Life

กินดี อยู่ดี มีกิจกรรมดี ที่ 'ไร่รื่นรมย์' พร้อมต่อยอดเกษตรอินทรีย์ และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

จากคนเมืองที่ไม่รู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ จนมีองค์ความรู้และปราดเปรื่องในเรื่องนี้ ‘เปิ้ล’ – ศิริวิมล กิตะพาณิชย์ ผู้ก่อตั้ง ‘ไร่รื่นรมย์’ (Rai Ruen Rom) ตำบลงิ้ว อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย หรือศูนย์การเรียนรู้เกษตรเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืน ที่ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองกว่า 8 ปี พร้อมทีมงานกว่า 60 ชีวิต ที่มีความเชื่อ มุมมอง และวิธีคิดแบบเดียวกัน จนนำไปสู่การเป็นเกษตรกรอินทรีย์ ที่ทำธุรกิจออร์แกนิกฟาร์มแบบเต็มรูปแบบ เพราะเธอเล็งเห็นถึงความสำคัญของคุณค่าจากรากเหง้า ที่อยากจะสื่อสารผ่านวัตถุดิบ พร้อมแหล่งที่มาตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปยังปลายน้ำ เพื่อให้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของเกษตรอินทรีย์อย่างถ่องแท้และสร้างความเข้าใจในอีกมุมของวิถีเกษตรอินทรีย์

EQ ขอชวนผู้อ่าน ไปกิน ไปอยู่ ไปดู ไปเรียนรู้ที่ไร่รื่นรมย์พร้อมๆ กัน จะมาคนเดียว มากับครอบครัว หรือมากับชาวแก๊งก็สนุก อร่อย แถมได้เปิดประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

จุดเริ่มต้น และแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิด 'ไร่รื่นรมย์'

เปิ้ลอยากทำงานกับชุมชนค่ะ เลยค้นหาตัวเองว่าเราจะมีอะไรไปช่วยเขา เลยลองดูถึงสิ่งที่เราไม่มีคือ เรื่องความรู้เกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาชุมชนได้ เลยไปเรียนรู้และใช้ชีวิตในแหล่งการเรียนรู้พื้นที่ของจังหวัดปทุมธานีเป็นเวลา 1 ปี ช่วงเวลานั้นทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจในการเห็นคุณค่าของที่นาและอาหารมากยิ่งขึ้น เพราะตนเองเป็นคนกรุงเทพฯและเกิดที่นั่น ทำให้ไม่รู้ถึงที่มาของอาหาร ซื้อกินตลอดแต่ไม่รู้คุณค่าของที่มา พอมีโอกาสไปอยู่แปลงเกษตรทำให้รู้ว่ากว่าจะได้มา เลยทำให้เรารู้คุณค่าและเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากทำพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ที่ให้คนเมืองได้เข้ามาสัมผัสกับธรรมชาติ ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ที่ไร่จึงมีทั้งที่พัก ร้านอาหาร คอร์สและกิจกรรมต่างๆ เพราะเราอยากให้คนมาที่ไร่ได้มา กิน อยู่ รู้ นอน ในการใช้ชีวิตแบบออร์แกนิกไลฟ์สไตล์ เพื่อนำกลับไปทำที่บ้านของตัวเองได้ เอาไปกินและเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของเขาได้

คาเฟ่ ฟาร์มสเตย์ และร้านอาหารออร์แกนิกที่ใช้วัตถุดิบจากไร่

สินค้าของเราเป็นทั้งของสด สินค้าพร้อมทาน และสินค้าแปรรูปต่างๆ ส่วนตัวกิจกรรมสำหรับคนที่มาเที่ยวที่ไร่ จะได้ทำผ้ามัดย้อม ทำไข่เค็ม และช่วงเช้าจะพาไปเดินแปลง ให้อาหารแพะและแกะ ไปเก็บไข่ ไปดูที่ตากสมุนไพรในพาราโบลาโดมที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพาไปเดินแปลงเพื่อชิมผักสดๆ จากในไร่ เพื่อเรียนรู้ถึงที่มาของวัตถุดิบต่างๆ

ลบภาพ 'จิงจูฉ่าย' ในต้มเลือดหมู สู่การแปรรูปที่มีคุณค่า อร่อย และกินง่าย

'จิงจูฉ่าย' เพราะถ้ามาไร่รื่นรมย์แล้ว ไม่ได้กินแสดงว่ายังมาไม่ถึง เพราะตั้งแต่ Welcome Drink เราก็จะมี จิงจูฉ่ายมะนาว ให้ลูกค้ากิน เราจะพาไปดูแปลง และเรามีสินค้าแปรรูปต่างๆ อย่าง 'จิงจูฉ่ายข้าวคั่ว' ซึ่งเราพยายามจะยกระดับจิงจูฉ่ายให้เป็นมากกว่าผัก โดยเรามีการทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นเวลา 7 ปี โดยวิจัยเรื่องสายพันธุ์ เรื่องการแปรรูป เรื่องสรรพคุณ เรื่องการใช้งาน จนมีสายพันธุ์ที่เรารู้แหล่งที่มา ซึ่งไม่ใช้สายพันธุ์เดียวกับที่จีนหรือเกาหลี แล้วเราก็เอางานวิจัยไปค้นหาสารสำคัญเพื่อให้รู้ว่ามีคุณสมบัติอะไรบ้าง ซึ่งจุดเด่นของจิงจูฉ่ายช่วยเรื่องมะเร็ง แต่เราไม่ได้เคลมแบบนั้น เราจะเคลมเรื่องคุณสมบัติลดการอักเสบของเซลล์ หารฟื้นฟูร่างกายและเสริมภูมิคุ้มกัน แต่ในอนาคตเราอยากทำตัวยาเพื่อช่วยผู้ป่วยมะเร็ง

จุดเริ่มต้นของการปลูกจิงจูฉ่าย คือ คนป่วยที่เป็นมะเร็งเดินเข้ามาหาเรา และบอกให้เราปลูก เพราะเขาต้องกิน และมันทำให้เขาดีขึ้น ทั้งกินในรูปแบบสด และแปรรูป เรานำจิงจูฉ่ายไปตากในพาราโบลาโดม ล้างและตากให้เรียบร้อยด้วยกระบวนการต่างๆ เพื่อออกมาในรูปแบบผง ความพิเศษคือรสชาติที่ได้เหมือนชาเขียวมัทฉะ เราก็นำมาเป็นส่วนผสมของไอศกรีม เค้ก เพื่อให้คนกินง่ายขึ้น ซึ่งในอนาคตเราจะเอาจิงจูฉ่ายไปเพิ่มคุณค่าให้ออกมาในรูปแบบสารสกัดจิงจูฉ่าย เพื่อใช้ในสกินแคร์ อาหารเสริม ไปอีกสเต็ปหนึ่ง เราจะลบภาพจิงจูฉ่ายในต้มเลือดหมูแบบเดิมๆ เพื่อให้เห็นภาพอีกภาพว่ามันเป็นอะไรได้มากกว่านั้น และเราต้องการจะยกระดับผักไทยให้เป็นผักระดับสากล

“ไร่ของเราจึงมีเมนู ไอศกรีมจิงจูฉ่าย เค้กจิงจูฉ่าย เพื่อให้คนรู้ว่าจริงๆ แล้วมันเหมือนชาเขียวมากเลยนะ แต่มันไม่มีคาเฟอีนและมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ลดการอักเสบของเซลล์ ซึ่งดีต่อสุขภาพ แถมรสชาติอร่อยด้วย อันนี้คือผลิตภัณฑ์หลักของเรา”

จุดเด่น จุดแข็ง และความน่าสนใจของ 'ไร่รื่นรมย์'

เราเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ 200 ไร่ ซึ่งถือว่ากว้างเพราะในประเทศไทยก็ถือว่าไม่ได้มีเยอะ เราเป็นต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผลิตตั้งแต่พลังงานไฟฟ้า น้ำ การผลิตสินค้าของเราจึงเกิดขึ้นจากพลังงานสะอาด ไฟที่ได้มาจากโซลาเซลล์และไบโอแก๊ส เพื่อผลิตไฟฟ้าขึ้นมาใช้ภายในไร่ น้ำที่ออกไป เอากลับมาหมุนใช้ไว้ทำอะไรในพื้นที่ได้อีก เราบริหารจัดการพื้นที่ภายในพื้นที่แบบครบวงจร

“FROM RAW TO RARE เปลี่ยนจากเรื่องธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องที่มีคุณค่า หลายครั้งที่สิ่งรอบตัว รอบๆ ตัวเรามันไม่ได้เกิดคุณค่า เหมือนกับผักที่เราพยายามยกระดับให้เป็นมากกว่าผัก เราซ่อนความไม่มีอะไรให้มันมีอะไรในนั้น เพราะเราอยากให้คนมากิน อยู่ รู้ นอน และเรียนรู้ ภายในพื้นที่เหมือนเที่ยวไปด้วยเรียนรู้ไปด้วย”

ความท้าทายในการทำ 'ไร่รื่นรมย์'

เป็นเรื่องที่เราทำและไม่คิดจะหยุดพัฒนาตัวเอง คือความท้าทายที่เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เรื่องการอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีอะไรเลย เป็นพื้นที่ห่างไกลจากในเมืองใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง เราจะทำยังไงให้เขารู้สึกว่ามันไม่ไกลและคุ้มค่ากับการมาที่นี่ ระหว่างการเดินทางมาที่นี่เขาจะเห็นภูเขาล้อมรอบ เหมือนหลุดเข้าไปอีกเมืองเพราะมีแต่ธรรมชาติ ในพื้นที่ที่มีแต่แปลงเกษตรและธรรมชาติ จะมีร้านอาหารอยู่ท่ามกลางธรรมชาติและสงบ

“ไม่มีคำว่าง่าย (หัวเราะ) มีแต่ความยากและความท้าทายมากกว่า พอผลิตเองทุกอย่าง แม้กระทั่งการผลิตไฟฟ้าเราก็ต้องมาเรียนรู้ในสิ่งที่เราไม่มี ทุกอย่างเป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้ใหม่และเป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้ตลอดเวลา”

ผูกพันกับจังหวัดเชียงรายตั้งแต่ทำค่ายอาสาสมัคร

เราเป็นคนกรุงเทพฯแต่กำเนิดค่ะ จริงๆ เรื่องความผูกพันที่มีกับจังหวัดเชียงรายตั้งแต่เด็กๆ คือ ตอนนั้นเรามาทำค่ายอาสาภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย เข้าไปตามชุมชน เวลาปิดเทอมชอบออกค่ายและไปช่วยตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เรารู้สึกว่าที่นี่อากาศดี มีภูเขา มีชาวเผ่าต่างๆ อยู่ที่นี่ รู้สึกว่าเขาใจดี เห็นความสุขที่เรียบง่ายของเขา และที่มาอยู่ตรงนี้ได้เพราะคุณพ่อซื้อที่ไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้วซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน และเรามารู้ทีหลังว่าเรามีที่อยู่ที่เชียงราย เลยตัดสินใจเพื่อพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีประสบการณ์ดีๆ มีงานทำ และมีคนรู้จักที่นี่มากขึ้น

โมเดลธุรกิจแบบ Social Enterprise ของ 'ไร่รื่นรมย์'

เราเป็นธุรกิจเพื่อสังคมค่ะ ดังนั้น ในนโยบายของบริษัทจึงคิดเรื่อง Social เรื่อง Environmental Social Enterprise จึงหมายถึง คุณต้องทำยังไงก็ได้ให้คุณอยู่รอดด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งพางบประมาณจากที่อื่นๆ ในขณะเดียวกันคุณต้องคิดถึง Social Impact ที่จะเกิดขึ้น คุณต้องคิดถึง Environmental Impact ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ จึงเป็น 3 ห่วงวงกลมที่เราวางไว้และเราก็ทำตามกระบวนการของ Social Enterprise

กลุ่มเป้าหมาย หรือตลาดของ 'ไร่รื่นรมย์'

มันขึ้นอยู่กับสินค้าว่าเป็นชนิดไหนค่ะ ถ้าเป็นเรื่องสินค้าและที่พัก กลุ่มเป้าหมายหลักคือ ครอบครัว แต่ถ้าเป็นเรื่องคอร์สหรือกิจกรรมทำชา ก็จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่อยากจะต่อยอดเมนูชา แต่หลักๆ จะเป็นกลุ่มครอบครัวที่มีทั้งลูกและผู้ใหญ่ที่ใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น มีทั้ง Healthy และไม่ Healthy

Healthy ในสไตล์ของไร่รื่นรมย์

คำว่า Healthy ของเราต้องนิยามแยกนิดหนึ่งว่า บางคน Healthy แต่ไม่ได้กินของออร์แกนิก บางคนกินออร์แกนิกแต่ไม่ Healthy เพราะเราพยายามจะเปลี่ยนภาพของคำว่า Healthy กับออร์แกนิกให้รู้ว่าจริงๆ แล้วมันอร่อยได้ มันกินง่าย และมันไม่ใช่สำหรับคนป่วย มันสำหรับทุกคนในครอบครัว ที่นี่เราจะเสิร์ฟข้าวกล้อง ที่มีทั้งรูปแบบข้าว ขนมปัง พิซซ่า เค้ก ไอศกรีม ที่เด็กไม่รู้สึกว่าต้องกล้ำกลืนกิน แต่เขารู้สึกสนุกที่ได้เห็นวัตถุดิบเหล่านั้นไปแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ

เพราะ ‘ออร์แกนิก’ เชื่อมโยงกับทุกอย่าง

มันเริ่มตั้งแต่จุดที่มาของอาหารแล้ว ตั้งแต่การปลูก การดูแล เพราะยิ่งเราปลูกกับสารเคมีมากยิ่งขึ้นเราก็จะใช้มันเพิ่มมากขึ้น น้ำดินก็ถูกปนเปื้อนมากยิ่งขึ้น ทำไมเมื่อก่อนการปลูกออร์แกนิกเป็นเรื่องง่าย เลยเป็นสิ่งที่อยากให้คนคำนึงถึงที่มาของอาหารและส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกเองบวกกับส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกแบบออร์แกนิกอยู่ด้วยกัน เราเป็นหนึ่งช่องทางในการสื่อสารกับพวกเขา ซึ่งเรามีทั้งที่ปลูกเองและซื้อจากกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ด้วย เพื่อนำมาใช้ในการแปรรูปสินค้า ในร้านอาหาร และขายให้กับลูกค้าอื่นๆ และเรายังโปรโมตที่มาของแหล่งวัตถุดิบนั้นๆ สมมุติว่าผักเคลมาจากไร่รื่นรมย์ แต่ฟักทองมาจากกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์เชียงใหม่ที่ผ่านการทดสอบจากเราแล้วเป็นคนปลูก เราก็จะบอกว่าที่นี่เป็นคนปลูก เราจึงเน้นเรื่องที่มาของอาหารและบอกลูกค้าอย่างชัดเจน เพื่อแสดงความจริงใจว่าอะไรบ้างที่เราปลูก เพราะการที่คุณมาซื้อของเราไม่ใช่เพียงแค่สนับสนุนเกษตรกรของไร่รื่นรมย์เท่านั้น แต่คุณยังช่วยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและช่วยให้เขามีพื้นที่ในการขายของและสามารถอยู่ต่อไปได้

“พอเรารู้ว่าออร์แกนิกเชื่อมโยงกับทุกอย่าง คือ ถ้าเราทำร้ายธรรมชาติ สุดท้ายธรรมชาติก็จะกลับมาทำร้ายเราเอง ในเรื่องโลกที่ร้อนมากขึ้น การอยู่ยากมากขึ้น ในเรื่องของสุขภาพที่เป็นโรคกันมากยิ่งขึ้น เพราะสารเคมีที่ตกค้างที่อยู่ในร่างกายของเรา ทั้งในหมู ไก่ ที่เร่งมา เรากินไปทำให้เกิดโรคต่างๆ และทำให้ฮอร์โมนที่ผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา”

การเติบโตของตลาดออร์แกนิกในไทย

ต้องบอกว่าเทรนด์สุขภาพกำลังมา ซึ่งต่างประเทศมันมานานแล้วค่ะ ทุกคนบอกว่าเทรนด์ปีนี้หรือปีหน้าของไทยกำลังจะมา ต้องบอกว่ามันโตอย่างช้าๆ ในไทย เพราะจากการที่เราเปิดร้านที่กรุงเทพฯ แล้วบอกคอนเซ็ปต์ความเป็นออร์แกนิก คนยังให้สำคัญน้อยกว่าร้านค้าประเภทที่เน้นเรื่องความหวือหวามากกว่า ความหวือหวาในที่นี้ เช่น ฮันนี่โทสต์ ที่เน้นรูปลักษณ์ หน้าตาการตกแต่งมากกว่า การที่บอกแหล่งที่มาว่ามาจากไหน อย่างไร มันจึงเป็นเทรนด์ที่เป็นกิมมิกอยู่ ไม่ใช่เทรนด์จริงจังในประเทศไทย กลุ่มที่บริโภคออร์แกนิกในประเทศไทยจริงๆ ยังมีน้อยอยู่ คนยังให้ความสำคัญน้อยอยู่ แต่ก็เชื่อว่า ในอนาคตจะมีมากยิ่งขึ้น และเห็นความสำคัญมากยิ่งขึ้น

Roasty by Rai Ruen Rom เพราะออร์แกนิกไม่ใช่เรื่องแพง จับต้องและซื้อได้จริง!

จากที่เราเห็นปัญหาของออร์แกนิกที่หลายๆ คนบอกว่าแพง มันกินไม่ได้ เป็นแค่คนกลุ่มเฉพาะ เราเลยมีโปรเจกต์ ‘Roasty by Rai Ruen Rom’ เป็นคาเฟ่ออร์แกนิกที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์ มีทั้งผักสด ขนม เครื่องดื่ม และอาหารแปรรูปในราคาย่อมเยาที่เข้าถึงได้ เปิดที่กรุงเทพฯ อย่างเส้นสปาเกตตี้ออร์แกนิกที่เราทำ ขายราคาร้อยกว่าบาท สลัดจานละร้อยกว่าบาท ข้าวหน้าหมูโดยใช้หมูออร์แกนิกจานละร้อยกว่าบาท ถ้าในกรุงเทพฯ ย่านสุขุมวิทไม่มีราคานี้แน่นอน คนกรุงเทพฯ สามารถซื้อได้

ก้าวสู่โมเดลเกษตร และการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

เราไม่ได้แบ่งกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ เพราะเรามีทั้งรายหลักและรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มทั่วประเทศที่เชื่อมโยงกับเราและเราเป็นหนึ่งช่องทางในการขาย เราช่วยเหลือเขาด้วยการโปรโมตเขา เพราะทุกครั้งที่เราขาย เราบอกว่าเรามาจากที่ไหน สุดท้ายอยู่ที่ลูกค้าว่าเขาจะซื้อของผ่านเราหรือไปซื้อกับเขาโดยตรง เราอยากเป็นหนึ่งช่องทางในการโปรโมตและการช่วยเหลือ และอยากเข้าไปดูว่าแต่ละกลุ่มหรือแต่ละคนปัญหาติดตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร เรื่องแพ็กเกจจิ้ง โดยเราจะช่วยกันพัฒนาเพื่อให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้นและให้ดียิ่งขึ้น อย่างชุมชนที่เราส่งเสริมน้ำผึ้งป่า เราก็เข้าไปดูเรื่องการออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้น่าสนใจ และการสื่อสารเพื่อให้คนเข้าใจว่าน้ำผึ้งป่ามายังไง และต่างจากน้ำผึ้งทั่วไปยังไง เป็นของชุมชนปกาเกอะญอจังหวัดเชียงราย

‘เชียงราย’ จังหวัดที่มีการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

มีกลุ่มเกษตรกร คนในพื้นที่ กลุ่มคนชนเผ่า ที่เขามีทัศนคติที่ดีต่อธรรมชาติอยู่แล้ว เป็น Unseen Destination ที่หลายๆ คนอาจยังไม่รู้ แต่เปิ้ลคิดว่ามีแหล่งวัตถุดิบ มีพื้นที่ที่คนอยู่ เป็นวัฒนธรรมที่ยังคงความเป็นอยู่ของเขาจริงๆ ที่ทำให้น่าสนใจและไม่ได้เป็นกิจกรรมเพื่อสนองคนอื่น แต่เป็นสิ่งที่เขาทำกันมารุ่นต่อรุ่นอยู่แล้ว

“คนที่เป็นพนักงานไร่เป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด และมีคนที่เคยทำงานที่กรุงเทพฯ กลับมาทำงานที่นี่หลายคน เพราะเขารู้ว่าสามารถทำงานใกล้บ้านได้ เราช่วยกันพัฒนาบุคลากรและพัฒนาศักยภาพในตัวของเขาแต่ละคน ว่าเขาอยากทำอะไรและเขามีจุดแข็งด้านไหน เราก็พัฒนาจากตรงนั้นค่ะ”

การทำงานร่วมกับชุมชนของ 'ไร่รื่นรมย์'

เราคงพูดได้ไม่หมด แต่เราเป็นเหมือน 1 ช่องทางการสื่อสาร อย่างคอร์สชาที่เราทำร่วมกับสวรรค์บนดิน เราต้องพาลูกค้าไปดูไร่ชา โดยนั่งรถอีแต๋นของชาวบ้านเข้าไปดูไร่ชาเกษตรอินทรีย์เพื่อไปดูต้นชาที่ปลูกมาหลายร้อยปี เพื่อให้เขาไปเก็บต้นชา และได้เห็นหน้าตาของต้นชาที่อยู่ในป่าว่าเป็นอย่างไร เมื่อเขาได้เห็น ได้สัมผัส และได้รู้เรื่องราว และเขาจะเห็นที่มาของวัตถุดิบ เราก็เอาตรงนั้นมาแปรรูป เพื่อให้เขาเห็นว่าจริงๆ แล้ววัตถุดิบในประเทศไทยยังมีแต่คุณ
อาจเข้าไปไม่ถึงและมันสามารถนำมาแปรรูปได้ เป็นใบชาที่ขยายผลต่อในคาเฟ่ได้

ก้าวต่อไปของ 'ไร่รื่นรมย์' คือ การทำเกษตรแบบอินทรีย์อย่างยั่งยืน

สเต็ปต่อไปคือการทำพื้นที่ และแบ่งพื้นที่ให้คนในชุมชนหรือพื้นที่ สามารถทำเกษตรอินทรีย์ภายในไร่ได้และแบ่งผลประโยชน์กัน เพราะจากปัญหาที่เราเจอโดยที่เราไปส่งเสริมพื้นที่ของเขาเอง เขาไม่สามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ เพราะเป็นพื้นที่ที่ติดกับชาวบ้าน ทำให้เขาไม่สามารถทำอะไรได้ ถ้าในพื้นที่ของเราสามารถทำได้ ก็เป็นการช่วยเหลือและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

“ตอนนี้คุณพ่อกับคุณแม่ก็ย้ายมาอยู่ที่เชียงรายด้วยกันค่ะ ทุกคนเห็นด้วยและเห็นว่าสิ่งนี้เชื่อมโยงกับสุขภาพ เป็นเรื่องดีๆ ที่จะมอบสุขภาพดีๆ ให้ลูกค้า หรือให้กับทุกคน”

อุปสรรคและปัญหาในการทำ 'ไร่รื่นรมย์'

มีทุกด้านเลยค่ะ อย่างเรื่องพื้นที่ของเราก็เป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นพื้นที่ต่ำ เราต้องมาปรับเพื่อที่จะอยู่กับน้ำ เรื่องของคนที่เราต้องพัฒนาศักยภาพของเขาซึ่งเป็นคนในพื้นที่ การจัดการด้านเคมีที่อยู่รายล้อมเรา

แค่ได้เห็นเกษตรกรทำการเกษตรอินทรีย์...แค่นี้ก็ดีใจแล้ว

แค่เราเห็นเกษตรกรคนหนึ่งหรือครอบครัวหนึ่งมาทำ แค่นี้เราก็มีความสุขที่อยากจะไปต่อแล้ว แค่เราเห็นลูกค้าที่ขอบคุณเราและให้กำลังใจเราในการที่เราผลิตสินค้าที่ดี คือ เรื่องการผลิตสินค้าอินทรีย์ให้ได้มาตรฐานในราคาย่อมเยาก็ยากอยู่แล้ว แต่ลูกค้าแค่บอกเราว่ากินแล้วอร่อยมากเลย ผักกรอบ และสดหลายๆ เหล่านี้ก็เป็นความประทับใจที่เรารู้สึกว่าเราได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่เราได้นำเสนอและอยากให้รู้ว่าจริงๆ แล้วทุกอย่างมันมีที่มา มีการลงรายละเอียด มีการลงแรง ลงใจ การใส่ใจในการทำ การเกษตรอินทรีย์ก็เหมือนการเลี้ยงลูก เพราะเราต้องดูแปลงของเราทุกวันซึ่งต่างจากที่อื่นๆ ที่อาจไปดูเดือนละครั้ง และต้องดูด้วยว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้น วันนี้อาจโอเคแต่พรุ่งนี้อาจไม่โอเค สุดท้ายเราพบว่า การทำให้ต้นไม้หรือพืชแข็งแรงเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน มันเป็นทางออกที่ดีที่ทำให้ระบบนิเวศและตัวเราด้วย

'ความพอดี' ที่ทำให้ 'ไร่รื่นรมย์' ดีต่อใจ

คือการหาจุดพอดีในทุกอย่าง ทั้งการปลูกแบบผสมผสาน จุดพอดีในธุรกิจ จุดพอดีในการแปรรูป การหาความสมดุลในการทำทุกๆ อย่าง เพราะเมื่อทุกอย่างมันสมดุลแล้ว ทุกอย่างมันจะรื่นรมย์ เราเชื่ออย่างนั้น สมดุลของเราจึงไม่ได้หมายถึง 50/50 สมดุลของเขากับของเราจึงไม่เหมือนกัน เราต้องหาจุดสมดุลของเราเองในชีวิต ธรรมชาติก็เป็นอีกตัวที่สามารถบอกเราได้ว่า จุดสมดุลของแต่ละคนและแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร

สิ่งที่ได้จากการทำ 'ไร่รื่นรมย์'

ได้สุขภาพที่ดีขึ้น ได้ทำตามเป้าหมายในชีวิตของเรา แม้จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม นั่นเป็นสิ่งที่เราได้ทำตามเป้าหมายแล้ว แม้จะขาดทุนแต่เราก็มีแผนที่จะทำยังไงให้มันอยู่ได้ต่อไป เพราะเราคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ชุมชน กำไร และต้องไปต่อได้ ด้วยปัจจัยที่ยากจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราผลิตขึ้นมาเอง รวมทั้งข้อจำกัดต่างๆ หลายๆ เรื่อง ทุน หรือการที่ไม่มีทางรัฐบาลหรือทุนจากหน่วยงานไหนมาซัพพอร์ต

“อยากให้ออร์แกนิกไลฟ์สไตล์เกิดขึ้นได้ง่ายในชีวิตคนเมือง และเราอยากทำให้เห็นว่า Social Enterprise ในประเทศไทยมันไปรอด เราอยากเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ขาดทุน และแม้เมื่อเราไม่อยู่แล้ว ธุรกิจนี้ก็ยังเป็นของชุมชนและไปต่อได้”

คำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่สนใจธุรกิจการเกษตรแบบ 'ไร่รื่นรมย์' กลับมาดูที่ตัวเองก่อนค่ะว่าเราถนัดอะไร จุดแข็งคืออะไร จุดอ่อนคืออะไร อย่าคิดที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันหรือใหญ่ๆ ค่อยๆ เริ่มต้นทำแต่เริ่มต้นจากการค้นหาตัวเองก่อนว่าเราทำไปเพื่ออะไร มีเป้าหมายที่ชัดเจนในชีวิตก่อน และดูจุดแข็งจุดอ่อน เพื่อหาจุดที่ขาดไปเติม ทั้งเรื่องความรู้ เรื่องผู้เชี่ยวชาญ หรือเรื่องต่างๆ แล้วไปเติมตรงนั้น พยายามเชื่อมโยงพาร์ทเนอร์และเครือข่ายเพื่อให้เขารู้ว่าเขาไม่ได้สู้คนเดียว แต่มีคนที่เขาสามารถปรึกษา สอบถาม และทำงานร่วมกันกับเขาได้

ติดตามความเคลื่อนไหวของไร่รื่นรมย์ได้ที่

Facebook: ไร่รื่นรมย์ เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยว ออแกนิค Rai Ruen Rom Organic Farm
Instagram:
rairuenrom