Daily Pickup

มหา’ลัยเหมืองแร่ – จากนักศึกษาสู่กรรมกร

ถ้าให้พูดถึงหนังไทยที่อยู่ในใจใครหลายคน ‘มหา’ลัยเหมืองแร่’ (The Tin Mine) ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในนั้น รับประกันคุณภาพด้วยการกำกับและเขียนบทของ ‘เก้ง – จิระ มะลิกุล’ โดยดัดแปลงจาก ‘เหมืองแร่’ ของ ‘อาจินต์ ปัญจพรรค์’ หนึ่งในหนังสือ 100 เล่มที่ถูกยกย่องว่าคนไทยควรอ่าน และเมื่อตัวหนังสือได้แปรสู่ภาพเคลื่อนไหว มันก็สร้างความประทับใจให้กับเหล่าคนดู จนเป็นหนึ่งในหนังไทยที่ดีที่สุดตลอดกาล

“อดีตคือความฝัน ปัจจุบันต้องอดทน”

ภาพยนตร์เรื่อง ‘มหา’ลัยเหมืองแร่’ เข้าฉายเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 นำเสนอเรื่องราวความจริงของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ หลังถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่ชีวิตกรรมกรเหมืองแร่ ที่อำเภอกระโสม จังหวัดพังงา 4 ปีในมหาวิทยาลัยถูกแปรเปลี่ยนเป็น 4 ปีในเรือขุดแร่ สถานที่อันห่างไกลความเจริญนี้สั่งสอนทักษะชีวิตมากมายที่ในมหาวิทยาลัยไม่มีสอนให้อาจินต์ มันเป็นช่วงปีที่อัดแน่นไปด้วยประสบการณ์ชีวิต ทั้งทุกข์ สุข รันทด กลายมาเป็นความทรงจำที่อยากเผยแพร่ออกมาเป็นหนังสือ ‘เหมืองแร่’ ที่มีความยาวทั้งหมดถึง 142 ตอน และได้ ‘บี – พิชญะ วัชจิตพันธ์’ นักแสดงหน้าใหม่เข้ามาสวมบทบาทเป็นอาจินต์ และได้นักแสดงสมทบชั้นดีมากมายมาเสริมให้ภาพยนตร์นี้ตีแผ่เรื่องราวออกมาได้สมจริง จริงใจยิ่งกว่าเดิม

มันไม่ได้เพียงแค่นำเสนอเรื่องราวความลำบากของกรรมกรเหมืองแร่เท่านั้น แต่ยังนำเสนอความคิดและการปรับเปลี่ยนมุมมองของอาจินต์ในแต่ละเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน อย่างที่หนังได้เริ่มปูมาตั้งแต่แรกว่า อาจินต์เป็นหนุ่มนักศึกษามหา’ลัยชื่อดัง ยิ่งเขามาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ การมาทำงานที่เหมืองแร่ห่างไกลความเจริญเช่นนี้ยิ่งทำให้ทิฐิในตัวเขาสูงยิ่งกว่าภูเขาในอำเภอกระโสมเสียอีก แต่กลับกลายเป็นว่า กับแค่การสั่งน็อตมาซ่อมเรือขุดเขายังเขียนรายการผิด ทำให้อาจินต์เข้าใจได้ว่า แม้ตัวเองจะเรียนมาสูงเท่าไหร่ แต่ประสบการณ์นอกเหนือจากในตำราเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าเสียอีก และต่อให้คนงานในเมืองส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการศึกษาขั้นสูง การสะสมประสบการณ์และลงมือทำจริงก็ทำให้คนงานเหล่านั้นเป็นอาจารย์ที่ล้ำค่าของอาจินต์

“ความเงียบเหงาทำคะแนนได้ดีในหัวใจที่ท้อแท้ของผม”

แต่แล้วความยากลำบากก็มาพร้อมกับความรักที่พังทลายลง เมื่อคนรักของอาจินต์ไม่สามารถรอเขากลับไปหาได้ คำตอบต่อการไม่ได้ส่งจดหมายโต้ตอบกลับหลายเดือนมาในรูปแบบของซองจดหมายที่บรรจุการ์ดแต่งงานจากหญิงคนรัก โดยมีชื่อชายอื่นปรากฏอยู่ข้างกัน ความเหนื่อยล้าและหมดกำลังใจในการใช้ชีวิตทำให้อาจินต์ทุ่มแรงไปกับการทำงานและดื่มเหล้า

มีฉากหนึ่งที่ติดอยู่ในใจนักเขียนตอนที่อาจินต์รำพึงรำพันถึงหญิงคนรักกับลุงแดงว่าจะเก็บความเลวของผู้หญิงไว้เป็นที่ระลึก แต่ลุงแดงตอบกลับไปว่า “ความเลวของอาจินต์เองก็มี เขายังไม่เก็บไว้เป็นที่ระลึกเลย” บทสนทนาอันแสบเรียบง่ายบนกระท่อมเก่าโทรมนี้เหมือนเอาความจริงมากระทบกระหม่อมอาจินต์เบาๆ ว่า ไม่ได้มีแค่ตัวเขาที่ลำบากอยู่ในเหมืองแร่แห่งนี้ ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่าอาจินต์จะประสบความสำเร็จกลับไป และระยะ 3 ปีที่ผ่านมาในเมืองกรุง คนรักของเขาก็อาจจะผ่านอะไรมามากมายเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการแยกย้ายกันไปใช้ชีวิตก็น่าจะดีที่สุดแล้ว

หลังจากดูมาสักพักก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มหา’ลัยเหมืองแร่เป็นเพียงการนำเสนอมุมมองของคนชั้นกลางที่มาลิ้มรสความลำบากเพียงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะถ้าว่ากันตามจริง คนงานในเหมืองคงไม่มีเวลามาบอกกล่าวความยากลำบากของชีวิตผ่านตัวอักษรและบทภาพยนต์เป็นแน่ อีกทั้งโอกาสที่อาจินต์ได้รับจากนายฝรั่งด้วยความเป็นนักศึกษา ก็อาจจะทำให้เขาเรียนรู้เร็วจนก้าวหน้าในงานเหมืองเร็วกว่าคนอื่นๆ ภายในระยะหนึ่งปี ทำให้จากคนงานเหมืองธรรมดา เขาก็ได้เป็นถึงคนเขียนพื้นแผนที่ไปเสียแล้ว ไหนจะเป็นการที่อาจินต์ใช้เงินเดือนส่วนมากไปกับกินเหล้า เพราะเขาไม่ได้มีภาระที่ต้องส่งเสียครอบครัวเหมือนคนงานทั่วไป เขากลับออกไปจากเหมืองด้วยเงินศูนย์บาทเหมือนกับตอนที่เข้ามา แม้ในวันที่เรือขุดจมลง คนงานต้องระหกระเหินแยกย้ายไปหางานอื่นต่อ ในขณะเดียวกัน อาจินต์ยังมีบ้านให้กลับและก้าวสู่อาชีพนักเขียนอย่างที่เขาใฝ่ฝัน 

มหา’ลัยเหมืองแร่ ไม่ใช่ภาพยนตร์ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้กับสังคม แต่เป็นภาพยนต์ที่เล่ามุมมองความยากลำบากจากคนชั้นกลางที่เข้าไปสัมผัสส่วนหนึ่งของอาชีพกรรมกรในเหมืองแร่เท่านั้น บทหนังที่สอดแทรกวิถีชีวิตของคนอำเภอกระโสมนั้นแลดูสมจริง และสมบูรณ์ในรูปแบบของภาพยนตร์ด้วยตัวเองแล้ว ทัศนศิลป์ผ่านภาพเคลื่อนไหวที่สวยงามและตรงไปตรงมาเป็นเสน่ห์ของหนังไทยสมัยก่อน ยังคงดึงดูดให้สามารถกลับมาดูซ้ำได้เรื่อยๆ ไม่แปลกใจว่าทำไม ‘มหา’ลัยเหมืองแร่’ ถึงเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของประเทศไทย

ขอขอบคุณรูปภาพจาก Netflix