Life

ถอดบทเรียนจากผืนป่า เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเดินป่าที่ดีอย่างยั่งยืน "โรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา"

เมื่อวันที่ 21–22 มกราคม 2023 ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องของป่า และ ‘การอาบป่า’ ผ่านบทเรียนภาคปฏิบัติจากผืนป่า ณ ภูพันเจ็ด อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน แต่ก่อนจะเดินทาง ผู้เขียนต้องสมัครเรียนผ่านระบบ Online เพื่อปรับพื้นฐานและนำใบ Certificate ที่ได้ไปใช้แนบในการสมัคร ซึ่งตัวผู้เขียนเองมีรายชื่อเป็นตัวสำรองลำดับที่ 2 ด้วยความโชคดีมากๆ เลยได้รับโอกาสถูกเลือกให้เป็นตัวจริง จนได้เป็น ‘นักเรียนโรงเรียนเดินป่า รุ่นที่ 10’

นับวันคนเรายิ่งโหยหาธรรมชาติมากยิ่งขึ้น เพราะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในรูปแบบการเดินป่า เริ่มมีผู้คนมากหน้าหลายตา หลายกลุ่ม หลายช่วงวัย ให้ความสนใจการท่องเที่ยวลักษณะนี้มากขึ้น แต่จะดีกว่านี้ไหม ถ้าเราท่องเที่ยวอย่างถูกต้องและเข้าใจ มีกลุ่มคนและสถานที่ดีๆ ที่จะช่วยเสริมทักษะ องค์ความรู้ และส่งต่อพลังงานดีๆ ระหว่าง 'คน’ กับ ‘ผืนป่า'

โรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จึงเป็นโรงเรียนสอนเดินป่าที่มีทั้งภาคทฎษฎีและภาคปฏิบัติแห่งแรกในไทย และได้นำศาสตร์ การอาบป่าเข้ามาใช้เพื่อถอดบทเรียนด้วย นั่นก็เพื่อเป็นการสร้างนักเดินป่าที่มีคุณภาพและมีจิตสำนึกที่ดี เหมือนที่ ‘คุณใหญ่’ ธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา ได้แรงบันดาลใจสำคัญจากเด็กน้อยในรุ่นแรก จนถึงกลุ่มคนที่หลากหลายในรุ่นปัจจุบัน ซึ่งเป็นแรงผลักดันและความหวังสำคัญในการทำโรงเรียนนักเดินป่า จนถึงวันนี้ก็ปีกว่าๆ แล้ว

“ทำไมที่ต่างประเทศเขาไม่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ในการกำกับดูแลตลอดเส้นทางเหมือนบ้านเรา ไม่มีขยะ ไม่มีการสร้างปัญหาและผลกระทบ พูดไปก็อาจจะเกี่ยวกับการที่เขาสอนให้คนรักธรรมชาติ ทำให้คนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของธรรมชาติ ซึ่งอาจแตกต่างจากบ้านเราที่ถูกสอนมาว่า ป่ามีคุณค่าแต่เราเข้าถึงธรรมชาติได้น้อย!”

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจ

"เกิดจากกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ชอบออกมาสัมผัสธรรมชาติ ผ่านกิจกรรมเดินป่า พายเรือ ตกปลา และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย อันนี้คือส่วนของกลุ่มคน เราในฐานะเจ้าหน้าที่ ได้มาเจอคนกลุ่มนี้ ได้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในรูปแบบที่เขาคิด หรืออาจจะไปเจอในป่าต่างประเทศว่าเป็นอย่างไร และในรูปแบบมุมมองการเป็นข้าราชการ เราทำงานเป็นอย่างไร มาพูดคุยกัน เราก็เริ่มคิดว่าเราสามารถทำให้บ้านเรามีวัฒนธรรมการเดินป่าที่เข้มแข็งแบบต่างประเทศได้ ทำให้คนรักธรรมชาติ และรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของธรรมชาติได้"

“แค่ให้ได้เข้าไป แต่ไม่รู้สึกกับสิ่งนั้นจริงๆ อาจเกิดปัญหาและเกิดผลกระทบตามมา”

เพราะ 'การเดินป่า' ไม่ใช่การท่องเที่ยวตามกระแสหรือฉาบฉวย

"การเดินป่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้คนได้เรียนรู้ธรรมชาติ ให้ได้อยู่กับธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน มันมีกระแส หรือการเดินป่าแบบฉาบฉวยเกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเยอะมาก แต่ก่อนย้อนกลับไปคนที่เที่ยวป่าจะอยู่ในวัย 30-40 ขึ้นไป เป็นกลุ่มคนที่พอมีอายุแล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ปัจจุบันกลุ่มคนที่เดินป่าค่อนข้างเยอะ คือ กลุ่มเด็กและวัยรุ่น ซึ่งอาจกลายเป็นเปลี่ยนพื้นที่กินเหล้า เปิดเพลงเสียงดัง เรื่องการสื่อสาร เช่น ‘ผมได้ไปที่นั่น หรือพิชิตที่นี่’ ผมมองว่าเป็นการเดินป่าที่ฉาบฉวย ทำให้บางพื้นที่นักท่องเที่ยวไปติดบนเขา เพราะไม่มีการเตรียมตัวและเตรียมพร้อม ปัจจุบันจึงกลายเป็นปัญหา เลยคิดว่าเราควรมีการสอนเขานะ ถ้าเรารู้วิธีการทำให้มีระเบียบเหมือนต่างประเทศ ต่างประเทศเขามีโรงเรียนเดินป่าสอนตั้งแต่เด็ก อย่างนั้นบ้านเราก็ทำได้ เลยคิดว่ามารวมตัวกันเพื่อทำโรงเรียนนักเดินป่าขึ้น"

“ทุกรุ่นที่ผ่านมา เรามีการปรับหลักสูตรให้เข้มข้นมากขึ้น แรกๆ ลองผิดลองถูกพอสมควร จนปัจจุบัน เราได้นำการอาบป่าเข้ามาในหลักสูตรโรงเรียนนักเดินป่าด้วย”

เตรียมความพร้อมทั้งบุคลากรและสถานที่

"ตอนนั้นเราแบ่งงานกัน ทีมที่มาคุยกับเราแรกๆ ตอนเดินป่าด้วยกัน (ผมเรียกเขาว่าทีมที่ปรึกษา ส่วนเราเป็นทีมเจ้าหน้าที่) ทีมที่ปรึกษามีหน้าที่เตรียมข้อมูลและความรู้หลักสากลเรื่องการเดินป่า (7 ข้อควรปฏิบัติ) แบ่งหน้าที่กันถ่ายวิดีโอ เก็บข้อมูลตามสื่อต่างๆ รวมทั้งทำเว็บไซต์ เพื่อเป็นช่องทางให้คนไปเรียนออนไลน์เพื่อปรับพื้นฐาน

ในส่วนอุทยานเราต้องเตรียมเจ้าหน้าที่ ซึ่งการเดินป่าครั้งนี้อาจแตกต่างจากการเดินป่าท่องเที่ยวทั่วๆ ไป เราต้องมาเตรียมเจ้าหน้าที่ ปรับความรู้ เตรียมเส้นทาง กิจกรรมที่จะสอน ในเว็บไซต์จะสอนพื้นฐาน แต่ในป่าเราต้องคิดกันว่า เราจะสอดแทรกสิ่งไหนให้เขารู้สึกถึงธรรมชาติ ให้เขาเห็นว่าป่าต้นน้ำสำคัญกับคุณอย่างไร จริงๆ เราเตรียมกันมาพอสมควรครับ เราก็เอามาผนวกกัน และตั้งเป็นรุ่นที่ 1 ขึ้นมา ตอนแรกเริ่มมีรุ่นที่ 0 ก่อน เราพาเด็กฝึกงานของอุทยานมาเป็นหนูทดลองให้ลองไปเรียนก่อน หลังจากนั้นก็ขยายเป็นรุ่นอื่นๆ ต่อมา"

เรียนเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่าง 'ผู้เรียน' และ 'ผู้สอน'

"เรารวมเรื่องพื้นฐานมาแลกเปลี่ยนกันซึ่งเราจะคุยกับทีมงานตลอดว่าเราไม่ใช่คนที่เดินเก่ง เราไม่ใช่คนที่ไปรอบโลก ดังนั้น จุดสำคัญของเราคือ การแลกเปลี่ยน จริงๆ เราเรียนรู้จากนักเดินป่าตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนรุ่น 10 เราก็ได้เรียนรู้หลายๆ สิ่งจากเขา ถือว่ามาแลกเปลี่ยนกัน ส่วนหนึ่งเรารวบรวมจากทีมที่ปรึกษา รวบรวมจากความรู้ของพวกเรา บวกกับสิ่งที่เราได้รับจากนักท่องเที่ยวแต่ละรุ่น มารวมกันเป็นหลักสูตรขึ้นมา เป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันมากกว่า เนื้อหาก็เป็นตั้งแต่พื้นฐาน แม้คุณจะไม่เคยเดินป่าคุณมาที่นี่ก็จะมีความรู้"

“ผมหวังว่ามันจะเกิดขึ้นในประเทศนี้ ถ้าแต่ละที่มีการสอน มีกลุ่มคนที่ไปเรียนเยอะขึ้น เกิดเป็นค่านิยม หรือ สิ่งที่ทำซ้ำๆ จนเป็นวัฒนธรรมได้ นั่นคือสิ่งที่เราคาดหวังไว้”

"โรงเรียนนักเดินป่า" หลักสูตร 2 วัน 1 คืน ที่เข้มข้น...แต่กลมกล่อม

ส่วนที่ 1 เรื่องการเตรียมตัว อยากให้นักท่องเที่ยวเตรียมตัวอย่างถูกต้อง ทั้งการดูเส้นทาง การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เพราะผมมักจะเจอกับคนที่ไม่พร้อมในการเดินป่า ไม่รู้อะไรสักอย่าง ไม่มีการเตรียมพร้อม บางคนใส่รองเท้าแตะเดินป่า ผมเรียนป่าไม้มา เราจะถูกสอนตั้งแต่ปี 1 ว่าการเดินป่าต้องทำยังไง มามองกลับกันคนที่ไม่เรียนป่าไม้มา มันไม่มีที่ไหนสอนการเตรียมตัว อยู่ดีๆ เขาต้องไปเอง หรือดูยูทูปแล้วทำตาม สิ่งที่แชร์ในนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด บางสิ่งสร้างผลกระทบด้วยซ้ำ เรียนรู้แบบถูกๆ ผิดๆ มาตลอด

ส่วนที่ 2 เรื่องของข้อควรปฏิบัติ อันนี้สำคัญ ไม่ว่าคุณจะเดินป่าที่ไหน คุณจะดูนก หรือทำกิจกรรมอะไร มันใช้ได้กับทุกที่เลย ใช้ได้กับทุกกิจกรรมที่อยู่กับธรรมชาติ

ส่วนสุดท้าย เรื่องอุปกรณ์ หลายคนมักคิดว่าการถือมีดหนึ่งด้ามเดินป่าได้ 5 วัน คือสุดยอดที่สุด การอยู่กับป่า หรือการท่องเที่ยวป่า ไม่ใช่ว่าคุณต้องกลับไปอยู่ยุคหิน คุณอยู่พร้อมกับทุกอย่างได้ที่จะทำให้มีความสุข อุปกรณ์จึงเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้เดินป่าอย่างมีความสุข แต่ก็ไม่ได้หมายถึงว่าต้องซื้อต้องมีทุกอย่าง หรือพวกตัวท็อป อันนั้นคืออีกเรื่องหนึ่ง

“จริงๆ เรียนผ่านเว็บไซต์ได้ ถ้าคุณตั้งใจ คุณจะมีพื้นฐานหมดเลย พวกความรู้ที่เป็นทฤษฎี ก่อนจะได้ใบ Certificate คุณได้หมดแล้ว แต่ถ้ามีโอกาสแนะนำให้มาเรียนกับเรา เพราะคุณจะได้ภาคปฏิบัติ ซึ่งคุณสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปใช้เดินในเส้นทางอื่นๆ ทั่วโลกได้หมด”

จุดยอดภูพันเจ็ด (จุดชมวิว1715) มีความสำคัญอย่างไร

"ตอนแรกเราคุยถึงเรื่องเด็ก คำว่าโรงเรียนเราคิดถึงเด็ก จึงควรเป็นเส้นที่ไม่ไกล เดินไม่ยาก อาจมีกิจกรรมที่พ่อแม่พาลูกมาเดินได้ ซึ่งเรามีจุดภูพันเจ็ด เดินทางไม่ยาก ที่จอดรถก็มี สามารถเดินป่าและพบกับบรรยากาศของป่าดิบชื้นและเขาที่เขียวตลอด ขณะเดียวกันมีลานตรงนั้นอยู่พอดี เราก็เลยคิดว่าตรงนี้ล่ะควรเป็นโรงเรียน เราก็พาทีมที่ปรึกษามาเดินอยู่หลายครั้ง แล้วประเมินว่าเส้นทางนี้เหมาะจริงๆ"

“ปัจจุบันมีโรงเรียนนักเดินป่าทั้งหมด 2 ที่ คือ โรงเรียนนักเดินป่า อุทยานแห่งชาติดอยภูคา และที่แม่เงา อุทยานแห่งชาติแม่เงา แต่ลักษณะการสอนอาจไม่เข้มข้นเท่าของที่นี่ จะเป็นเรื่องการพาเดินป่า การล่องเรือ โดยมีคนที่ผ่านการฝึกอบรมเป็นคนกำกับดูแล”

วัฒนธรรมการเดินป่าที่ดีและยั่งยืนต้องเป็นแบบไหน?

1. รับผิดชอบต่อตัวเองก่อน คุณต้องรู้ว่าร่างกายคุณไหวหรือไม่ไหว กระดูหักมาหรือบาดเจ็บฝืนเดิน สุดท้ายเพื่อนร่วมทริปพังหมด แถมสร้างปัญหาให้ทีมงานหรือเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์การกินการอยู่คุณพร้อมแล้วหรือยัง ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรสักอย่างแล้วไปขอข้าวเขากิน

2. รับผิดชอบต่อธรรมชาติ อันนี้ถือเป็นหัวใจหลักเลย เพราะการเข้าป่าไม่ใช่จะทำอะไรก็ได้ คุณต้องแคร์ธรรมชาติ

3. รับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมทาง เพราะมีนักท่องเที่ยวหลายกลุ่ม หลายแบบ หลายความต้องการ บางคนไปถึงเปิดเพลงเสียงดัง ซึ่งบางคนเขาอยากอยู่เงียบๆ สถานที่ท่องเที่ยวบางที่มียิงปืนขู่กัน ความรับผิดชอบจึงสำคัญมาก ถ้าทำ 3 สิ่งได้ยั่งยืนแน่นอน เพราะวัฒนธรรมหมายถึง สิ่งดีๆ ที่คุณทำซ้ำๆ กัน คนส่วนใหญ่ทำซ้ำๆ กันจนเกิดเป็นวัฒนธรรมที่ดีขึ้นมา

“เราทำงานโดยไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ผมไม่ใช้งบหลวงในการทำงาน เพราะเราทำด้วยใจ และความท้าทายต่อไปคือ เราไม่ใช้เงิน และมีคนยื่นมือมาช่วยที่เขาใหญ่ได้ ซึ่งเป็นความฝันของเรา เราก็จะทำให้เต็มที่ ความท้าทายคือ โรงเรียนที่จะขยาย และการไม่มีงบเข้ามาช่วยครับ แต่เรามีใจ แล้วใจนำพาคนเข้ามาช่วยเรื่อยๆ ”

สิ่งที่ทำ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จุดประกาย หรือ สะกิดใจนักเดินป่าทั่วๆ ไป มากน้อยแค่ไหน

"รุ่นที่ 10 แต่ละคนที่เขียนใบสมัครมาเดินป่า แต่ละคนไม่ธรรมดานะ ผ่าน (ยอดเขา) โมโกจู และผ่านอะไรมาเยอะ สิ่งที่เขาพูดกันเยอะคือ การเดินป่าไม่ใช่การพิชิต แต่เป็นการพิทักษ์ ผมว่าคนที่เขาเข้ามาเขาก็ปรับเปลี่ยนทัศนคติพอสมควร มีเพจที่ทำและประชาสัมพันธ์โน่นนี่ไป และมีคนติดตามหลักหมื่นแล้ว ตอนนี้ผมคิดว่า เป้าที่เราต้องทำต่อคือที่เขาใหญ่ ซึ่งดูจากทิศทางและการพูดคุยก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ แอบหวังกับทีมงานและที่ปรึกษามาตลอดว่า เราอยากทำให้มันเกิดที่เขาใหญ่ให้ได้ เพราะที่นี่ (ดอยภูคา) คือประตูบานแรก แต่เด็กนักเรียนและทุกอย่างเริ่มจากที่นั่น (เขาใหญ่) เยอะมาก ถ้าทำที่นั่นได้กระแสมันจะบูมกว่านี้เยอะ"

“แม้พวกเขาจะไม่ได้แสดงออกมา แต่เขาก็ทำกับตัวเอง อย่างน้อยคนที่ติดโลโก้โรงเรียนนักเดินป่าคุณก็ไม่กล้าทิ้งขยะ เขาอาจจะเริ่มจากตัวเอง เขียนบทความเผยแพร่ ไปเจอเพื่อนก็บอกต่อ เพราะมันมีหลักการแบบนั้น“

โมเมนท์ที่ประทับใจ

"น่าจะเป็นเรื่อง 'แม่' มีแม่คนหนึ่งเขาพาน้องมาเดิน แกอยู่ต่างประเทศแล้วไปเที่ยวกับสามี แล้วเห็นเส้นทาง Dragon's Back ที่ฮ่องกง เขาเห็นพ่อแม่พาลูกเดิน เขาก็อยากพาลูกเขาไปเดินแบบนั้นบ้าง มาวันหนึ่ง เขากลับมาไทยแล้วพาลูกไปเดินภูกระดึงแล้วลูกชอบ เลยอยากจะไปอีกเรื่อยๆ แล้วลูกก็มีใจรักด้านนี้ ในขณะเดียวกันตัวคุณแม่เองก็มีโรคประจำตัว ซึ่งอาจทำให้เขาเดินไม่ค่อยได้ แต่เขาก็ตั้งใจพาลูกไปเดิน ลูกเขาก็ไปเดินกับคนอื่นๆ ไปเล่นกับทุกคน รู้สึกว่าเขามีความสุข หลังจากที่กลับไปก็คุยกับแม่เขาซึ่งเขาอยากมาเดินต่อ แม่เขาก็พาลูกมาเดินที่ขุนน้ำปัว โดยปล่อยให้ลูกไปกับเจ้าหน้าที่ เพราะแม่เดินไม่ไหวเพิ่งผ่าตัดมา เจ้าหน้าที่เลยเป็นพ่อที่ดูแลเด็กด้วย เป็นโมเมนท์ที่หายเหนื่อย เวลาเราทำเราก็ทุ่มเทครับ แต่พอเราเห็นเด็กคนหนึ่งที่มีจิตสำนึก สามารถท่อง 7 ข้อควรปฏิบัติได้ทั้งหมด วันหนึ่งเขาจะโตไปเป็นนักอนุรักษ์ หรือ อาจมีโอกาสได้มาทำเหมือนผม ผมภูมิใจมากในสิ่งนี้ และก็มีอีกหลายคนที่กลับออกไปช่วย อย่างพี่มะตอย เป็นคนที่ไม่เคยเดินป่า แล้วมาเดินป่า และเดินหลายพื้นที่มาก เขาสนุกกับการเดินป่าและเป็นเหมือนฑูตวัฒนธรรมที่ออกไปบอกว่าอันไหนดีไม่ดี พี่ปีโป้ พี่นุ้ยก็มาช่วยเยอะมาก มาครั้งแรกก็ตั้งใจจะมาเดินป่าที่นี่ และส่งกับข้าวมาให้เราทำเผื่อนักท่องเที่ยว เป็นโมเมนท์ของการแบ่งปันซึ่งจริงๆ มีหลายคนมากในรุ่น 1-10 ที่ได้ช่วยเหลือ"

“ทุกคนที่เข้าไปทุกครั้งจะใจฟูเสมอเมื่อกลับ�