ในที่สุดการรอคอยก็กำลังจะสิ้นสุดลงเสียที กับอีกหนึ่งปีที่เราต่างได้แยกย้ายกันไปเติบโต ปล่อยให้ประสบการณ์จากการรวมตัวกันเมื่อปีที่แล้วซึมลึกลงไปในภาวะแห่งการรับรู้ คงอยู่ในความทรงจำราวกับไม่เคยจากกันไปไหน และเมื่อกลับมาเจอกันครั้งใหม่ ขอให้เธอได้รับรู้ไว้ว่าหัวใจของฉันนั้นมันเต้นรอเธอตามจังหวะบีตอยู่ตรงนี้ ที่ๆแม้เธออาจจะไม่เคยเดินทางด้วยกายเนื้อมาถึง แต่จิตวิญญาณของเธอมันพึงร่ายรำปรากฏอยู่ตั้งเนิ่นนานมาแล้ว
หากยังไม่แน่ใจ ก็ขอให้ลองเช็กไลน์อัพนี่ดูก่อนไว้ประกอบการตัดสินใจนะ ฟังฉันไว้ว่าเมื่อเดินตรงเข้างานเธอจะได้พบกับความอลังการเล่นใหญ่ของเวที Living Pagoda เขาคงขนกันมาแต่ไฮไลต์มั้ง ก็เล่นพามาทั้งครู ทั้งพระ เธอไม่ต้องขยี้ตา ฉันจะพาไปรู้จักอยู่นี่ไง
คนแรกอาจารย์พงษ์พรรณ เรือนนันชัย ศิลปินหัวใจล้านนา อาจารย์ท่านนี้แท้จริงคือเอ็นไซโคลพีเดียเดินได้ที่มีลมหายใจไว้เพื่อส่งทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษทั้งศิลปะ ความเชื่อ และวัฒนธรรม อาจารย์พงษ์พรรณเลือกที่จะหันหลังให้กับระบบการศึกษาหลังจากที่เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้สองปีเนื่องจากตระหนักรู้ได้ว่าวิชาที่ตัวเองต้องการเรียนอย่างแท้จริงมันไม่ได้อยู่ในตำรา จึงได้พาตัวเองมุ่งหน้าสู่รั้วร่มกาสาวพัสตร์ ไม่ได้ไปในฐานะพระแต่ไปในฐานะนักเรียน อาจารย์อาศัยกินนอนอยู่ในวัดและโบราณสถานหลายแห่งแถบภาคเหนือและอำเภอเชียงตุง รัฐฉานนับเป็นเวลานานหลายทศวรรษเพื่อศึกษาศิลปะล้านนาแบบลงลึก อาจารย์ไม่ได้มุ่งเน้นศึกษาแต่งานจิตรกรรมเท่านั้น แต่ยังเข้าไปถึงหัวใจของความเป็นล้านนาอย่างแท้จริง ปีที่แล้วเราได้เห็นอาจารย์แสดงผลงานที่เกิดจากการตกผลึกในวัฒนธรรมล้านนาภายใต้หัวข้อพรหมวิหารสี่ ที่อาจารย์ได้นำเอาศิลปะล้านนาจากหลายแขนงมาหลอมรวมกัน จนเกิดการระเบิดของพลังความคิดสร้างสรรค์ที่คนระดับมาสเตอร์เท่านั้นจะนำเสนอได้อย่างลึกซึ้งและหมดจดงดงามเพียงนี้ ภาพที่อาจารย์ร่ายรำกระบวนเพลงดาบชั้นเชิงโบราณ หรือจรดอักษรล้านนาด้วยท่วงท่าที่เต็มไปด้วยความมั่นใจ ยังคงถูกตราตรึงไว้ในห้องแห่งความทรงจำของหลายๆคน และปีนี้อาจารย์ได้เตรียมนำเสนอเรื่องราวความเชื่อทางพุทธศาสนาของชาวล้านนาผ่านการสื่อสารเพื่อให้คนนอกอย่างเราๆเข้าใจได้ และแน่นอนว่าต้องจัดเต็มชนิดชุดใหญ่ไฟกะพริบเหมือนเดิม แถมงานนี้อาจารย์ยังไม่ลืมหยิบเอาภาษาล้านนามาใช้เป็นสื่อในการเชื่อมโยงกับผู้ร่วมงานที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นใหม่กว่า ในเวิร์กช็อปที่ตั้งใจจัดทำขึ้นเพื่อให้เราๆได้หัดเรียนรู้สระและพยัญชนะของภาษาล้านนาเบื้องต้น จนนำมาสะกดเป็นชื่อตัวเองได้ งานนี้จะปล่อยให้พลาดได้ไงล่ะ
หลังจากเจอระดับครูไปแล้วคราวนี้ก็ตามมาด้วยพระ ที่สุดของการผสมผสานระหว่างความเซนกับศิลปะแห่งโลกดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ นำทัพโดยพระเซนญี่ปุ่นขวัญใจยูทูบ Yogetsu Akasaka ที่พร้อมจะจุดเวทีให้ลุกเป็นไฟด้วยเสียงสวดมนต์ในจังหวะบีตบอกซ์ หรือ Clara Sophia จาก Risingseeds ที่มาพร้อมกับเสียงใสหวานราวกับมนต์แห่งไซเรนที่สะกดให้เราเข้าใจไปว่ากำลังท่องอยู่ในป่าแห่งเทพนิยาย
และเนื่องจากความท้าทายแต่ละปีของเราคือการขยับบาร์ให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆจากปีที่แล้วทั้งสามด้าน ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ จิตวิญญาณ หรือดนตรี ปีนี้เราจึงเชิญอัจฉริยะไวโอลินระดับโลกอย่าง Anna ชาวสวีเดน มาดวลกับอัจฉริยะด้านการเล่าเรื่องด้วยแสง และเสียงชาวไทยผู้ก่อตั้ง Incoming Madness อย่าง Suwin Chawla ที่จะมาเปลี่ยนบรรยากาศโดยรอบน้ำตกสายหมอกให้กลายเป็นภาพฝันอันลอยละล่องอยู่ในอวกาศราวกับหลุดไปอยู่ในห้วงแห่งภาพยนตร์ไซไฟ เอาไฮไลต์เท่านี้ไปก่อนละกันสำหรับ Living Pagoda เวทีที่ราวกับทำมาเพื่อต่อลมหายใจให้ศิลปะคลาสสิกทุกแขนงมีพื้นที่แสดงความงดงามของมันผ่านการตีความด้วยเครื่องมือแห่งยุคสมัย
ถึงแม้ว่าพวกเราจะรักกันมากมายแค่ไหน แต่ถึงเวลาปล่อยของแล้วกลับกลายเป็นว่าไม่มีใครยอมใครซะงั้น เดินตรงเข้ามาอีกนิดด้านซ้ายมือเธอจะเห็น Reverie Shrine เวทีที่รวมไว้ซึ่งบรรดาศิลปินสายชิลล์ งานนี้เรารวบรวมมาไว้ให้ทั้งดาวน์เทมโปเท่ๆหาฟังที่ไหนยาก (เพราะต้องมาที่นี่เท่านั้น!) และไซคีเดลิกชิลล์เอาท์เปี่ยมคุณภาพจากดีเจและโปรดิวเซอร์สองหน่อผู้ก่อตั้งเฟสติวัลจากประเทศกรีซอย่าง Mike Akida และ Maiia ส่วนสาย Deep House ห้ามพลาด เราได้ดีเจที่เคยเปิดที่ Burning Man อย่าง Lizz และ Guinevere จากเยอรมนีมาสร้างบรรยากาศสุด Deep ที่จะพาคุณดิ่งไปกับแรงสั่นสะเทือนของป่าดงดิบ ณ ดอยแม่ริม
มาดูฝั่งไทยก็ใช่ว่าจะน้อยหน้า นอกจากขบวนดีเจแนวหน้าที่พากันยกพลขึ้นดอยพร้อมปล่อยของที่ไปซุ่มทำกันมาทั้งปี ซึ่งปีนี้ได้พี่แป๋ง แห่ง Yellow Fang (DJ Zombie) มาร่วมหัวจมท้ายขบวนด้วยกัน นอกจากนี้แล้วเวที Reverie Shrine ก็หาได้ไร้ซึ่งคนดีมีฝีมือระดับครู มาทำความรู้จักกับพี่ปุ๊ – วุฒิชัย ใจสมัคร หรือชื่อที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการว่า DJ SHAKY3345 พี่ปุ๊ เริ่มเข้าสู่วงการดีเจเมื่อปี 2001 โดยเริ่มต้นเล่นในแนวเพลง Chillout, Hiphop, House และ Break Beat แถมยังปล่อยอัลบั้มแนวเพลง electronic ที่รวมเอากลิ่นอายของ Funk และ Break Beat ออกมาในปีเดียวกัน ส่วนใครที่เคยไปเที่ยวเชียงใหม่แล้วไม่พลาดต้องไปเยือน Warm Up ก็ขอให้รับรู้ไว้ว่าถ้าไม่ใช่เพราะพี่ปุ๊ เราคงไม่มีสถานที่ระดับตำนานให้แดนซ์จนฟลอร์เป็นสะเก็ดมาถึงทุกวันนี้ นอกจากนั้นยังเป็นผู้ก่อตั้ง JIVE Garden เทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวเชียงใหม่ที่รวมเอากิจกรรมดีๆที่มีมากกว่าความบันเทิงเข้าไว้ด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ขึ้น และล่าสุดได้เปิดค่ายเพลงใหม่ที่มีชื่อว่า Galae Recordings ที่มาพร้อมภารกิจเพื่อให้การสนับสนุนศิลปินจากภาคเหนือของประเทศไทย พี่ปุ๊เคยร่วมเล่นในเทศกาลดนตรีอย่าง Culture One, Jai Thep, และอีกมากมายรวมทั้งยังได้มีโอกาสเดินสายเปิดเพลงที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยปลายปีนี้ พี่ปุ๊มีแผนที่จะออกแผ่นอีพี 12 นิ้วที่ได้รวบรวมเพลงใหม่ล่าสุด 9 เพลงที่ผ่านการผสมผสานระหว่างดนตรี Electronic อย่างดนตรี Trip Hop และ World Music มามิกซ์กับดนตรีพื้นบ้านล้านนา ซึ่งเนื้อหาเกิดจากประสบการณ์ต่างๆที่ได้มาจากการเดินทางท่องเที่ยวทั้งภายนอกภายในประเทศ และภายนอกกับภายในใจของตัวเอง ซึ่งสิ่งที่น่ายินดีสำหรับพวกเราในปีนี้คือ พี่ปุ๊จะเล่นเพลงในอัลบั้มใหม่ทั้ง 9 เพลงนี้ในงานให้พวกเราได้ฟังกันก่อนที่อัลบั้มจะคลอดออกมาเสียอีก!
นอกจากนี้เรายังมีเวิร์กช็อปอีกมากมายที่จะจัดขึ้นที่เวทีนี้ และปีนี้เราได้น้องพลอย – อนัชชา จันดาเวียง แห่ง Chiang Mai Holistic มาร่วมงานอีกครั้ง น้องพลอยอดีตเคยเป็นพนักงานประจำกินเงินเดือนเหมือนกับพวกเราหลายๆคนที่เผชิญกับภาวะป่วยทางกายและใจเฉกเช่นเดียวกับคนรอบข้างเธอ จึงเป็นที่มาให้เธอหันเข้าหาศาสตร์การบำบัดด้วย Singing Bowls และปีนี้ไฮไลต์จะอยู่ตรงที่ Sound Bath ของเธอที่เป็นการบำบัดด้วยการอาบคลื่นเสียงจะเป็นการลงไปทำอยู่ในน้ำ ให้สมกับที่มันถูกเรียกว่า Sound Bath เลยล่ะ
ส่วนเวทีที่เดือดจนลุกเป็นไฟอยู่ตลอดเวลาคงไม่พ้น Stage Psytrance ซึ่งประจำที่ ณ Forest Monastry พนารามแห่งความเดือดที่รุ่นใหญ่ตัวท็อปต่างพากันตบเท้าเข้ามาโชว์ฝีไม้ลายมือกันแบบไม่มียั้ง แต่ข่าวที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งวงการคงไม่พ้นพี่ป้อม หรือ DJ Sabaii Sabaii ตำนานตัวท็อปของวงการ Psytrance แห่งประเทศไทยที่แขวนหูฟังไปแล้วเมื่อสามปีก่อน ได้ตัดสินใจกลับมาเล่นเป็นครั้งแรกที่ The Great Gathering ปีนี้ นับเป็นเกียรติเป็นศรีแก่ฟลอร์เต้นรำของพวกเราเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากรุ่นใหญ่ทั้งหลายจะกลับมาเข้าประจำที่แล้ว ปีนี้เรายังมี DJ ไทยน้องใหม่ไฟแรง อย่าง DJ Akkha ที่ได้รับเชิญให้ไปเล่นที่อินเดีย ต้นกำเนิดของดนตรีสายนี้ แถมยังเคยได้ไปเล่นที่ Free Earth Music ณ ประเทศกรีซด้วยนะ บอกเลยว่าไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน และในส่วนของอาร์ตที่โซนนี้บอกได้เลยว่าหายห่วง เพราะระดมสุดยอดฝีมือมาทุกสายไม่ว่าจะแสง สี เสียง และศิลปะ พร้อมปะทะกับพลังงานอันเดือดพล่านไปทั่วพนารามแห่งนี้
เตรียมใจให้พร้อมแล้วออกเดินทาง เส้นทางก็จะปรากฏชัดขึ้นมาทันที แล้วตามไป The Great Gathering ด้วยกันได้เลย สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Facebook: The Great Gathering
Instagram: thegreatgathering.amf