Art

‘ตุ้ย’ – ทศพร รุ่งวิทยา กับ 18 ปี ที่อยู่เบื้องหลังงานพากย์ของ Disney

ถ้าพูดถึงคนที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ หรือการ์ตูนอนิเมชั่น ‘พากย์ไทย’ หลายๆ คนคงจะต้องนึกถึงเหล่า ‘นักพากย์’ อย่างแน่นอน ซึ่งหนึ่งในงานพากย์ไทยที่ได้รับคำชมมาตลอด คงนี้ไม่พ้นภาพยนตร์ และการ์ตูนจาก ‘Walt Disney Studios’ แต่คนที่ EQ อยากพามาแนะนำให้รู้จักวันนี้ เขาไม่ใช่นักพากย์ แต่เป็นคนที่อยู่เบื้องหลังการส่งต่อความฝัน และจินตนาการจากสตูดิโอผู้สร้าง Mickey Mouse สู่เวอร์ชั่นภาษาไทย วันนี้เราจะพาทุกคนไปคุยกับ ‘ตุ้ย’ – ทศพร รุ่งวิทยา หรือที่บางคนรู้จักในนาม ‘พี่ตุ้ย’ หรือ ‘ครูตุ้ย’ กับเส้นทางตลอด 18 ปีของการทำงานร่วมกับ ‘Disney Character Voices International’ (DCVI) ในตำแหน่ง Director, Creative & Technical ที่แน่นอนว่าจะต้องไม่ธรรมดา ซึ่งเราจะพาผู้อ่านไปเจาะทุกขั้นตอนของการทำงาน Localization คอนเทนต์ของดิสนีย์กันเลยทีเดียว นอกจากนี้เรายังอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักอาชีพนักพากย์ให้มากขึ้น (แอบกระซิบว่า ช่วงท้ายบทความเราจะมีช่องทางสานฝันให้กับคนที่อยากก้าวเท้าเข้าสู่สายอาชีพนักพากย์มาฝากด้วย) ก่อนที่จะพาทุกคนไปเคลียร์ประเด็นร้อนบนโลกโซเชียลอย่าง ดราม่าแคสต์นักพากย์ไทยของภาพยนตร์ไลฟ์แอ็กชั่น ‘The Little Mermaid’ ที่กำลังเข้าฉายอยู่ในตอนนี้ ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มกันเลย

18 ปี บนเส้นทางงานพากย์ 

พี่ตุ้ยเล่าให้เราฟังว่า เขาเป็นคนที่ชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก โดยเขาเริ่มทำงานในสายนี้มาตั้งแต่ปี 1997 ด้วยตำแหน่ง ‘Chief Engineer’ เพื่อดูแลเรื่องการอัดเสียงอัลบั้มเพลงให้กับศิลปินต่างๆ ในประเทศไทย

“สมัยก่อนตอนที่ Music industry มันบูมในประเทศไทย มันมีการทำเพลงในสตูดิโอเยอะ พี่ก็ได้เข้ามาเป็น Chief Engineer ที่ Gecco Studio สำหรับดูแลเรื่องเพลงครับ แต่บังเอิญช่วงนั้นมีหนังอนิเมชั่น 2 เรื่องคือ เรื่อง ‘Mulan’ แล้วก็ ‘The Prince of  Egypt’ ที่ทาง Studio ได้รับผิดชอบดูแลการพากย์ภาษาไทยด้วย พี่เลยรับหน้าที่เป็นเหมือนกับ Supervisor คอยดูแลประสานงานกับ Director ซึ่งเมืองนอกส่งมาดูแลเรื่องการพากย์ และ ร้องสำหรับหนัง 2 เรื่องนี้ครับ” พี่ตุ้ยเล่าให้ฟังถึงโอกาสในการทำงานเบื้องหลังงานพากย์โปรเจกต์แรกๆ ให้กับ Disney 

เวลาล่วงเลยผ่านไป 8 ปี ในปี 2005 โอกาสที่พาพี่ตุ้ยเข้าสู่การทำเบื้องหลังงานพากย์อย่างเต็มตัวก็มาถึง เมื่อ Disney ประกาศเปิดตัว ‘Disney Channel’ ในประเทศไทย และต้องการคนที่มาทำงานตรงนี้ พี่ตุ้ยจึงถูกเรียกตัวเข้าไปสัมภาษณ์

“พอเขาสัมภาษณ์เราเนี่ย เขาก็ถามว่า คุณตุ้ยทำอะไรได้บ้าง? ก็บอกไปว่า ผมจบบริหารครับ ผมเล่นดนตรีได้ คุมร้องได้ มิกซ์เสียงได้ ผมเป็น Sound Engineer ครับ มันครบองค์ประกอบ คือเราเป็นเป็ดที่ทำได้ทุกอย่าง (หัวเราะ) เขาก็บอก เออ คุณเหมาะ เขาก็เลยเลือกเราเข้ามาทำงานตั้งแต่นั้น”

ต่อมาในปี 2008 พี่ตุ้ยได้รับโอกาสให้ย้ายไปประจำการอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ จากหน้าที่รับผิดชอบงานพากย์ และงานสร้างสรรค์ฝั่งประเทศไทย ก็ถูกขยายสู่หน้าที่รับผิดชอบในฝั่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก่อนที่จะถูกย้ายไปประจำการที่ประเทศฮ่องกงในปี 2011 ด้วยหน้าที่รับผิดชอบเดิม

ท้ายที่สุดเมื่อทางวอลท์ดิสนีย์มีการปรับโครงสร้างอีกครั้งในปี 2015 ทำให้พี่ตุ้ยถูกย้ายมารันทีมฝั่ง South East Asia ที่แยกตัวออกมาเป็นแผนกใหม่ “พี่เลยบอกว่า ได้นะ แต่ขอกลับประเทศไทยแล้ว เพราะว่าอยู่เมืองนอกมาครึ่งชีวิตแล้ว ขอกลับมาอยู่ประเทศไทยดีกว่า ก็เลยมา Base ที่นี่ จะได้ทำงานง่ายขึ้น เพราะเราทำงานใกล้ชิดกับทีมที่เมืองไทยมากที่สุดอยู่แล้ว”

“ทำตั้งแต่ปี 2005 จนถึงตอนนี้ 2023 ก็ 18 ปีแล้วที่อยู่ในวงการนี้มา ก็ทำหนังมาหลายเรื่องครับ ตั้งแต่เรื่องแรกเป็น ‘Chicken Little’ จนมาล่าสุด ‘Elemental’ ที่กำลังทำอยู่ แล้วก็ที่กำลังเข้าฉายตอนนี้ คือ​​ ‘The Little Mermaid’ ครับ”

จากประสบการณ์ทำงานเบื้องหลังให้ Walt Disney มาร่วม 20 ปี ทำให้เราสนใจว่า แต่ละโปรเจกต์ของดิสนีย์ที่ถูกนำเข้ามาเผยแพร่ในไทย ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง? และพี่ตุ้ยก็เล่าให้เราฟังได้อย่างละเอียดยิบ

ขั้นตอนสุดพิถีพิถันของงาน Localization จาก Disney Character Voices International

พี่ตุ้ยเล่าให้เราฟังว่า การทำงานของ Disney Character Voices International คือการทำ ‘Localization’ หรือการแปลเนื้อหาเป็นภาษาท้องถิ่น ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ภาพยนตร์ ซีรีส์ ไปจนถึงสินค้า หรืออีเวนต์ต่างๆ ที่จะถูกนำเข้าไปเผยแพร่ในประเทศนั้นๆ

“การแปลสำหรับงาน Consumer Products ที่เข้ามาขาย เราก็จะไปดูกับทีมว่า โอเค คำนี้ควรจะแปลว่าอะไรนะ ต้องให้ทุกทีม ทุกแผนกเห็นร่วมกันว่า เออ ชื่อนี้เหมาะสำหรับประเทศไทย แต่บางอันเราก็ไม่แปล เราใช้ทับศัพท์” พี่ตุ้ยเล่าให้ฟังถึงการทำ Localized สินค้าต่างๆ

แต่ในการแปลเนื้อหาที่เป็นภาพยนตร์มีรายละเอียดที่มากกว่านั้น ซึ่งเจ้าตัวก็เล่าให้เราฟังอย่างครบถ้วนเลยทีเดียว

“ภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นอนิเมชั่น หรือเป็นซีรีส์ก็ตาม เมื่อมีงานเข้ามาปุ๊บ ทางเมืองนอกเขาจะแจ้งมาเลย เช่น 4 ปีข้างหน้าจะมีหนังเรื่องนี้นะ เราก็จะมาร์กในปฏิทินแล้วว่า เออ มันจะมีเรื่องนี้เข้ามา พอใกล้ๆ จะถึง ประมาณปี สองปีก่อนหน้า เขาก็จะเริ่มมี materials ส่งมาให้” พี่ตุ้ยอธิบาย

Material ที่ว่านี้อาจจะเป็นภาพยนตร์คัทแรกจากผู้กำกับ ที่ส่งมาให้ทางทีมดูล่วงหน้า เพื่อเช็คว่ามีตัวละครอะไรบ้าง หนังเรื่องนั้นๆ เป็นหนังประเภทใด ก่อนที่พี่ตุ้ยจะส่งงานนั้นๆ ต่อให้กับสตูดิโอที่เหมาะสมในการดูแลงานพากย์ เสร็จจากการมอบหมายงานให้สตูดิโอแล้ว ก็จะเข้าสู่การคัดเลือกผู้กำกับที่เหมาะสมกับประเภทของหนังเรื่องนั้นๆ หลังจากนั้นทางทีมจะทำการประชุมเพื่อคัดเลือกคนแปลบทพากย์ และซับไตเติ้ลของหนังต่อไป

“เราจะเลือกคนแปลร่วมกันนะครับ เพราะว่าทาง Subtitle และบทพากย์จะได้ไม่หลุดจากกันเยอะ เพราะถ้าเป็นคนละคนเนี่ย บางทีหนังแปลออกมาคนละเรื่องเลยนะ” พี่ตุ้ยเสริมก่อนอธิบายต่อว่า  หลังจากคัดเลือกนักแปลได้แล้ว ทีมจะทำการประชุมอีกหนึ่งรอบ เพื่อที่จะวางแผนคัดเลือกนักพากย์ที่จะมารับบทตัวละครต่างๆ ในเสียงไทย

“พอลงตัวแล้วว่า โอเค เราต้องแคสต์กี่คน เมืองนอกก็จะส่งข้อมูลมา เรียกว่า Creative Letter ก็จะบอกละเอียดเลย ตัวละครหลักมีกี่ตัว อายุของตัวละครในเรื่องเท่าไร คนที่มาให้เสียงออริจินัลอายุเท่าไร คุณลักษณะของเสียงเป็นอย่างไร บุคลิกเป็นอย่างไร ถ้ามีร้องด้วยก็จะบอกเลยว่า ต้องร้องแบบไหน สไตล์การร้องแบบไหน โน้ตตัวต่ำสุดตัวไหน ตัวสูงสุดตัวไหน แล้วแต่ละตัวก็จะมีรายละเอียดหมด แต่ตัวที่เป็นไมเนอร์ออกมาประโยคเดียว อยู่ข้างทางเนี่ย ก็จะเป็นสิทธิ์ของทางทีมเรา แต่ตัวหลักๆ ส่วนใหญ่จะต้องโดนแคสต์” 

ใช่ว่าในการแคสต์แต่ละตัวละครจะมีตัวเลือกแค่ตัวเลือกเดียวเท่านั้น เพราะทางทีมจะต้องมีตัวเลือกสำรองไว้ เพื่อคัดเลือกว่าใครเหมาะสมกับบทพากย์นั้นๆ มากที่สุด ซึ่งพี่ตุ้ยอธิบายว่า ในการพากย์เสียงแต่ละบทเราอาจจะไม่สามารถก็อปปี้เสียงของต้นฉบับได้เหมือนเป๊ะ แต่เราสามารถทำให้ใกล้เคียงที่สุดได้ โดยปรับจากข้อจำกัดที่เรามีอยู่ เพื่อให้ได้เสียงที่ represent ตัวละครนั้น เหมาะสมที่สุดกับตลาดของเรา และสิ่งที่เรามีจริงๆ พอทีมคัดตัวเลือกนักพากษ์ที่เหมาะสมได้แล้ว ก็จะส่งช้อยส์เหล่านั้นไปให้ทางหัวหน้าทีมฝั่งอเมริกาคัดเลือกอีกครั้ง และเมื่อทางฝั่งอเมริกาเคาะนักพากย์กลับมาแล้ว กระบวนการให้เสียงพากย์ก็จะเริ่มขึ้น

“นักพากย์เขาอาจจะมีโอกาสได้เข้ามาดูหนังก่อน ได้เข้ามาซ้อมเพลงก่อน แต่เราไม่สามารถส่งอะไรให้เขาได้ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล ต้องมานั่งดูหนังในห้องสตูดิโอเท่านั้น พอถึงขั้นตอนในการอัดผมก็จะเป็นคนเข้ามาดู”

หลังจากอัดเสียงพากย์เสร็จแล้ว ก็จะถูกส่งไปตรวจสอบโดย Disney ที่อเมริกา หากมีจุดที่ต้องการปรับแก้ ทางทีมก็จะทำการแก้ไขตามที่ได้รับแจ้งมา เมื่อผ่านการ approve แล้วก็จะถูกนำไปมิกซ์ที่ประเทศอังกฤษ (พี่ตุ้ยแอบกระซิบว่า เสียงพากย์ทุกภาษาในโลกจะถูกมิกซ์ที่นี่ทั้งหมด และเป็นทีมที่มิกซ์เสียงให้ดิสนีย์มากว่า 20 ปีแล้ว) หลังจากการมิกซ์เสียงเสร็จจะมีการตรวจสอบคุณภาพ ก่อนที่จะส่งไปยังสตูดิโอที่อเมริกา เพื่อทำการ mastering เป็นดิจิทัลแพ็กเกจสำหรับฉายในโรงภาพยนตร์ต่อไป 

“ทั่วโลกก็มิกซ์ที่เดียวกันหมด เพราะฉะนั้นจะบอกว่า มิกซ์ไม่เหมือนเขา มิกซ์ดีไม่สู้ประเทศอื่นๆ ก็ไม่ถูก เราไม่เคยปล่อยงานที่คุณภาพไม่ดีออกไปนะ แต่ถูกใจคุณหรือเปล่า อันนี้อีกเรื่องหนึ่ง”

เห็นว่าทางทีม Disney Character Voices International ทำงานละเอียดทุกขั้นตอนขนาดนี้ (ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย) เราเลยอยากให้ทุกคนได้ลองเปิดใจฟังเสียงพากย์ไทยดูสักครั้ง ดังนั้นก็คงต้องถามกับเจ้าตัวเลยว่า เสน่ห์ของหนัง ‘พากย์ไทย’ ในมุมมองของคนทำเบื้องหลังงานพากย์คืออะไร?

ความเป็นไทยที่ถูกเพิ่มลงไปในหนัง Disney

พี่ตุ้ยเล่าให้เราฟังว่า เสน่ห์ของหนังพากย์ไทยมีหลากหลายมากๆ อย่างหนึ่งที่ชัดเจนเลยคือ มันทำให้เราสามารถชมภาพยนตร์ ‘โดยที่ไม่ต้องละสายตาไปมองซับไตเติ้ล’ ซึ่งทำให้สามารถรับอรรถรสของภาพยนตร์ได้อย่างเต็มที่ทั้งภาษา และการแสดงของนักแสดง ผ่านบทพากย์ที่ถูกแปลมาอย่างดี เพื่อให้สื่อสารตัวละครออกมาได้สมบูรณ์ที่สุด นอกจากนี้ยังมีเรื่องของมุขตลก และบริบทของภาษาที่ถูกปรับให้เข้าใจง่ายขึ้น เช่น การปรับชื่อ ‘Samantha’ ให้กลายเป็น ‘จินตหรา’ ในบทพูดของ โอลาฟ จากเรื่อง Frozen 2 ที่พี่ตุ้ยบอกว่าการปรับจุดเล็กๆ นี้กลับได้ผลดีเกินคาด “คนก็หัวเราะกันทั้งโรงในฉากนั้น” 

“พี่รู้สึกว่า เสน่ห์ของพากย์ไทยคือ การที่เรามีโอกาสที่จะใส่ความเป็นไทยเข้าไปในหนังของเขาได้ โดยที่ไม่ทำให้เสียหนังนะ”

โดยที่พี่ตุ้ยมองว่า การแปลบทพากย์เป็นภาษาไทย ในบริบทที่คนไทยเข้าใจ จะทำให้คนดูสามารถมีอารมณ์ร่วมได้ง่ายขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นพี่ตุ้ยก็ยังคงยืนยันกับเราอย่างชัดเจนว่า “ออริจินัลคือดีที่สุด ดูเถอะ ชอบแบบไหนดูแบบนั้น ดีทั้งคู่ เราก็พยายามทำตรงฝั่งเสียงพากย์ให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่มันก็อย่างว่าแหละ มีทั้งคนชอบ และคนไม่ชอบ”

FYI: พี่ตุ้ยบอกว่า จากสถิติของดิสนีย์ในปัจจุบัน คนที่รับชมหนังพากย์ไทยโดยรวมมีจำนวนมากกว่า คนที่รับชม Original Soundtrack ทั้งในช่องทางสตรีมมิ่ง และในโรงภาพยนตร์

อีกหนึ่งเสน่ห์ของหนังพากย์ไทยที่พี่ตุ้ยบอกเราคือ การสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับวงการแสดงของบ้านเรา ซึ่งนับว่าเป็น Soft Power อย่างหนึ่งที่ทำให้ ประเทศเรามีที่ยืนบนโลก โดยเจ้าตัวบอกว่า งานพากย์เสียงคือ ศิลปะแขนงหนึ่งที่คนไทยมีทักษะที่ดีมาก 

“อันนี้พี่กล้าพูดได้เลย เพราะว่าพี่ดูงานของหลายประเทศมาก ทีม DCVI เราทำงานทั่วโลก เวลาประชุมด้วยกัน แล้วเราจะเห็นเวอร์ชั่นนู้น เวอร์ชั่นนี้ เห็นทุกเวอร์ชั่นจากทั่วโลก เราไปนั่งดูแล้วรู้สึก เฮ้ย ไม่แพ้เว้ย เราไม่แพ้ ถ้าไปดูคลิป Multi Languages ที่ดิสนีย์ตัดออกมา ก็จะมีเสียงไทยอยู่ในนั้นเกือบทุกคลิป”

พี่ตุ้ยยังบอกกับเราอีกว่า ทุกขั้นตอนในการทำงาน Localization เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสอน ในฐานะบุคลากรที่ทำงานในกระบวนการนี้ เขาจึงพยายามจะเทรนคนรุ่นใหม่ให้ก้าวเข้าสู่วงการนี้มากขึ้น ได้ฟังแบบนี้แล้วหลายๆ คนที่อยากทำงานพากย์ คงสงสัยกันแล้วว่า จะต้องเริ่มอย่างไรดี หรือจะต้องทำอย่างไรให้ได้เข้าไปอยู่ในวงการนี้?

มอง ‘นักพากย์’ จากมุมของคนเบื้องหลังงานพากย์

“วงการนี้จริงๆ เราเปิดกว้างนะครับ แต่คนไม่ค่อยเห็นประตูเราเท่านั้นเอง” 

นี่คือ คำตอบที่เราได้จากพี่ตุ้ย เมื่อถามว่า ทำไมเราถึงไม่ค่อยรู้ว่า ถ้าอยากเป็นนักพากย์ต้องทำอย่างไร หรือติดต่อใคร? ซึ่งเจ้าตัวบอกกับเราว่า ต้องยอมรับก่อนว่า วงการพากย์ในบ้านเราเป็นสายงานที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม ซึ่งในยุคก่อนนักพากย์จะอยู่ในสังกัดของสถานีโทรทัศน์ต่างๆ หรือเป็นนักพากย์ภายใต้สังกัดใหญ่ เช่น ทีมพากย์พันธมิตร แต่ในปัจจุบันนักพากย์เป็นฟรีแลนซ์กันมากขึ้น และมีสตูดิโอให้เหล่านักพากย์ได้ร่วมงานมากขึ้นด้วย

“ถ้าย้อนกลับไปที่คำถามว่า อยากเป็นนักพากย์จะทำอย่างไร? อย่างแรกเลยคือ ฝึกก่อนครับ” พี่ตุ้ยเริ่มเปิดประเด็น ก่อนที่จะอธิบายต่อว่า คุณสมบัติที่นักพากย์จะต้องมีคือ ‘ต้องอ่านภาษาไทยชัด คล่อง และอ่านหนังสือภาษาไทยแตก’ หมายความว่า เขาเหล่านั้นจะต้องเข้าใจความหมายของแต่ละคำในประโยค รู้ว่าต้องเน้นคำไหน นอกจากนี้นักพากย์จะต้องมี ‘ทักษะในการแสดง’ อีกด้วย ทั้งการสื่อสารการแสดงผ่านการพูด และการร้องเพลง 

เมื่อฝึกทักษะของตัวเองแล้ว วิธีการที่ดีที่สุดคือ ส่งเดโม่ไปให้กับสตูดิโอต่างๆ ซึ่งพี่ตุ้ยบอกว่าสามารถส่งตรงหาเขาเลยก็ได้เช่นกัน (ซึ่งเราได้ใส่วิธีการอัดเดโม่ และช่องทางของพี่ตุ้ยไว้ให้ที่ท้ายบทสัมภาษณ์เรียบร้อยแล้ว) นอกจากนี้เขายังบอกอีกด้วยว่า บางครั้งตัวเขาเองก็จะเข้าไปแจ้งข่าวใน Club House เพื่อที่จะเทรนคนรุ่นใหม่ และแคสต์คนเข้ามาร่วมงานด้วย (ซึ่งมีให้การจัดอยู่ตลอด สามารถเข้าไปติดตามกันได้)

“การพากย์เสียงไม่มีที่ไหนสอน แล้วผู้กำกับเองก็พยายามที่จะสร้างคนใหม่ๆ ขึ้นมา แต่ก็ไม่มีเวลาจะปั้นทุกๆ คน ดังนั้นเมื่อเขาฝึกจนเก่งแล้ว ส่งเดโม่เข้ามาแล้ว ถ้าผู้กำกับเห็นว่า เสียงเหล่านั้นเหมาะกับตัวละคร ก็จะเรียกมาลองแคสต์ ถ้าพากย์ได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็เปลี่ยนตัวใหม่ แต่อย่างแรกก่อนคือ ต้องฝึก ต้องเป็นคนอ่านหนังสือคล่อง ชัด แล้วก็กล้าที่จะแสดงออก” 

เมื่อรู้ช่องทาง �