Daily Pickup

Rules of the Versailles: คู่มือการเอาตัวรอดในพระราชวังแวร์ซาย 101

พระราชวังแวร์ซาย (Versailles) คงเป็นหนึ่งในสถานที่อันดับต้นๆ ที่หากพูดถึงฝรั่งเศสแล้วก็คงจะนึกถึงกัน ในหนึ่งปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนที่พระราชวังแห่งนี้กว่า 15 ล้านคน ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และเป็นที่นิยมที่สุดในโลก หากพูดถึงประวัติคร่าวๆ ของที่นี่ เชื่อว่าหลายๆ คนทั้งที่เคยไปชมของจริง และผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ทั่วไป อาจคุ้นเคยว่ามันถูกสร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 โดยแต่เดิมเป็นเพียงกระท่อมล่าสัตว์เล็กๆ สำหรับพักชั่วคราวเท่านั้น และมันก็ถูกบูรณะครั้งใหญ่โดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อเป็นศูนย์กลางที่ใช้สำหรับปกครอง และเป็นที่พำนักของราชวงศ์อย่างยาวนานจนถึงยุคปฏิวัติฝรั่งเศส ปัจจุบันนี้พระราชวังยังอยู่ในสภาพดี และเปิดให้ประชาชนเข้าชมได้ ด้วยความหรูหราโอ่อ่า ห้องจำนวน 700 ห้อง และพื้นที่ที่กว้างกว่าใครจะจินตนาการได้ แน่นอนว่า การใช้ชีวิตอยู่ภายในสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ตั้งแต่ลืมตาตื่นยันเข้านอน ทุกอย่างมีกฎ และข้อบังคับที่ไม่ว่าใครก็ต้องปฏิบัติตาม บทความนี้จะพาทุกคนย้อนเวลากลับไปสู่ยุครุ่งเรืองของพระราชวังแห่งนี้ และลองได้ไปใช้ชีวิตในวังแวร์ซายสักหนึ่งวัน

Photo Credit: Parisian Moments

จง ‘ข่วนประตู’ แทน ‘เคาะประตู’

ไม่ว่าคุณจะมีตำแหน่งยศศักดิ์สูงหรือต่ำแค่ไหน ก็ห้ามกระทำการ ‘เคาะประตู’ ไม่ว่าจะด้วยกรณีใดทั้งสิ้น นอกจากนั่นจะเป็นการกระทำที่หยาบคายมากแล้ว ยังส่อถึง ‘สันดานไพร่’ อีกด้วย (ใช่ เขาใช้คำนี้อธิบายความไม่สุภาพของการเคาะประตูจริงๆ) โดยเฉพาะการเคาะประตูห้องของพระราชา แทนที่จะใช้การเคาะ ข้าราชบริพารจะใช้วิธี ‘ข่วนประตู’ แทน ซึ่งพวกเขามักจะไว้เล็บหนึ่งเล็บให้ยาวกว่าเล็บอื่น เพื่อการข่วนประตูโดยเฉพาะ แต่หากเป็นผู้ที่มียศศักดิ์ การจะแจ้งให้อีกฝ่ายทราบถึงการมาถึงของตน ต้องแจ้งผ่านคนรับใช้ซึ่งจะเป็นคนรับหน้าที่เรียกอีกฝ่ายให้แทน

กระโปรงที่มีแพนเนียร์อยู่ด้านใน

ในพระราชวังแวร์ซายยังมีเรื่องของประตูอยู่อีก  เพราะประตูจำนวนมากมีลักษณะเป็นประตูสองบานติดกัน (Double-doors) แต่ข้าราชบริพาร และแขกทั่วไปจะสามารถเดินผ่านประตูได้เพียงด้านเดียวเท่านั้น ไม่ว่าอย่างไรคนเปิดประตูก็จะไม่เปิดทั้งสองบานให้ แม้ว่าคุณจะใส่กระโปงแพนเนียร์กว้างเกือบเมตรก็ตาม เพราะคนที่จะมีสิทธิ์นั้นคือ พระราชาและคนสนิทของพระองค์เท่านั้น นั่นเป็นการบ่งบอกว่า พวกเขามีอำนาจเหนือกว่าคุณ

Photo Credit: Davide Fiore

เข้าห้องน้ำตามสะดวก แม้เราจะไม่มีห้องน้ำให้คุณ

แม้ชีวิตในวังแวร์ซายจะมีกฎบังคับยิบย่อยมากมาย แต่เรื่องของการทำธุระไม่ว่าจะหนักหรือเบา เราสามารถทำได้ทันที ณ ที่ที่ต้องการ ตามใจปรารถนา ตามบันทึกของดยุคแห่งเซนต์ ซิมง หลุยส์ เดอ รูฟรอย (Louis de Rouvroy) ได้กล่าวว่า สิ่งที่อยู่ในความทรงจำของเขาเกี่ยวกับวังแห่งนี้คือ การที่เจ้าหญิงมารี ฟร็องซวซ แห่ง บรานคาส (Marie Françoise de Brancas) ปลดทุกข์ทั้งหนัก และเบาเป็นประจำตามโถงทางเดิน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของบรรดาคนใช้ที่จะต้องตามเก็บกวาด ซึ่งการเข้าห้องน้ำที่ไหนก็ได้ตรงไหนก็ได้ มาจากความคิดของเธอที่ว่า ภายในร่างกายของเจ้านั้น มีเลือดแห่งเกียรติยศไหลเวียนอยู่ ซึ่งเมื่อปวดห้องน้ำ การแวะไปเข้าห้องน้ำจริงๆ ไม่สมกับฐานะของตัวเธอเอง ซึ่งเวลาเธอปลดทุกข์ เธอมักจะทำขณะที่เดินอยู่ไปด้วย และด้วยความที่ไม่มีระบบประปาภายในวัง ของเสียจากร่างกายมนุษย์จึงปรากฎอยู่แทบจะทุกที่ ส่งผลให้แขกของวังต่างก็รู้กันดีว่า ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องกลิ่นเหม็นมากๆ

Photo Credit: WTTW

สาวๆ จะลืมอะไรก็ได้ แต่ห้ามลืมฝึกเดิน

การ ‘เปิดตัว’ ต่อหน้าราชา และราชินีที่พระราชวังแวร์ซายนั้น ถือเป็นใบเบิกทางอย่างเป็นทางการสู่การเข้าร่วมราชสำนัก การเปิดตัวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะฉะนั้น ข้าราชสำนักหน้าใหม่ต่างก็ต้องแต่งองค์ทรงเครื่องให้เหมาะสมที่สุด (เรากำลังพูดถึงชุดกระโปรงแบบที่หลายๆ คนคงเคยเห็นกันในภาพยนตร์ หรือซีรีส์) สาวๆ เหล่านั้นจะต้องใส่กระโปรงที่ทั้งยาว และหนัก แต่สิ่งที่ลำบากที่สุดคือ ‘คอร์เซ็ตที่ทำจากกระดูกวาฬ’ ที่จะคอยรัดร่างของพวกเธอจนแทบจะเดินไม่ไหว นั่นทำให้พวกเธอต้องฝึกเดินสำหรับการเปิดตัวนี้โดยเฉพาะ เพราะระหว่างการเปิดตัว จะมีหลายโอกาสที่ต้องถอนสายบัว ซึ่งการถอนสายบัวปกติก็ว่ายากแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นพวกเธอต้องทำทุกอย่างแบบ ‘ถอยหลัง’ นั่นก็เพราะว่า การหันหลังให้กับราชวงศ์ รวมไปถึงภาพวาดของราชา ถือเป็นเรื่องที่หยาบคายมากๆ ดังนั้นพวกเธอจะไม่มีสิทธิ์หันหลังเด็ดขาด หากต้องการจะออกจากงาน ก็ต้องเดินถอยหลังอย่างสง่างาม โดยมั่นใจว่าจะไม่สะดุดล้ม และสร้างความอับอายให้กับตัวเอง ซึ่งโมเมนต์เหล่านี้นับว่าเป็นตัวตัดสินอนาคตของสาวๆ หลายคนได้เลยว่าจะรุ่งหรือจะร่วง

Photo Credit: The Metropolitan Museum of Art

ขอนั่งตรงนี้ได้หรือไม่

สิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างเมื่อคุณอยู่ที่พระราชวังแวร์ซายคือ ‘ที่ที่คุณนั่ง’ ที่นั่นจะมีกฎระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ใครสามารถนั่งตรงไหนได้ และนั่งได้เมื่อไร ซึ่งกฎที่เป็นสากลสำหรับทุกคนในวังคือ ไม่มีใครสามารถนั่งได้หากอยู่ต่อหน้าราชา และราชินี เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นสมาชิกราชวงศ์เช่นกัน ซึ่งมีเพียงราชา และราชินีเท่านั้นที่จะมีเก้าอี้นวมประจำตัว เว้นเสียแต่ว่าจะมียศเป็นราชา และราชินีเท่าเทียมกันจึงจะได้นั่งเก้าอี้นวม บรรดาเจ้าชาย เจ้าหญิง หรือญาติของราชวงศ์จะสามารถนั่งได้บนเก้าอี้ไม่มีแขน ส่วนดยุค และดัชเชสจะได้นั่งเก้าอี้สตูล ส่วนคนที่เหลือมีสิทธิ์แค่ยืนเท่านั้น ผู้ที่ยศน้อยกว่าจะมีโอกาสได้นั่งต่อหน้าราชาได้ก็ต่อเมื่ออยู่โรงละคร โบสถ์ หรือเวลาเล่นไพ่ และหากเป็นผู้ดียศสูงล่ะก็ เมื่อมีแขกมาเข้าพบ พวกเขาไม่จำเป็นต้องลุกจากเตียงไปต้อนรับเสียด้วยซ้ำ สามารถพบได้แม้ขณะนอนอยู่บนเตียงเลย

เรื่องของตำแหน่งที่นั่งถือเป็นเรื่องของการเมืองอย่างหนึ่ง และมักเป็นที่ถกเถียงกันประจำ รวมไปถึงมีคนมากมายที่พยายามอย่างมากเพียงเพื่อจะได้สิทธิ์ในการนั่งบนเก้าอี้สตูลในห้องเดียวกันกับพระราชา

Photo Credit: Paris Unlocked

ปากหวานเข้าไว้แล้วทุกอย่างจะดีเอง

หากได้มีโอกาสได้พูดคุยกับใครก็ตาม การ ‘ชม’ เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ และถือเป็นการเสียมารยาทอย่างยิ่งหากไม่มีการเอ่ยชมคู่สนทนาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า ทุกคนต้องเตรียมคำชมเอาไว้เสมอ แต่พึงระลึกไว้ว่า ห้ามใช้คำชมเดิมซ้ำกันกับคนคนเดิม และระวังอย่าเอ่ยชมคนสองคนที่รู้จักกันดีด้วยอะไรที่คล้ายกัน ส่วนเรื่องที่นำมาชมได้ เช่น ความสำเร็จของคนในครอบครัวของคู่สนทนา แต่มันจะดียิ่งกว่าหากชมอีกฝ่ายด้วยความสำเร็จของตัวเขาเอง ที่ต้องระวังมากๆ คือการชมเสื้อผ้าที่คู่สนทนาสวมใส่อยู่ เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าเขาคิดอย่างไรกับมัน หากจะชมเกี่ยวกับตัวบุคคล เน้นไปที่เรื่องของมารยาทที่ดี และความสง่างามจะดีกว่า คำชมเหล่านี้มีความสำคัญกับตัวผู้พูดเป็นอย่างมาก มันสามารถกำหนดสถานะ และความเป็นอยู่ของคนๆ หนึ่งในวังอันใหญ่โตแห่งนี้ได้ หากเป็นผู้ที่ฉลาดในการพูด หรือเรียกง่ายๆ ว่า ‘อยู่เป็น’ อาจไต่เต้าไปได้ไกลจนมีสิทธิ์ที่จะนั่งต่อหน้าองค์ราชาก็เป็นได้

Photo Credit: Condé Nast Traveler

พระราชวังมรดกโลกของยูเนสโก หลักฐานอันสำคัญของศิลปะสไตล์ฝรั่งเศส

พระราชวังแวร์ซาย และสวนได้รับเลือกให้เป็นแหล่งมรดกโลกของยูเนสโกในปี 1979 อันเนื่องมาจากความสำคัญในฐานะศูนย์กลางทางอำนาจศิลปะ และวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 17 ถึง 18 ซึ่งความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่หลักฐานทางวัฒนธรรม และชีวิตของราชวงศ์ แต่มันยังเป็นหลักฐานของความเหลื่อมล้ำในประเทศฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 อันเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่การปฏิวัติครั้งใหญ่ และจุดจบของราชวงศ์ฝรั่งเศส หากใครมีโอกาสได้ไปเที่ยวฝรั่งเศส ก็อย่าลืมแวะพิสูจน์ความสวยงามของพระราชวังแวร์ซายล่ะ

อ้างอิง

Geni Kuckhahn
Party like 1660

Etiquipedia

Wikipedia

Medium

This is Versailles Madame