ถ้าพูดคำว่า วัฒนธรรมการดื่มในบ้านเรา ในช่วงหลังๆ เราคงได้เห็นภาพของ ‘สุราไทย’ กันมากขึ้น ทั้งในมุมของการสนับสนุนชุมชน ผู้ผลิตรายย่อยต่างๆ ไปจนถึงการสนับสนุนทางด้านกฎหมาย ซึ่งแน่นอนว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์คนไทย ไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนของการสังสรรค์เท่านั้น แต่มันยังเป็นสิ่งที่ยึดโยงกับภูมิปัญญาชุมชน และวิถีชีวิตอย่างคนท้องถิ่น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้วันนี้ EQ อยากพาทุกคนมาทำความรู้จักกับแบรนด์สุราไทยที่อยู่ในตลาดกันให้มากขึ้น พร้อมด้วยเอกลักษณ์ และความเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์และชุมชน เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจชุมชนของไทยเติบโตไป และให้เห็นว่า นี่แหละ Spirits of Thailand!
KILO
เริ่มกันที่ ‘Kilo’ (กิโล) สุรากลั่นจังหวัดกระบี่ ที่ก่อตั้งในปี 2017 โดยสามีชาวอังกฤษ และภรรยาชาวไทย โดยความพิเศษของ Kilo Spirits คือ การนำน้ำอ้อยคั้นสดจากเกษตรกรในกระบี่มาเป็นวัตถุดิบหลักในการหมัก ก่อนที่จะนำไปกลั่นถึง 3 รอบ จนได้เป็นแอลกอฮอล์ 95% ก่อนนำไปเจือจางเป็นเหล้าในแบบที่เราได้เห็นกัน ซึ่งเหล้าของแบรนด์ Kilo ตอนนี้มี 2 ตัว ได้แก่ ‘Kilo GN’ และ ‘Kilo VDK’ เหล้าจิน และวอดก้าที่ผสมผสานกระบวนการที่ทันสมัยเข้ากับวิธีการแบบดั้งเดิมของชุมชนในกระบี่ ซึ่งนับว่าเป็นการนำรากของชุมชนออกมานำเสนอในแบบใหม่ได้เป็นอย่างดี
SANGVEIN
ถ้าจะพูดถึงสุราไทยโดยที่ไม่พูดถึงเหล้ากลั่นจากจังหวัดสุพรรณบุรีอย่าง ‘Sangvein’ (สังเวียน) ก็คงจะไม่ได้ เพราะนี่คือสุรากลั่นที่สร้างปรากฏการณ์จนทำให้คนหันมาสนใจสุราไทยมากขึ้น จากการที่ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ พูดถึงเหล้าแบรนด์นี้ จนทำให้สุราไทยฟีเวอร์จนขาดตลาดกันไปหลายแบรนด์เลยทีเดียว ซึ่งสังเวียนก็เป็นเหล้ากลั่นที่ผลิตจากน้ำหวานอ้อยที่หมักให้เกิดแอลกอฮอล์แล้วนำไปกลั่น โดยเจ้าของแบรนด์อย่าง ‘ช้าง’ – ทวีชัย ทองรอด ก็มีดีกรีไม่ธรรมดา เพราะเขาเรียนจบปริญญาโทสาขาการกลั่นเบียร์ จากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม ประเทศอังกฤษ โดยแบรนด์ ‘สังเวียน’ นั้นมีที่มาจากชื่อคุณปู่ของช้างที่เสียชีวิตไป และเป็นการให้คุณย่าได้ระลึกถึงคุณปู่ในวันที่เคยผลิตสาโทขายด้วยกันอีกด้วย
ISSAN RUM
จากภาคใต้ สู่ภาคกลาง ตอนนี้เราเดินทางมาสู่ภาคอีสานกันบ้างกับ ‘ISSAN RUM’ (อีสานรัม) เหล้ารัมหัวใจอีสานโดย เดวิด จิอัลลอเรนโซ และ หนูรัก วรโคตร์ คู่รักที่ผุดไอเดียนำอ้อยที่ปลูกมากในภาคอีสานมาผลิตเป็น ‘อีสานรัม’ เหล้ารัมจากการนำน้ำอ้อยสดไปบ่มแล้วกลั่นออกมาเป็นเหล้าที่เรียกว่า Rhum Agricole ซึ่งต่างจากรัมทั่วไปที่ใช้กากน้ำตาลในการผลิต ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ Issan Rum ยังได้รับรางวัลเหรียญเงิน จากการแข่งขัน IWSC (International Wine and Spirit Competition) ปี 2014 และเหรียญทองแดงประเภท Rhum Agricole Blanc <50 พร้อมด้วยเหรียญทองประเภทขวัญใจกรรมการ จาก Rhum Festival Paris ปี 2015 อีกด้วย
LANNA
ถึงคราวแอ่วเมืองเหนือไปกับ ‘Lanna’ (ลานนา) แบรนด์วอดก้าจากเมืองเหนือที่นำข้าวหอมมะลิออร์แกนิก 100% จากทั่วทั้งภาคเหนือ ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสหภาพยุโรป มาเป็นส่วนผสมหลักในการผลิต ซึ่งหลายๆ คนก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่าข้าวหอมมะลิของไทยไม่เคยแพ้ชาติใด วอดก้าแบรนด์นี้เกิดขึ้นโดยกลุ่มบาร์เทนเดอร์มากฝีมือของไทย พร้อมทั้งสนับสนุนชุมชน และสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ผ่านการผลิตจากการเพาะปลูกขนาดเล็กของกลุ่มเกษตรกรโลคัล ซึ่ง Lanna ก็มาพร้อมดีกรีไม่ธรรมดาด้วยรางวัลเหรียญเงินจากงานแข่งขันสุราที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษอย่าง International Bartender Spirits Awards 2023 อีกด้วย
CHALONG BAY
เชื่อว่าสายปาร์ตี้ทั้งหลายต้องรู้จักเหล้ารัมหรอยแรงแห่งภูเก็ตอย่าง ‘Chalong Bay’ (ฉลองเบย์) กันอย่างแน่นอน เพราะนี่คือ เหล้ารัมลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส ที่ใช้วัตถุดิบพื้นบ้านอย่างอ้อยคุณภาพดีจากทุกภูมิภาคทั่วเมืองไทย ผสานเข้ากับกรรมวิธีการกลั่นแบบดั้งเดิมของชาวฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังเป็น รัมสัญชาติไทยที่คว้ารางวัลมาได้จากหลายเวที ทั้งรางวัลเหรียญทองจาก San Francisco World Spirit Competition 2015, เหรียญเงินในปี 2012 และเหรียญทองแดง ปี 2013 จากงานแข่งขันเหล้าที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอย่าง Hong Kong International Wine and Spirit Competition (HKIWSC) รวมถึงรางวัลขวัญใจผู้บริโภคจาก 2019 SIP Awards ที่จัดในแคลิฟอร์เนียร์อีกด้วย ซึ่งตอนนี้ฉลองเบย์ก็ยังมีให้เลือกซื้อทั้งรัมแบบออริจินัล (Pure Series), รัมที่ Infused กลิ่นหอมจากสมุนไพรธรรมชาติที่เก็บด้วยมือ (Tropical Note Series) และ สไปส์รัมที่นำมาทวิสต์ด้วยความเป็นเอเชี่ยนผสมผสานพืชพรรณ และสนุมไพร 9 ชนิดจากประเทศไทย และเพื่อนบ้านแถบ ASEAN (Spiced Series)
SIAM GIN
‘จินแรกแห่งสยาม’ นี่คือคำนิยามของ ‘Siam Gin’ (สยามจิน) เหล้าจินแบรนด์แรกของคนไทยที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ด้วยการผสมผสานเอกลักษณ์ของไทยอย่าง ข้าวหอมมะลิ ผลไม้ไทย และเครื่องเทศต่างๆ ผ่านฝีมือของ Master Distillers ชาวไทย ที่ทำให้สุรากลั่นแบรนด์นี้สะท้อนความเป็นไทยสมชื่อ ‘สยาม’ ความพิเศษของสยามจินคือ การพัฒนายีสต์สายพันธุ์พิเศษในการหมัก ร่วมกับแล็บในออสเตรเลีย พร้อมด้วยการกลั่นถึง 6 รอบ เพื่อให้ได้สุรากลั่นที่บริสุทธิ์ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ก่อนนำไปแช่หมักด้วยวัตถุดิบของไทยทั้งข้าวหอมมะลิ ผลไม้ พืชพรรณ และสมุนไพรต่างๆ ด้วยความชำนาญของ Master Distillers จนได้กลิ่น และรสชาติที่ลงตัว
SATO
เมื่อสาโทเมืองโคราชบ้านเองถูกนำมาเสนอใหม่ภายใต้ชื่อแบรนด์สุดเท่อย่าง ‘SATO’ (ซาโต้) ที่นำเอาสาโทของไทย มาบวกเข้ากับสาเกของญี่ปุ่นผ่านวัตถุดิบที่ได้คุณภาพจากอำเภอวังน้ำเขียว และกรรมวิธีในการหมัก ซาโต้เลือกแหล่งเพาะปลูกในหมู่บ้านเล็กๆ ชายเขตอำเภอวังน้ำเขียว ท่ามกลางบรรยากาศขุนเขา และสภาพอากาศที่ชุ่มชื้น เย็นสบายตลอดทั้งปี ทั้งยังเป็นหนึ่งในแหล่งที่อากาศดีที่สุดของไทย จึงทำให้ข้าวและน้ำที่วังน้ำเขียวเหมาะสมที่จะผลิตสาโทคุณภาพดี ถึงแม้ว่าสาโทจะไม่นับว่าเป็นเครื่องดื่มประเภท Spirits แต่จะใกล้เคียงกับไวน์ ที่มีกระบวนการผลิตคล้ายกับเบียร์ แต่ว่าเราก็อยากนำซาโต้มาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักในฐานะแบรนด์ที่พัฒนาเครื่องดื่มพื้นบ้านอย่างสาโทให้เป็นเหมือนงานศิลปะที่ดื่มได้ รักษาไว้ซึ่งสุนทรียภาพในการดื่มสาโทแบบคนไทย และวัฒนธรรมสาเกอย่างคนญี่ปุ่น