Daily Pickup

เมื่อ 2023 กลายเป็นปีเดบิวต์ของ AI ในโลก K-Pop

ปี 2023 กลายเป็นปีที่คำว่า AI ถูกพูดถึงออกมาแบบต่อเนื่อง และแทบทุกวงการต่างตื่นตัวไปกับการเตรียมตัวสู่การปรับเปลี่ยนครั้งใหม่เพื่อใช้ AI ในงานต่างๆ แต่ในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังอยู่ระหว่างการทำความรู้จัก เรียนรู้ว่า AI คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง และเราจะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไร วงการ K-Pop ได้ก้าวข้ามช่วงเวลาเหล่านั้นสู่การเปิดตัวศิลปินที่มาจากการใช้ AI ในการสร้างสรรค์ออกมาเป็นที่เรียบร้อย

ในขณะนี้โลกของ K-Pop เรียกได้ว่าอยู่ในจุดเริ่มต้นของการเปิดตัวศิลปิน AI และค่อยๆ ขยายสเกลขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง ‘Midnatt’ เป็นศิลปิน AI เบอร์แรกจาก HYBE ค่ายใหญ่ของเกาหลีที่เป็นต้นสังกัดของวงบอยกรุ๊ประดับโลกอย่าง BTS ได้เปิดตัวออกมาอย่างเป็นทางการ โปรเจกต์ Midnatt เป็นการสร้างตัวตนใหม่ให้กับ ‘อีฮยอน’ (Lee Hyun) ศิลปินที่อยู่กับค่ายมายาวนานด้วยการจำลองเสียงของเขาผ่าน AI สังเคราะห์เสียงที่จะทำให้ Midnatt สามารถร้องเพลงออกมาได้ทุกภาษา และสามารถถ่ายทอดเอกลักษณ์สำเนียงของแต่ละบุคคลออกมาได้อย่างสมจริง โดยเพลงแรกที่ได้ปล่อยออกมาแล้วก็คือ เพลง Masquerade

เพลง Masquerade ถูกถ่ายทอดออกมาผ่าน 6 ภาษา เกาหลี, เวียดนาม, จีน, ญี่ปุ่น, สเปน และอังกฤษ ซึ่งเสียงร้องในแต่ละภาษาถูกสร้างขึ้นมาจาก AI จำลองเสียงที่พัฒนาขึ้นมาโดย Supertone บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีการจำลองเสียงมนุษย์ที่ HYBE เข้าไปลงทุนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อใช้เทคโนโลยีของ Supertone ในการพัฒนา Project L โปรเจกต์ที่จะนำ AI มาใช้ในการพัฒนาคอนเทนต์ K-Pop และต่อยอดการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อีฮยอน ที่เป็นศิลปินคนแรกที่มาร่วมโปรเจกต์นี้ และสร้างตัวตนศิลปินใหม่ของเขาขึ้นมาในชื่อ Midnatt ได้พูดถึงมุมมองของเขาที่มีต่อการใช้ AI ในโปรเจกต์นี้ได้อย่างน่าสนใจว่ามันเป็นความท้าทายใหม่บนเส้นทางศิลปินอันยาวนานของเขา และ AI เองก็ช่วยให้เขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราว และสิ่งที่เขาอยากลองทำออกมาได้ในรูปแบบที่เขาไม่เคยทำได้มาก่อน จนทำให้เขาเองกลับมามีไฟ และรู้สึกตื่นเต้นบนเส้นทางนี้อีกครั้ง ซึ่งเขาได้โชว์ความน่าทึ่งของ AI จำลองเสียงตัวนี้ออกมาในการแสดงสดบนเวทีออกมาด้วย และทำให้ทุกคนเซอร์ไพรส์กับการเปลี่ยนเสียงได้อย่างแนบเนียนระหว่างการแสดง ทั้งการเปลี่ยนเป็นเสียงผู้หญิง และการเปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาต่างๆ ให้ออกมาเป็นสำเนียงของแต่ละภาษาได้อย่างไหลลื่น

HYBE เองก็ได้ชี้ให้เห็นว่า AI การจำลองเสียงที่ถูกนำเอามาใช้ในโปรเจกต์นี้ได้ช่วยแก้ปัญหาสำคัญของอุตสาหกรรมเพลง K-POP นั่นก็คือเรื่องของพรมแดนของภาษา ที่จากเดิมการจะให้ศิลปินเรียนรู้การออกเสียงภาษาใดภาษาหนึ่งเพื่อร้องออกมาในเพลงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ที่จำลองเสียงของศิลปินขึ้นมาให้สามารถถ่ายทอดภาษาอื่นๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาตินั้นจะช่วยให้ผลงานเพลงของศิลปินสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังในระดับโกลบอลได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้นอกจาก Midnatt ที่เป็นการร่วมงานกับ อีฮยอน แล้ว ก็จะมีศิลปินรายอื่นๆ สร้างสรรค์ผลงานเพลงออกมาในโปรเจกต์นี้เรื่อยๆ

มาที่อีกด้านของวงการ K-Pop กับการเดบิวต์ของวงเวอร์ชวลบอยกรุ๊ปที่มีชื่อว่าPLAVEก็เป็นโปรเจกต์จากการพัฒนา AI ที่นำเทคโนโลยีโมชั่นแคปเจอร์ มาใช้ในการสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาให้กับศิลปินบอยกรุ๊ป กลายเป็นภาพลักษณ์สไตล์คาแร็กเตอร์ในเว็บตูน ที่สามารถขยับตัวได้สมจริง และสามารถตอบโต้กับแฟนๆ ได้แบบเรียลไทม์ นอกจากการแสดงบนเวทีในรายการเพลงแล้ว สมาชิกของ PLAVE ทั้ง 5 คนยังมีคอนเทนต์แบบไลฟ์สด มานั่งพูดคุยกับแฟนๆ จนกลายเป็นวงที่ได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว โดยจุดเด่นของ PLAVE คือเรื่องทักษะของการเป็นศิลปินที่อยู่ในระดับยอดเยี่ยมทั้งด้านการร้อง และการเต้น ซึ่ง AI ที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการจับท่าทาง และถ่ายทอดออกมาเป็นคาแร็กเตอร์ของแต่ละคนมีความไหลลื่น และดูเป็นธรรมชาติมาก โดยโปรเจกต์นี้เป็นการพัฒนาของบริษัท VLAST ที่เชี่ยวชาญในการผลิตสื่อเวอร์ชวลเรียลลิตี้ พัฒนาระบบเกม ไปจนถึงการออกแบบวิชวลเอฟเฟกต์ให้กับซีรีส์เกาหลี และโปรเจกต์บอยกรุ๊ป PLAVE ก็เป็นการเปิดโลกใบใหม่ให้กับวงการ K-POP ที่สามารถนำเสนอความสามารถของศิลปินออกมาผ่านสื่อ และคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงโลกเสมือนเข้าสู่โลกแห่งความจริง

นอกจากวงบอยกรุ๊ปแล้วก็ยังมีวงเวอร์ชวลไอดอลที่เป็นเกิร์ลกรุ๊ปเปิดตัวออกมาในปีนี้เช่นกัน กับวงไอดอล 4 สาวที่มีชื่อว่า ‘MAVE:’ ที่เล่นกับคอนเซ็ปต์ของโลกเมตาเวิร์สสร้างคาแร็กเตอร์ของ 4 สาวที่มาจากโลกใบอื่น ซึ่งเบื้องหลังของ MAVE: ก็คือการนำ AI จากเทคโนโลยีโมชั่นแคปเจอร์เข้ามาช่วยในการถ่ายทอดท่าทางของพวกเธอออกมาให้ดูสมจริง เป็นโปรเจกต์ที่มาจากการจับมือกันของ Kakao ยักษ์ใหญ่ในวงการไอทีของเกาหลี และ Netmarble บริษัทพัฒนาเกมบนโทรศัพท์มือถือ ที่ตั้งเป้าหมายของโปรเจกต์นี้เป็นการเชื่อมโยง K-Pop สู่คอนเทนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกม เว็บตูน ไปจนถึงโปรดักต์ทางการค้าต่างๆ ทำให้นอกจากการปรากฏตัวในรายการเพลงของ MAVE: แล้ว เรายังได้เห็นเรื่องราวของพวกเธอผ่านคอนเทนต์อีกหลากหลายรูปแบบ และหลากหลายแพลตฟอร์ม

อนาคตของ AI กับการสร้างสรรค์ผลงานในอุตสาหกรรมเพลงยังมีอีกหลายอย่างให้ได้รอติดตามกัน เช่นเดียวกับวงการ K-Pop ที่หลังจากนี้คงต้องรอติดตามกันว่า AI ในรูปแบบใดที่จะถูกนำมาใช้สร้างสรรค์ผลงานของศิลปินต่อจากนี้ ซึ่งแค่การเปิดตัวในปีนี้ก็ทำให้เราได้เห็นพรีวิวความน่าทึ่งของอนาคตอันใกล้ที่เราจะได้เห็นกัน