Art

คุยกับ TRYSTAND ศิลปินผลงานสุดจี๊ด ในวันที่อีโก้ลดน้อยลง และมีความสุขมากยิ่งขึ้น

เรานัดพบกับ ‘TRYSTAND’ หรือ ‘แทน’ – ศรัณย์ เชื้อกรุง ที่ Noble PLAY เพลินจิต เนื่องจากผลงานศิลปะบางส่วนของเขาถูกจัดแสดงในนิทรรศการ Hi & Seek ร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ ในคอนเซ็ปต์ ‘ความเป็นเด็ก’ ที่ชวนให้แต่ละคนได้นึกย้อนไปถึงช่วงวัยที่สดใสและเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ขณะที่วัยเด็กของแต่ละคนมีเรื่องราวมากมายดีร้ายแตกต่างกันไป TRYSTAND ก็มีเรื่องราววัยเด็กที่น่าสนใจเช่นกัน แล้วชีวิตในวัยเด็กสะท้อนตัวตนของศิลปินเจ้าของผลงานดีไซน์แปลกคนนี้อย่างไร EQ ชวนทุกคนไปทุกความรู้จัก TRYSTAND ศิลปินที่เคยงอแงและอีโก้สูง สู่วันที่เขากล้าการันตีว่าชีวิตตอนนี้คือ “ช่วงวัยที่ดีที่สุดของชีวิต”

เล่าให้ฟังได้ไหมว่าเด็กชายแทนในวัยเด็กเป็นอย่างไรบ้าง

เป็นเด็กดื้อๆ หน่อย เอาแต่ใจ แล้วก็โดนสปอยล์ แต่ที่บ้านจะเลี้ยงแบบตะวันตกหน่อยนะ คืออยากทำอะไรก็ทำ แต่ต้องมาคุยเหตุผลกันก่อน คือเขาค่อนข้างตามใจนั่นแหละ อยากเล่นเทนนิส เขาก็พร้อมซัพพอร์ต หรือศิลปะเองก็เหมือนกัน ตอนเด็กผมเลยได้ลองทำอะไรเยอะมาก แต่อย่างที่บอกว่าผมเป็นเด็กเอาแต่ใจ อยากทำอะไรก็ต้องได้ทำ แล้วก็ทำด้วยความชอบนะ ไม่ใช่การถูกบังคับ ตอนนั้นก็เลยเอนไปทางกีฬา มากกว่าศิลปะ แล้วก็มุ่งไปทางเทนนิส ซึ่งคุณพ่อมาเป็นโค้ชให้เรา แต่พอเราเริ่มแข่งขันจริงจัง มีตีพลาด ตีเสีย คุณพ่อเขาก็จะใช้คำพูดแรง แบบว่า ‘ทำไมแค่นี้ถึงตีไม่ได้’ แบบเป็นพวกฐานกาย ผมก็อารมณ์ฉุนขึ้นมา แล้วก็เดินออกนอกสนามไปเลย ฟีลงอแง ไม่อยากเล่นแล้วนั่นแหละ หลังจากนั้นก็เลยเปลี่ยนมาเป็นชอบศิลปะ

จำได้ไหมว่าอะไรทำให้รู้สึกสนใจศิลปะ

ผมคลุกคลีกับศิลปะอยู่แล้ว เพราะผมก็อ่านมังงะ ดูการ์ตูน แต่ถ้าถามว่าอะไรทำให้รู้สึกสนใจศิลปะ คือผมมีลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่ง ที่จะมาเยี่ยมผมที่กรุงเทพฯ​ เสมอ แล้วเขาก็วาดรูปโงกุนที่เสาหรือกำแพงสักอย่าง แล้วมันทำให้ผมรู้สึกว่าการวาดรูปมันเจ๋งว่ะ เราสามารถเอาการ์ตูนที่เราชอบออกมาวางบนพื้นอะไรก็ไม่รู้ได้ด้วย ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าการวาดรูปมันน่าสนใจ

แล้วก้าวเข้ามาในวงการศิลปะเต็มตัวเมื่อไร

พอสนใจศิลปะ ผมก็เลยลองสอบเข้าวิทยาลัยช่างศิลป์ ซึ่งเราเริ่มเตลิดเลย เพราะมันอิสระมาก จากนักเรียนโรงเรียนสายสามัญ เข้าเรียนแปดโมงเช้า เลิกเรียนสี่โมงเย็น พอมาเรียนที่ช่างศิลป์ เหมือนเราได้เป็นผู้ใหญ่เร็วเกินไป ได้อิสระเร็วเกินไป จะออกจากวิทยาลัยเมื่อไรก็ได้ จะทำอะไรก็ทำ ขอแค่เข้าเรียนก็พอ มันเลยทำให้ผมยิ่งเอาแต่ใจมากขึ้น อยากเที่ยวก็ไป ลงเรียนแต่วิชาที่ชอบ ผมว่าวัยนี้เป็นวัยที่ผมได้เรียนรู้ชีวิต อารมณ์เหมือนผู้ชายใจแตกเลย แต่สุดท้ายก็รอดมาได้

แล้วช่างศิลป์ให้อะไรกับคุณบ้าง

มันทำให้ผมได้เจอคนที่คิดเหมือนกัน สนใจเหมือนกัน แล้วก็ได้รู้ว่าต่อให้ทุกคนเก่งแค่ไหน แต่ละคนก็มีความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งผมก็ได้ฝึกความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองจากตรงนั้นแหละ คือต่อให้มีทักษะเท่ากัน แต่ความต่างคือคาแรกเตอร์ส่วนตัวนี่แหละ และคาแรกเตอร์ของผมก็แอบชัดประมาณหนึ่งมาตั้งแต่ตอนเรียน แต่พอเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็เข้าลาดกระบัง (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) ซึ่งตรงนั้นก็เปลี่ยนไปอีกทางเลย มันทำให้ผมมองศิลปะแบบใหม่ ที่ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องทักษะแล้ว แต่เป็นเรื่องของไอเดีย เป็นเรื่องของการทำอย่างมีเหตุผล เขาสอนให้เรามีตรรกะที่ชัดเจนมากขึ้น มันเลยกลายเป็นว่า เวลาผมเขียนรูป ผมสามารถเล่าได้หมดเลยว่ารูปมีที่มาที่ไปอย่างไร เกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น

แปลว่าทุกผลงานมีเรื่องราวเบื้องหลังใช่ไหม

งานของผมจะไม่มีคาแรกเตอร์แบบศิลปินคนอื่น ที่เขาจะมีเป็นหมี เป็นแมว แต่ของผมไม่มี ผมว่างานทุกชิ้นมันคือเรื่องเล่าของผมทั้งหมด มันคือคาแรกเตอร์ของผมทั้งหมด เพื่อที่จะทำให้การทำงานมันไม่น่าเบื่อ พอมันไม่น่าเบื่อ ผมก็จะไม่เบื่อ แล้วคนดูก็จะไม่เบื่องานของผม

แล้วชื่อ TRYSTAND มีที่มาที่ไปอย่างไร

ตอนเรียนอยู่มันจะเป็นยุคที่คนชอบผวนคำกัน ตอนนั้นเฟสบุ๊กเพิ่งมาด้วย ผมก็เลยตั้งเพจ แล้วก็คิดว่าจะตั้งชื่ออะไรดีนะ แทนสไตล์ ก็เป็น TRYSTNAD แล้วกัน พอผวนแล้วก็คิดว่ามันโคตรเด๋อเลย มันดูเมาๆ แต่ก็ถูกใช้มายาวนาน แล้วผมชอบชื่อนี้มาก

ถ้าให้นิยามงานศิลปะของตัวเอง หรือให้คำจำกัดความตัวตนของ TRYSTAND ล่ะ

ตอนเรียนศิลปะ ทุกคนมีความเก่ง แต่ต้องหาเอกลักษณ์ของตัวเองให้เจอ TRYSTAND หรือแทนสไตล์ก็คือสไตล์ของผม ที่มันมีวิธีเล่าแบบเอาเรื่องซีเรียสๆ เรื่องจริงจัง มาเล่าให้เฟรนด์ลี่ขึ้น มีความน่ารักมากขึ้น บางชิ้นก็อาจจะดูขี้เมา แต่ก็ไม่ทำให้รู้สึกว่ามันไม่เอาไหนจนเกินไป คือเด็กดูก็จะรู้สึกว่าเป็นการ์ตูนน่ารัก แต่ผมคิดว่าทุกคนจำงานของผมได้ด้วยลายเส้น

ทำไมถึงไม่มีคาแรกเตอร์ที่เด่นตัวเดียว

ในหัวไม่เคยอยากทำคาแรกเตอร์ส่วนตัวเหมือนศิลปินคนอื่นเลย ผมจะมีความดื้อๆ ขบถๆ หน่อย ทำไมต้องมีหมามีแมวเป็นของตัวเอง ไม่เห็นต้องมีเลย ถ้าจะมีผมขอมีคาแรกเตอร์เป็นหมื่นตัวให้คนเห็นดีกว่า ไม่ต้องยึดติดอะไรมาก คือผมมีวิธีคิดที่มันอยู่ตรงกลางระหว่าง Fine Art กับ Street Art หน่อยๆ คือไม่ได้อยู่ฝั่งไหน แต่สามารถใช้ทำงานร่วมกัน ผมพยายามคิดให้อยู่ตรงกลาง แบบว่าถ้าเอามันไปเล่าในงานนิทรรศการ ที่มีคอนเซ็ปต์หนักๆ ผมก็สามารถเอางานตัวเองที่เป็นคาแรกเตอร์ไปเล่าได้ หรือถ้าจะไปอยู่ฝั่ง Street Art ผมก็เอาคาแรกเตอร์การ์ตูนไปแสดงได้ ไม่ยึดติดสไตล์ไหน ซึ่งผมพยายามทำให้ตัวเองสามารถอยู่ตรงไหนก็ได้ และผมมักจะทำแบบนั้นเสมอ

พอไม่มีคาแรกเตอร์เด่นๆ มันมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

ข้อดีคือมันได้ความหลากหลาย มันสนุกดี เวลาคิดคาแรกเตอร์เป็นกลุ่ม ผมว่ามันเหมือนคุณเพื่อนหนึ่งคนกับเพื่อนสิบคน ถ้าคนเดียวมันก็จะเหงาๆ แต่ถ้ามีคาแรกเตอร์หลายตัว งานมันก็สนุกและดูมีอะไรมากขึ้น แต่ข้อเสียก็คงเป็นเชิงธุรกิจมั้ง ไม่มีคาแรกเตอร์ ก็ไม่มีภาพจำ อารมณ์เหมือนไม่มีโลโก้ของตัวเอง คือจะมองว่าลายเส้นเป็นโลโก้ก็อาจจะคลุมเครือนิดหน่อยในเชิงธุรกิจ

ได้ยินมาว่าเริ่มทำงานศิลปะที่หลากหลายมากขึ้น เล่าให้ฟังได้ไหมว่าความหลากหลายที่ว่ามีอะไรบ้าง

จริงๆ มันก็เป็นแบบนั้นมาตลอด แต่ช่วง NFT ที่ผมทำงานหนักมาก แล้วก็ได้เงินก้อนที่พอจะบริหารตัวเองได้ยาวๆ เลยรู้สึกว่าอยากเล่นอะไรสนุกๆ ทำ กลายเป็นว่าหลังจากนั้นก็ไปเล่นดนตรี ไปเป็นดีเจ เพื่อให้รู้สึกว่าเราพักงานวาดเอาไว้ก่อน ซึ่งนิสัยนี้เป็นตั้งแต่ตอนเรียนแล้วนะ พอคิดอะไรไม่ออก ก็จะหยุดทำ ไม่นั่งบ้าเขียนไปเรื่อยๆ แล้วก็ออกไปปล่อยสมอง ไปดูหนัง ไปเที่ยว เพราะผมเชื่อว่าความรู้สึกเวลาอยากทำแล้วค่อยทำ ผลงานจะออกมาดีเสมอ คือในเชิงงานที่มีเดดไลน์ก็อาจจะต่างกัน แต่พอเป็นเรื่องส่วนตัว ผมก็จะทำแบบนี้ ด้วยความเป็นคนขี้เบื่อด้วย ก็เลยแบบวาดรูปไปแล้ว ไปทำวิชวล (Visual) ดีกว่า

ก็คือหยุดงานวาดไปทำงานวิชวลเลยใช่ไหม

ใช่ ข้อดีของผมคือเรียนรู้ไว แต่มันต้องเป็นเรื่องที่ผมสนใจด้วยนะ ซึ่งตอนนี้ก็แทบไม่ได้วาดรูปเลย ไปทำงานวิชวลจนรู้สึกว่าโอเคแล้ว อิ่มตัวแล้ว ก็เลยกลับมาทำงานวาด ซึ่งนิทรรศการรอบนี้ (Hi & Seek) เป็นการกลับมาในรอบ 2 - 3 ปี อารมณ์เหมือนทำให้ทุกคนหายคิดถึง แล้วมันก็โอเค เลยบอกว่าพอทำงานในวันที่เราอยากทำ งานจะออกมาดี  พอผมเบื่อวิชวล ก็กลับมาทำงานตัวเองแล้ว มานั่งเขียนงานตัวเอง แต่ระหว่างทางก็ทำอะไรเยอะแยะไปหมด อย่างมีช่วงหนึ่งไม่อยากทำอะไร ฟังเพลงบ่อยจนอยากเป็นคนเล่นเอง ก็ไปเป็นดีเจ ซึ่งก็มีงานมาบ้างนะ แต่ไม่ได้คาดหวังอะไรขนาดนั้น เพราะมันเป็นงานอดิเรกเฉยๆ

ดนตรีกับการวาดรูปมีความแตกต่างไหม

การเล่นดนตรีมันต่างจากการวาดรูป คือการวาดรูป ต่อให้เราวาดทิ้งไว้ มีคนมาชอบงานของเรามาก แต่เราก็จะมองไม่เห็น แต่ดนตรี คือมีคนมาดู เรามองเห็น แล้วเราก็จะได้รับพลังงาน ซึ่งช่วงหลังมานี้ผมเชื่อเรื่องพลังงาน ถ้าพลังงานดีผมก็ได้ไปด้วย ถ้าผมพลังงานดี ผมก็ปล่อยพลังงานได้ดีเหมือนกัน เรียกว่าในวัยที่โตขึ้น ผมเองก็เริ่มส่งต่ออะไรบางอย่างเหมือนกัน ไม่รับอย่างเดียวแล้ว เริ่มไม่เห็นแก่ตัวเหมือนแต่ก่อน เริ่มยืดหยุ่นกับตัวเองและคนอื่นมากขึ้น อีโก้ที่เคยหนักๆ ก็ได้รับบทเรียน อีโก้หนักก็ได้รับการทำโทษ จากสังคม จากกลุ่มที่คนผมเคยแคร์

คิดว่าตัวเองเติบโตอย่างไรบ้าง

ผมกล้าการันตีเลยว่าตอนนี้คือช่วงวัยที่ผมมีความสุขที่สุด ซึ่งไม่เคยรู้สึกแบบนั้นเลย ที่ผ่านมาอาจจะผ่านเรื่องราวทั้งดีและไม่ดี พอได้ตกตะกอน ก็เริ่มมองเห็นว่าเมื่อก่อนผมติดเพื่อน ติดสังคมมาก พอเกิดเรื่องราว ผมก็รู้สึกว่ามันเจ็บปวดมาก คนรอบข้างบางคนที่ผมแคร์ก็หายไป ก็เคยคิดว่าไม่มีคำว่าตลอดไปสินะ แล้วก็ได้รู้ว่าเราก็อยู่คนเดียวได้นี่หว่า อยากเจอคนอื่นก็ค่อยออกไปหาก็ได้ อย่าไปสร้างวงล้อมพลังอะไรเลย คือผมเป็นพวกชอบสร้างพลังงานตรงกลางให้คนเข้ามา ผมชอบมีแสง ชอบให้คนรุมล้อม แล้วพอมันไม่มีคนรุมล้อมก็รู้สึกแย่ มันก็คืออีโก้นั่นแหละ ซึ่งวันนี้ผมได้รู้แล้วว่าไม่ควรทำแบบนั้น ไม่จำเป็นต้องไปนั่งทำอะไรแบบนั้นเลย เหนื่อยด้วย

ดูเหมือนจะได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเลย

ผมเชื่อว่าถ้าตัวเองโอเค มีพลังงานที่ดี เดี๋ยวพลังงานของก็แผ่ไปโดยที่ไม่รู้ตัว ผมก็แค่มีความสุขกับการทำงาน มีคนเข้ามาดูงานของผม เข้ามาดูอินสตาแกรมของผม ผมก็มีความสุขแล้ว แล้วผมก็เชื่อเรื่องความบริสุทธิ์ใจ ไม่ต้องพูดบอกคนอื่นว่าตัวเองเป็นคนดีหรือมีความสุขหรอก แต่อยู่เฉยๆ แล้วมีความสุข อย่างไรคนรอบข้างก็รู้สึกได้ แล้วอีกอย่างคือไม่ต้องไปคาดหวังกับใคร คือทั้งหมดก็คือการเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งผมชอบตัวเองตอนนี้ที่สุด ผมเริ่มจัดการตัวเองได้ เมื่อก่อนผมไม่เข้าใจว่าตัวเองเป็นอะไร ทำไมรู้สึกแย่ แต่ตอนนี้ถ้ารู้สึกแย่ อ๋อ เข้าใจแล้ว เพราะเป็นแบบนี้นี่เอง ผมว่าวัย 34 - 35 เป็นวัยก่อนที่จะเป็นผู้ใหญ่จริงๆ ล่ะมั้ง มันต้องเจออะไรสักอย่าง ก่อนที่จะเป็นผู้ใหญ่จริงๆ ตอนอายุ 40 ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

มนุษย์มีการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงเสมอใช่ไหม

ผมว่ามนุษย์ทุกคน เราจะเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดไปเรื่อยๆ ไม่ว่าคุณจะแย่ในปีนี้ แต่พอคุณกลับมา คุณก็จะกลับมาในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเวอร์ชั่นก่อนหน้านั้นเสมอ ผมเชื่อเรื่องความเป็นมนุษย์มากๆ และตอนนี้ผมก็กลับมาใหม่ในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น เมื่อก่อนถ้าผมไม่ชอบหน้า ผมก็จะไม่คุยด้วยเลย แต่ตอนนี้ก็จะมีถามไถ่เป็นอย่างไรบ้าง คือรู้เลยว่าอีโก้มันหายไป ซึ่งแต่ก่อนไม่รู้ตัวเองเลย ชื่อเสียงก็เป็นอำนาจที่ทำลายคนเหมือนกัน ต้องได้รู้จักมันก่อน ถึงจะเป็นคนที่โอเคขึ้น และผมกล้ายอมรับว่าตัวเองงี่เง่า ต้องโดนทำโทษก่อน ทุกคนก็คงจะเป็นแบบนั้นมั้ง

ตั้งแต่ก้าวเข้ามาอยู่ในวงการศิลปะของไทย คุณมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการนี้บ้างไหม

ไม่เท่าไร ปัญหาหลักๆ ก็คือเรื่องการซัพพอร์ต ที่พูดกันมายาวนาน คือคนไทยเก่งและมีศักยภาพนะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กเจนไหน ทุกคนมีศักยภาพหมด แต่สิ่งที่จะทำให้พวกเขาสบายใจคือเรื่องการซัพพอร์ต ซึ่งพออยู่ในประเทศ มันก็ต้องเป็นการซัพพอร์ตจากรัฐบาลไหม แต่กลายเป็นว่าศิลปินต้องรวมตัวกันเอง เรี่ยไรเงินช่วยเหลือกันเอง ผมเชื่อว่าถ้าวงการศิลปะไทยได้รับการซัพพอร์ตจริงๆ คนที่เจ๋งอยู่แล้ว อาจจะเจ๋งขึ้นไปอีกก็ได้ ผมเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อหนึ่งว่า ผมคิดว่าประเทศนี้ยังไม่มีหอศิลป์แห่งชาตินะ และที่มีอยู่ก็ไม่นับด้วย เพราะว่าถ้ามันเป็นหอศิลป์แห่งชาติจริง มันก็ต้องซัพพอร์ตทุกคนสิ ไม่ใช่ซัพพอร์ตแค่บางคน

ในมุมมองของคุณ การหาตำแหน่งแห่งที่ของศิลปินหน้าใหม่ในวงการศิลปะไทยมีความยากง่ายอย่างไรบ้าง

ผมว่ายุคนี้ไม่ยาก ง่ายกว่ายุคของผมอีก เพราะมันมีสื่อ ผมว่ามันอยู่ที่ว่าเขาจะเลือกอะไรมากกว่า ทุกอย่างบนโลกใบนี้มันมีพื้นที่ให้เขาอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับเขาจะชัดเจนกับสิ่งที่ทำตรงนั้นหรือมีมู้ดประมาณไหน แต่จริงๆ ความยากของเด็กรุ่นใหม่ก็เยอะเหมือนกัน ต่อให้หว่านแห ก็จะหว่านอย่างไร มันหลากหลายเกิน มันเลยกลายเป็นว่าเราถูกสอนให้ชัดเจน แต่ถ้าชัดเจนมากๆ จะมีที่ยืนตรงนี้ไหม

แล้วตัวชี้วัดว่าศิลปินคนนี้ประสบความสำเร็จแล้วหรือยังคืออะไร

เป้าหมายของเราคืออะไร อยากได้อิสระทางการเงิน มันก็มีวิธีหาเงินกับศิลปะ หรืออยากอยู่ในประวัติศาสตร์ศิลป์ ยิ่งใหญ่เลย หรือแค่แบบผมที่ตื่นมาทำอะไรสนุกๆ ดีนะ มันอยู่ที่วิธีคิดทัศนคติแหละ และจุดที่บอกว่าสำเร็จไหม ก็คงเป็นการสร้างเป้าหมายที่ชัดเจน ผมว่ามันคือเส้นชัยของแต่ละคนมากกว่า ไม่ว่าอาชีพไหนก็ไม่มีเส้นชัยของมันหรอก แต่มันอยู่ที่ตัวเราเป็นคนกำหนดเส้นชัยของตัวเอง อันนี้คือคิดแบบคนงอแงมาก่อน เส้นชัยของผมจะสั้นมาก วันนี้จะดูหนังให้ครบ เพื่อจะมีไอเดียคิดงาน หาข้อมูล ทำรีเสิร์ช ได้ไอเดีย ก็จบเป้าหมายแล้ว ยิ่งโต เส้นชัยของผมยิ่งสั้นลง บางคนอาจจะมองอนาคต แต่เส้นชัยของผมสั้นลงเรื่อยๆ แล้วผมสบายใจ ซึ่งมันก็อาจจะทำไม่ได้ทุกคน

ไม่มีความฝันสูงสุดหรือเส้นชัยใหญ่ๆ ที่อยากไปให้ถึงเลยเหรอ

ตั้งแต่เด็ก ผมอยากทำอะไรก็ได้ที่รู้สึกว่าไม่ติดกับดักบางอย่าง แล้วความรู้สึกนั้นมันเคลียร์ไปได้ประมาณหนึ่ง เพราะผมรู้สึกว่าได้ทำในสิ่งที่อยากทำแล้ว ผมว่าความรู้สึกนั้นแหละที่อาจจะมองว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว

ติดตามผลงานของ TRYSTAND ได้ที่

Facebook: TRYSTAND

Instagram: trystandx