Art

แนวคิดสัจนิยม กับภาพเสมือนในงานจิตรกรรมไทย สู่ศิลปะร่วมสมัยบนกำแพงวัด

เวลานึกถึงภาพจิตรกรรมไทยตามวัดวาอารามต่างๆ เชื่อว่าภาพในหัวของแต่ละคนน่าจะออกมาไม่ต่างกันมากนัก จำพวกแรกจะเป็นภาพวาดแนวปรัมปรา เหนือจริง เต็มไปด้วยจินตนาการ รูปตัวพระตัวนางที่แต่งตัวเหมือนหลุดออกมาจากหนังย้อนยุค แต่งองค์ทรงเครื่องเหมือนดูโขนละคร ฉากหลังก็ดูเหมือนออกมาจากโรงโขน อีกจำพวกจะเป็นเรื่องราวของชาวบ้าน ที่ตัวละครจะมีความสมจริงมากขึ้น  เป็นต้นว่า เครื่องแต่งกาย ทรงผม หรือจะเป็นองค์ประกอบรอบข้างอย่าง ต้นไม้ บ้านคน แต่ความสมจริงแบบนี้ยังเป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากความทรงจำ และประสบการณ์ของผู้วาดว่า พวกเขาจำได้เท่าใด รู้แค่ไหนก็วาดไปแค่นั้น เกิดจำผิดจำเพี้ยน ภาพก็อาจจะมีความแปลกๆ อยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาชาวต่างชาติต่างภาษาทั้งหลาย

จุดเริ่มต้องของงานสัจนิยมในงานศิลปะไทย 

ต้องเท้าความไปในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)  เมื่อสยามเริ่มติดต่อกับชาวต่างชาติอีกครั้ง โดยเฉพาะชาวตะวันตก เกิดร้านถ่ายภาพร้านแรกในกรุงเทพฯ ‘ฟรานซิสจิตรแอนซัน’ เมื่อปี พ.ศ. 2406 โดยมีเจ้าของร้านชื่อ ‘นายจิตร’ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ‘ฟรานซิสจิตร’ ตั้งอยู่บนแพหน้าโบสถ์ซางตาครู้ส (วัดกุฎีจีน) และที่สำคัญไม่แพ้กับการเกิดของร้านค้าร้านแรกก็คือ การที่ในหลวงรัชกาลที่ 4 เป็นพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ฉายพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ ถึงแม้ผู้ถ่ายจะไม่ใช่ฟรานซิสจิตร แต่การที่พระองค์ยอมฉายพระรูปก็ถือเป็นความล้ำสมัยทางความคิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสยาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชนชั้นสูง จนทำให้ต่อมา เจ้านาย หรือขุนนางผู้ใหญ่หลายท่านจึงยอมเป็นแบบถ่ายภาพ ทำให้เราได้เห็นใบหน้าที่แท้จริงของบุคคลทางประวัติศาสตร์หลายคน ต่างจากก่อนหน้านั้นที่หลายคนเป็นใบหน้าในความทรงจำ (เช่น กรณีของภาพในหลวงรัชกาลที่ 1-3)

แล้วภาพถ่ายเกี่ยวข้องยังไงกับความสมจริงในจิตรกรรมฝาผนัง ลองคิดดูว่า การวาดภาพผ่านความทรงจำ กับการวาดภาพจากแบบ วิธีใดจะสร้างภาพได้สมจริงกว่ากัน แน่นอนว่าการวาดภาพผ่านภาพถ่าย หรือแบบจะได้ความสมจริงกว่าอยู่แล้ว แม้ว่าในรายละเอียดอาจจะยังมีความผิดเพี้ยนอยู่บ้าง แต่ก็ยังสมจริงกว่าภาพผ่านความทรงจำที่อาจมีความคลาดเคลื่อน และหล่นหายในรายละเอียดไปบ้าง 

แนวคิดสัจนิยม ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สยามได้รับอิทธิพลจากฝั่งตะวันตกที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมไทยในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานศิลปะไทย ที่ภาพรวมผลงานเริ่มความสมจริงมากขึ้น รวมไปถึงหน้าตา ท่าทาง เป็นเสมือนกับภาพถ่ายที่ถูกถ่ายเอาไว้ผ่านความทรงจำของคนวาด แต่ในส่วนผลงานศิลปะของชาวบ้านนั้นยังคงขนบการวาดแบบเดิมภายใต้แนวคิดของไตรภูมิ ศาสนา และชาดก อย่างเข้มข้น  

หนึ่งในหลักฐานสำคัญของจุดเริ่มต้นงานสัจนิยมในไทยนั้น มาจากคำอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเกี่ยวกับการที่ ‘ขรัวอินโข่ง’ ช่างเขียนคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ใช้ ‘ภาพที่ฝรั่งทำปิดฝาเรือน’ เป็นแบบในการวาดภาพของท่าน ด้วยสิ่งนี้เองที่ทำให้ขรัวอินโข่ง ผู้ไม่เคยเดินทางไปยังยุโรปสามารถถ่ายทอดภาพวาดได้อย่างสมจริงทั้งอาคารสถาปัตยกรรม ทั้งเครื่องแต่งกายของผู้คน รวมถึงสิ่งอื่นๆ ด้วย

จากงานวาดเสมือนจริง สู่งานจิตกรรมฝาผนัง

ความสมจริงดังกล่าวยังส่งผลทำให้เกิดการวาดวัด วังหรือสถานที่สำคัญจริงๆในโลกตะวันตกลงไปบนฝาผนัง ถึงขั้นที่วัดบางแห่งวาดรูปวัดตัวเองลงไปบนฝาผนังก็มี ซึ่งแม้ในระยะแรกอาจจะยังไม่สมจริงถึงขนาด 1:1 เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ในขณะนั้นภาพแนวนี้ยังเป็นอะไรที่ใหม่มากในบ้านเรา และเหล่าศิลปินก็วาดเทคนิคการครูพักลักจำเอาจากชาวตะวันตก ไม่ได้มีการสอนอย่างเป็นระบบแบบแผน ดังนั้นสเกลอาจจะมีความผิดพลาดไปบ้าง เปอร์สเปคทีฟอาจจะเบี้ยวไปบ้าง แต่ก็ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในงานจิตรกรรมไทยเลยทีเดียว 

ความสมจริงเริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) จากเดิมที่มีแค่วัด วัง ในภาพ ความสมจริงได้ขยับไปสู่ภาพเหมือนบุคคลจริง ถูกนำมาวาดลงฝาหนัง ไม่ว่าจะเป็น ขุนนางคนสำคัญ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือแม้แต่ ภาพพระมหากษัตริย์ ก็ถูกวาดลงไปบนผนัง เนื่องด้วยวัดเหล่านี้ก็ถูกอุปถัมภ์โดยราชวงศ์

ว่ากันว่า จุดกำเนิดของการวาดบันทึกประวัติศาสตร์ในบ้านเรานั้นเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2430 ปีนั้นมีการประกวดภาพวาดประกอบโคลงพระราชพงศาวดาร เพื่อใช้ประดับในงานพระเมรุของสมเด็จเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย, พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าเพ็ชรุตม์ธำรง, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์ และพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ นี่แหละคือ สิ่งที่หลายคนเชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นภาพบันทึกประวัติศาสตร์ที่ต่อมาจะถูกวาดบนฝาผนังอาคารในวัด ซึ่งมีตั้งแต่ภาพพระราชพิธี 12 เดือน พระราชพิธีที่จะต้องกระทำในแต่ละเดือน ไปจนถึงภาพบันทึกเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ เช่น การทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่แม้จะไม่เหมือนจริง 100% ด้วยเหตุผลบางประการ แต่ก็ถือเป็นก้าวย่างสำคัญในงานศิลปกรรมไทยเลยทีเดียว

ภาพจิตรกรรมฝาหนังไทยแบบร่วมสมัย

ถ้ารู้สึกว่า ความสมจริงในสมัยก่อนพีคแล้ว ขอบอกเลยว่า ความสมจริงในยุคนี้ไปไกลกว่านั้นเยอะเพราะ มีทั้งการเอาภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังโบราณจากวัดแห่งหนึ่ง มาคัดลอก และวาดขึ้นใหม่แบบเหมือนจริงทุกกระเบียดนิ้ว ไปจนถึงการปรินท์ออกมาเป็นวอลเปเปอร์แล้วแปะบนผนังเลยก็มี แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ ภาพคนจริงที่มาในรูปของ ‘ภาพกาก’ จากที่ในสมัยก่อนภาพกากจะเป็นแค่ภาพประกอบฉากที่มีความสมจริงแค่เครื่องแต่งกาย หรือบ้านเรือนบ้าง ส่วนถ้าภาพบุคคลจริงก็จะอยู่ในฉากที่เล่าเรื่องราวที่สมจริง

แต่ในยุคนี้ไม่ต้องเลย จะอยู่ตรงไหนก็ใส่ภาพคนจริงเข้าไปได้ ไม่ว่าจะแค่แทรกเอาไว้นิดๆ หน่อยๆ เป็นตัวประกอบฉาก หรือจะวาดตัวใหญ่จนเห็นชัดเจน มีตั้งแต่คนดัง นักการเมือง ไปจนถึงตัวการ์ตูน หรือตัวละครจากภาพยนตร์ก็มีเช่นกัน

ถามว่าความสมจริงในจิตรกรรมไทยกำลังจะบอกอะไรเรา ภาพเหล่านี้กำลังทำหน้าที่เป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์แบบเดียวกับภาพถ่าย เผื่อว่าคนในรุ่นลูกเรา หลานเรามาดูจะได้รู้ว่า เราเคยมีคนเหล่านี้ หน้าตาแบบนี้ หรือเหตุการณ์แบบนี้จริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่มั่วขึ้นมา ที่สำคัญ ภาพเหล่านี้ยังทำให้วัดสามารถสร้างภาพจำให้แก่ผู้คน กลายเป็นกิมมิกของวัด ทำให้เป็นที่รู้จัก จนหลายๆ คนอยากไปดู หรือไปถ่ายภาพนั้นด้วยตัวเอง แม้ว่าหลายครั้งจะพาลให้เกิดดราม่าขึ้นก็ตาม แต่อย่างน้อยมันคือ หนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย ที่ถูกบันทึกด้วยคนธรรมดา เป็นประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับสังคมไทย และถูกคุ้มครองดูแลภายใต้ร่มเงาของศาสนา