Life

พึ่งพา อาศัย ระหว่าง 'คน - พืช - สัตว์' แบบ Permaculture วิถีเกษตรที่ยั่งยืนและรักษ์โลก ณ 'ไร่สหายน่าน'

สุขนิยม..แล้วแต่ใครจะนิยาม แต่ความสุขที่แท้จริงของ อาจารย์สันโดษ สุขแก้ว คือ 'ความยั่งยืน' แบบวิถี Permaculture เจ้าของฟาร์มและผู้ก่อตั้ง 'ไร่สหายน่าน' (Sahainan Permaculture Organic Farm) ฟาร์มสเตย์ที่สอนการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติ เพื่อหาแนวทางร่วมกันระหว่าง 'สิ่งมีชีวิต' กับ 'สิ่งแวดล้อม' ในการดูแลรักษาระบบนิเวศน์ให้มั่นคง เข้มแข็ง และมีความหลากหลาย ปราศจากมลพิษ เป็นมิตรต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมด้วยความเข้าใจ เพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืน

อยู่กับป่าตั้งแต่เด็ก กับความถดถอยของทรัพยากร และป่าต้นน้ำที่ลดน้อยลง

ความตั้งใจเล็กๆ ของเราที่เกิดจากการอยู่กับป่ามาเมื่อตอนเด็กๆ และเห็นการเปลี่ยนแปลงจากน้ำมือของมนุษย์ ป่าถูกทำลายทำให้อะไรต่างๆ หายไป ตอนเด็กๆ เราเห็นน้ำไหลผุดออกมาจากทุกที่ของตีนเขาตอนที่เราอยู่ในป่า พอเริ่มมีการตัดต้นไม้เพื่อทำสัมปทานสมัยก่อน ซึ่งตอนเด็กๆ เราไม่เข้าใจและเห็นว่าน้ำมันหายไป ต้นไม้ที่แปลกๆ ก็หายไป ตอนเด็กๆ ตอนประมาณ 5 ขวบ ชอบเขาไปกับพ่อและขุดตามน้ำเข้าไป แต่ตอนหลังๆ ต้นไม้ถูกตัด ทำให้น้ำหายไป ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น พอโตขึ้นจึงรู้ว่า ถ้าต้นไม้มันหายไป น้ำมันก็หายไปด้วย ความแล้งก็มาเยือน คนเจริญขึ้น แต่ทรัพยากรมันถูกทำลายลงเยอะ ความสมดุลไม่เกิด ซึ่งเป็นอะไรที่ฝังใจ

เราทำมาได้ 8 ปีกว่า เริ่มต้นเรามองหาพื้นที่ที่จะช่วยเรื่องป่าต้นน้ำ เพราะเราสนใจเรื่องป่าต้นน้ำและวิถีชีวิต เลยเลือกอยู่ที่นี่เพื่อช่วยจังหวัดน่าน เพราะแม่น้ำน่านเป็นแม่น้ำหลักของแม่น้ำเจ้าพระยา เกือบ 50% ของแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน มารวมกันจุดนี้เยอะ ถ้าที่นี่มันแห้ง คนปลายน้ำก็แห้งหมด ถ้าตรงนี้เป็นเคมี ตรงโน้นก็เป็นเคมี ตรงนี้บริสุทธิ์ ตรงโน้นก็บริสุทธิ์

“เราใช้จิตสำนึกสื่อสารกับธรรมชาติ ไม่มีอะไรปรุงแต่งและไม่มีสิ่งเร้าเบี่ยงเบนเรา เลยทำให้จดจำและซึมซับกับธรรมชาติเยอะ”

ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ จนเกิดแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น

เราพยายามจะฟื้นฟูระบบธรรมชาติให้กลับมาเลี้ยงเรา โดยที่เอาธรรมชาติที่มีอยู่กับตัวเราเลี้ยงเราให้มีความสมดุล อย่างตอนแรกตรงนี้ไม่มีน้ำ เราตั้งโจทย์จากสิ่งต่างๆ ที่ทำอย่างไรให้มีน้ำ เลยทำกั้นที่เป็นหุบในไร่เราเพื่อชะลอน้ำตอนหน้าฝนไม่ให้ไหลเร็ว ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ดินและทำให้เริ่มมีน้ำเยอะขึ้นเพราะเราทำหลายอัน พออันสุดท้ายกลายเป็นน้ำที่ไหลซึม พอมาอยู่ที่นี่ได้ประมาณ 2 ปีก็เห็นว่า มีตาน้ำที่ไหลออกจากท้ายไร่เราและไหลลงไปไร่ของพี่น้อง ทำให้เขาสามารถจับสัตว์ ปู หรือ เขียด หลังจากที่พวกเขาเคยบอกว่าไม่เคยมีแบบนี้เลย แต่นี่มันเกิดขึ้นมาได้ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามันจะมีได้ ซึ่งนี่คือจุดที่สามารถทำให้เราอยู่ได้ เลยเป็นจุดแข็งที่เราเอามาสื่อถึงพี่น้องร่วมโลกของเรา

ส่วนมากของเราจะเป็นพี่น้องต่างชาติที่มีความเข้าใจในเรื่องธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งบ้านเขาพัฒนาไปจนขั้นถูกทำลายเหมือนที่บ้านเรากำลังจะเป็น กลุ่มนี้เขายังมองว่า ถ้าเราก้าวเดินไปแบบนี้มันก็ยากและทำให้อะไรปนเปื้อนไปหมด น้ำที่ดื่มกินก็ไม่มี เขาเลยศึกษา

“เราเลยทำเป็นที่ศึกษาให้คนรุ่นหลังๆ มา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เรียกว่า Permaculture มันมีความเป็นวิถีของมนุษย์ที่อยู่กับธรรมชาติ เขาจะมีจิตใจที่โอบอ้อมและอนุรักษ์ไปในตัว เขาต้องใช้ตัวนี้เป็นการดำรงชีวิตของเขา”

ทำไมใช้ชื่อ 'ไร่สหายน่าน'  

ที่นี่แต่ก่อนเป็นเขตที่ใช้ทำเรื่องการเมือง มันมีประชาธิปไตย กับ คอมมิวนิสต์ ในสมัยก่อน แต่ผมชอบคำว่า 'สหาย' มันทำให้ทุกคนเป็นเพื่อนกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่เราไม่ได้มองเรื่องการเมือง เรามองว่าคำนี้ดี เลยใช้คำว่าสหาย

แนวคิด Permaculture ของไร่สหายน่าน

Permaculture เป็นคำที่เอามาใส่กับเรา ตอนทำไร่แรกๆ ยังไม่รู้จัก แล้วมีฝรั่งที่เขาทำ Permaculture ได้ยินชื่อเสียงเราเลยแวะมาหา เราก็พาเขาเดินในไร่ของเรา (แต่ก่อนทำอยู่ที่ปาย 'ไฮ่อุ๊ยต๋าคำปาย') เป็นชื่อคุณพ่อ เขาก็พูดขึ้นมาว่า Permaculture ตอนแรกเราก็ไม่ได้สนใจ พอพูดบ่อยๆ ก็เริ่มสงสัยว่ามันคืออะไร เลยถามเขา เขาตอบกลับมาว่า ที่เราทำคือ Permaculture และเขาก็ให้หนังสือ Permaculture Book เป็นไบเบิ้ลเล่มใหญ่ๆ มาให้เราอ่าน เราก็เปิดดูรูปและศึกษาเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมันก็คือสิ่งที่เราดำรงอยู่แล้วจริงๆ และบรรพบุรุษเราก็ดำรงอยู่แบบนั้น มันคือการอยู่แบบพึ่งพิงธรรมชาติ มันไม่ใช่การเกษตรนะ แต่คือการใช้ชีวิต ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งนอน รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ ที่เราทำอยู่ น้ำจากห้องน้ำไหลไปไหน ฯลฯ มันเกี่ยวข้องกันหมดเลย เราทำอยู่แล้ว แล้วมันก็ตรงกัน เลยใช้คำว่า Permaculture แต่หลักสูตรในไบเบิ้ลนั้นเป็นเรื่องของเฉพาะที่ คนที่เขียนหนังสือคือ บิล มอลลิสัน ชาวออสเตรเลีย เขาก็จะทำตามวิถีและวัฒนธรรมของเขา รวมไปถึงภูมิประเทศและภูมิอากาศต่างๆ แต่เราต้องนำมาปรับให้เขากับบ้านเรา

ค่าใช้จ่าย และ กิจกรรมที่น่าสนใจ

'Permaculture Course' เปิดวันที่ 1-10 ของทุกเดือน เป็นการลงมือปฏิบัติ ค่าเรียนรวมค่าที่พักและกินอยู่ 10 วัน ค่าใช้จ่าย 8,800 บาท (รวมค่าอาหาร และที่พัก)

'Permaculture Design Course' จะลงลึกเรื่องรายละเอียดของทฤษฎีเยอะ ประมาณ 14 วัน มีทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ ทั้งการออกแบบพื้นที่ การใช้ชีวิต รวมไปถึงการออกแบบต่างๆ ที่สามารถเอาไปใช้จริงได้ จริงๆ ต่างประเทศเขาบรรจุพวกนี้ไว้ในหลักสูตรของมหาลัย แต่เราก็แบ่งมาสอนบางส่วนมาทำตรงนี้ ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 16,000 บาท (รวมค่าอาหาร และที่พัก)

ถ้ามาเป็นครอบครัว อยากศึกษา และอยากใช้ชีวิต 1-3 วัน เราก็มีโปรแกรมปลีกย่อย ทั้งเดินป่า เก็บผลไม้ในป่า ทำพิซซ่าจากเตาฟืน สามารถดูได้เพิ่มเติมที่เว็บไซต์ sahainan.com  

ถ้ามาคนเดียวจะมีโปรแกรมการเรียนรู้แบบ Volunteer เริ่มต้นที่ 4,000 บาท จะมา 1 วัน หรือ 10 วัน ก็ราคาเดียวกัน เพราะจริงๆ อยากให้มาอยู่ 10 วัน ถ้าจะมารักษาเรื่องร่างกายอาจจะยังไม่เข้าใจถ้ามาไม่กี่วัน แต่ถ้าเขามีความสนใจมาก แต่ไม่มีเวลาจริงๆ ก็มาคุยกันได้ วันหนึ่งเราทำหลายอย่างมาก ตื่นนอนก็เดินไปเก็บผักในป่า ทำอาหาร หน้าทำนาเราก็ช่วยกันทำนา

'อาหาร' ที่เกิดจากความหลากหลายทางธรรมชาติและวัฒนธรรม

ปกติแล้วพี่น้องที่มาเป็นต่างชาติ เกือบ 100% เป็นพวก Vegetarian กับ Vegan แต่เราอยากสื่อสารกับพี่น้องชาวบ้านด้วย เราก็ร่วมกับพี่น้องชาวบ้านได้ เพราะเราสนิทกับพี่น้องชาวบ้านแถวนี้มาก เพราะเราไม่อยากแบ่งแยกว่า เราอยู่กับต่างชาตินะ เราอยู่ฝั่งวิถีตะวันตกนะ เราจะไม่มีความแปลกแยก เราเลยมีพิธีเลี้ยงผี คารวะป่าเขา เหมือนพี่น้องชาวบ้านทุกอย่าง เลยกินเหมือนชาวบ้านด้วยและกินเหมือนพี่น้องที่มาเยี่ยมเยือนจากต่างชาติด้วย อาหารการกินเรากินของในไร่เป็นหลัก

กลุ่มเป้าหมายของไร่สหายน่าน

จริงๆ เราอยากให้คนไทยมาศึกษามากกว่า เพราะมันเป็นวิถีของไทย และการเปลี่ยนแปลงมันต้องเปลี่ยนจากโครงสร้างที่ใกล้ตัว ซึ่งตรงนี้เราทำกับชุมชนค่อนข้างเยอะ เหมือนที่เราขยายผลทำเรื่องการจัดการน้ำในป่า เราไปสร้างฝายไว้เป็นร้อยกว่าลูก และอาจารย์เข้าไปลงมือทำด้วยตัวเอง จากไร่เข้าไปประมาณ 1 กิโล ซึ่งการทำฝาย การสร้างฝายมันมีผลดีมากๆ จากพื้นที่แห้งแล้งตอนนี้มีน้ำไหลและมีน้ำใช้ เมื่อก่อนที่นี่มีน้ำตกแต่น้ำตกตายแต่ตอนนี้มันมีชีวิตขึ้นมา อันนี้เราขยายผลไปในเชิงให้ชาวบ้านได้รับรู้ อยากให้เขาเปลี่ยนแปลงไปด้วยกับเรา ซึ่งค่อนข้างจะได้ผลดี

“แต่ก่อนหมู่บ้านห้วยยางตรงปากทางมีปัญหาเรื่องน้ำ เราเลยร่วมมือกันช่วยกันสร้าง ตอนนี้เริ่มมีน้ำและเขาเริ่มนำมาใช้ เห็นได้ชัดเลยคือ ไฟป่าตรงที่อาจารย์ไปสร้างฝายไว้ปีที่แล้วยังรุนแรงมาก ตอนนี้เหลือตรงจุดสร้างฝายจุดเดียวที่ยังไม่ไหม้ เห็นได้ชัดเลยว่ามันมีผลที่ดี เลยขยายและทำมาเรื่อยๆ โดยเอาพี่น้องฝรั่งมาทำช่วยกับคนในชุมชน เหมือนพี่น้องต่างชาติเอาเงินมาให้เรา แล้วเราเอาเงินตรงนี้ไปสร้างป่าให้พี่น้องชาวบ้าน”

ฟีดแบ็กของคนที่มา

นักท่องเที่ยวของเราไม่มีซีซั่น มันจะมาตลอดทั้งปี เพราะเราสุ่มนักท่องเที่ยวทั่วโลก และเป็น Education Center ถ้าพูดในเชิงการท่องเที่ยวถือว่าดีมาก เพราะไม่มี High Season หรือ Low Season นอกจากเราเหนื่อย เราไม่อยากรับและอยากพักผ่อน เราก็จะปิดบ้าน นักท่องเที่ยวจึงมีทุกปี ยิ่งหน้าฝนยิ่งมาเยอะ เพราะมาปลูกต้นไม้ มาทำนา มาเรียนรู้ และถ้าจะมาทำการเกษตรแนะนำให้มาหน้าฝน ถ้าชอบก่อสร้างก็ควรมาช่วงแล้ง

เพราะเราใช้วิถีชีวิตนำการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวแบบนี้มันยั่งยืนมากๆ สังเกตที่เราทำกับพี่น้องชุมชน หมู่บ้านที่เขารักษาความเป็นวิถีไว้ ถึงแม้ไม่มีการท่องเที่ยว เขาก็อยู่ได้สบาย เพราะเขาดำรงชีวิตแบบนั้นอยู่แล้ว แต่ถ้าเขามีการเปลี่ยนแปลงเพื่อต้อนรับการท่องเที่ยว ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวเขาก็อยู่ไม่ได้ แต่รุ่นลูกที่ฝังตัวกับการท่องเที่ยวที่พ่อแม่ทำโฮมสเตย์ รุ่นนี้จะทำไม่เป็น ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวก็ไม่มีเงิน อันนี้ลำบากและน่ากลัว

“ส่วนมากจะมีนักท่องเที่ยวที่มีแนวความคิดเดียวกัน ฟีดแบ็กคือดี ที่เราเห็นชัดๆ คือ เขากลับมาหาเราอีก แต่ที่เราเสียใจคือ เราถามพวกเขาว่า เขาจะนำเอาสิ่งเหล่านี้กลับไปใช้ที่บ้านได้ไหม? เขาตอบว่า ประเทศเขาพัฒนาไปเยอะมากแล้ว และมันไม่มีที่ดิน หรือ ไม่มีที่แบบนี้แล้ว ไม่มีปัญญาที่จะซื้อดินเลย และที่ดินก็หลุดลอยไปอยู่กับคนอีกระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นนายทุนที่ใหญ่ขึ้น เจ้าของเดิมจะไปซื้อคืนก็ไม่มีปัญญาแล้ว”

มดงานของไร่สหายน่าน

ทำกับแฟน 2 คน และคนงานในไร่ 2 คน ซึ่งบางส่วนที่อยู่ในไร่เป็นของลูกศิษย์ จะมีคนงานเป็นโปรเจกต์ๆ ไป อย่างส่วนงานนี้มีประมาณ 20 คน เพราะมีลูกศิษย์หลายคนมาเรียนจนลึกซึ้ง ซึ่งตอนนี้มีลูกศิษย์ประมาณ 12 คน โดยอาจารย์เป็นคนออกแบบเพราะเป็นคนสอน แล้วเขาก็ขอให้ช่วยออกแบบพื้นที่

“ตอนนี้เรามีชุมชนของ Permaculture ที่นี่และเติบโตค่อนข้างดี พอเรามีแนวคิดเดียวกัน เหมือนเราสร้างป่า มันก็จะเกิดผลได้เร็วมาก เพราะทุกคนอยากให้เป็นป่ามากกว่าพื้นที่ในการพัฒนา เลยเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ขึ้น”

Permaculture คืออะไร

คำว่า Permaculture (เพอร์มาคัลเชอร์) เกิดขึ้นเมื่อราวปีค.ศ.1978 โดย บิล มอลลิสัน และ มาซาโนบุ ฟุกุโอกะ ที่ต้องการศึกษาหาแนวทางที่สมบูรณ์ที่สุดเพื่อทําการเกษตรแบบยั่งยืน (Permanent Agriculture) โดย Permanent (แปลว่า ถาวร ) และ Agriculture (แปลว่า เกษตร) รวมกันคือ การเกษตรที่ยั่งยืน Permaculture จึงหมายถึง วิถีชีวิตที่ยั่งยืน เหมือนคนอยู่กับป่า เราเลยใช้คอนเซปต์นี้ในการทำไร่สหายน่าน

หมายความว่าชาวบ้านเขาอยู่กับธรรมชาติ เราไม่ต้องใช้แก๊สแต่เราใช้ฟืนจากกิ่งไม้ที่เราปลูกต้นไม้ เราไม่ต้องเสียพลังงานอย่างอื่น เพราะต้นไม้กิ่งมันก็หักออกมาและกลายเป็นฟืนได้ อาหารของเราก็ซุกซ่อนอยู่ตามป่า ตามต้นไม้ เราเดินเข้าไปเจอพุ่มไม้ก็จะพบกับแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ส่วนมากเราไม่ค่อยปลูกผักอะไรมาก เราจะปลูกสิ่งที่ยั่งยืน ปลูกครั้งหนึ่งอยู่ได้เป็นสิบปี ถ้าเป็นภาษาบ้านๆ อาจเรียกว่า ผักคันทรง , ผักอีหลืน หรือ มะรุม คือปลูกครั้งเดียวกินได้นาน แต่ก็มีผักตามฤดูกาลด้วยที่เราขยันทำ และเราก็ปลูกข้าวเองด้วย พอเรามาครั้งแรกที่นี่เราไม่มีข้าว ท้องเราต้องเดิน เราต้องอิ่ม เราถึงจะเดินได้ เราเลยขุดนาบนพื้นที่ไม่ถึงไร่ จนตอนนี้ข้าวเราพอกินและมากพอที่จะแบ่งปันให้พี่น้องด้วย

การพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด แบบ Permaculture จะส่งผลอะไร หรือจะทำให้เกิดความยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง

ง่ายๆ เลยนะเหมือนช่วงโควิดที่ผ่านมา ทุกคนในโลกจะเห็นภาพชัดเลย ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะข้างนอกมันวุ่นวายมาก เรามีนักท่องเที่ยวที่เป็นนักเรียน คือ เขามาเรียนและมาศึกษากับเรา แล้วอยู่ดีๆ ทางประเทศเขาก็มีคำสั่งให้กลับประเทศโดยทันที ตอนนั้นมีชาวอเมริกันอยู่ประมาณ 10 กว่าคน เขาก็ซื้อตั๋ว เหมารถ เหมาเครื่องบินไปกรุงเทพฯ เพื่อกลับบ้าน เพราะเป็นคำสั่งของรัฐบาลเขาเลย ถ้าพูดในเชิงธุรกิจเหมือนตอนนั้นถูกชัตดาวน์ไปเลย

ตอนนั้นก็นั่งคุยกับแฟนและครอบครัวว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่เราก็เตรียมใจไว้แล้วว่าวันหนึ่งมันต้องเป็นแบบนี้ เพราะเราทำในสิ่งนี้อยู่แล้ว เราทำในสิ่งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ 100% ปรากฏว่า พอเกิดเหตุการณ์แบบนั้นเราอยู่กันอย่างมีความสุขมากกว่าเดิม เพราะเราไม่ต้องวุ่นวายกับคน เรามีอาหารกิน เรามีน้ำดื่ม เรามียารักษาโรคจากสมุนไพร ทำให้ร่างกายเราแข็งแรง ข้างนอกเขาออกข่าวประกาศห้ามไปที่โน่นที่นี่ แต่เราก็ไม่ชอบไปไหนอยู่แล้ว เป็นอะไรที่ชัดเจนมากว่าเราอยู่ได้

และเราก็เจอตัวอย่างเยอะมาก บางคนมาหาเราเล่าให้ฟังว่าก่อนมีโควิดเขามีเงินอยู่ในกระเป๋าหลักแสน พอวันรุ่งขึ้นอยู่ๆ เขาก็บอกว่าไม่มีอาหารกิน เขาอยู่ที่กรุงเทพฯ และเหมือนตอนนั้นเซเว่นก็ถูกกว้านซื้ออาหารออกไปหมด ทุกอย่างปิด ร้านอาหารก็ปิด เขาเดินทางมาหาเราและบอกว่าแบบนี้มันไม่ใช่แล้ว มันต้องหาหนทางแบบนี้ อันนี้เห็นชัดเลยว่าจะทำความยั่งยืนได้อย่างไร แต่คนเราสมัยนี้ยังไม่เข้าใจ เหมือนเราจะเข้าใจแต่ก็ไม่เข้าใจ เพราะเรากลับไปวิถีเดิม เพราะก่อนที่จะมาเริ่มทำตรงนี้

ตอนที่ยังทำงานอยู่ ก็ทำงานเหมือนมนุษย์ทั่วไป อยู่ตามโรงงาน อยู่ต่างประเทศบ้าง มุ่งหวังไปเรื่องเงินทอง แต่ดูแล้วก็พบว่ามันไม่ยั่งยืน เพราะมือหนึ่งเราทำลาย อีกมือหนึ่งเราได้ เหมือนมันไม่สมดุล เรามีความสุข แต่ความทุกข์ก็มีเยอะ เลยหันหน้าเข้าหาธรรมชาติ ไม่มีไฟฟ้า ไม่ต้องเปิดน้ำก๊อก สร้างน้ำเอง เพราะตอนเด็กๆ เราอยู่กับตรงนี้มา แล้วเราอยากจะเก็บความเป็นวิถีแบบนี้ไว้ เพราะอีกหน่อยมันจะไม่มีแล้ว

เรามาสังเกตจากพี่น้องต่างชาติที่มาหาเรา เขาไม่รู้ทุกวิธี แม้กระทั่งการปลูก เขาไม่รู้วิธีว่าน้ำมันมาอย่างไร จริงๆ แล้วเมื่อประมาณ 200 ปี เขาก็มีบรรพบุรุษที่เหมือนกับเรา แต่เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ ระบบเศรษฐกิจ ทำให้พวกนี้มันหายไป มันมีช่องว่างที่เกิดขึ้น รุ่นปู่ย่าเขารู้ แต่รุ่นลูกรุ่นหลานไม่รู้แล้ว

“ประเทศที่จะพัฒนาไปตามเลยมีลักษณะคล้ายๆ กัน โลกทุนนิยมทำให้เราสูญเสียเรื่องความยั่งยืนกับชีวิตเรา”

อนาคตเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของจังหวัดน่าน

สมมุติว่า มีหน่วยงานหนึ่งเขามาส่งเสริม เขาจะเปลี่ยนไอเดียเราทันที เขาจะต้องเอาโมเดลของเขามา ความยั่งยืนจึงต้องเอาตัวเองออกมาขายให้ได้ ทำครัวหรือทำอาหารก็เอามาเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวเห็นวิถี เราทำแก้วไม้ไผ่ก็เอาใส่โชว์ไว้ข้างบน ก่อไฟข้างล่างเป็นแบบนี้นะความร้อนจึงจะเกิด และไฟที่ก่อไม่ใช่เพื่อแค่ทำให้อาหารสุก แต่ควันที่ขึ้นไปต้องไปอบตะกร้า กระบุง มาวางไว้ ทำให้ไม่มีมอด และยังช่วยไล่แมลงกับยุง ซึ่งมีเรื่องของวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

“พูดถึงจังหวัดน่าน ตอนนี้ค่อนข้างจะบูมมาก ความเขียว การอนุรักษ์ และวิถีชีวิตของคนที่นี่ คือสิ่งที่ชอบมากของอำเภอทุ่งช้าง ถ้าใครจะทำการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนแบบนี้ อย่าไปมองเรื่องการสนับสนุน ต้องพึ่งตัวเองให้มากที่สุด เพราะมันจะไม่มีความเป็นตัวเองและตัวตน”

พูดถึงทุ่งช้างกับคนที่ไม่เคยมา หรือไม่เคยรู้จัก

เป็นเมืองเงียบๆ ถ้าคนที่ชอบปลีกวิเวกดีมากเลย เพราะมีความบริสุทธิ์ทั้งอากาศ และพี่น้องชนเผ่าต่างๆ เป็นสิ่งที่คนในเมืองหรือคนที่โหยหาอาจไม่เจอแบบนี้

โมเมนต์ประทับใจตั้งแต่ทำ ไร่สหายน่าน

เราเห็นระบบนิเวศจากป่าที่แล้งให้มันมีน้ำชุ่มชื้นขึ้นมา ซึ่งเมื่อก่อนเราก็ไม่ได้เป็นคนลงมือทำ เพราะเราทำงานในเมืองนานมากและเราได้แต่เห็น แต่พอเราลงมือทำเรื่องการสร้างฝาย การสร้างน้ำ มันชัดเจนขึ้นมาก มันเป็นสิ่งที่เราทำแล้วรู้สึกว่ามีประโยชน์ และเราก็ขยายผลไปยังคนรอบข้าง ต่อสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่มนุษย์เพียงอย่างเดียว ต่อสรรพสัตว์ต่างๆ ต่อป่า ซึ่งคิดแล้วก็ดีใจที่เราได้ทำในช่วงท้ายๆ ของชีวิตที่ยังมีกำลังพอจะทำได้อยู่

"เราอยากได้คนที่มาต่อยอด หมายถึงพี่น้องที่อยู่ในเมืองหรืออยู่ไกล แล้วไม่สามารถลงมือทำได้ เรายินดีที่จะรับการสนับสนุนด้วยวิธีการต่างๆ ทั้ง คนร่วมทำงานวิจัยในการทำสิ่งเหล่านี้ ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือมีทางไหน ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า หรือ ทุนสนับสนุนในการปลูกป่า เพิ่มตาน้ำให้มากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งภาคภูมิใจที่เราทำมา และเรายินดีที่จะสานต่อๆ ไปเรื่อยๆ"

ความยาก-ง่าย และ ความท้าทายในการทำ ไร่สหายน่าน

คนที่อยู่ด้วยกันต้องมีความเข้าใจกัน เพราะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมากๆ ถ้าคนที่อยู่กับเราไปคนละทิศ มันจะเป็นความยากที่ยากมาก พลังงานเราจะลดลงทันที และเราจะไม่มีกำลังในการทำ อีกความยากคือ คนที่เริ่มใหม่ๆ และมีแต่จินตนาการ และไม่เคยทำมันอาจจะยาก เรามีความเข้าใจแค่ไหน แต่อาจารย์มีความเข้าใจเพราะเติบโตมากับป่าอยู่แล้ว

คนอยู่กับธรรมชาติเป็น และเห็นอกเห็นใจธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

เราได้ฝึกให้คนอยู่กับธรรมชาติ และเก็บไว้ซึ่งความเป็นวิถีชีวิต เอาความเป็นวิถีชีวิตออกมา เป็นบทบาทในการทำการท่องเที่ยวการสร้างเงินเข้ามาหาตัวเอง แต่บอกตรงๆ ว่า ถ้าทำแค่เรื่องการเกษตร มันจะไปยากมากและอาจเพิ่มหนี้สินให้แก่เกษตรกร แต่ถ้าหาวิธีเอาตัวเองออกมาขายโดยไม่ได้เอาผลผลิตออกมาขายเพียงอย่างเดียว ทำเป็นสตอรี่ มันจะทำให้เกษตรเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง ที่อาจารย์ทำอยู่ทุกวันมีความสุขมาก เพราะเราทำทุกอย่างจนกลายเป็นการเรียนรู้ไปหมด เหมือนการเลื่อยไม้วันก่อน ก็จะสอนนักท่องเที่ยวที่มาเรียนรู้ว่าต้องทำอย่างไร คือ ทุกอย่างต้องเอามาประยุกต์และใช้บทบาทของมันเป็นตัวเชื่อมและสร้างเงินให้ได้

"เราคงดำรงไว้ซึ่งความเป็นแบบนี้ ในสิ่งที่เรานำมาเสนอและส่วนที่จะขยายต่อชุมชน ก็พยายามจะให้ชุมชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และมากขึ้นๆ เรื่อยๆ โดยชักชวนให้เขาทำแบบนี้ และเราก็มีการตลาด ทำอะไรให้มันกว้างขวางขึ้นเพื่อช่วยเหลือชุมชน เพราะเมื่อไรที่ประเทศหรือคนรอบข้างมีการเปลี่ยนแปลง เราจะนับ 1 2 3 4 5 ไปเรื่อยๆ และจะเยอะขึ้นเรื่อยๆ ครับ"