เพราะความไม่รู้ ในโลกนี้สำหรับคนไทยมีแค่ตุ๊ดกับกะเทย ซึ่งเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราเลยรู้สึกว่า “แล้วเราเป็นอะไรวะ” และจะแสดงตัวออกมาแบบไหน มันเป็นความสับสนตั้งแต่เด็ก สองชอบผู้หญิงมาตลอด แต่มันก็มีความสงสัยว่า ถ้าเราชอบผู้ชายล่ะ เราชอบผู้ชายได้หรือเปล่า ดังนั้น เด็กผู้ชายคนนั้นสะกดอะไรบางอย่างเอาไว้ แต่ ณ วันนี้ เรากล้าที่จะยอมรับและทำทุกอย่างเต็มตัว”

“พอป่วยครั้งเดียว ทุกอย่างถูกปลดล็อกหมดเลย คุณค่าในชีวิตของเราเปลี่ยน ความรักในตัวเองและสิ่งรอบๆ ตัวเปลี่ยน ความตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่างเปลี่ยน แล้วเราก็มีโอกาสไปนิวยอร์ก ซึ่งนั่นก็เป็นบทใหม่ของชีวิตที่ทำให้สองเป็นสองในเวอร์ชั่นวันนี้”

นิวยอร์กเปลี่ยนชีวิต

“เรากลัวมากว่าจะถูกเปรียบเทียบกับใครสักคนที่เติบโตมาพร้อมกันหรือหลังจากเรา เรามีความคิดว่า ต้องเก่งแค่ไหนถึงจะพอ ทำไมความเก่งและความพยายามของเราถึงไม่ได้รับคุณค่าเท่ากับคนอื่น เราถูกมองว่าเป็นผู้กำกับที่ทำงานได้ไม่หลากหลาย โดนตีตราไปแบบนั้น ก็เลยทำให้ไม่ค่อยได้รับโอกาสมากเท่าไหร่ แต่เราเห็นเพื่อนๆ เติบโตขึ้น ซึ่งใจหนึ่งก็ยินดีกับเพื่อนเหลือเกิน แต่อีกใจคิดว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาของเรา เราพยายามฝึกฝนพัฒนาตัวเอง แต่ก็ยังไม่ได้รับโอกาส ทำดีก็โดนตัดสิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ติดอยู่ในใจเราจนไปถึงนิวยอร์ก”

อย่างไรก็ตาม การได้มีโอกาสไปเรียนและใช้ชีวิตที่ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็ทำให้สองได้รับบทเรียนชีวิตที่สำคัญ หล่อหลอมให้เขากลายเป็นสองในเวอร์ชั่นที่ทั้งแข็งแกร่งและอ่อนโยนในวันนี้

“มันเป็นความโชคดี ที่เหมือนซื้อลอตเตอรี่แล้วถูกรางวัล ตอนไปเรียน สองก็มีโอกาสได้รู้จักกับคนๆ หนึ่งที่เข้ามาเป็นอาจารย์พิเศษ เขาคือ ‘อเล็กซานเดอร์ ดีเนลาริส’ (Alexander Dinelaris Jr.) คนเขียนบทภาพยนตร์ให้กับเรื่อง ‘Birdman’ ซึ่งในชั้นเรียนที่ต้องเล่าว่าหนังธีสิสจบของแต่ละคนจะเป็นเรื่องอะไร สองเล่าถึงหนังที่เป็นความเชื่อตลอดชีวิตของสอง แล้วก็เป็นคุณค่าบางอย่างของตัวเราเอง เป็นเรื่องชีวิตหลังความตาย พอเล่าถึงจุดหนึ่ง เราก็น้ำตาคลอ เพราะมันทั้งตื่นเต้นและตื้นตัน หลังเล่าจบ อเล็กซานเดอร์ก็บอกว่า “ไม่เคยได้ยินเรื่องแบบนี้มาก่อน คุณเป็นใคร” ณ ตรงนั้น ความคิดที่เคยสงสัยตัวเองมาตลอดว่าเก่งแค่ไหนถึงจะพอ ทำแค่ไหนถึงจะพอ มันหายไปเลย ถ้าเราไปอยู่ถูกที่ อยู่ในที่ที่มีคนพร้อมจะฟังหรือมองเห็นเรา เก่งแค่ไหน ทำแค่ไหนมันก็พอ แต่ถ้าเราอยู่ในที่ที่เขาไม่พร้อมจะชื่นชมเรา ยังไงมันก็ไม่พอ”

สองได้รับโอกาสจากดีเนลาริสอีกครั้ง เมื่อนักเขียนบทภาพยนตร์รางวัลออสการ์คนนี้เสนอตัวเขียนบทภาพยนตร์ให้กับสอง พร้อมยกทีมงานคุณภาพระดับฮอลลีวูดมาช่วยกันสร้างภาพยนตร์โดยไม่คิดเงิน เพราะดีเนลาริสมองเห็นความจริงใจและความตั้งใจของสอง

“คนระดับนั้นเลือกที่จะพาเพื่อนๆ ร่วมวงการมาทำงานให้กับเรา และเขาก็ปฏิบัติกับสองอย่างดี ทุกคนยิ่งใหญ่มาก พี่ๆ โปรดิวเซอร์ทุกคน ไม่ว่าเขาจะเคยทำงานกับใคร เบอร์ใหญ่แค่ไหน แต่ทุกครั้งที่สองพูด ทุกคนจะเงียบและตั้งใจฟัง เขาเคารพเราในฐานะผู้กำกับ แม้ว่าเราจะเด็กกว่าเขาเป็น 30-40 ปี มันทำให้เราได้หลักการทำงาน และสิ่งนี้มันไกลกว่าการได้เรียนในมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน เพราะมันคือประสบการณ์ชีวิต การไปอยู่ตรงนั้น ทุกคนเท่ากัน ทุกคนเคารพกัน นี่คือสิ่งที่สองได้จากการไปอยู่นิวยอร์ก มันทำให้รู้เลยว่า เราไม่อยากเป็นผู้กำกับที่เก่งและดีอย่างเดียว แต่อยากเป็นผู้กำกับที่ให้เกียรติคนอื่น เหมือนที่เขาให้เกียรติเรา”

สองที่แข็งแกร่งกว่าเดิม

โอกาสที่ได้รับจากอเล็กซานเดอร์ ดีเนลาริสและเหล่าเพื่อนพ้องในวงการฮอลลีวูด ทำให้สองตั้งมั่นกับตัวเองว่าเขาจะให้โอกาสคน ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนที่เพิ่งเริ่มทำงานหรืออายุน้อยกว่า ถ้ามีความตั้งใจเหมือนกับที่สองมี เขาจะให้โอกาสและพร้อมปลุกปั้นคนนั้นทันที เช่นเดียวกับเรื่องการให้เกียรติมนุษย์ และการดูแลผู้ร่วมงาน ที่ทุกคนในทีมต้องมีความสุขระหว่างการทำงาน พร้อมกับมีรายได้มั่นคง สองนำบทเ