Daily Pickup

2022-2023 Women’s Achievements Recap: สรุปความปังรวมพลังตัวแม่รับวันสตรีสากล


เดินทางมาถึงวันสตรีสากล (International Women’s Day) ทั้งที EQ อยากชวนทุกคนมาร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิง ผ่านการรีแคปชัยชนะจากการเคลื่อนไหว หรือข้อเรียกร้องของผู้หญิงหลากหลายพื้นที่ทั่วโลกว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ตัวมัม ตัวมารดา เขาไปถึงไหนกันแล้วบ้าง

ปีแห่งผู้นำหญิงในแวดวงการเมืองการปกครอง

ในปีที่ผ่านมาหลายๆ ประเทศได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ด้วยการมีผู้นำทางการเมืองหญิงคนแรกของประเทศ

Photo Credit: NBC News

เริ่มต้นปีด้วย ‘ซิโอมารา คาสโตร’ (Xiomara Castro) อดีตสตรีหมายเลข 1 ของฮอนดูรัส กับการคว้าชัยชนะให้พรรคฝ่ายซ้าย และขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ ในวัย 62 ปี พร้อมคำมั่นสัญญาที่จะปราบปรามคอรัปชั่น แก๊งค้ายาเสพติด ความยากจน และสนับสนุนการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของผู้หญิงในประเทศฮอนดูรัส

Photo Credit: Sándor-Palota

ถัดมาในเดือนพฤษภาคม ‘คาทาลิน โนวัก’ (Katalin Novak) กลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฮังการี และยังทำสถิติเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดบนหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยก่อนหน้านี้เธอยังดำรงตำแหน่งเป็น ‘รัฐมนตรีเพื่อนโยบายครอบครัว’ (Ministry for family policy) อีกด้วย

Ketanji Jackson / Ayesha Malik
Photo Credit: NBC News / Courts and Tribunals Judiciary

นอกจากประธานาธิบดีแล้ว ยังมีผู้หญิงที่สร้างประวัติศาสตร์ด้านการเมืองการปกครองอีก เช่น ‘เคทานจี บราวน์ แจ็กสัน’ (Ketanji Brown Jackson) กับการเป็นผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกันคนแรก ที่ได้เป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ (Supreme Court of the United States: SCOTUS) และ ‘ไอชา มาลิก’ (Ayesha Malik) ผู้พิพากษาหญิงคนแรกของปากีสถานที่ได้ร่วมนั่งในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นเกียรติประวัติ และเรื่องน่ายินดีของผู้หญิงในแวดวงการเมืองการปกครองในช่วงปีที่ผ่านมา

Photo Credit: CNN / Center for Reproductive Rights

ก้าวสำคัญของสิทธิเหนือร่างกายผู้หญิงกับ ‘การทำแท้งถูกกฎหมาย’

ไม่มีผู้หญิงคนไหนในโลกนี้ ตั้งครรภ์เพื่อจะทำแท้ง ตลกฎหมายสนับสนุนการทำแท้งเพื่อผู้หญิงได้ผ่านการอนุมัติในหลายๆ ประเทศ ตลอดเวลาที่ผ่านมาบนหน้าประวัติศาสตร์สิทธิสตรี และในปี 2022 ก็มีอีกหลายประเทศที่ร่วมเป็นก้าวสำคัญในเรื่องการทำแท้งถูกกฎหมาย อย่างประเทศโคลอมเบียที่กฎหมายอนุมัติให้ผู้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายในระยะเวลา 24 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ยิ่งพออยู่ในบริบทของประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาธอลิกแบบนี้แล้ว การทำแท้งเปรียบได้กับการคร่าชีวิตที่ขัดกับหลักความเชื่อตามศาสนา การผ่านกฎหมายในครั้งนี้จึงนับได้ว่าเป็นการแสดงออกถึงสิทธิเหนือร่างกายของผู้หญิงอย่างแท้จริง โดยปราศจากการยึดโยงกับศาสนา หรือความเชื่อใดๆ 

ในปีเดียวกันสาธารณรัฐซานมารีโน ประเทศขนาดเล็กทางตอนใต้ของยุโรป ที่มีประชากรเพียง 3 หมื่นกว่าคน ก็ได้มีการลงประชามติสนับสนุนการทำแท้งถูกกฎหมาย ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้ภายใน 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ และ หลังจาก 12 สัปดาห์หากสภาวะการตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อสุขภาพมารดา และทารกในครรภ์

ในประเทศอินเดียเองก็เกิดเหตุการณ์สำคัญเช่นกัน เมื่อศาลสูงของอินเดีย มีคำตัดสินให้ ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย และถูกกฎหมาย ภายใน 24 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ โดยไม่จำกัดสถานภาพการสมรส นี่นับเป็นอีกก้าวของการแสดงจุดยืนว่าอิสรภาพทางร่างกายเป็นส่วนหนึ่งของ เสรีภาพส่วนบุคคล

การยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยเองก็มีผลบังคับใช้แล้วเช่นกัน ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีข้อกำหนดว่าผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์ จะต้องมีอายุครรภ์อยู่ในช่วง 12-20 สัปดาห์ หากอายุครรภ์ต่ำกว่านั้นจะต้องได้รับการพิจารณาตามข้อบังคับของแพทยสภา

และในปีนี้การยุติการตั้งครรภ์ก็กำลังจะถูกกฎหมายในประเทศฟินแลนด์ (ที่สำคัญ ไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย) โดยจะต้องยุติการตั้งครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์แรก แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายยังคงระบุให้ผู้หญิงชี้แจงถึงแรงจูงใจในการทำแท้ง และต้องได้รับการอนุมัติจากแพทย์ก่อน

Photo Credit: The Olive Press / NBC News

‘สเปน’ ผู้บุกเบิกกฎหมายสุขภาวะทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์

ในปีที่ผ่านมา รัฐสภาสเปนผ่านร่างกฎหมาย ‘Only yes means yes’ เพื่อคุ้มครองเหยื่อการข่มขืน ซึ่งกฎหมายนี้ทำให้ การเงียบ หรือนิ่งเฉย ไม่เท่ากับการยินยอมมีเพศสัมพันธ์อีกต่อไป ก่อนหน้านี้การข่มขืนตามกฎหมายสเปนระบุไว้ว่า ต้องมีพฤติกรรมความรุนแรงและการขืนใจ แต่กฎหมายใหม่นี้จะใช้การยินยอมเป็นศูนย์กลางในการพิจารณา ดังนั้นไม่ว่าการกระทำทางเพศใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้รับการยินยอมที่ ‘ชัดเจน’ อาจจะนับว่ามีความผิดฐานข่มขืนได้ทั้งสิ้น โดยกฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องยินยอมโดยใช้คำพูดเท่านั้น แต่เปิดกว้างให้ศาลตีความพฤติกรรมที่แสดงถึงการยินยอม  และเนื่องจากกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าต้องมีการยินยอม ‘อย่างชัดเจน’ ดังนั้นอาการมึนเมา หรือหมดสติจึงถือเป็นสภาวะที่ไม่อาจแสดงการยินยอมได้ โดยบทลงโทษทางกฎหมายถูกแบ่งออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่การปรับ ไปจนถึงโทษจำคุก 15 ปี

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สเปนยังมีเรื่องให้ผู้หญิงได้เฉลิมฉลองกันอีกครั้ง กับการเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ผ่านกฎหมายที่โอบกอด และเข้าใจความเป็นผู้หญิงอย่าง ‘Menstrual Leave’ หรือการให้สิทธิ์ผู้หญิงในการลางาน เนื่องจากอาการเจ็บป่วยจากการมีประจำเดือน เป็นเวลา 3 วัน และอาจขยายเป็น 5 วันได้ตามความจำเป็น แต่ในการลาจำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์ โดยระบบประกันสังคมของรัฐจะเป็นผู้จัดการค่าใช้จ่ายให้ นอกจากนี้สเปนยังมีการอนุมัติสิทธิในการทำแท้ง และสิทธิของคนข้ามเพศเพิ่มเติมอีกด้วย

FYI: นอกจากสเปนแล้วประเทศที่สามารถลาป่วยเนื่องจากประจำเดือนได้ยังมี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และแซมเบียอีกด้วย

Photo Credit: UN Environment Programme / AWIM News

การเคลื่อนไหวเพื่อการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติของผู้หญิงในแคเมอรูน

ปัญหาสิ่งแวดล้อม และสภาพอากาศเป็นปัญหาระดับสากลที่สร้างความกังวลไปทั่วทั้งโลก ในปีที่ผ่านมามีกลุ่มนักเคลื่อนไหวผู้หญิงพยายามพัฒนาสภาพแวดล้อมในถิ่นฐานของพวกเธอ เพื่อช่วยในการปรับตัวกับสภาพอากาศที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือ ‘เซซิเล เยเบ็ต’ (Cécile Ndjebet) นักเคลื่อนไหวชาวแคเมอรูน กับความพยายามพัฒนาวิถีชีวิตของผู้คนที่พึ่งพาอาศัยพื้นที่ป่า จนในที่สุดเสียงของเธอก็เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เซซิเลได้รับรางวัล ‘2022 Wangari Maathai Forest Champions Award’ ที่จัดขึ้นโดยองค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) 

ในประเทศแคเมอรูน ผู้หญิงกว่า 70 เปอร์เซนต์อาศัยอยู่ในเขตชนบท และอย่างน้อยที่สุดพวกเธอต้องพึ่งพาการเก็บของป่าเพื่อการดำรงชีวิต แต่เห็นอย่างนี้ ในบางชุมชนผู้หญิงกลับไม่สามารถครอบครองพื้นที่ป่า รวมถึงไม่มีสิทธิ์ในการสืบทอดที่ดินเหล่านั้นต่อจากสามี ในกรณีที่สามีเสียชีวิต แม้แต่การปลูกต้นไม้ในที่ดินเสื่อมโทรมพวกเธอก็ยังไม่สามารถทำได้เลย และการต่อสู้ของเซซิเลนี้ คืออีกหนึ่งเส้นทางสู่ความเปลี่ยนแปลงในแง่ของสิทธิ และบทบาทของผู้หญิงต่อสิ่งแวดล้อมที่พวกเธอต้องอาศัยอยู่

Photo Credit: IPI Global Observatory / Chronicle

เกียรติประวัติของผู้พิทักษ์สันติภาพหญิงแห่งองค์กรสหประชาชาติ

ในช่วงเวลาที่โลกของเราเต็มไปสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมือง และปัญหาด้านความปลอดภัยที่ทวีความรุนแรงขึ้น กลุ่มผู้รักษาสันติภาพและตำรวจหญิงแห่งสหประชาชาติต้องทำงานภายใต้สถานการณ์อันตรายต่างๆ ทั้งการโจมตีจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย ปัญหาความรุนแรงที่หนักข้อขึ้นจากข้อมูลที่ผิดพลาด และการบิดเบือนข้อมูลในช่วงการระบาดของโควิด-19 ไปจนถึงสถานการณ์ด้านความปลอดภัยอื่นๆ อีกมากมาย

ในเดือนพฤษภาคม ‘พันตรี วินเน็ท ซาราเร‘ (Major Winnet Zharare) แห่งซิมบับเว ได้รับรางวัล ‘Military Gender Advocate of the Year Award’ เพื่อเป็นเกียรติแก่การปฏิบัติงานของเธอร่วมกับ UN ในเซาท์ซูดาน ซึ่งวินเน็ทคือผู้นำที่แข็งแกร่งด้านความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิสตรี นอกจากนี้ในเดือนกรกฎาคม สมาชิกกลุ่มแรกของ UN Peacekeeper ที่ถูกส่งเข้าไปปฏิบัติงานในไลบีเรีย ได้เข้ารับเหรียญเกียรติยศจากองค์กรสหประชาชาติ ซึ่งในกลุ่มนี้มีผู้รักษาสันติภาพหญิงรวมอยู่ด้วย ความสำเร็จนี้ของพวกเขา คือสัญลักษณ์แห่งความหวังในการฟื้นตัวของประเทศไลบีเรีย หลังประสบปัญหาสงครามกลางเมืองอย่างรุนแรง ในช่วงยุค 90’s จนถึงต้นยุค 2000’s ความเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่ายกย่องของกลุ่มสตรีที่เสียสละ และเสี่ยงอันตรายเพื่อความสงบสุขของโลก

Photo Credit: The Kyiv Independent

ก้าวสำคัญของสิทธิสตรีในยูเครน กับการให้สัตยาบันอนุสัญญาอิสตันบูล

เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้หญิงในยูเครน เพราะ ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภายูเครนลงมติให้สัตยาบัน ‘อนุสัญญาอิสตันบูล’ (Istanbul Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามความรุนแรงต่อสตรีและความรุนแรงในครอบครัวแห่งสภายุโรป เป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนของสภายุโรป ที่เปิดให้ลงนามตั้งแต่ช่วงกลางปี 2011 ซึ่งอนุสัญญาอิสตันบูลนี้ได้รับการยอมรับว่า เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ครอบคลุมกว้างขวางที่สุดในการจัดการกับความรุนแรงต่อสตรี ด้วยการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับรัฐบาลในยุโรป เพื่อการป้องกัน คุ้มครอง และดำเนินคดีกับความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ

การให้สัตยาบันครั้งนี้จึงนับเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์สิทธิสตรียูเครน และเป็นอีกก้าวสำคัญในการรวมยูเครนเข้ากับยุโรป ภายใต้ความท้าทายของสงครามกับรัสเซียที่ยังปะทุ จนนำไปสู่ข้อกล่าวหาเรื่องความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงในพื้นที่ของยูเครนที่ถูกยึดครองโดยรัสเซีย

Photo Credit: today / The Tribune

การนำประท้วงของหญิงอิหร่าน และเสียงเรียกร้องที่แผ่ขยายไปทั่วโลก

การจากไปของ ‘มาห์ซา อามินี’ (Mahsa Amini) หญิงชาวอิหร่านวัย 22 ปี ภายหลังการจับกุมของ ‘ตำรวจศีลธรรม’ (Morality Police) ในข้อหาการสวมฮิญาบอย่างไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ จุดชนวนให้ผู้หญิงอิหร่านออกมาตัดผม และเผาฮิญาบประท้วงตามเมืองต่างๆ ของอิหร่าน รวมไปถึงในโลกออนไลน์ด้วย ก่อนที่การเรียกร้องนี้จะควบรวมเข้ากับกระแสความไม่พอใจการทำงานของรัฐ จนการประท้วงยกระดับเป็นขบวนการเรียกร้องในระดับชาติ เพื่อต่อต้านความป่าเถื่อน และการบังคับใช้กฎหมายอิสลามของรัฐบาล การประท้วงขยายออกไปทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ท่ามกลางเสียงของผู้หญิงที่เรียกร้องเสรีภาพให้แก่ตัวเอง แม้ว่านี่คือการเรียกร้องที่ยังดำเนินอยู่ แต่ก็เป็นการเคลื่อนไหวที่ทรงพลัง และจะทรงพลังมากขึ้นเรื่อยๆ การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ทำให้ผู้ประท้วงสตรีชาวอิหร่านได้รับรางวัล Person of The Year ในปี 2022 ของนิตยสาร Time จากเสียงโหวตของผู้อ่าน พวกเธอคือ ฮีโร่ที่กล้าออกมาเรียกร้อง และต่อสู้กับความรุนแรง ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงอย่างแท้จริง

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือ พลังการเคลื่อนไหวเพื่อผู้หญิงจากทั่วทุกมุมโลก ที่ประสบความสำเร็จ และน่าสนใจจนเราอยากหยิบมาไฮไลท์ให้ชาว EQ ได้รับรู้ และเฉลิมฉลองไปด้วยกันในวั