‘Tangerine’ เป็นหนังคอมเมดี้เกี่ยวกับโสเภณีข้ามเพศที่ตามหากิ๊กของแฟนตัวเองในวันคริสต์มาสอีฟ หนังความยาวชั่วโมงกว่าๆ ถ่ายด้วยกล้อง iPhone 5s สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับใครหลายคนในช่วงปี 2015 ที่ผ่านมา กำกับโดย ‘ฌอน เบกเกอร์’ (Sean Baker) เขียนบทโดยเบกเกอร์ และ ‘คริส แบร์กอช’ (Chris Bergoch) นำแสดงโดย ‘คิทาน่า คิคี่ โรดริเกซ’ (Kitana Kiki Rodriguez) ‘ไมอา เทย์เลอร์’ (Mya Taylor) และ ‘เจมส์ แรนซัน’ (James Ransone) ในภาพยนตร์หวานอมขมกลืนที่ฉาบด้วยแสงสีส้มเรื่องนี้ เต็มไปด้วยความโกลาหลที่มีฉากหลังเป็นคริสต์มาสอีฟและช่วงวันหยุดยาว แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้ Tangerine โดดเด่น สิ่งสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ทรงพลังและน่าทึ่งคือตัวละครหลักสองตัว ซึ่งเป็นสาวข้ามเพศทั้งสอง รับบทโดยสาวข้ามเพศซึ่งเป็นนักแสดงที่มีพรสวรรค์อย่างเหลือเชื่อ และการที่นักแสดงมีส่วนร่วมในการสร้างเรื่องราวและบทพูด ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความลื่นไหล ให้รู้สึกว่าตัวละครสาวข้ามเพศก็เหมือนคนธรรมดา มีรอยยิ้ม มีน้ำตา มีมุมแรง และมีมุมอ่อนโยน ไม่ได้เอามาทำให้เป็นตัวตลกเหมือนกับที่หลายๆ เรื่องชอบทำกัน
นางเอกของเรื่องคือ ‘ซินดี้’ (แสดงโดย Kitana Kiki Rodriguez) ผู้ได้นัดเจอกับเพื่อนสนิท ‘อเล็กซานดรา’ (แสดงโดย Mya Taylor) หลังออกจากคุก เพื่อเล่าเรื่องราวแฟนหนุ่มที่แอบนอกใจขณะที่เธอไม่อยู่ หลังจากนั้นก็ได้เกิดการตามล่ามือที่สาม Tangerine เปิดฉากมาด้วยบทสนทนาใกล้หน้าต่างภายในร้านกาแฟ ที่กินเวลาหลายนาที ดำเนินไปด้วยความกระตือรือร้นและอารมณ์ขัน เหมือนได้ดูเพื่อนสนิทสองคนนั่งคุยกัน เป็น magic moment ตั้งแต่นาทีแรก
ฉากหลังของเรื่องราวนั้นเกิดขึ้นที่ลอสแอนเจลิส โดยหนังได้หยิบเอาเรื่องราวดำมืดของเมืองขึ้นมาเป็นเส้นเรื่องหลัก ทั้งความเน่าเฟะ มาเฟีย ยาเสพติด โสเภณี และหลากหลายเรื่องราวที่เราไม่อยากรับรู้ แน่นอนว่าบทไม่ได้ส่งให้พวกเธอทั้งสองคนเป็นคนน่านับถือหรือเต็มไปด้วยเกียรติยศศักดิ์ศรีใดๆ แต่พวกเธอรู้วิธีการเอาตัวรอดในสลัมและโลกที่โหดร้าย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้ว่าจะจนตรอกขนาดไหนก็ตาม จนบางครั้งก็นักเขียนก็ตั้งคำถามขึ้นมาในหัวว่า “ทำไมสาวข้ามเพศผิวดำสองคนนี้ต้องประสบพบเจอกับความรุนแรงมากมายเพื่อพิสูจน์ว่าพวกหล่อนมีตัวตน?” แต่สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจก็คือ ทั้งสองคนไม่โทษโชคชะตาสำหรับชีวิตหรือการดำรงอยู่เลย เพียงแต่ใช้ชีวิตให้ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้
ความดิบของสถานการณ์ในเรื่องนี้ถูกเสริมเข้าไปจากการถ่ายทำด้วย iPhone 5s ด้วยมุมกล้องที่ดูงุ่มง่าม ซึ่งบางครั้งก็ซับซ้อนและประณีต ทำให้ความสตรีทของภาพยนตร์ยิ่งเด่นชัดขึ้น ประกอบกับความขาดๆ เกินๆ ของบทที่ในบางครั้งก็ด้นสดจนล้นไป หรือการเล่าเรื่องที่ดูฉับไวจนสังเกตได้ว่า กว่าจะได้แต่ละบรรทัดต้องผ่านการแก้อย่างนับไม่ถ้วน จนได้ประโยคที่กระชับและรัดกุมขนาดนั้น พร้อมกับการเดินเรื่องที่รวดเร็วทันใจผู้ชมสายใจร้อน ทำให้เรื่องนี้ยังคงความเอนเตอร์เทนเอาไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าหากนำเสนอเรื่องราวให้ดูสมจริงเหมือนที่คนดำข้ามเพศเจอในแอลเอจริงๆ ก็คงจะชวนเครียดเสียจนหลุดความเป็นภาพยนตร์คอมเมดี้ไป
Tangerine คือโลกใบหนึ่งที่มีคำจำกัดความของคำว่า ‘ปกติ’ หรือ ‘ยอมรับได้’ แตกต่างจากที่หนังอินดี้ทั่วไปในฮอลลีวูดหรือแม้แต่กระแสหลักเสนอ ทำให้ Tangerine เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ทำให้เรากดปิดหน้าจอกลางทาง เรื่องราวของมิตรภาพที่มากกว่าการล้างแค้น แม้ว่าตัวละครจะแหวกแนว และทะลึ่งตึงตัง เบื้องหลังขนตาและลิปกลอสหนาเตอะ คำสแลงที่ต้องเสิร์ชหาความหมาย และเนื้อหาที่มีความเฉพาะเจาะจงของ sub-culture ทำให้เรื่องนี้มีความเป็นสากลพอที่จะให้คนจากทุกมุมโลกดูแล้วเข้าใจ เหนือสิ่งอื่นใด Tangerine พิสูจน์ให้เห็นว่าการเขียนบทกับวิสัยทัศน์ที่แข็งแกร่งนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และการขาดแคลนอุปกรณ์ไม่ใช่อุปสรรคต่อความฝันของวงการภาพยนตร์ แม้จะต้องใช้เวลามากหน่อย มันก็จะประสบความสำเร็จเหมือนกับภาพยนต์ Tangerine แน่นอน