‘The White Tiger’ ภาพยนตร์อเมริกันที่สร้างความฮือฮาในช่วงปี 2021 หลังจากที่ออกฉายในสตรีมมิ่งชื่อดังอย่าง Netflix เล่าถึงการผงาดขึ้นของชาวบ้านยากจนจากวรรณะต่ำสุด สู่ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในอินเดียสมัยใหม่ ในตอนแรกอาจดูเหมือนว่า The White Tiger ของ ‘รามิน บะรานี’ (Ramin Bahrani) เป็นภาพยนตร์ที่ ‘อาจจะ’ นำความจนมาเล่าหากินอย่างผิวเผิน ตามสูตรครบจบแนวฮอลลีวูดที่กำลังได้รับความนิยมในรูปแบบพลิกดินสู่ดาว แต่ The White Tiger ได้นำเสนออะไรที่มากกว่านั้น เพราะดินที่จะไปสู่ดาวอาจจะเป็นดินที่จะกลบดาวเสียเอง อีกทั้งยังนำเสนอความเหลื่อมล้ำทางวรรณะ ศาสนา การเมือง และการคอรัปชั่นในอินเดียอย่างหมดเปลือก
เนื้อเรื่องเล่าถึงการไต่เต้าจากความยากจนสู่ชนชั้นสูงของตัวละครหลักอย่าง ‘พลราม’ (Balram) รับบทโดย ‘อาดาร์ช กอราฟ’ (Adarsh Gourav) ที่ในตอนแรกไม่มีอะไรมากไปกว่าเป็นคนงานที่ยากจน และไม่ได้รับการศึกษาในสลัมของอินเดีย แต่เขามีแรงผลักดันจากความทะเยอทะยานอันแรงกล้าที่จะก้าวข้ามความยากจน และขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า ก่อนคว้าโอกาสในการเป็นคนขับรถให้กับครอบครัวที่ร่ำรวย ในที่สุด เขาก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก ‘อโศก’ (Ashok) แสดงโดย Rajkummar Rao ลูกชายที่เพิ่งเรียนจบมาจากอเมริกาของนายจ้าง และ ‘พิงกี้’ (Pinky) แสดงโดย ‘ปริยังกา โจปรา’ (Priyanka Chopra) ภรรยาของเขา พลรามผู้ไม่มีตัวตน จึงค่อยๆ เติบโตอย่างช้าๆ เฝ้าดูเจ้านายที่มีฐานะร่ำรวย และคู่หมั้นที่เกิดในอเมริกาแสดงความรักแบบบอลลีวูดผ่านกระจกมองหลัง คู่หนุ่มสาวช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการอยากมีชีวิตที่ร่ำรวยของพลราม และสอนให้เขาเข้าใจกลยุทธ์ทางการเมืองสีเทา เมื่อพบกับบทที่มืดมน ในที่สุดพลรามก็กลายเป็นคนโหดเหี้ยมยิ่งขึ้นในการแสวงหาอำนาจ และคว้าทุกโอกาสเพื่อความก้าวหน้า ไม่ว่าราคาจะสูงเพียงใด
“สำหรับคนจนมีแค่เพียง 2 ทางที่จะผงาดขึ้นมาได้ นั่นก็คือ อาชญากรรม หรือการเมือง”
ในเรื่องเราจะคอยรับรู้ได้ตลอดถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นวรรณะ พลรามพยายามเรียนรู้ และแสวงหาโอกาสต่างๆ เพื่อทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองหลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งความยากจน แม้กระทั่งยอมโกหกเรื่องศาสนาของตนเอง และเปลี่ยนชื่อ เพียงเพื่อจะได้ทำงานเป็นคนขับรถ พลรามเรียกระบบที่เขาติดแหง็กอยู่ว่า ‘กรงไก่’ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ติดอยู่ข้างในตระหนักดีถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับพวกเขา แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ การเข้ารับการศึกษา หรือแม้กระทั่งการสอนให้มีมารยาททางสังคมยังเป็นเรื่องยากสำหรับคนวรรณะต่ำ เพราะแค่จะใช้ชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวันโดยไม่ต้องคำนึงว่า จะมีข้าวกินไหมยังเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากอยู่เลย อีกทั้งการเมืองที่แสดงให้เห็นในหนังยังฉายซ้ำว่า ความเน่าเฟะของระบบที่เอื้อคนที่ร่ำรวยอยู่แล้วให้รวยยิ่งขึ้นไปอีก และใช้การขายฝันให้กับประชาชนวรรณะต่ำว่า สักวันหนึ่ง พวกเขาจะประสบความสำเร็จได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่มาก
ความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้อีกหนึ่งอย่างจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ พลรามเป็นเด็กฉลาดที่เกิดในครอบครัวยากจนมากในวรรณะต่ำของอินเดีย วันหนึ่งครูคนหนึ่งบอกเขาว่า เขาคือ ‘เสือขาว’ ตามตำนาน ที่ในแต่ละชั่วอายุคนจะมีเกิดขึ้นมาเพียงตัวเดียว ดังนั้น นี่จึงหมายความว่า พลรามนั้นพิเศษ ไม่เหมือนใคร และมีเป้าหมายเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ด้วยความยากจน แม้จะฉลาด แต่สภาพรอบกายเขาไม่ได้เอื้อให้อยู่ในระบบการศึกษาต่อได้ พลรามจึงต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่เล็กๆ แม้จะได้รับการศึกษาไปก็ไม่มีอะไรมารับรองได้ว่า ชีวิตการเป็นอยู่ในสลัมของเขา และครอบครัวจะขึ้น หรือต่างไปจากเมื่อก่อน
แม้ทุกคนจะโหดร้าย และดูถูกพลราม ตรงกันข้ามกันกับพิงกี้ เธอใจดีกับพลรามมาก ด้วยความที่เธอเข้าใจความต่างจากชนชั้นวรรณะดี เธอย้ายไปอเมริกาเมื่ออายุ 12 ปี และเติบโตในควีนส์ ซึ่งพ่อแม่ของเธอเปิดร้านสะดวกซื้อ เธอพยายามบอกให้ พลรามฝันให้ไกลกว่าการเป็นคนรับใช้ และสิ่งนี้แหละ ที่ทำให้พลรามเฝ้าฝันถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าอย่างเงียบๆ อยู่เสมอ
หลายคนอาจพบว่า ‘The White Tiger’ เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ซึ่งในไม่ช้าก็จะค่อยๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเรื่องราวดำเนินไปอย่างช้าลงในช่วงครึ่งหลัง ที่อาจทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าสนใจน้อยลง น่าเสียดายที่เรื่องนี้ไม่ได้นำไปสู่ความหลุดพ้นของชนชั้นวรรณะ แต่กลับนำพลรามไปสู่การใช้ชีวิตแบบเดียวกันกับคนวรรณะสูงๆ ในเรื่อง ทั้งนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือภาพยนต์ที่นำเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นวรรณะออกมาได้หมดเปลือกจริงๆ เช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ได้รางวัลอย่าง Parasite และ Minari ซึ่ง The White Tiger ก็ได้รับเสียงสะท้อนจากการมุ่งเน้นไปที่ตัวละครที่ต้องการบางสิ่งที่คล้ายกับ American Dream โอกาสที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด ผสมผสานกับการทำงานหนัก ไม่ได้สร้างสุนทรียภาพให้กับความยากจน และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นสิ่งที่สูงส่ง