Art

EQ X NúÚ P3A☭3 Playlist

เล่าที่มาที่ไปของคอนเซ็ปต์ และแนวดนตรีเพลย์ลิสต์นี้

“Experimental Techno / Post-Club / Gabber / T-Pop / Deconstructed Music / Funk Genres

ต้องบอกก่อนว่างานของเราเกิดจากอุดมการณ์ที่เชื่อมาเสมอ คือการยืนหยัดเพื่อคนที่ถูกกดขี่ในซีน โดยเฉพาะในซีนดนตรีและศิลปะ เพลย์ลิสต์นี้เกิดขึ้นมาจากการพยายามวิ่งหนีจากดนตรีคนขาว หรือ ความศิวิไวซ์แบบโลกตะวันตก เพื่อจะค้นหาเสียงบางเสียงที่เราไม่เคยได้ยิน ดนตรีที่ไม่ถูก Westernized ในโลกที่คนขาวกำลังทำตัวเป็น gatekeeper ในโลกที่เมโลดี้ของศิลปินตัวเล็กจากฝั่งบ้านเราแทบจะไม่เคยได้เล็ดลอดออกไปสู่หูคนทั้งโลก มันแทบทำให้เราเลิกเชื่อแล้วว่าจะสามารถทำดนตรีแบบที่เราเชื่อไปสู่ดนตรีระดับโลกได้”

“จนเมื่อปี ค.ศ. 2019 มีโอกาสได้ไปเป็นดีเจให้กับเทศการดนตรีทดลองอย่าง Nusasonic ที่สิงคโปร์ ทำให้รู้ว่าแถบบ้านเราก็มีซีนดนตรีทดลองเจ๋งๆ อยู่เหมือนกัน ศิลปินจากเมืองเล็กๆ ในเวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ พอได้เห็นความสามารถของพี่ๆ เพื่อนๆ ศิลปิน จากรอบๆ บ้านเรา ก็ทำให้รู้เลยว่านี่คือความหวังใหม่ และยังมีเสียงอีกมากมายที่รอให้โลกมาค้นพบ ได้มารู้จักวงเจ๋งๆ อย่าง ‘Gabber Modus Operandi’ ที่ล่าสุดได้โปรดิวซ์ให้ศิลปินระดับโลกอย่าง ‘Björk’ และ collective อย่าง ‘Horizon99’ ที่พยายามจะเอาทฤษฎีการเมืองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดนตรีคลับ หรือแม้แต่พี่ศิลปินคนไทยอย่าง ‘Pisitakun’ ที่เอาเพลงหมอลำมาทำให้เป็นดนตรีทดลอง และศิลปินเจ๋งๆ อีกหลายๆ ท่าน

เราใช้คำว่า ‘Catastrophe’ หรือ หายนะ/ความวิบัติ/จุดจบ กับเพลย์ลิสต์อันนี้ เพราะเราเชื่อว่า essence ของดนตรีทดลองคือการเล่นกับการรื้อสร้าง element บางอย่างที่เกิดจากความผิดพลาด ซึ่งคนอื่นอาจจะมองมันเป็นหายนะหรือไม่เห็นค่าสิ่งเหล่านี้ แต่ในฐานะศิลปินทดลอง เราเห็นความงดงามของการถูกทำลายล้าง รื้อสร้าง และประกอบเข้าใหม่ เราต้องเอาสิ่งพวกนี้มาสร้างมูลค่า โดยดนตรีทดลองหรือแม้แต่ดนตรีป๊อปที่เราเลือกเข้ามาในเพลย์ลิสต์นี้ ล้วนแต่ประกอบสร้างจาก element ของเครื่องดนตรีพื้นบ้าน หรือวิธีการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในเอเชียอาคเนย์ทั้งสิ้น ซึ่งมักจะไม่ถูกได้ยินในโลกตะวันตก ทั้งในเชิงศิลปะ ดนตรี แฟชั่น หรือวัฒนธรรม มารื้อสร้างประกอบเข้ากับบริบทของสังคมการเมือง (socio-political) ในปัจจุบัน จนเป็นงานดนตรีแบบที่หลายๆ ท่านอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน

เราขออุทิศเพลย์ลิสต์นี้ให้กับศิลปินเอเชียนทุกๆ ท่านที่เติบโตขึ้นมาด้วยกันกับเรา ศิลปินที่ทำให้เชื่อว่ายังมีที่ยืนให้กับคนเอเชียนอย่างเราได้ทำงานบนโลกใบนี้

คำว่า ‘Mega Catastrophe’ อ้างอิงจาก ‘Slavoj Žižek’ นักปรัชญา และนักวิจัยสายมาร์กซิสชาวสโลวีเนีย ซึ่งเคยพูดไว้ว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดในโลกทุกวันนี้คือแหล่งพลังงานอย่างถ่านหินและน้ำมัน หากขาดพวกมันไป ลองจินตนาการดูแล้วกันว่าต้องมีหายนะที่ยิ่งใหญ่สักแค่ไหนเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เพราะทั้ง 2 สิ่งนี้เกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ที่ตายไปแล้วทั้งสิ้น และเรามักจะชอบโทษหายนะที่เกิดขึ้นบนโลกว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ทั้งๆ ที่บางทีหายนะก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางธรรมชาติอยู่แล้ว”

https://www.youtube.com/watch?v=3jjRq-CW1d

ช่วงนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากอะไรบ้าง คิดว่า dark side เป็นแรงผลักดันให้เราไหม

“การปฎิวัติทางชนชั้นกับไอเดียการเมืองเรื่อง ‘Fully Automated Luxury Communism’ หรือสังคมคอมมิวนิสต์ในยุคที่จักรกลมาทำงานแทนมนุษย์ และมนุษย์เข้าสู่โลกหลังการทำงาน (Post-Work Society) ช่วงนี้เรายังกลับมาสนใจในความดาร์กแบบเอเชียนด้วย ไอเดียเรื่อง ‘Animism’ หรือ ‘Shamanism’ หรือพูดง่ายๆ ก็คือการมูฯ แบบไทยๆ ที่เราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เราสนใจในเรื่องจิตวิญญาณในฝั่ง South East Asian มากๆ ซึ่งในโลกฝั่งตะวันตกที่คนกำลังใฝ่หาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การหลอมรวมกับจิตวิญญาณจักรกล อาจจะไม่ได้ให้ค่าสิ่งเหล่านี้ขนาดนั้น ในขณะที่สังคมแถบบ้านเรายังถูกแช่แข็งไม่ให้เจริญทัดเทียมกับซีกโลกฝั่งนั้นในหลายๆ มิติ เพื่อจะต้องถูกทำให้เป็นประเทศฐานการผลิต (production base) ให้กับประเทศที่เจริญแล้ว มันเลยเหมือนเราพยายามหันกลับมาตั้งคำถาม และโอบรับกับไอความไม่ศิวิไลซ์ ความ primitive เหล่านี้ในแถบบ้านเรา ซึ่งก็มีศิลปินหลายๆ ท่านที่พยายามหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็น subject ในงานอย่าง กรกฤต อรุณานนท์ชัย, พี่เจ้ย อภิชาติพงศ์, หรือกระทั่งวงดนตรีฮาร์ดคอร์อย่าง Gabber Modus Operandi”

“เราอาจจะมองเรื่อง dark side ผ่านมุมมองแบบ ’Commodity Fetishism’ แบบที่สังคมทุนนิยมพยายามจะสร้างความมันวับ แวววาว เรื่องราวอะไรบางอย่างที่น่าจับต้องให้กับสินค้า เพื่อให้เราลืมถึงที่มาของสิ่งของเหล่านั้น เช่น การทรมานสัตว์ การสร้างมลพิษ การกดขี่แรงงาน ฯลฯ สำหรับนุพีทก็เป็นแค่ภาพที่สร้างขึ้นให้กับสินค้าของเรา ทำให้คนเชื่อว่าเราดาร์กหรือน่ากลัว ทั้งที่จริงมันอาจจะเป็นแค่ด้านเล็กๆ ที่เราเลือกจะแสดงให้เขาเห็น คนมักจะกลัวเรา แต่อยากให้รู้ว่าบางทีความดาร์กที่ คุณเห็นมันอาจจะเป็นเพียงเกราะป้องกันความเปราะบางอะไรบางอย่างในตัวเราก็เป็นได้ เราอยากให้ คนเลิกยึดติดกับภาพจำของกันและกัน แล้วหันมาสนใจอะไรบางอย่างที่ลึกกว่านั้น นั่นคือ ‘อุดมการณ์’ “

เรื่องราวของ ‘NúÚ P3A☭3’

“NúÚ P3A☭3 เริ่มต้นจากความรู้สึกไม่ fit in กับสังคม จากความเจ็บปวดของการเป็นคนชายขอบ ของเด็กบ้านนอกที่ไม่เคยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับเมืองหลวง ของเด็กเอเชียนที่โตในสังคมคนขาว ของคนที่ไม่เคยเข้าใจความเป็นชายในสังคม และวันหนึ่งที่เราค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘ดนตรี’ วันนั้นได้เปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดกาล ดนตรีทำให้เราบินได้และร้องไห้เป็น ในประเทศที่ไม่อนุญาติให้เราเป็นตัวเองได้แบบ 100% จนมีโอกาสได้ไปเป็นดีเจงานแรกของ Sathon Chainsaw ตอนปี ค.ศ. 2018 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราได้ปล่อยคอนเซ็ปชวลปาร์ตี้เป็นซีรีส์ออกมาในชื่อ ‘Cyber Baptism’ ซึ่งตอนนั้นกำลังสนใจและทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเพศและศาสนาอยู่ด้วย มันน่าจะทำให้คนรู้จักเราในซีนมากขึ้นจากตอนนั้นเป็นต้นมา เรามองว่าเสียงเป็นเครื่องมือในการกระจายอุดมการณ์ (ideology) หรือปาร์ตี้สามารถแฝงวาระซ่อนเร้นทางการเมือง (hidden agenda) ออกไปในวงกว้างได้ ในขณะที่คนกำลังเต้นรำหรือเคลิบเคลิ้ม นุพีทอยากปลูกฝังอุดมการณ์เข้าไปแบบเนียนๆ ผ่านเสียง ภาพ และ performance”

คิดว่าสังคมไทยมี Taboo อะไรที่ควรเปลี่ยนแปลงบ้าง

“การเป็น LGBTQ+ ที่เราเคยเจอเต็มไปด้วยการ manipulate อาจจะด้วยเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ หรืออะไรก็ตามแต่ มันไม่ได้ตอบรับอุดมการณ์ที่แท้จริงของเรา ต้องอย่าลืมว่าสังคม LGBTQ+ แบบไทยมันอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่ถูกระบอบอำนาจนิยมครอบไว้อีกที มันอาจจะ เป็นคำตอบก็ได้ว่าทำไมสังคม LGBTQ+ ในไทยยังมีการบูลลี่กันรุนแรง เราถูกเพื่อนที่เป็น LGBTQ+

หรือศิลปิน LGBTQ+ ด้วยกันหักหลัง จนแทบจะหมดศรัทธาในคอมมูฯ เพราะสุดท้ายอุดมการณ์มันก็กินไม่ได้ ตราบใดที่เรายังอยู่ในโลกทุนนิยมนี้ และผลประโยชน์คือคำตอบของทุกอย่าง เราต่างก็ต้องดิ้นรนในแบบของตัวเอง ยิ่งสังคมทำเป็นโอบรับ LGBTQ+ การแข่งขันในคอมมูนิตี้ยิ่งสูงขึ้น ภาพความหลากหลายถูกผลิตซ้ำผ่านการขายสินค้าต่างๆ การเมืองอัตลักษณ์ก็ไม่มีวันหายไปไหน เราว่าบางครั้งยิ่งสังคมสร้างอำนาจนิยมมาเป็นสิ่งครอบ LGBTQ+ ก็ยิ่งบ้งนะ มันยิ่งทำให้สังคม LGBTQ+ ยิ่งแบ่งลำดับชั้นกันเข้าไปใหญ่ เช่น รุ่นน้องกะเทยต้องเคารพรุ่นพี่กะเทย LGBTQ+ ที่ดังน้อยกว่าต้องคอยเดินตาม LGBTQ+ ที่มีเสียงดังกว่า ที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม อะไรทำนองนี้ สังคมเราเหมือนเป็นโรงงานผลิตซ้ำ LGBTQ+ ที่มีลักษณะคล้ายๆ กันออกมาเรื่อยๆ LGBTQ+ ที่คิดต่างหรือไม่ได้เป็นไปตาม norm ก็จะถูกบุลลี่ เราอยากให้ LGBTQ+ อันตรายและเป็นที่ถกเถียงมากกว่านี้ในสังคม หยุด romanticize คอมมูฯ ว่าต้องมีความสามัคคี ต้องรักกัน เพราะในชีวิตจริง พอมีผลประโยชน์ ทุกคนก็พร้อมแก่งแย่งชิงดี ดันตัวเองให้เหนือกว่าคนอื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม เราว่าความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ในยุคนี้ เราไม่รู้เลยว่าคนๆ หนึ่งต้องผ่านอะไรมาบ้าง กว่าจะได้สถานะบางอย่างในสังคมมา และ LGBTQ+ ไม่ใช่ผู้วิเศษหรือคนดีอะไร ก็แค่คนที่ต้องอยู่รอดในระบบทุนนิยม รัก โลภ โกรธ หลง เจ็บ และร้องไห้ได้ หยุดทำให้พวกเรามีสถานะพิเศษเถอะ มันเหนื่อย”

ฝากผลงานให้คนติดตาม

“สามารถพบเจอเราได้ในปาร์ตี้เควียร์ต่างๆ ในกรุงเทพ South East Asia แฟชั่นโชว์ Techno Venue งานเปิดเทศกาลศิลปะ หรือเทศกาลดนตรีต่างๆ เจอแล้วก็เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนอุดมการณ์กับเราได้นะ อย่าเพิ่งกลัวกันเลย”

Instagram: nuhpeace

Facebook: Nuh Peace

YouTube: Nuh Peace

Soundcloud: NúÚ P3AcE

และตอนนี้กำลังพัฒนา collective ที่สร้างขึ้นบนเทคโนโลยี Daos และ WEB3 ที่ชื่อว่า ‘Bangkok Radi0 Fut3r’ ฝากติดตามด้วยนะครับ

Facebook: Bangkok Radi0 Fut3r

ถ้าให้ตั้งชื่อเพลย์ลิสต์นี้ จะให้ชื่อว่าอะไร

“M3GA Catastr0ph3 (Unmut3d) Curated by NúÚ P3A☭3”

https://open.spotify.com/playlist/03Im5uKCw6Ex91MxpSdvx6?si=de760c3b865f4bab