Art

เชิญชมความคิวท์ไม่ซ้ำใคร เมื่อจับ ‘เจ้านั่น’ มาแต่งตัว กับ NFT Project: Which is your D*ck

เมื่อพูดถึงอวัยวะเพศของผู้ชาย AKA เจ้าโลก (Dick) หรือที่เราจะเรียกมันว่าเจ้านั่นหลังจากนี้ คุณมีภาพจำกับมันแบบไหนกันนะ ไซส์ สี รูปร่าง เป็นยังไง หรือวางบริบททางงานศิลปะไว้ประมาณไหน คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติทั่วไป ชื่นชมได้ในฐานะงานศิลป์ หรือยกมือขึ้นบังตาเวลาได้เห็นมัน

จริงๆ ถ้ามีโอกาสได้ย้อนไปดูงานศิลปะย้อนกลับไปช่วงหลายร้อยหลายพันปีก่อน เราก็จะได้เห็นรูปเจ้านั่นอยู่ในผลงานมาโดยตลอด แต่กับใครที่ยังไม่คุ้นชินหรือมองว่ามันดูสัปดนไป เราอยากจะชวนเปิดใจให้กว้างอีกนิดหนึ่ง พร้อมชม NFT Project “Which is your D*ck” ความน่ารักครั้งใหม่ที่มีพระเอกเป็นเจ้านั่น ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้คุณเปลี่ยนภาพจำที่เคยมี และหลงใหลไปกับงานนี้อย่างแน่นอน

ปิ๊งไอเดียจาก Memes ฮิต 

ป๊อก - สถาพร มั่งมีธนวงศ์ 3D Artist เจ้าของเพจ Graphic Income ผู้สร้างโปรเจกต์ Which is your D*ck เล่าให้ฟังว่า เขาปิ๊งไอเดียขึ้นมาง่ายๆ จากมีมที่เคยเป็นกระแสไวรัลชิ้นหนึ่ง

“ผมเคยไปเจอมีมอันหนึ่งมันตลกมาก เคยเป็นไวรัลในไทยอยู่ช่วงหนึ่ง เป็นรูปห้องน้ำสาธารณะที่มีป้ายแปะว่าถ้าเจ้านั่นเป็นไซซ์ปกติก็จ่ายค่าเข้า 5 บาท แต่ถ้าใหญ่กว่าปกติก็จ่าย 20 บาท ตอนนั้นก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาว่ามันน่าจะเอาทำเป็นงาน NFT ได้ ผมเลยเอาเจ้านั่นมาดีไซน์เป็นคาแรกเตอร์หลัก แล้วเพิ่มความน่ารักกับความทันสมัยด้วยการทำชุดให้ต่างกันไป เหมือนเล่นแต่งตัวตุ๊กตา ในคอนเซ็ปต์ไม่เกี่ยวกับขนาด สี หรือรูปร่าง แค่เลือกอันที่คุณชอบก็พอแล้ว”

ตามคำโปรยหน้าโปรไฟล์ของโปรเจกต์ที่ว่า

It not about size

It not about shape

It not about color

Just choose D*ck what you love 

ขณะที่คนบางส่วนมอง ‘เจ้านั่น’ เป็นเรื่องไม่สุภาพ แต่ทำไมคุณถึงได้แรงบันดาลใจจากมัน?

ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ศิลปินสามารถเอามาทำงานศิลปะได้ถ้าเขามีความสนใจ ส่วนคนเสพงานก็เป็นเรื่องปกติที่มีทั้งชอบและไม่ชอบ มันไม่ใช่เรื่องถูกผิด แต่เป็นเรื่องของสิทธิและความสนใจ ผมก็แค่ทำงานน่ารักๆ ในแบบที่ตัวเองชอบ 

“ผมพยายามดีไซน์ให้คนไม่มองมันเป็นแค่เรื่องเพศหรือมองว่ามันน่าเกลียด อยากให้เจ้าตัวนี้มันเข้าถึงทุกคนได้ง่ายขึ้น ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากเหมือนกัน”

กระแสตอบรับจากผู้คน

กระแสตอบรับจากนักสะสมไทยค่อนข้างดีครับ ตอนโพสต์โปรโมทงานในกลุ่มเฟซบุ๊ค NFT and Crypto Art Thailand มีคนแชร์เยอะมาก ส่วนงานที่ลงขายบนแพลตฟอร์ม Paras ช่วงนี้มียอดซื้อเรื่อยๆ แต่บน Crypto.com อาจจะยังไม่เยอะ เพราะไม่ค่อยได้โปรโมตเท่าไหร่ครับ

ความแตกต่างของ NFT และไฟล์ภาพดิจิทัลบน Shutterstock 

ก่อนที่จะมาลุยตลาดคริปโทอาร์ตอย่าง NFT เห็นว่าคุณป๊อกเริ่มจากการขายภาพถ่ายและงาน 3D บน Shutterstock มาก่อนด้วย เลยอยากรู้ว่าในมุมมองศิลปินที่สัมผัสทั้งสองตลาดมาสักพักแล้ว มองเห็นมันมีความเหมือนและความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง 

“ความเหมือนคือระบบที่อิสระ มีความยืดหยุ่นในการทำงาน ทำงานได้ตามความสะดวกของเรา ส่วนความต่างผมมองว่าตลาด Shutterstock คือการซื้อไปเพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะและมีกลุ่มลูกค้าชัดเจน เช่น งาน 3D รูปกระปุกหมูหรือเหรียญต่าง ๆ ลูกค้าที่มาซื้อไปใช้ก็จะเป็นธนาคาร ตัวงานจะขายง่าย เพราะแค่ใส่ Keyword ลูกค้าก็หาเจอแล้ว แต่ตลาด NFT ลูกค้าจะมีทั้งคนที่อยากสะสมงานเราจริงๆ และคนที่อยากเก็งกำไร การขายจะยากกว่ามาก เพราะต้องทำการตลาดเอง ต้องโปรโมตเอง คนถึงจะมาเจอ” 

“เสน่ห์ของ NFT คือการทำให้เรารู้สึกว่าเป็นศิลปินจริงๆ เพราะต้องดันตัวเองจากการเป็นศิลปินโนเนมให้มีชื่อเสียงให้ได้ คนจะได้มาซื้องาน อารมณ์เหมือนเวลาไปเปิดร้านขายภาพตั้งแผงเพื่อโปรโมทงาน แค่อันนี้เป็นรูปแบบออนไลน์”

เขาอธิบายต่ออีกว่าการตลาดสำคัญมากกับ NFT ตอนนี้ศิลปินไทยที่สร้างผลงานเก่งๆ มีเยอะมาก แต่ยังขาดเรื่องการโปรโมตงาน หลายคนพลาดตรงนี้ เพราะใช้ทวิตเตอร์หรือโซเชียลมีเดียอื่นไม่เป็นหรือไม่โปรโมตสม่ำเสมอ แต่ถ้าเรียนรูเรื่องพวกนี้และทำเป็นก็จะเห็นโอกาส เพราะตลาดยังเติบโตได้อีกเยอะ Metaverse ก็กำลังมา

ถามตัวเองก่อนเข้าสู่โลก NFT

มาต่อกันที่เรื่องการทำงาน NFT ที่คุณบอกว่ามันยาก จากสิ่งที่ได้เรียนรู้มา นอกจากจะต้องโปรโมทให้เป็นแล้ว มีอะไรที่ศิลปินหน้าใหม่ควรทำอีกบ้าง?

ควรถามตัวเองก่อนครับว่า “ชอบมันจริงไหม” เพราะมันเป็นจุดวัดใจเลยว่าคุณจะไปต่อได้ไหม ตลาดมันเปลี่ยนแปลงตลอด วันนี้ขายงานได้ แต่พรุ่งนี้อาจจะขายไม่ได้เลยก็ได้ ยกตัวอย่างจากเคสของผมเองที่ลงขายงานแรกใน Opensea (โปรเจ็กต์ Cryptoplant Universe) แล้วสามารถขายได้ภายในวันเดียวด้วยราคา 0.09 ETH แต่กว่าจะขายชิ้นต่อไปได้ก็ใช้เวลาถึง 20 วัน ถ้าคุณชอบงานนี้จริงๆ ถึงจะท้อบ้างเวลาขายงานไม่ออก แต่มันจะมีแรงฮึดให้ไปต่อได้

ศิลปินต้องรู้จริง – กระจายความเสี่ยง

ปิดท้ายเคล็ด (ไม่) ลับ ฉบับป๊อก สถาพร ที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งกับโปรเจกต์ Which is your D*ck แม้จะไม่ค่อยได้โปรโมตเท่าไหร่ คือการรู้จักโลกคริปโทเป็นอย่างดี เพราะก่อนจะมาทำงาน NFT เขาเทรดคริปโตมาก่อน ซึ่งมันเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้รู้กระแสความต้องการของตลาดว่าเทรนด์ไหนกำลังมา เหรียญไหนกำลังเป็นที่สนใจ การสร้างงานจะได้ตรงกับความต้องการตลาด และที่สำคัญคือศิลปินควรหารายได้แบบกระจายความเสี่ยง 

“ถึงตลาดจะมีโอกาสเติบโตได้อีก แต่มันก็ขึ้นลงไปตามจังหวะ บางคนเข้ามาทำตรงนี้เพราะมองเรื่องรายได้เป็นหลัก อาจตัดสินใจยึด NFT เป็นงานหลัก แต่นั่นเป็นเรื่องที่ไม่แนะนำเลย จริงๆ ควรมีรายได้ประจำไว้ด้วยแล้วค่อยทำงานนี้เสริม เพราะว่ามันไม่แน่นอน การทำงานหลายอย่างจะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีที่สุด อย่างผมก็ทำเยอะมาก Shutterstock ก็ยังทำ มีขายภาพบนเว็บไซต์อื่น ทำโมเดล 3 มิติ ทำงาน NFT และทำคอร์สสื่อการสอนออนไลน์เกี่ยวกับการสร้างงาน 3D ด้วยครับ”

ติดตามและอัปเดตโปรเจกต์คริปโทอาร์ตที่จะมาเปลี่ยนภาพจำของ ‘เจ้านั่น’ ให้ต่างกว่าที่เคยทั้งหมดได้ที่ ป๊อก ป๊อก ป๊อก, @kutezone

Paras: khunpok.near

Crypto: https://bit.ly/3GW0Yqg