ศิลปะคือ องค์ความรู้ของมนุษย์ที่เป็นพลวัติ (Dynamic) เพราะว่ามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทำให้รูปแบบไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ต้องยึดถือ แต่เป็นสิ่งที่เปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจ (Reminder) สะท้อนถึงบริบท และเรื่องราวที่สอดคล้องกับรูปแบบของศิลปะเหล่านั้น การที่ผู้คนมีมุมมองในงานศิลปะที่แตกต่างกันคือเรื่องปกติ ความสำคัญที่แท้จริง และแก่นแท้ในงานศิลปะคือ การสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงบริบทความสำคัญของงานศิลปะ นี่เป็นเหตุผลที่ศิลปะมักจะถูกเชื่อมโยงกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และการเมืองการปกครอง วันนี้เราจะพาทุกคนเข้าไปสู่เรื่องราวของศิลปะประเภท ‘สถาปัตยกรรม’
สถาปัตยกรรมในสังคมมนุษย์
ศิลปะมักจะเป็นสิ่งที่ผู้คนบอกว่าเข้าใจยาก ทำให้มีทั้งคนที่ชื่นชอบเสพงานศิลปะ และคนที่รู้สึกว่าไม่เข้าใจ แต่สถาปัตยกรรมเป็นศิลปะที่เข้าถึงมนุษย์ได้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตมนุษย์เมืองของเรา จึงไม่แปลกที่จะพบเห็นมันได้ทั่วไป อาทิ ตึก อาคาร บ้านเรือน วัด โรงเรียน ฯลฯ ทุกอย่างที่เราได้เห็นมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก ทั้งสิ่งใหม่ที่เพิ่งสร้าง และสิ่งเก่าที่มีอยู่มานานนับร้อยๆ ปี จึงเป็นสาเหตุให้พวกมันทำหน้าที่เสมือนเครื่องย้อนเวลา (Time Machine) ที่บอกเล่า และพาเราเดินทางไปในช่วงเวลานั้นๆ ที่มันอยู่ เพื่อให้พวกเราในยุคปัจจุบันได้ศึกษาหาแนวคิดในการรังสรรสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ทุกร่องรอย การแตกร้าว การบูรณะ ชื่อเรียกของพวกมัน ล้วนมีความหมาย แสดงให้เห็นสาเหตุ และความเป็นไปของงานสถาปัตยกรรม
‘สถาปัตยกรรม’ กับบริบทของการเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง
ความหมายที่แท้จริงของสถาปัตยกรรมคือ ‘สิ่งปลูกสร้างที่ช่วยเหลือการใช้ชีวิตในสังคมมนุษย์’ แต่มันก็สามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ และการเมืองได้เช่นกัน คำถามคือ แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงปูนอัดแท่งที่ก่อรวมกันเป็นสิ่งปลูกสร้าง หรือเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองของมนุษย์กันแน่?
'สถาปัตยกรรมล้วนมีความหมายที่ซ่อนอยู่' ความหมายของประโยคนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่พวกเราทุกคนรู้กัน การสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างต้องมีการออกแบบ ในที่นี้การออกแบบทางสถาปัตยกรรมย่อมมีคอนเซ็ปต์ที่แสดงออกให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของผู้สร้าง หรือความต้องการ ดังนั้น ตามประโยคที่กล่าวมา ผู้สร้างย่อมมีความหมายแฝงในการออกแบบ ความหมายแฝงที่ถูกสื่อสารผ่านงานสถาปัตยกรรม ย้อนกลับไปในอดีต สมัยที่สยามยังมีการแบ่งชนชั้นอยู่ บุคคลที่จะมีอัฐ หรือเบี้ยจำนวนมากขนาดที่สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างอย่างสถาปัตยกรรมได้ คงจะมีเพียงแค่เจ้าขุนมูลนาย ที่ตัดสินใจก่อสร้างสิ่งสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเป็นชิ้นเป็นอันได้ โดยส่วนมากการก่อสร้างมักจะมาจากความต้องการที่จะสนองตนเอง สร้างเพื่อแสดงอำนาจ สร้างเพื่อหน้าตาทางสังคม เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่า คนสร้างมีเงินพอที่จะทำได้ แต่จนถึงปัจจุบันสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ที่ยังหลงเหลืออยู่ จะถูกมองว่าเป็นสิ่งเก่าแก่อายุหลักร้อยปี ที่มีสำคัญของบ้านเมือง พร้อมทั้งตีความไปต่างๆ นาๆ หาความสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ เพื่อให้เกิดความหมายในสถาปัตยกรรมเหล่านั้น และทำให้มันเป็นโบราณสถาน ซึ่งมันคือข้อเท็จจริงที่ว่า สถาปัตยกรรมอาจจะไม่ได้สร้างมาเพื่อแฝงความหมายเสมอไป แต่ก็มีงานสถาปัตยกรรมไม่น้อยเลยที่สร้างมาเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ ภาพความทรงจำ หรือสัญลักษณ์ทางการเมือง พบเห็นได้มากในยุคของคณะราษฎร
ในยุคของคณะราษฎร
สถาปัตยกรรมมักจะมีการแฝงความหมายทางการเมืองไว้มากมาย รูปแบบของสถาปัตยกรรมในยุคนี้จะเน้นไปที่รูปแบบหลังคาเรียบ หรือหลังคาตัดตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เรียกว่า ‘สถาปัตยกรรมโมเดิร์น’ ด้วยความหมายทางสัญลักษณ์ที่ต้องการจะสื่อว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ความทันสมัย ให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ การออกแบบของสถาปัตยกรรมในยุคนี้จึงอิงไปด้วยความหมาย และสัญลักษณ์ทางการเมือง
‘อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย’ เป็นสัญลักษณ์ของ ‘การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475’ ที่แสดงออกให้เห็นถึงการก้าวเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยของประเทศไทย และเป็นเครื่องเตือนใจถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมือง
การออกแบบจึงแฝงความหมายทางประวัติศาสตร์ผ่านสัญลักษณ์ไว้มากมาย ได้แก่
- ปีกทั้ง 4 ด้าน ที่มีความสูง 24 เมตร หมายถึงวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
- ปืนใหญ่ 75 กระบอก หมายถึงเลขปี 2475
- พานรัฐธรรมนูญ สูง 3 เมตร หมายถึงเดือน 3 หรือเดือนมิถุนายน (ตามจันทรคติ)
- พระขรรค์ 6 รูป หมายถึง หลัก 6 ประการของคณะราษฎร
‘ศาลฎีกา (เดิม)’ เป็นสถานที่รำลึกถึงความสำเร็จในการแก้สัญญาสิทธิเสรีภาพนอกเหนืออาณาเขต ปรับปรุงกฎหมาย และการทำสนธิสัญญากับประเทศมหาอำนาจกว่า 12 ประเทศ ซึ่งการออกแบบนั้นแฝงความหมายเกี่ยวกับคณะราษฎรเช่นกัน คือ
- โครงสร้างเรียบง่ายมั่นคง ไม่เน้นวิจิตร
- เป็นสัญลักษณ์แห่งความทันสมัยด้วยการออกแบบแบบโมเดิร์น
- เสา 6 ต้นหน้าบันไดของอาคาร มีความเป็นไปได้ว่าหมายถึง ‘หลัก 6 ประการของคณะราษฎร’
‘ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.)’ สถานศึกษาองค์ความรู้ต้องห้ามอย่าง เศรษฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญ การเมือง ซึ่งตึกโดมเป็นสัญลักษณ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นอาคารแห่งแรกในมหาวิทยาลัย
- โดม มีรูปแบบจากดินสอแปดเหลี่ยมที่เหลาจนแหลมคม แสดงถึงภูมิปัญญาที่สูงส่งของการศึกษา
- หน้าต่าง 6 บาน บนโดมของตึก สามารถมองได้ถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร
สถาปัตยกรรมเหล่านี้มีเหตุผลในการสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่รำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง และแสดงให้เห็นถึงการก้าวไปสู่ความทันสมัยของประเทศไทยว่า สถาปัตยกรรม และการเมืองของไทยมีความเชื่อมโยง และถูกใช้เป็นเครื่องมือร่วมกัน
Photo Credit: ข่าวสด
แต่สถาปัตยกรรม และการเมืองจะมีอิสรภาพได้ ก็ต่อเมื่อมันอยู่ภายใต้รัฐบาล และสังคมที่เป็นประชาธิปไตย หลังจากปี 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลมาหลายครั้ง รัฐประหารตั้งหลายหน สถาปัตยกรรมซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางการเมือง จึงถูกควบคุมทางความคิดมากยิ่งขึ้น มรดกของคณะราษฎรถูกทำให้หายไปทีละแห่ง ศิลปะถูกควบคุมโดยรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง เห็นได้จากกรณีของหมุดคณะราษฎรที่ถูกรัฐบาลทำลายทิ้งเมื่อปี 2563 เพียงเพราะมันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงคณะราษฎร นี่คงเป็นข้อเท็จจริงของประเทศไทยในปัจจุบันว่า บริบทของสถาปัตยกรรมกับการเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองมันได้ตายจากไปแล้ว
การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์บนโบราณสถานถือเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่ยอมรับได้ไหม?
เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้นเกิดเหตุการณ์ พ่นสีกำแพงวัดพระแก้วเป็นสัญลักษณ์ของ ‘อนาธิปไตย’ (Anarchy) ภาวะไร้รัฐบาล เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดประเด็นทางโลกออนไลน์ในหลากหลายด้านแต่ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคงเป็นเรื่องของการทำลายทรัพย์สินทางประวัติศาสตร์
การพ่นสีบนกำแพงวัดพระแก้ว เป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับการรณรงค์ให้ยกเลิก ม.112 เจ้าของผลงานถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการทำลายโบราณสถาน และความสะอาด เรามองเห็นอะไรในเหตุการณ์นี้?
‘A For Anarchy อนาธิปไตยไม่เอา ม.112’ เป็นสิ่งที่เจ้าของผลงานต้องการจะสื่อ Anarchy เป็นแนวคิดที่บอกว่า พวกเขาไม่ต้องการรัฐบาล และสถาบันไหนๆ ทั้งนั้น เป็นแนวคิดที่ต่อต้านอำนาจทุกอย่างเห็นคนเป็นคนเท่ากัน ความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ดูเป็นแนวคิดที่สวยหรูชวนให้ฝักใฝ่แต่มันแฝงไปด้วยความวุ่นวายระดับภัยพิบัติ อะไรทำให้เราบอกอย่างนั้น
ความสวยหรูของอุดมการณ์ที่บอกว่า คนทุกคนเท่ากันไม่มีใครมีอำนาจเหนือใคร มันไม่สามารถใช้ได้ในชีวิตที่มนุษย์ถูกปลูกฝังในเรื่อง ‘ลำดับขั้น’ (Hierarchy) ลองมองว่าเราเป็นพนักงานในบริษัทหนึ่งโดยโครงสร้างของบริษัทคือ ผู้บริหาร > เจ้านาย > พนักงาน แต่วันหนึ่งผู้บริหารที่เป็นคนคอยตัดสินใจในการชี้นำบริษัทไปในทิศทางต่างๆ กลับมาบอกว่า พวกเราทุกคนเท่ากัน เรามาทำงานเหมือนกันเถอะ ผลปรากฏว่า ผู้บริหาร เจ้านาย และพนักงานชี้ทางให้บริษัทไปคนละทิศคนละทาง ทีนี้ใครล่ะจะเป็นคนตัดสินว่า สุดท้ายแล้วจะไปทางไหน ในเมื่อทุกคนเท่าเทียมกันมีสิทธิเหมือนกัน นี่จึงเป็นเหตุผลที่ อนาธิปไตย ถือเป็นความวุ่นวายที่ร้ายแรงในสังคม และเป็นข้อบ่งชี้ว่า สังคมเรายังต้องการผู้นำทิศทางอยู่
‘การทำลายวัฒนธรรม’ โบราณสถานถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรม กำแพงวัดพระแก้วก็ถือว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างในระดับโบราณสถาน แล้วด้วยอายุที่มากกว่าร้อยปี พอพูดถึงวัฒนธรรม มันคือสิ่งที่ผู้คนในสังคมมีความรู้สึกร่วมกัน มีความเข้าใจร่วมกัน การพ่นสีลงบนกำแพงวัดพระแก้วด้วยสัญลักษณ์ของอนาธิปไตย เป็นการพ่นสีใส่สิ่งที่แสดงถึง ‘อำนาจ’ (พระราชวัง) แล้วเหตุใดผู้คนถึงคิดว่า มันเป็นการทำลายทรัพย์สินทั้งๆ ที่มันก็เป็นการแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ไม่สร้างความรุนแรง มันเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมคือ สิ่งที่รู้สึกร่วมกันในสังคม ยิ่งเป็นวัดพระแก้วโบราณสถานที่เก่าแก่ และแสดงถึงวิถีชีวิต อารยธรรมของคนไทยในสมัยก่อน ยิ่งทำให้คุณค่าของมันในทางวัฒนธรรมมีมากขึ้นไปอีก การพ่นสีลงไปบนกำแพงเพื่อหวังจะแสดงออกทางสัญลักษณ์ให้เห็นถึงการทำลายตัวแทนของอำนาจในสังคมไทย กลับกลายเป็นการทำร้ายความรู้สึกของผู้คนในสังคมที่มีวัฒนธรรมร่วมกันไปด้วย ทำให้ไม่แปลกเลยที่ประเด็นในสังคมจะตีกลับจากที่ควรจะสนับสนุนการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านสถาปัตยกรรม กลายมาเป็นเสียใจที่ทำลายทรัพย์สิน
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่า สังคมยอมรับไม่ได้กับการทำลายทรัพย์สิน ถึงแม้ว่าจะเป็นการแสดงออกทางสัญลักษณ์ทางการเมือง เพราะมันสร้างความเสียหายให้แก่วัฒนธรรมของสังคม ผู้คนที่สนับสนุนการแสดงออกทางการเมืองมาตลอดก็รู้สึกถึงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไม่รู้ว่าจะต้องกล่าวว่ากลุ่มชนชั้นอำนาจของไทยที่ใช้อำนาจในทางไม่ชอบจนทำให้ผู้คนออกมาแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จนเกิดการทำลายมรดกทางวัฒนธรรม หรือจะกล่าวโทษผู้ที่แสดงออกแบบไม่สนคุณค่าของวัฒนธรรมดี
ย้อนกลับไปในเรื่องการหายไปของสัญลักษณ์คณะราษฎรที่เราบอกว่า มันค่อยๆ ถูกทำให้หายไป เรากลับไม่เห็นว่ามีการพูดถึงเป็นวงกว้างเท่ากับกำแพงวัดพระแก้วเลย หรือจะเป็นเพราะว่า คณะราษฎรไม่ใช่วัฒนธรรมที่แสดงออกถึงชาติและศาสนา คนในสังคมเลยไม่รู้สึกว่าถูกโจมตีเมื่อมันถูกทำให้หายไป ในความคิดเห็นของเรา เรามองว่า การพ่นกำแพงวัดพระแก้ว เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ถูกต้อง ไม่มีการใช้ความรุนแรง เป็นการสื่อสารที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมที่ ม.112 เป็นต้นเหตุ เพราะถึงแม้เราจะบอกว่า วัดพระแก้วเป็นโบราณสถานตามข้อกฎหมาย แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่า จะกลายเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปแล้ว นั่นหมายความว่า ‘วัดพระแก้ว’ พ้นสถานะจากการเป็นสถานที่สาธารณะ ไปเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลเรียบร้อยแล้ว ผู้คนที่ยังยึดติดว่า มันเป็นมรดกวัฒนธรรมในด้านสถาปัตยกรรมของไทย ก็ควรที่จะตัดใจแล้วตระหนักได้ว่า มันไม่ใช่ของส่วนรวมอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ใส่กำแพงวัดพระแก้วจึงเป็นการกระทำที่เหมาะสมที่สุดที่จะต่อต้านอำนาจในสังคม และเผชิญหน้ากับปัญหาเชิงโครงสร้างอย่าง ม.112