หลายปีก่อน ถ้าพูดถึง‘เชียงใหม่’ สิ่งแรกๆที่ผู้คนมักจะนึกถึงคงเป็นภาพของเมืองท่องเที่ยวที่โอบล้อมไปด้วยบรรยากาศท่ามกลางขุนเขาสภาพอากาศปลอดโปร่ง และวัฒนธรรมล้านนาอันงดงาม แต่ถ้าถามถึงสถานที่ดังกล่าวในปัจจุบันกลับไม่อย่างนั้น เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆนั่นคือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือที่คุ้นเคยกันดีในชื่อ ‘PM2.5’
ข้อมูลเรียลไทม์ล่าสุดณ วันที่ 4 เม.ย.67 จากของเว็บไซต์ IQAir เกี่ยวกับการรายงานคุณภาพอากาศของเมืองสำคัญทั่วโลกพบว่า ‘จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดอันดับ1 ของโลก’ โดยค่าที่วัดได้คือ 201 AQI US ซึ่งอยู่ในระดับสีม่วง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนอย่างรุนแรงทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เนื่องจากฝุ่น PM2.5 มีขนาดที่เล็กมาก เรียกได้ว่าเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 25 เท่า และสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านระบบหายใจ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ
Exotic Quixotic มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเปิดเผยถึงมุมมองวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป และการเอาตัวรอดท่ามกลางวิกฤตมลพิษที่เกิดขึ้น โดยหนึ่งในนักศึกษาชั้นปีที่ 3 กล่าวว่า
“เราเคยอยู่กรุงเทพมาก่อนตอนอยู่ที่นั่นค่าฝุ่น 150 ก็ถือว่าหนักแล้ว แต่ที่เชียงใหม่มันคนละเรื่องกันเลยยิ่งช่วงปีที่แล้วเคยเจอหนักที่สุดคือ 600 AQI US กลายเป็นว่าใส่หน้ากากแล้วหายใจสะดวกกว่าไม่ใส่หน้ากากคนที่นี่สามารถวัดค่าฝุ่นได้ง่ายๆ จากการดูดอยสุเทพ ถ้าวันไหนมองไม่เห็นดอยทั้งลูกเลยแปลว่าวันนั้นค่าฝุ่น200+ แล้วแน่ๆ ทั้ง ๆ ที่เราอยู่ห่างจากมันไม่ถึง 10 กม. และจุดสังเกตอีกอย่างคือท้องฟ้าในตอนกลางวันต่อให้แดดจัดขนาดไหนก็ตาม เราจะมองไม่เห็นสีฟ้า เพราะมันกลายเป็นสีเทา อ่างแก้วตอนกลางวันเหมือนตอนเช้าที่หมอกลงจัดๆแต่มันคือเที่ยงวัน”
ยังมีอีกหลายเสียงซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันอีกว่าพวกเขาต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอมที่ทำอะไรไม่ได้นอกจากป้องกันตัวเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และพยายามไปอยู่ในสถานที่ที่มีเครื่องฟอกอากาศ บางคนถึงขั้นต้องลงทุนซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้ในห้องพักของตัวเองแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดูแลป้องกันตัวเองตามที่กล่าวมา ก็ยังไม่เพียงพอที่จะต้านทานพิษของPM2.5 ได้ทั้งหมด พวกเขายังบอกเล่าถึงปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นหลังได้รับการสูดดมฝุ่นมาร่วมปีอีกว่าอาการหลักๆ ที่พบได้ก็จะมีตั้งแต่ หายใจไม่สะดวก มีน้ำมูกเป็นสีดำ คอแห้ง และไอไปจนถึงมีผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง
“สิ่งที่แย่ที่สุดคือการที่เราทำอะไรไม่ได้นอกจากข้อควรปฏิบัติพื้นฐานที่เราต้องทำ เช่น ซื้อแมสก์มาใส่ หรือถ้าป่วยก็ไปหาหมอเคยมีพี่ที่รู้จักไปลงทะเบียนว่าป่วยเพราะฝุ่น แต่สิ่งที่เขาให้มาคือวิตามินซีกับหน้ากากอนามัยบางๆที่ป้องกันแม้แต่เชื้อโรคไข้หวัดธรรมดาๆ ไม่ได้ด้วยซ้ำ สุดท้ายเราก็ต้องแก้ปัญหานี้ด้วยตัวเองอยู่ดีเราทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้”
เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนักศึกษาเหล่านี้ก็ได้มีการพูดถึงเรื่องการเผาพืชผลทางการเกษตรหนึ่งในสาเหตุหลักของปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ ซึ่งมองว่าการสั่งให้ชาวบ้านหยุดเผาเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่การจัดการกับต้นตอของปัญหารัฐจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนในพื้นที่กำลังเผชิญ จริงอยู่ที่การเผาพื้นที่เกษตรทำให้เกิดปัญหาฝุ่นและก๊าซอันตรายต่างๆลอยขึ้นไปในบรรยากาศ ชุมชนใกล้เคียงและภาพรวมของภาคเหนือจึงถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษหมอกควันแต่การจะบังคับไม่ให้ชาวบ้านเผา ก็ไม่ใช่ทางออกที่เป็นธรรมนัก เพราะเมื่อมีการปลูกข้าวโพดในการเลี้ยงสัตว์ก็ย่อมต้องทำลายซังข้าวโพดที่เหลือทิ้งไป หากไม่ให้ ‘เผา’ ก็จะเหลือวิธี ‘ฝังกลบ’ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ต้นทุนสูงกว่ามาก แน่นอนว่าชาวบ้านตาดำๆ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำลายด้วยวิธีการเผาดังนั้นจึงเป็น ‘หน้าที่ของรัฐ’ ที่จะต้องหาแนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหาแบบขุดให้ถึงรากและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายให้ได้
ซึ่งข้อเสนอต่างๆจากประชาชนหรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ ก็จะมีตั้งแต่การรณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับผลกระทบของการเผาไร่และแนะนำวิธีจัดการพื้นที่เกษตรท่ีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การไถกลบตอซังการใช้ปุ๋ยหมัก การบดอัดตอซัง การสนับสนุนจากภาครัฐ ด้วยการส่งเสริมเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ช่วยลดการเผาสนับสนุนเงินทุน สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเลิกการเผาไร่ การบังคับใช้กฎหมาย และที่สำคัญคือคนในชุมชนเองก็จะต้องมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ใช้สินค้าเกษตรที่ปลอดการเผาและติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด
“การเผาพืชผลทางการเกษตรมันมีเรื่องกฎหมายที่มันมายกเว้นภาษีอาหารสัตว์ เหล่านี้เป็นเรื่องเกษตรพันธสัญญากับบริษัทอาหารสัตว์รายใหญ่ของไทยจึงทำให้เกิดการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของคนทำไร่ด้วยเงินที่เขารับซื้อเท่านี้จะจัดการมันยังไงสุดท้ายมันไม่มีวิธีการอื่นที่จะช่วยได้นอกจากการเผา ส่วนบริษัทก็ลอยตัวจากการที่ชาวไร่ไม่ใช่ลูกข้างเขาโดยตรงแต่ติดมาจากเกษตรพันธสัญญาที่เขาทำ เพราะงั้นแล้วมันก็เลยเป็นการโบ้ยกันไปมาอยู่ที่ว่ารัฐจะมีวิธีในการจัดการให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้ยังไง”นักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวทิ้งท้าย