Art

ย้าย, ขยับ, จับ, เคลื่อน ‘HEAVY, A PHOTO EXHIBITION BY NAWAPOL THAMRONGRATTANARIT’ แกลเลอรี่ที่ช่วยย้ำเตือนให้ภาพถ่ายมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง

ภาพนิ่ง…แต่เหตุการณ์เคลื่อนไหว

น้ำหนักที่รู้สึกขณะย้ายและยกเฟรมภาพขึ้นมา

แสงและเงาจากภาพที่ตกระทบผ่านม่านตา

ชวนให้ค้นหาและขุดคุ้ยความทรงจำที่สามารถจับต้องได้!

นี่อาจจะเป็น Photo Exhibition งานแรก และงานเดียวที่ทำให้รู้สึกแบบนั้น และทำได้จริง ณ เวลานี้ จากไอเดียผ่านประสบการณ์ส่วนตัว จากการยกภาพถ่ายขนาด 2 เมตรด้วยตนเอง เพื่อเคลื่อนย้าย 'ความทรงจำ' ที่มีชื่อเรียกว่า 'ภาพถ่าย'  โดยอยากจะถ่ายทอด และนำเสนอในรูปแบบของงาน Gallery Art ที่มีชื่อว่า ‘HEAVY’ ภาพถ่ายมีน้ำหนัก ทั้งน้ำหนักของความรู้สึกนึกคิด, ความทรงจำที่มีร่วมกันระหว่างภาพและคนดู, น้ำหนักของประสบการณ์ในการทำงานที่สั่งสมมานานกว่า 12 ปี จนได้คลังแสงภาพถ่ายจำนวน 120 รูป จากภาพถ่ายกว่า 50,000 กว่ารูป คลังภาพส่วนตัว ‘เต๋อ’ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ที่กลายเป็นคลังภาพส่วนรวมให้ทุกคนได้รับชมได้ อีกทั้งยังเนรมิตห้องโถงขนาดย่อมๆ ที่เปรียบได้กับ ไซส์ก่อสร้างที่อยากชวนทุกคนมาขุดคุ้ยความทรงจำร่วมกัน

เมื่อไม่มีไอเดียจะปริ๊นต์รูปอะไร...เลยตัดสินใจปริ๊นต์รูปตัวเอง

ไม่มีอะไรมากครับ ผมทำบ้านใหม่ มันมีที่เพิ่ม เราอยากได้ของใหญ่ๆ สักอัน อยากได้ภาพใหญ่ๆ มาอยู่ในห้องขนาดสัก 2 เมตร เลยคิดในใจว่า เอารูปไหนดี? เลยคิดถึงรูปตัวเองที่เคยถ่าย และนำมาปริ๊นต์เป็นภาพขนาดใหญ่ ด้วยตัวไฟล์ภาพที่สามารถทำได้

ตอนที่รูปมาส่งที่บ้านเป็นซีนที่ประหลาดมาก เพราะรูปถูกใส่รถกะบะมาส่ง เห็นแล้วอื้ม...ไม่เคยเห็นงานตัวเองแบบนี้มาก่อน ปกติจะเห็นแต่ในโรงภาพยนตร์ คนที่มาส่งก็ดันไม่ยกภาพเข้าบ้านให้เรา สรุปเราต้องยกรูปขนาด 2 เมตรเข้าบ้านเองจริงๆ ฟีลเหมือนยกญาญ่าเข้าบ้าน เพราะเป็นรูปญาญ่ากำลังนั่งอยู่ เราไม่เคยรู้สึกได้จับงานตัวเองแบบนี้มาก่อน เพราะปกติทำหนังก็จบในโรง เหมือนไม่มีอะไรเหลือให้จับต้องได้ เต็มที่ก็มีแค่พร็อพประกอบฉาก โปสเตอร์ แต่นี่เป็นงานไม่กี่ชิ้นของเราที่รู้สึกว่าไซส์ใหญ่ขนาดนี้ เรารู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีเหมือนกัน เพราะตัวเราก็ไม่เคยจับรูปถ่ายขนาดใหญ่แบบนี้มาก่อน

Photo Exhibition ที่ Touch ได้

สมมุติว่าเราไปดูงานที่ Photo Exhibition มันก็จะห้ามแตะ Don't Touch นะครับ ความสัมพันธ์ของเรากับรูปจึงเป็นแบบเดียวคือ ยืนดูเฉยๆ เข้าใกล้ก็ไม่ได้ แตะก็ไม่ได้ มันเลยรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกดี ก็รู้สึกชอบใจ ถูกใจและจบไปสำหรับวันนั้น จนวันหนึ่งพี่ ‘ลูกตาล’ – ศุภมาศ พะหุโล ผู้ก่อตั้งและภัณฑารักษ์ของ Bangkok CityCity Gallery เขาไปบ้านเรา และไปเห็นรูปไซส์ 2 เมตรของเรา เขาก็อุทานขึ้นมาว่า “เฮ้ย...ใหญ่ สวย แสดงไหม?” ซึ่งปกติไม่เคยมีใครชวนแสดงงาน Photo มาก่อนในชีวิต ตลอด 10 ปี ต่อให้เราทำงานหนัง เราถ่ายรูปเก็บไว้ตลอด เป็นคนชอบถ่ายครับ ทั้งอยู่ในกอง หรือในชีวิตประจำวันเราก็ถ่ายตลอด ถ่าย Behind บ้าง หรือถ่ายเสริมเข้าไป เรารู้สึกว่า เรามีของเยอะมาก เราเลยโอเคตกลงทำ

เพราะ 'HEAVY' คือแกลลอรี่ที่มีน้ำหนักและ Movement

สิ่งที่อยากทำนอกจากตัวรูปเหล่านี้ เราอยากให้งานนี้มีเซนส์ของน้ำหนัก มีเซนส์ของการยก การเคลื่อน เหมือนที่เราได้รับตอนที่รูปมาส่งแล้วเขาไม่ยอมยกเข้าบ้านให้เรา เพราะมันเป็นเซนส์ที่พิเศษประมาณหนึ่ง พอมันมีน้ำหนัก มีความหมายมากขึ้น จึงอยากโชว์รูปพร้อมทำพื้นที่ตรงนี้ให้มันทำอะไรได้เกี่ยวกับน้ำหนัก จึงค่อยๆ Develop เรื่อยๆ มาเป็นตัวนี้ ก็จะกลายเป็นรูป 17 รูปที่ติดอยู่บนกำแพง และเป็นกอง Stack รูปอีก 120 รูป ที่เรียงไปตรงกลางห้อง แล้วคนสามารถยกและย้ายได้ สำหรับเรามันคือ ความทรงจำในรูปแบบ Photo เราเลยรู้สึกว่า คนน่าจะ Move ไปมาได้นะ แล้วลุ้นว่าเปิดมาจะเจอรูปไหน มันคงแปลกดี

จากกว่า 50,000 ภาพถ่าย ต้องคัดให้ได้ 120 ภาพ

จำนวนรูปตามความจุของห้องจัดแสดงเลยครับ วิธีการเลือกคือ รูปที่เราอยากนำมาจัดแสดงนานแล้วแต่ยังไม่เคยได้แสดง ซึ่งครึ่งหนึ่งอาจะเป็นรูปจากหนังที่เราถ่ายเล่นในกอง หรือถ่ายเสริมเข้าไป อีกครึ่งหนึ่งก็เป็นรูปส่วนตัวต่างๆ ทั้งการเดินทางท่องเที่ยว หรือในชีวิตประจำวัน ซึ่ง 120 รูป ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมดของผมจริงๆ ด้วยพื้นที่เลยต้องจำกัดจำนวน เราจึงคัดเลือกเท่าที่เราจะคัดเลือกได้ หลักเกณฑ์ค่อนข้างตรงไปตรงมา รูปนี้อยากแสดงไหม สำคัญกับเราหรือเปล่า ก็เลือกมาประมาณนี้ครับ

ความสัมพันธ์ระหว่าง ’งานที่ทำมา 10 ปี’ กับ ’ชีวิตจริง‘

เอาจริงๆ แล้ว งานที่เราทำมันสัมพันธ์กับชีวิตนะ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หนัง หรือสคริปต์ที่เราทำของเรื่อง แต่ละอันเราเขียนเองทั้งหมด มันเลยเหมือนออกมาจากตัวเรา รูปที่เห็นทั้งหมดก็ออกมาจากหนังอีกที ก็เท่ากับว่า มันออกมาจากตัวเราได้อีกทอดหนึ่งแล้วกัน ซึ่งทั้ง 2 สิ่งมันมาจากที่เราคิด และครีเอทขึ้นมา

สมมุติยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น มีอยู่วีคหนึ่ง เป็นการแสดงภาพของนักแสดงต่างๆ ที่ผมเคยร่วมงานกับเขา คนที่มาอาจจะคิดว่า Exhibition งานรวมภาพดารา แต่จริงๆ แล้วสำหรับเรามันมากกว่านั้น มันคือเพื่อน คือคนที่ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ กับอีกแง่หนึ่ง เราก็รู้สึกว่า นี่คือภาพของตัวละครที่เราครีเอทมันขึ้นมา เพราะทุกบทที่เราทำ มันคือบทที่เราเขียนเองทั้งหมด เราไม่ได้ทำหนังจากบทที่เขียนโดยคนอื่น สมมุติเราเห็น 'เมธาวี' หรือ 'เต้ย จรินทร์พร' อยู่ในงาน มันก็รู้สึกว่าเต้ยคือเพื่อนเรา และเป็นทั้งเมธาวีที่ถูกสร้างมาจากเพื่อนเราจริงๆ ผสมกันจนออกมาเป็นตัวละครนี้ เพราะฉะนั้น จึงมีความผูกพันมากกว่างานกับหนัง ที่แยกขาดจากชีวิต บางคนถ้าเขาทำหนังจากบทคนอื่น หนังที่เขาทำอาจไม่เหมือนชีวิตจริงก็ได้

หนังที่เราทำมันดันแมทช์กับชีวิตจริงที่เราเคยเจอมา เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าอะไรจะเป็นจุดเชื่อมโยงกัน ทุกอย่างมันมาจากชีวิต และประสบการณ์ที่เราเจอมาตลอด 10 ปี

น้ำหนัก ขนาด จำนวน มวลพลังงาน และสสารของความทรงจำ

HEAVY คือน้ำหนัก คือการที่ทำให้ภาพดิจิทัลที่เราเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ ซึ่งจริงๆ แล้วเวลาเปิดดูเราจะเห็นเป็นภาพเล็กๆ แต่จริงๆ แล้วตัวมันใหญ่กว่านั้น ลองให้มันกางตัวเองออกมาเต็มที่ เราก็จะพบว่า จำนวนมันเยอะ ถ้าเราดูและเอาทุกรูปที่ในฮาร์ดดิสก์ปริ๊นต์ออกมาทั้งหมดแบบนี้ มันเยอะเหมือนกันนะ สำหรับสิ่งที่เราเก็บไว้ในชีวิตที่ผ่านมา มันจึงเป็นเรื่อง HEAVY ในแง่จำนวน ซึ่งรูปดิจิทัลของทุกคนคงเยอะมาก และเป็นเรื่องความแมทช์ในการหารูปมาแสดง ด้วยความที่เราไม่ได้ถ่ายรูปใหม่เพื่องานนี้ รูปที่เราใช้คือ ต้องไปขุดจากฮาร์ดดิสก์เก่าทั้งหมด แล้วมันเยอะมากๆ เยอะจนรู้สึกว่าเหนื่อย มันเยอะเหลือเกิน ไม่หมดสักที เราก็ต้องเลือก 120 รูปสำคัญนะที่จะมาแสดง และใช้สมองประมวลว่า อันนี้ได้หรืออันนี้ไม่ได้ อันนี้เป็นตัวเราหรือไม่เป็นตัวเรา เราเลยเริ่มเห็นโลกของความทรงจำต่างๆ แต่ก่อนเราอาจจะมองว่าเป็นของมีค่า แต่เวลาแก่จะรู้สึกว่ามันเป็นภาระประมาณหนึ่ง (หัวเราะ) ที่จะต้องเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ เหมือนต้องใช้อีโก้เลือกว่า ภาพไหนที่เป็นตัวเรามากๆ ที่สุด ถ้ามีพันภาพคงไม่รู้สึกแบบนี้ แต่พอมันเยอะก็ไม่เสร็จสักที และเริ่มรู้สึกว่าเราทำเพื่อตัวตนของเราขนาดนี้เลยเหรอ มันเลยค่อนข้าง HEAVY กับเรา มันดูเป็นงานที่หนักหนาประมาณหนึ่ง

คำว่า HEAVY มี Meaning ที่เยอะมากสำหรับงานนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับเราว่าได้เห็นในแง่ไหนบ้าง ซึ่งก็แล้วแต่ผู้ชม เพราะไม่จำเป็นต้องเห็นครบขนาดนั้นก็ได้ แล้วแต่ประสบการณ์ของคน บางทีเขาอาจจะอยากเห็นสิ่งนี้แล้วเขาคิดถึงฮาร์ดดิสก์ของตัวเอง หรือบางทีเขาอาจจะเห็นว่า ปริ๊นต์มาใหญ่ขนาดนี้ช่างเป็นความไม่จำเป็นซะเหลือเกิน ก็ได้ มันรกรุงรังจัง ดูแล้วเหนื่อยไปหมด ก็อย่างนั้นแหละ มันก็จะเป็นฟิวนั้นได้เหมือนกัน

เมื่อคนทำหนังผันตัวมาจัดนิทรรศการภาพถ่าย

จริงๆ ยากทุกครั้งที่ต้อง Move ตัวเองเพื่อทำงานที่เกิดจากสเปซจริงๆ เพราะปกติเราทำแต่ในหนัง เราอยากให้คนดูรู้สึกอะไรแบบไหน เราก็ตัดต่อแบบนั้นแบบนี้ หรือใส่เพลงเพื่อให้เห็นภาพนั้นภาพนี้่ก่อน แต่พอเป็นสเปซจริงคุมคนไม่ได้เลย เวลาคนเข้าไป เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปทางไหนก่อน คนจะยกหรือไม่ยก แล้วถ้าไม่ยกเขาจะได้รับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารไหม หรือสามารถสื่อสารให้เขาโดยที่เขาไม่ยกได้ไหม มันเลยเป็นวิธีคิดที่คาดเดาได้ยากว่าและควบคุมได้น้อยกว่า เพราะสำหรับผม ในฐานะคนที่ทำงานเล่าเรื่องคนหนึ่ง เรารู้สึกว่าเป็นความสนุกและเป็นสิ่งที่ท้าทาย ผมได้ทำและได้ศึกษางานสายนี้ไปด้วย และได้รู้จักตัวเองมากขึ้นว่า ทำไมเราต้องทำแบบนี้ และทำไมเราไม่ทำแบบนั้นกับสเปซนี้

ชัตเตอร์ลั่นเมื่อฉันถูกใจ

ค่อนข้างนามธรรมครับ เพราะแค่รู้สึกถูกต้องหรือถูกใจ คือ ไม่ได้คิดว่ารูปนี้ต้องได้ยอดไลก์ เพราะเวลาเราถ่ายอะไรแบบนี้ เราแค่รู้สึกว่า ถ่ายแล้วเก็บไว้เป็นคอลเลคชั่นส่วนตัว จริงๆ ก็คงดูที่ชอบแค่นั้นเอง โดยไม่ได้คำนึงด้วยว่า แบบนี้คนจะดูรู้เรื่องไหม คือ ถ้าเขารู้เรื่องก็โอเค

งานสร้างสรรค์ที่ตรงไปตรงมา แต่ต้องใช้เวลาในการคิด

จริงๆ มันค่อนข้างตรงไปตรงมาประมาณหนึ่ง เพราะว่า งานที่เราทำไม่ได้ต้องแปลงสารขนาดนั้น หมายถึงว่า ที่มันจะยากและต้องคิดเยอะหน่อย คือเรื่องความรู้สึกมากกว่า ถ้าพูดถึงตัวรูป มันมาจากส่วนนี้ของเรา หรือมาจากงานนี้ของเรา ถ้าเราอยากให้คนเข้าใจเรื่องน้ำหนัก เรื่องความหนัก ความรุงรังของการเก็บอดีตและความทรงจำ ต้องค่อยๆ คิดว่าเราจะแสดงออกแบบไหน จริงๆ ค่อนข้างตรงไปตรงมา เพราะมีจุดเริ่มอยู่แล้ว คือ การที่เรายกรูปนั้นขึ้นมา ส่วนใหญ่งานที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของกระบวนการมากกว่า เช่นงานที่แล้ว Second Hand Dialogue มันจะทำให้ที่แกลลอรี่แห่งนี้เป็นศูนย์รับและบันทึกบทสนทนาทางโทรศัพท์ คือ ให้คนมาที่นี่แล้วโทรไปหาอีกคน บทสนทนาที่โทรคุยกันจะถูกบันทึกเข้ามาในเครื่องนี้ และถอดเทปส่งขึ้นไปบนจอ ซึ่งมาจากวิธีการที่เราได้แรงบันดาลหรือได้ Dialogue ของตัวละครบางตัวจากการพูดคุยของคนข้างๆ หรือใครสักคน นี่คือสิ่งที่ผมอยากได้ซีนนี้ให้มาอยู่ในสเปซนี้ แล้วเราต้องทำอย่างไรบ้าง

เพราะฉะนั้น เราจะเอาความรู้สึกของการยกมาอยู่ในห้องนี้ได้อย่างไร ก็ต้องค่อยๆ คิดว่า คนเราเดินเข้ามาเจออะไรอย่างไร เราจะให้เขาทำอะไรหรือไม่ทำอะไร

'Personal Life' ที่ไม่ได้ฉีกแยกเบื้องหน้า และเบื้องหลังออกจากกัน

ต่อให้เป็นภาพเบื้องหน้ามันก็ตรงกับเบื้องหลัง เพราะงานที่เราทำมาจาก Personal Life หรือ Personal Experience ในบางช่วงของชีวิต เพราะฉะนั้น สำหรับผมมันค่อนข้างเป็นอันเดียวกัน ไม่ได้ฉีกแยกกันว่าอันนั้นข้างหน้า หรืออันนี้ข้างหลัง จริงๆ มันอยู่ในห้องเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่เราเรียกว่าเบื้องหน้าหรือเบื้องหลัง มันคือ Sequence การทำงานมากกว่า หมายถึง เบื้องหน้าอาจเป็นตัวแบบที่อยู่ใน Environment Officials ซึ่งเป็นงานจริงๆ เบื้องหลังคือ เดินออกมาจากตรงไหน หรืออาจเป็นการพบเจอกันนอกกองถ่าย

เมื่อ ‘ความหนัก’ ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์

จริงๆ มันค่อนข้างตรงไปตรงมาเพราะว่า มันหนัก เลยต้องยก 2 คน ซึ่งถ้าวางเป็นแนวตั้งก็จะยกคนเดียวได้ ถ้าเลือกวางแนวนอนก็ต้องยก 2 คนโดยปริยาย แต่ก็มีคำถามว่า ถ้ายกคนเดียวจะมาได้ไหม ตอนแรกเราก็คิดว่า เดี๋ยวดูแล้วกันว่าเขาจะทำอย่างไร เพราะมันเป็นสิ่งที่เราสนใจเหมือนกัน ที่เอาคนจำนวนหนึ่งมาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แล้วบางทีเขาต้องปฏิสัมพันธ์กันเองผ่านงานของเรา ซึ่งบางคนถ้าเขามาคนเดียวเขาอาจไม่ดูและเดินกลับไปเลย ก็จะเป็นผลอีกแบบหนึ่งและเกิดขึ้นแบบนั้นได้เหมือนกันไม่เป็นไร แต่พอเราจัดงานไปสัก 2-3 วัน มีแค่คนพยายามจะยกสัก 1 คน ก็จะมีคนมาช่วยโดยอัตโนมัติ เราเลยรู้สึกว่าได้เห็นความสัมพันธ์ของผู้คนผ่านสเปซนี้ครับ

ความหนักอึ้งของการรื้อฟื้นความทรงจำ

ถ้าเราทำงานชิ้นนี้ตอนวัยรุ่น เราอาจจะรู้สึกอีกแบบ มันอาจโรแมนติกก็ได้ แต่พอเราโตขึ้นและมองกลับไป อาจรู้สึกว่า ให้ทำแบบนี้อีกทีคงทำไม่ได้ เพราะเยอะเหลือเกิน (หัวเราะ) เราอาจจะเห็นความทรงจำเป็นภาระมากขึ้น อย่างที่บอกว่ามันเป็นทั้งความทรงจำและตัวตนของเราที่เรายึดถือ ถ้าเราเก็บความทรงจำก็เหมือนเก็บตัวเองไว้ด้วย เวลาทำเสร็จและมองไปรอบๆ ก็รู้สึกว่ามันเยอะเหมือนกันนะ และมันก็ลำบากในการยกไปยกมา ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่ต่างกับตอนที่ค้นหารูปมา เหมือนตอนที่เบราวซ์ในคอมพิวเตอร์เป็นความรู้สึกนั้นจริงๆ

เวลาเงามันสะท้อนให้เห็นก็คือ เหมือนตัวเราอยู่ในนั้น ตัวเขาคือเรา

หนัง Character Drive และภาพถ่ายบุคคล

หนังของผมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ 'คน' ไม่มากก็มาก (หัวเราะ) ถ้าเป็นหนังก็จะเป็น Character Drive มากๆ เน้นการเดินทางของตัวละคร จากจุด A ไปจุด B เริ่มเป็นอย่างไร ตอนจบเป็นอย่างไร เราเลยสนใจในคน ทำให้สิ่งที่เราถ่ายมาเป็นรูปคน ไม่ว่าจะ Public หรือไม่ก็ตาม ผมรู้สึกชอบถ่ายทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพราะด้านหน้าคือหน้า ด้านหลังคือการแอ็กชั่น ทั้งพฤติกรรมและวิธียืน จนออกมาในงานและแสดงให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่เราสนใจเรื่องของมนุษย์ แล้วเรารู้สึกว่า ถ้ามันเป็นภาพ portrait เวลาขยายใหญ่ขึ้นมามันคนละเรื่องกับการดูบนหน้าจอ บางรูปเกือบระยะเดียวกันกับตัวเราเพราะมีขนาดใหญ่ที่มากพอ หรือเขาอาจจะใหญ่กว่าเราด้วยซ้ำ มันเป็นอีกฟิวหนึ่งเหมือนกันนะ

ภาพที่ทำให้รู้สึก 'ลังเล'

มันจะมีรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นรูป 'อัฐิของคุณพ่อ' เราก็แบบได้หรือเปล่า? รู้สึกว่ามันไม่ได้เข้ากัน แต่พออยู่ใน Public มันจะไหลไปทางไหน แล้วเขาจะเห็นเป็นอะไร บางคนอาจดูไม่รู้เรื่องว่าคืออะไร แต่สำหรับเรามันคือรูปที่ดี จะถูกตีเป็นอะไรมันไม่สำคัญ เราแค่รู้สึกอยาก Display ท่าน ในขนาดที่ใหญ่มากๆ สำหรับผมมันคือ Portrait พ่อเราเอง ในเชิง Meaning สำหรับเราค่อนข้างดีมาก นี่อาจเป็นสิ่งสุดท้ายที่คุณพ่อเราทิ้งไว้ให้ว่า ชีวิตมันก็เท่านี้แหละ

3 ภาพ ที่ชอบที่สุดของนวพล

ภาพแรกคือ 'ภาพญาญ่า' ชอบเพราะเป็นภาพเบื้องต้น มัน Origin ของงาน ซึ่งตอนเลือกเหมือนไม่ได้คิดอะไรเลย เป็นรูปที่ชอบเป็นพิเศษและตอนนี้ก็ยังตั้งอยู่ที่บ้าน

ภาพที่ 2 คือ 'ออกแบบใน How to ทิ้ง‘ ที่มันเป็นเงาเขาอยู่ในกระจกซ้อนกับเปียโนอีกที รูปนั้นจริงๆ ตอนดูในคอมก็รู้สึกชอบมากๆ ซึ่งรูปออกแบบ How to ทิ้ง เยอะมาก เราเลยต้องกำหนดเลือกเพียง 3 รูปเท่านั้นไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นนิทรรศการออกแบบ (หัวเราะ) ซึ่งรูปนี้เป็นรูปแรกๆ ที่เลือกและรู้สึกชอบเป็นพิเศษ เพราะเวลาปริ๊นต์ใหญ่ออกมาแล้วเข้ากรอบ ทำให้รูปนี้มันดูเข้ากับ Material ที่เราใช้มากๆ เลยรู้สึกว่า เวลาปริ๊นต์ใหญ่มันดี แต่พอมารวมกับ Material อื่นๆ ที่ผสมกัน เรารู้สึกว่ามันแจ๋วดี

รูปที่ 3 รูป 'เต้ยในเมธาวี' อันนี้ไม่มีอะไรมาก เพราะเป็นนักแสดงที่เรารู้สึกว่าเติบโตไปด้วยกัน และเป็นรูปช่วงต้นๆ ของการทำงาน ของตัวเราเองที่ออกกองและมีระบบระเบียบขึ้นมาหน่อย เป็นหนังสั้นที่มีกองถ่ายจริงจัง และมีนักแสดงมีชื่อเสียง มันเลยรู้สึกผูกพันกันมานานในช่วงเวลา 12 ปีโดยประมาณ และเราเป็นคนถ่ายรูปนี้ ใครที่เคยดูเมธาวีในตัวหนังสั้น มันจะมีรูปนี้อยู่ในนั้นด้วย แต่เป็นรูปขาวดำ ออริจินัลของอันนี้เป็นรูปสี เรารู้สึกว่ามันเหมือนเป็นรูปที่เป็นกึ่งๆ จุดสตาร์ทของการทำงานเราประมาณหนึ่ง เป็นเรื่องเพื่อนด้วย เป็นเรื่องอะไรอีกหลายอย่าง ที่นำมาแสดง น่าจะดีเหมือนกัน

หัวใจสำคัญในการทำ 'HEAVY'

ได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ เพราะ Art Space มันไม่มีเหตุผลอะไร ไม่ต้องคิดว่าทำเพื่อกลุ่มไหน หรือทำให้ใครดู กลุ่มนั้นต้องรู้เรื่องนะ งานนี้ก็แค่ อยากทำอะไรในห้องนี้ก็แค่ทำมันลงไป โดยไม่ต้องกังวลอะไรมาก ทำในสิ่งที่เราต้องทำ เวลาทำงานๆ หนึ่งก็ใช้เวลาทำค่อนข้างเยอะ จริงๆ งานนี้มันเริ่มมาตั้งแต่ต้นปีแล้วที่เริ่มคุยกัน ประมาณ 7-8 เดือนก่อนหน้านี้ ซึ่งถ้าทำแล้วไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำก็ไม่รู้จะทำไปทำไม เพราะฉะนั้น งานทุกงานที่เราทำ ต้องเป็นงานที่เรารู้สึกชอบ คนอื่นชอบหรือเปล่าไม่รู้ (หัวเราะ) เพราะเราไม่รู้หรอกครับว่าคนไหนชอบหรือไม่ชอบ มันเดาไม่ถูก ที่ผ่านมาทั้งหมดในชีวิตของการทำงาน ก็ใช้วิธีคิดนี้มาตลอด

สมมุติเราทำหนังเรื่อง Mary Is Happy ถ้าเราคิดเยอะเราคงไม่ทำ อุ้ย ทำหนังจาก Twitter ใครจะดู แต่เราไม่ๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่เราต้องทำเราก็ทำ พอทำลงไป อ้าว คนเก็ท...ดีใจจัง เพราะในสิ่งที่เราอยากทำมันมีคนเข้าใจนะเว้ย

บางงานโฆษณาที่ผมทำ บางอันก็เงียบๆ ก็ไม่เป็นไร แต่รู้สึกว่าที่เราทำลงไปคือเราชอบ มันก็จะยังอยู่แบบนี้ แต่ถ้าเราทำในสิ่งที่ไม่ได้ชอบ ผลตอบรับก็ออกมาเป็นสิ่งที่ตรงกันไข้าม งานมันอาจดูไม่มีความหมายอะไรเลย มันมีเป้าประสงค์เดียว

เวลาทำงานแต่ละงาน หรือทำ Exhibition มันใช้เวลาเยอะมาก เราเลยต้องทำในสิ่งที่ชอบ เพราะผลที่ออกมาเป็นอย่างไรก็ตาม เราจะไม่รู้สึกเสียดายเวลาที่เราทำลงไป สมมุติ 10 ปีผมมองกลับไปแต่ละเรื่อง สมมุติว่าหนังเรื่องนี้มันไม่ได้ฮิตก็ไม่เป็นไร เพราะมันคือบทบันทึกของตัวเองในวัย 39 ปี มันก็เอาไว้ดูได้ เป็นไดอารี่ของเราไว้ดูเอง

'HEAVY' ในแบบที่คาดหวัง

อยากให้คนมาลองดู (หัวเราะ) แค่นั้นเอง มันไม่ใช่งานที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อพิชิตใจน้องๆ เพราะมันคือ สิ่งที่เราสนใจในเวลานี้ สิ่งที่เราอยากเห็นแบบนี้ เหมือนเป็นตัวเองแบบนี้ ถ้าจะหวังคือ อยากให้ลองมาดูกัน คิดเห็นอย่างไรก็แชร์กันได้ จริงๆ เราอยากให้งานศิลปะไม่ต้องคิดว่าไปแล้วจะรู้เรื่องไหม จะได้อะไรกลับมาบ้าง หรือได้ข้อคิดอะไรบ้าง บางทีการที่ดูแล้วไม่เข้าใจ นั่นก็ถือว่าได้อะไรกลับมาแล้วเหมือนกัน นั่นก็คือ คุณไม่ได้ชอบอันนี้ไง เพราะมันคืองานที่ผู้กำกับชี้ให้ดูว่าชีวิตมันก็เป็นแบบนี้นะ

ไม่น่าเชื่อว่าการลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ปริ๊นต์รูปใหญ่ๆ ที่ไม่รู้ว่านำไปสู่อะไร ไม่ใช่ว่าพี่เขาชวนแสดงแล้วเพิ่งไปทำ มันเป็นไปโดยธรรมชาติมากๆ

สิ่งที่ได้กลับมาคือ ’คำตอบ‘

ทุกๆ ครั้งที่เราทำงาน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เรามักจะทำจากการตั้งคำถามของตัวเอง แล้วพอเสร็จงานก็จะมีคำตอบ ถ้าเป็นหนังเวลาเราเรียนบทเอง ตัวละครมีคำถามอะไร แล้วมันอยากได้คำตอบ ก็ต้องเป็นเราที่รู้คำตอบแล้วไปตอบอีกที HEAVY พอเราทำเสร็จแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าจะได้ทำอีกหรือเปล่า เพราะเพิ่งรู้ว่ามันเหนื่อยหน่ายเหลือเกิน มันวุ่นวายคนอื่น และเราต้องนั่งหาโน่นนี่เต็มไปหมดเลย มันก็ได้เรียนรู้ไปอักสเตปหนึ่ง สำหรับช่วงวัยและความทรงจำนี้ แม้เราจะพูดถึงเรื่องหนังตลอด แต่พอผ่านไปอีกวัยหนึ่ง เราก็จะได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่ง

ของที่มีความทรงจำ ต้องทิ้ง หรือต้องเก็บ ถ้าทิ้งแล้วทำไมคนอื่นดันเก็บไว้ให้รกบ้านนะ เราจะจัดการอย่างไรดี ก็จะมีคำถามพวกนี้เกิดขึ้นระหว่างทำงาน แล้วเวลางานเสร็จ เราจะหาคำตอบได้สักอย่าง ไม่รู้ว่าเป็นคำตอบที่ดีที่สุดหรือเปล่า แต่มันจะมีคำตอบสำหรับช่วงเวลานั้น

จะกลับมาเมื่อเกิดคำถามใหม่

ขึ้นอยู่กับที่นี่จะพิจารณา (หัวเราะ) เพราะเราอยู่ในโลกของภาพยนตร์มากกว่า และไม่ได้เป็นอาร์ทติดส์ เพราะฉะนั้น การที่มีโอกาสได้รับเชิญ หรือได้ทำงานร่วมกันกับแกลอรี่ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ถามว่าจะมีอีกไหมก็ต้องถามเขา และถ้าถามว่าจะทำอะไรต่อไป ก็ต้องดูปีนั้นว่า เรามีคำถามใหม่หรือเปล่าและเราสนใจในอะไร

'HEAVY' อย่างมีแพทเทิร์น

ตอนเลือกรูปเวลามองทั้งหมดเราจะเห็นแพทเทิร์นบางอย่าง เช่น พุธนี้เป็นภาพที่ถ่ายจากด้านหลังทั้งหมด มันมีเยอะพอที่จะขึ้นทั้ง 17 รูปเพราะผมถ่ายไว้เยอะพอสมควร เพราะฉะนั้น 120 หรือ 140 กว่ารูป จะมีแพทเทิร์นที่พอจะจับกันได้ และเราก็จะสับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ถ้ามีเวลาภายใน 43 วัน ว่างๆ ก็ลองมาดูกันได้ ต่อให้เขาไม่รู้จักเรา หรือไม่ค่อยได้ดูหนังเรามาก ก็เข้ามาดูได้ มันไม่จำเป็นต้องรู้จักรูปในนั้นหรอก แค่มาดูพื้นที่ ที่มีรูป Stack กันร้อยกว่ารูป แล้วคุณสามารถยกย้ายมันได้นะ เพราะเป็นพื้นที่ๆ เราไม่ได้เจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งนี่คือสิ่งที่พิเศษกว่า Art Space มันจัดวางในสิ่งที่เราอาจจะไม่ได้เจอในชีวิตปกติ ซึ่งอาจทำให้เราเกิดคำถามบางคำถาม แค่นี้ผมก็เพียงพอแล้ว เป็นคำถามที่อาจไม่ต้องมีคำตอบก็ได้ หรือเป็นคำถามที่นำสิ่งอื่นมาสู่อนาคต

นิทรรศการ ‘HEAVY, A PHOTO EXHIBITION BY NAWAPOL THAMRONGRATTANARIT’

  • วันที่: ตั้งแต่วันนี้ - 11 พฤศจิกายน 2566
  • สถานที่: Bangkok City City Gallery
  • เวลา: 13.00 - 18.00 น. (เปิดทุกวันพุธ - เสาร์)
  • การเดินทาง: รถไฟฟ้า MRT ลงสถานีลุมพินี ทางออก 2
  • ค่าเข้าชม: ฟรี

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Bangkok City City