‘อรสา เที่ยงกระโทก’ ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแคนูไทยในเวทีโลก

“อ้อย - อรสา เที่ยงกระโทก” คือชื่อที่คนไทยเพิ่งรู้จักอย่างแพร่หลายเมื่อไม่นานไม่นี้ กับการเป็นนักกีฬาแคนูหญิงไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่มีโอกาสได้ไปร่วมแข่งขันในโอลิมปิก 2020 ถึงแม้เธอจะไม่ได้คว้าชัยกลับมา แต่เชื่อว่าคงชนะใจคนไทยทั้งประเทศไปไม่มากก็น้อยแล้ว เพราะการจะไปเป็น 1 ใน 32 คนบนเวทีโลกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย 

อย่างไรก็ตาม อ้อย อรสา ไม่ใช่นักกีฬาหน้าใหม่ และแคนูก็ไม่ใช่กีฬาใหม่สำหรับประเทศไทย ก่อนจะไปถึงโอลิมปิกได้นั้น เธอพาความสามารถที่มีไปคว้าแชมป์มาแล้วหลายสนาม รวมถึงคว้าอันดับ 1 ในรอบคัดเลือกโอลิมปิก 2020 โซนเอเชีย ระยะ 200 เมตร ด้วยเวลา “47.235 วินาที”สถิติที่ดีที่สุดของชีวิตเธอ แต่ด้วยความที่แคนูไม่ได้มีให้เล่นแบบ Touring ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เหมือนกับเรือคายัค ทั้งนักกีฬาและกีฬาจึงดูแปลกใหม่สำหรับหลายคน เราเลยถือเอาโอกาสนี้พานักอ่านของ EQ มาทำความรู้จักกับอ้อย อรสา และเรือแคนูไปพร้อมๆ กันในบทความนี้ 

จากเด็กที่โตมากับเรือ สู่นักกีฬาทีมชาติฝีมือดี

อ้อยเป็นเด็กที่โตมากับเรือ เธอเล่าให้ฟังว่าเล่นกีฬาเรือหลายประเภทมานาน 12 ปีแล้ว เริ่มแรกเล่นเรือยาว 10 ฝีพาย เมื่ออายุ 11 ปี และเปลี่ยนมาเล่นแคนูตามการชวนของลูกพี่ลูกน้องเมื่อตอน 16 ปี และด้วยโอกาสที่เหมาะสมกับฝีมือที่โดดเด่น ทำให้ในช่วงปี 2015 ที่ประเทศไทยกำลังต้องการส่งนักกีฬาแคนูหญิงเข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรกในซีเกมส์ โค้ชก็ได้สนับสนุนให้เธอเข้าคัดเลือกนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งแน่นอนว่าเธอไม่ทำให้คนข้างหลังต้องผิดหวัง สามารถเป็นตัวจริงของทีมชาติ และคว้าเหรียญเงินกลับมาได้สำเร็จ 

อีกทั้งยังทำผลงานได้ดีต่อเนื่องอีกหลายรายการ เช่น เหรียญทองแคนูหญิงเดี่ยว 200 เมตร ในงาน Asian Open Canoe Sprint cup 2016 เหรียญทองแคนูหญิงเดี่ยว 500 เมตร และ 2 เหรียญทองแดงแคนู 2 คนหญิง 200 เมตรและ 500 เมตร ในรายการ Asian U23 Canoe Sprint Championships 2018 2 เหรียญทองแดง แคนูหญิงเดี่ยว 200 และ 500 เมตร ในซีเกมส์ 2019 เป็นต้น

“คุกเข่าพาย” ความเท่ห์ที่ไม่เหมือนใคร

ถ้าใครที่เคยอ่านบทความ ‘คายัค – แคนู ประตูสู่ธรรมชาติ’ ของ EQ กันไปแล้ว คงรู้ว่าเรือแคนูเป็นเรือที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะต้องคุกเข่าข้างใดข้างหนึ่งพาย ส่วนลักษณะเรือก็ค่อนข้างเล็กและเรียว นั่งยากสุดๆ

“ชอบที่แคนูเป็นกีฬาที่ไม่ค่อยเหมือนใคร ถ้าเป็นเรือยาวเราจะสามารถนั่งพายแล้วใช้เทคนิคต่างๆ ได้เลยใช่ไหม แต่พอเป็นเรือแคนู เราต้องนั่งคุกเข่าพายอยู่ในเรือที่เรียวและเล็กมาก มันยากแต่ก็เท่ห์นะ (หัวเราะ) เพราะทักษะต้องมากขึ้นไปอีกหนึ่งสเต็ป ใช้ทั้งการทรงตัว การบาลานซ์น้ำหนักซ้าย-ขวา และการคอนโทรลเรือเลย แค่ฝึกนั่งในเรืออย่างเดียวหนูก็ใช้เวลา 2-3 เดือนแล้ว และทุกวันนี้ยังต้องปรับอะไรหลายอย่างให้เข้าที่อยู่เรื่อยๆ”

ต้องกล้าและอย่ากลัว

เรือแคนูค่อนข้างเรียวและเล็ก การตกเรือหรือเรือคว่ำเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายมาก นั่งผิดท่าหรือขยับตัวผิดจังหวะนิดหน่อยก็ตกน้ำได้แล้ว ซึ่งถ้าอยากเล่นก็ต้องกล้าที่จะตกเรือและอย่ากลัวน้ำ เพราะสนามพายเรือที่มาตรฐานส่วนใหญ่จะลึกอยู่แล้ว อาจไม่ถึงกับต้องว่ายน้ำเก่งทุกท่า แค่เอาตัวรอดได้ก็พอ 

“หนูก็ไม่ได้ว่ายสวยงามอะไร สไตล์เล่นน้ำคลองเลย แต่เราไม่กลัวน้ำ แต่เอาจริงๆ คนที่พายเรือได้แต่ว่ายน้ำไม่เป็นมีเยอะมากในไทย พวกรายการแข่งขันในประเทศก็เลยจะมีเสื้อชูชีพให้ใส่ด้วย แต่ถ้าเป็นรายการใหญ่ระดับนานาชาติก็ไม่มีชูชีพให้ แต่จะมีเรือตามหลัง มีทีมการ์ดคอยช่วยเหลือ และมีอุปกรณ์เซฟตี้อยู่รอบสนามแทน สำหรับใครที่อยากลองเล่น สามารถไปลองได้ตามสมาคมเรือตามที่ต่างๆ ได้เลยค่ะ”

โอลิมปิกแรกในชีวิต

เธอเล่าย้อนถึงโอกาสที่ได้ไปโอลิมปิกและเหตุการณ์ในวันนั้นว่าได้ตั๋วโอลิมปิก 2020 มากจากการเป็นที่ 1 ในการแข่งขันคัดเลือกโซนเอเชีย ประเภทเรือแคนูเดี่ยวหญิง ระยะ 200 เมตร ด้วยเวลา 47.235 วินาที ถือเป็นเวลาที่ดีที่สุดเลย เพราะสถิติเวลาของเธอไม่ขยับมาสักพักแล้ว แต่วันนั้นเวลาดีขึ้นเรื่อยๆ เอง จนน่าแปลกใจ ในวันที่แข่งโอลิมปิก เธอจำได้ว่าค่อนข้างตื่นเต้น รอบแรกที่แข่งไม่มีปัญหาอะไร คิดว่าการพายทำได้โอเคแล้ว แต่รอบที่ 2 พอตื่นเต้นมากๆ แล้วใบพาย 1 – 2 ใบแรกของเธอกินน้ำได้ไม่ดีในช่วงออกตัว ทำให้ออกตัวช้ากว่าคนอื่น โดนทิ้งห่างไปเกือบ 1 ลำเรือ ผลลัพธ์ก็เลยออกมาไม่ดีเท่าไหร่ แต่ยังไงเธอจะเอาบทเรียนนั้นกลับมาปรับแก้ และพยายามฝึกสมาธิให้มากกว่านี้แน่นอน

“ครั้งนี้ขอบคุณแรงเชียร์จากคนไทยทุกคนมากๆ หนูรู้สึกดีใจนะคะที่ได้ไปอยู่ตรงนั้นได้ โอลิมปิกรอบหน้าก็จะพยายามไปให้ได้อีก จะรักษาสภาพร่างกายและฝีมือของตัวเองเอาไว้ เพื่อทำผลงานให้ดีขึ้นค่ะ”

ไอดอลในใจ

การได้ไปโอลิมปิกนอกจากจะทำให้ได้ประสบการณ์ในชีวิต และนำความภาคภูมิใจกลับมาให้คนไทยแล้ว เธอยังได้ไอดอลในดวงใจกลับมา 1 คน นั่นก็คือ Nevin Harrison เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2020 แคนูเดี่ยวหญิงระยะ 200 เมตร จากสหรัฐอเมริกา ที่เธอเพิ่งรู้จักได้ไม่นาน แต่ชื่นชอบเทคนิคการพายของเขาเป็นอย่างมาก จนต้องนำเขากลับมาเป็นไอดอลสำหรับเพื่อฝึกพายให้ได้อย่างเขาเลยทีเดียว

เคล็ดลับเอาชนะความผิดหวัง

“เวลาผิดหวังจากการแข่งขันจะชอบอยู่กับตัวเองก่อน เพื่อให้ตัวเองได้ทบทวนสิ่งที่ทำผิดพลาดไป หรือสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดี และควรปรับแก้ ถ้ารู้สึกดีขึ้นมาหน่อยแล้วก็จะไปหาคนคุยด้วย หาที่ระบาย เป็นใครก็ได้ที่พร้อมจะรับฟังเรา เมื่อได้คุยแล้วมันก็จะหายไปเองค่ะ และจะพยายามนึกถึงเหรียญรางวัลในครั้งต่อไปให้มาก เพื่อให้ตัวเองมีแรงสู้ต่อไปได้”

เส้นทางหลังจากนี้

เร็วๆ นี้จะมีรายการชิงแชมป์เอเชีย ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นก็น่าจะจัดแข่งปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ตอนนี้กำลังฝึกซ้อมอยู่ สัญญาว่าจะทำให้เต็มที่เหมือนกับรอบที่คัดโอลิมปิกเข้าไปเลยค่ะ ส่วนในอนาคตก็คาดหวังเหรียญในมหกรรมโอลิมปิก 2024 และถ้ามีโอกาสก็อยากเป็นโค้ช คอยสอน คอยถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองรู้ให้กับคนอื่น เพื่อพัฒนาวงการเรือพายให้มันดีขึ้นไปอีก 

“เราอยากอยู่กับเรือไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหวแล้ว อาจจะเป็นแคนูหรือเรือยาวก็ได้ เพราะเรือมันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้วค่ะ เคยหยุดเล่นไปอาทิตย์หนึ่งแล้วมีความรู้สึกว่าอยากกลับไปพายอีก เสพติดไปแล้ว”

ฝากถึงนักสู้ในวันที่หลายอย่างยังไม่เป็นใจ

ถึงเธอจะเป็นนักกีฬาคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย แต่เธอก็ยอมรับว่ามีบางครั้งที่ท้อใจบ้างเวลาทำผลงานได้ไม่เป็นตามที่หวัง จึงอยากส่งกำลังใจให้ทุกคนที่อยู่ในช่วงท้อใจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

“ถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จก็พยายามต่อไป และอย่าเอาความสำเร็จของเราไปเปรียบเทียบกับความสำเร็จของใครก็ตาม เพราะเราอาจจะเผลอด้อยค่าความสามารถของตัวเองลงไปโดยไม่รู้ตัว อยากให้ภูมิใจในสิ่งที่เราอดทนตั้งใจทำและพยายามกับมันมา ถ้าเราตั้งใจทำมันจนถึงที่สุดแล้ว สักวันมันจะประสบความสำเร็จได้ในแบบของเราเอง”

การได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันในรายการระดับโลกอย่างโอลิมปิกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วันนี้ “อรสา เที่ยงกระโทก” ก็ทำได้ เธอนำความสามารถทั้งหมดที่มีมาเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่ให้วงการแคนูหญิงไทยได้สำเร็จ ซึ่งเราเชื่อว่าในโอลิมปิกอีก 4 ปีข้างหน้า เจ้าของชื่อนี้จะทำผลงานได้ดียิ่งขึ้นไปอีก และทำให้แคนูเป็นที่แพร่หลายในประเทศของเรามากขึ้น ไม่แน่นะว่าในอนาคตอาจมีแคนู ทัวร์ริ่งให้คนทั่วไปได้เข้าถึงกันมากขึ้นก็ได้