Sound of Youth : “Pride & Diversity” เสียงของเยาวรุ่นเพศหลากหลาย

Photo credit: Children’s Health

เป็นเรื่องจริงที่ว่าสังคมของเราได้มีการเปิดรับมากขึ้นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ จากที่เคยเข้าใจเพียงแค่เล็กน้อย ในวันนี้หลายๆ คนก็ได้รับรู้ว่าเพศสภาพ (Gender) นั้นมีความหลากหลายกว่าที่เคยคิดไว้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มองความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ มีการรณรงค์และเรียกร้องสิทธิทางเพศเกิดขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีให้หลัง จนถึงปัจจุบันที่การเคลื่อนไหวเหล่านี้ในไทยได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

ถึงอย่างนั้น LGBTQ+ ที่ปรากฎบนสื่อเองก็ยังมีจำกัด มีเพียงแค่ไม่กี่อัตลักษณ์เท่านั้นที่มีพื้นที่ในการเปิดเผยตัวตน ในวันนี้เราได้ชวนเยาวชนทั้ง 4 คนมาพูดคุย เรื่องราวของอัตลักษณ์ทางเพศตัวเอง และเรื่องเกี่ยวกับเพศของพวกเขาที่อยากให้สังคมทำความเข้าใจใหม่

‘ฟ้ามุ่ย’ หรือ ‘คะชิ้ง’ – แพนเซ็กชวล (Pansexual) ซึ่งมีสรรพนาม they/them ปัจจุบันเป็นนักเขียนนิยายชายรักชายชื่อดัง “คุณพฤกษ์รวยมาก” และ “สบู่ขิงตัวหอม” (TWITTER: @Kachingzq)

“ความจริงตัวเราก็ไม่แน่ใจ 100% หรอกว่าเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นไหม แค่เงื่อนไขที่เราเป็นมันตรงกับสิ่งที่สังคมบอกว่า “แบบนี้คุณเป็นแพนเช็กชวล แบบนั้นคุณเป็นนอนไบนารี (Non-binary) นะ” ถ้าถามว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เริ่มเอ๊ะ ก็คงตั้งแต่ประถมเลย สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูของครอบครัวเราไม่ได้อ่อนหวาน แต่ก็ไม่ได้แข็งกระด้าง เขาไม่ได้เป็นคนเลือกหรือพยายามจัดให้เราอยู่ตรงไหน เขาแค่แสดงออกว่าถ้าเราชอบอะไร ก็ทำตามใจไปเลย โดยไม่ต้องสนว่าสิ่งนี้ผู้หญิงควรหรือไม่ควรทำ เราก็เลยรู้สึกว่าเราสามารถชอบอะไรก็ได้โดยไม่รู้สึกว่ามันแปลกประหลาด เพื่อนกลุ่มแรกๆ ที่รู้จักก็เป็น LGBTQ+ ตอนนั้นเราค่อนข้างทำตัวเป็นทอม แล้วมีทอมมาชอบ ทั้งที่เราเองก็เป็นทอมเหมือนกัน ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่เริ่มสังเกตว่ามันมีความหลากหลายและลื่นไหลของเพศมากกว่าที่คิดนะ พอมาเรียนต่ออาชีวศึกษา เราก็เคยชอบผู้หญิง รุ่นพี่ผู้ชาย และเพื่อนเกย์ ซึ่งเราก็รู้สึกว่าความชอบในตัวบุคคลของเรามันไม่เหมือนคนอื่น แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร นั่นก็เลยเป็นการสะสมความสงสัยในตัวเอง แต่ก็ปักธงว่าตัวเองเป็นไบเซ็กชวลไปก่อนเพราะไม่มีใครบอก ไม่มีครูสอนว่าโลกนี้ยังมีอะไรที่เรียกว่า ‘เพศวิถี’ ‘เพศสภาวะ’ ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ ‘รสนิยมทางเพศ’ ‘กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ’ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เรามารู้จักเพราะสื่อออนไลน์ในอีกไม่กี่ปีต่อมา”

‘หอมแดง’ – เควียร์ (Queer) คนหนึ่งที่กำลังค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง และศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร สรรพนามของเขาคือ they/them (IG: mahou.shonen)

”น่าจะตั้งแต่ช่วงอายุ 4 ขวบเลยค่ะ ที่เริ่มรู้ว่าเราไม่ได้เหมือนคนอื่นเขา เราชอบเพศที่เหมือนกับเรา ช่วงนั้นเราไม่ได้อยู่กับแม่ แต่อยู่กับพี่เลี้ยง แล้วเขาก็ชอบที่จะเปิดการ์ตูน Disney ให้ดู เราเลยอยากผมยาวเหมือนราพันเซล ทีนี้เราไปเริ่มเรียนที่โรงเรียน แล้วก็รู้สึกว่าเราไม่ได้มีความดึงดูดต่อเพศหญิง เราชอบเพศชายมากกว่า ก็เลยคิดว่าเราไม่ได้อยากที่จะเป็นผู้ชาย อยากจะเป็นผู้หญิง แต่พอโตมาก็รู้สึกว่าเป็นแค่ช่วงนั้นที่เราอยากเป็นผู้หญิง เพราะตอนนี้ไม่ได้อยากเป็นแล้ว ถึงอย่างนั้นเราไม่ได้อยากรีบค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองให้เจอ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปดีกว่า”

‘ปาร์คเกอร์’ – Aromantic Asexual Trans Masculine นักกิจกรรม สมาชิกกลุ่ม “Non-Binary Thailand” และเป็นหนึ่งในเจ้าของเพจ “AroAce-clusionist: Aromantic & Asexual Exist” (@AroAceTH) ใช้สรรพนาม he/they

“เรารู้สึกว่าเราเกิดมาไม่ตรงกับเพศที่ถูกกำหนดให้มาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เราไม่สามารถเชื่อมโยงกับการเป็นเด็กผู้หญิงได้เลย เวลาใครเรียกว่าเป็นเด็กผู้หญิง เป็นลูกสาว ก็จะรู้สึกคันยุบยิบแปลกๆ แต่เราไม่เคยมีคำที่จะใช้อธิบายตัวเองได้ เพราะประเทศไทยไม่เคยสอนเราเรื่องเพศ พอเราไม่มีคำมาอธิบายตัวเอง ก็เป็นโอกาสให้คนอื่นหาคำมาโยนใส่เราแทน ก็จะโดนคนถาม ไม่ก็โดนเรียกว่าเป็นทอมมาตลอด แต่เราไม่เคยนิยามตัวเองว่าเป็นทอมเลย

เรามารู้จักคำว่าทรานส์เจนเดอร์ (Transgender) จริงๆ ก็ตอนช่วงมัธยมปลาย เราเริ่มเจอคำศัพท์ต่างๆ ในกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้นจากการใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ เราเจอหลายคนที่เป็นเควียร์ (Queer) ทรานส์ฯ หรือนอนไบนารีบ้าง มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราไปค้นหาข้อมูลต่อ ตอนแรกก็เข้าใจว่าเราสามารถเลือกได้แค่ว่าจะเป็นทรานส์ฯ แมน (Transgender man) หรือจะเป็นนอนไบนารี แต่พอค้นไปเรื่อยๆ ก็พบว่าเราไม่เห็นต้องเลือกเลย เราเป็นทั้งสองอย่างพร้อมกันก็ได้ ก็เป็นที่มาของการนิยามตัวเองว่า ‘ทรานส์ฯ มัสคูลีน’ (Trans masculine) คือเราเป็นคนข้ามเพศแหละ แต่เราไม่ได้อยากข้ามไปเป็นผู้ชาย เรายึดโยงอัตลักษณ์ของเรากับความเป็นชาย (Masculinity) มากกว่า ซึ่งเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศภาวะ (Gender identity) เราหาคำตอบง่ายมาก แต่พอเป็นอัตลักษณ์เอโรแมนติก เอเซ็กชวล (Aromantic asexual) นี่มันก็ซับซ้อนเหมือนกัน เราเจอคำนิยามทั้ง 2 คำนี้พร้อมๆ กับตอนที่รู้ตัวว่าเป็นทรานส์ฯ เราไม่ได้นิยามตัวเองแบบนี้มาตั้งแต่แรก มาเริ่มจริงๆ ก็ตอนอายุประมาณ 20 ปีได้ เพราะมันเป็นจุดที่เรามั่นใจและสบายใจกับการนิยามตัวเองแบบนี้ เรารู้สึกว่าอัตลักษณ์นี้คือตัวตนของเราแล้ว”

‘เห็ดเขียว’ – Non-binary ที่เป็น Aromantic Asexual เขาไม่ซีเรียสเรื่องสรรพนาม แต่อาจจะชอบ it เป็นพิเศษ (เพราะเป็นเห็ด!) (@AroAceTH)

“คิดว่าค่อนข้างแน่ใจเรื่องเพศวิถี (Sexuality) ของตัวเอง แม้แต่ตอนที่ยังไม่รู้จักคำก็ตาม เราไม่สนใจเรื่องเซ็กส์หรือเรื่องความรักมาตั้งแต่จำความได้ พอถึงช่วงวัยที่คนเริ่มค้นหาตัวตนทางเพศ ก็มีการเสพสื่อต่างๆ เคยลองหาดูบ้าง แต่ก็ไม่สนใจขนาดนั้นอยู่ดี ยิ่งเราเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความต้องการทางเพศอยู่แล้ว เลยไม่เคยคิดว่ามันจำเป็นต่อชีวิต แล้วก็ไม่ได้อยากให้ใครมาเติมเต็มความต้องการให้ พอได้มาเจอคำว่าเอเซ็กชวลก็คิดว่าคงจะตรงกับเรา แต่กับเรื่องความเป็นเอโรแมนติกก็จะซับซ้อนขึ้นมาอีก เราเคยคิดว่าตัวเองอาจจะชอบผู้หญิง เพราะปกติสบายใจที่จะอยู่กับผู้หญิงมากกว่า ต่อมาก็คิดว่าหรือเราจะเป็นแพนฯ เพราะถ้าเราจะดึงดูดกับใคร เราก็ชอบที่ลักษณะนิสัยหรือความเข้ากันได้เป็นหลัก แต่ทั้งหมดก็เป็นแค่ข้อสันนิษฐานในหัว เพราะเราไม่รู้ว่าสามารถนิยามแบบอื่นได้ ในที่สุดเราก็เพิ่งมาตอบตัวเองได้จริงๆ ตอนที่มีคนที่ชอบ ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่เหมือนกับนิยามของความรักโรแมนติกที่สังคมเข้าใจโดยทั่วไป ความรักหรือความชอบของเราไม่ได้แบ่งว่าอันนี้คือเพื่อน อันนี้ไม่ใช่เพื่อน มันอาจจะมีความชอบมากน้อยต่างกัน แต่สุดท้ายมันก็คือความรู้สึกกลุ่มเดียวกันอยู่ดี ไม่ได้คิดว่ามีคุณลักษณะพิเศษอะไรที่ทำให้ต้องเรียกว่าแบบไหนคือ ‘ความรักโรแมนติก’ และกับคนนั้นที่เราชอบ เราก็คิดว่าชอบช่วงเวลาที่อยู่กับเขา อยากเป็นเพื่อนที่ดีมากๆ ของเขาเท่านั้น การได้คุยกับตัวเองในช่วงนั้นเลยเหมือนมาช่วยคอนเฟิร์มว่า ‘เอโรแมนติก’ นี่แหละ ที่อธิบายความเป็นเราได้ดีมาก

และสำหรับการเป็นนอนไบนารีของเรา เราโตมาโดยที่ไม่ชอบและไม่เชื่อในกรอบทางเพศ (Gender Binary) แล้วก็มีญาติผู้หญิงค่อนข้างเยอะ เขาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นหน้าที่ของเพศไหนโดยเฉพาะ พอเข้าเรียนที่โรงเรียนหญิงล้วนก็ยิ่งเห็นว่าทั้งหน้าที่และรสนิยมของคนมันลื่นไหลมากๆ เพราะนักเรียนหญิงต้องทำหมดทุกอย่าง หลายๆ คนในโรงเรียนก็คบกันเป็นแฟน บางคนเป็นทอมแล้วก็เปลี่ยนไปแต่งตัวสาวเหมือนเดิม มันเลยทำให้เราชินกับความหลากหลายไปโดยปริยาย พอถึงช่วงมัธยมปลายก็รู้จักกับคำว่า ‘นอนไบนารี’ ซึ่งตอนแรกไม่เข้าใจเท่าไหร่ว่าทำไมต้องเรียกตัวเองแบบนั้น เพราะถึงเราจะเรียกตัวเองว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย เราก็ไม่จำเป็นต้องแสดงออกตรงตามบรรทัดฐานทางเพศก็ได้หรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเรียกตัวเองว่านอนไบนารี เพราะเราไม่ต้องการให้เพศเป็นสิ่งที่มาครอบทุกอย่างในตัวตน”

กระบวนการเรียนรู้และยอมรับในเพศของตัวเอง

Photo credit: Pink Villa

ฟ้ามุ่ย: การยอมรับว่าตัวเราเป็นแพนฯ เรียบง่ายกว่าที่คิด เดิมทีคิดว่าตัวเองเป็นไบเซ็กชวลด้วยซ้ำ เพราะตอนนั้นเราไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร คำศัพท์พวกนี้ก็เพิ่งมารู้จักและเริ่มคุ้นเคยเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง เรานิยามตัวว่าเป็นไบฯ มานานจนรู้จักอย่างอื่นนอกจากนั้นเลยว้าวว่า อ๋อ เราเข้าเกณฑ์แพนเซ็กชวลมากกว่าไบเซ็กชวลสินะ ก็โอเคว่าเราเป็นแพนฯ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกแย่กับสิ่งที่ตัวเองเป็นนะ อาจจะเพราะส่วนตัวก็ไม่มีอคติกับ LGBTQ+ ด้วย แค่รู้สึกแปลกใหม่ เพราะได้รู้จักตัวเองในมุมที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน

จากซ้ายไปขวา: ปาร์คเกอร์ – เห็ดเขียว

ปาร์คเกอร์: กว่าเราจะรู้ตัวได้ว่าตัวเองเป็นเอโรแมนติก เอเซ็กชวล มันใช้เวลานานมาก และต้องพยายามจำแนกแจกแจงว่าสิ่งที่ตัวเองรู้สึกคืออะไรกันแน่ เราต้องถามตัวเองว่าสิ่งที่เรารู้สึกมันเป็นแรงดึงดูดทางเพศจริงไหม มันเป็นอารมณ์ทางเพศหรือเปล่า มันเป็นความรักไหม แล้วเป็นความรักแบบไหน ความรักแบบโรแมนติกกับแบบอื่นมันต่างกันยังไง ซึ่งเอาจริงๆ การคุยกับตัวเองเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ดีมากเลยนะ มันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และได้รับรู้ความต้องการของตัวเองด้วย แต่มันก็เป็นกระบวนการที่น่าปวดหัวในเวลาเดียวกัน เพราะไม่มีใครช่วยเราหาคำตอบได้นอกจากตัวเราเอง พอเราเข้าใจตัวเองแล้ว ทุกอย่างมันก็ง่ายขึ้นเยอะเลย แต่คำว่า “เข้าใจตัวเอง” ของเรามันไม่ได้หมายความว่าต้องมีคำตอบของทุกๆ คำถาม แต่มันหมายถึงว่าต่อให้เราไม่สามารถหาคำตอบได้ นั่นก็คือสิ่งที่เราเข้าใจว่าตัวเองยังไม่มีคำตอบนะ และมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เราก็เข้าใจและยอมรับในความไม่รู้ของตัวเอง เรารับรู้แค่ว่า ณ เวลานี้เราสบายใจกับการนิยามตัวเองแบบนี้ และคำนิยามนี้มันลงตัวกับเราที่สุดก็พอแล้ว ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราอยากฝากให้คนอื่นๆ เหมือนกันว่าไม่ต้องใส่ใจว่าตัวเองจะเป็นอัตลักษณ์ไหนขนาดนั้นก็ได้ หรือถ้าเราไม่ได้ลงกล่องของคำนิยามไหนก็ไม่เป็นไร คนเราไม่สามารถลงกล่องได้เป๊ะขนาดนั้นอยู่แล้ว ถ้าพอใจจะเรียกตัวเองว่าอะไรก็ทำไปเถอะ ขอแค่มันไม่ไปทำร้ายคนอื่นก็พอ

จากซ้ายไปขวา: เห็ดเขียว – ปาร์คเกอร์

เห็ดเขียว: อย่างที่บอกก็คือเราเป็นแบบนี้มาตลอด แต่ไม่นานมานี้พอลองทบทวนตัวเอง บางทีก็มีโมเมนต์ที่สงสัยเหมือนกันว่าที่เรียกตัวเองว่านอนไบนารี มันเพราะส่วนหนึ่งเราไม่ลงตัวกับความเป็นผู้หญิงได้หรือเปล่า เพราะที่จริงก็มีความเกลียดชังผู้หญิงจากภายใน (Internalized misogyny) แฝงอยู่ในตัวเรามาตั้งแต่เด็กๆ เหมือนกัน เพราะแต่ก่อนเคยชอบอะไรที่มีความเป็นผู้หญิง แล้วก็จะโดนผู้ใหญ่แซว เราเลยไม่อยากแสดงออกอีก รู้สึกว่ามันเป็นความหน่อมแน้มน่ารำคาญ เราก็เลยไม่อยากถูกถูกมองว่ามีภาพลักษณ์แบบนั้น แต่ก็คิดว่ามันคงไม่ใช่แค่เรื่องนั้นหรอก เราไม่ชอบทำอะไรตามกรอบที่สังคมสร้างไว้อยู่แล้วด้วย เราก็เลยสนุกกับการสร้างภาพลักษณ์แบบอื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่สังคมคาดหวัง และในปัจจุบันที่เราเริ่มมีอิสระในการแสดงออกมากขึ้น รู้สึกดีกับร่างกายตัวเองมากขึ้น เราก็กลับมาชอบการแต่งตัว ชอบเสื้อผ้าที่มีความเป็นหญิง (Feminine) คงเพราะเราเข้าใจตัวเองมากขึ้นด้วย ก็เลยไม่รู้สึกว่าต้องพิสูจน์อะไรให้ใครเห็น ไม่ได้คิดว่าความเป็นผู้หญิงมันด้อยกว่าแล้ว แค่มันไม่ใช่เราอีกต่อไป นอกจากนั้น สิ่งที่ย้ำให้แน่ใจว่าเราไม่ได้เรียกตัวเองว่านอนไบนารีแค่เพราะเราไม่ชอบความเป็นหญิง ก็คือการถามตัวเองว่ารู้สึกยังไงกับสภาวะที่เป็นอยู่นี่แหละ คือสุดท้ายเราก็ไม่อยากเป็นทั้งผู้หญิงหรือผู้ชาย ไม่อยากจะแสดงออกแบบใดแบบหนึ่งเพื่อหนีภาพจำของอีกขั้วไป แต่เราอยากเอาสองขั้วนี้ออกไปเลยต่างหาก

จำเป็นไหม กับการ ‘คัมเอาท์’ (Come out)?

คำถามนี้เกิดขึ้นจากการถกเถียงกันระหว่างกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่าแท้จริงแล้วการคัมเอาท์ หรือการป่าวประกาศให้ทุกคนได้รับรู้ว่าเรานิยามตัวเองว่าอย่างไรนั้นสำคัญหรือไม่ แต่ละคนก็ให้เหตุผลที่ต่างกัน โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ส่วนตัวและอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง

Photo credit: Ladyissue

ฟ้ามุ่ย: การคัมเอาท์สำคัญแต่ไม่จำเป็น สำคัญในแง่ที่ว่าตัวเราต้องการที่จะบอกให้สาธารณะชนรับทราบว่าเราเป็นอะไร รับทราบเฉยๆ ไม่ได้อยากรู้หรอกว่าคนอื่นคิดยังไงต่อ แค่อยากชัดเจน อยากให้มันเป็นเรื่องปกติ แต่ในขณะเดียวกัน การบอกให้ใครรู้ก็ต้องมีความมั่นใจหรือใช้ความกล้า จริงๆ แล้วเราอยากให้มันเป็นเรื่องปกติเหมือนกับการบอกว่าวันนี้อากาศดีนะ แต่ถ้าคุณคิดว่าทำไมต้องบอกทุกคนด้วย เราอาจจะไม่ได้ขาดความมั่นใจที่จะบอกคนอื่น แค่รู้สึกว่าไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นเฉยๆ นั่นก็ไม่ใช่ความผิดอะไรเลย ในบางครั้งสังคมก็พยายามบีบให้เราต้องบอกเพราะทุกคนพูดกันหมด แต่คุณเลือกสิ่งที่ต้องการเองได้ พร้อมก็บอก ไม่พร้อมก็ไม่รีบ พร้อมแต่ไม่บอกก็ยังได้ สำหรับเราคิดว่าปกติจนไม่ต้องคัมเอาท์ก็ได้ แต่ถ้ามีคนถามก็ไม่ปิดบัง ไม่มีใครถามก็ไม่บอก เราไม่ต้องการให้ใครยอมรับ ไม่ต้องพิสูจน์อะไร ไม่ต้องรีบร้อน แค่พอใจแล้วโอเคในสิ่งที่เป็นอยู่ ก็แค่นั้น

หอมแดง: ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็อาจจะสำคัญนะคะ แต่พอมาถึงยุคนี้ที่สังคมเริ่มยอมรับและมองว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ อาจจะไม่ใช่กับสังคมในไทย แต่ก็รู้สึกว่ามันแล้วแต่คน สำหรับเรา เรามองว่าการคัมเอาท์ไม่ได้สำคัญขนาดนั้นค่ะ ถ้าเราไม่ได้อยากที่จะคัมเอาท์เรื่องเพศของตัวเอง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำแบบนั้น มันอยู่ที่ความสะดวกใจว่าจะทำหรือไม่ 

ปาร์คเกอร์: สำหรับเรา การคัมเอาท์ว่าเป็นทรานส์ฯ มันก็ค่อนข้างสำคัญนะ ในแง่ที่ว่าเราวางแผนจะเปลี่ยนอะไรในชีวิตเยอะมาก ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อ ไปจนการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อย่างทุกวันนี้เราก็ฉีดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมาได้ 4 ปีแล้ว และความเปลี่ยนแปลงมันเยอะมากแบบที่ว่าต่อให้ไม่ได้อยากจะคัมเอาท์กับใคร เดี๋ยวเขาก็ต้องรู้อยู่ดี และกรณีของเราก็คือเรายังใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่บ้าน โชคดีที่ครอบครัวพร้อมสนับสนุนเราทุกอย่าง แต่การที่จะให้เขาสนับสนุนเราได้เต็มที่ ก็มาจากการที่เราพูดคุยให้เขาเข้าใจตัวตนของเรา อย่างการใช้ฮอร์โมนนี่เราก็เริ่มใช้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ และแน่นอนว่าเราจะไม่สามารถเข้ากระบวนการนี้ได้เลยถ้าไม่ได้เงินสนับสนุนจากที่บ้าน เพราะการข้ามเพศในทุกขั้นตอนต้องใช้เงิน โดยที่เราไม่สามารถเอาไปเบิกสวัสดิการอะไรได้เลย

นอกจากนี้พอเราคัมเอาท์แล้วมันก็ทำให้เราสบายใจขึ้น สามารถเป็นตัวเองได้เต็มที่ โดยไม่ต้องคอยกังวลว่าคนในครอบครัวจะไม่เข้าใจ มันเลยทำให้ครอบครัวและบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเราจริงๆ การคัมเอาท์ก็เลยสำคัญมากๆ สำหรับเราในแง่นี้

ในขณะเดียวกัน การ come out ว่าเป็นเอโรแมนติก เอเซ็กชวล อาจจะไม่ได้มีความสำคัญกับตัวเราในฐานะปัจเจกบุคคลขนาดนั้น เพราะสำหรับเราแล้วการนิยามตัวเองแบบนี้มันก็เป็นเรื่องของเราแค่คนเดียว ไม่ได้มีผลกระทบต่อใคร แต่มันมีความสำคัญในแง่ที่ว่า พอเราก้าวออกมาพูดอย่างเปิดเผยว่าเราเป็นเอโรแมนติก เอเซ็กชวล มันทำให้อัตลักษณ์ทั้ง 2 อัตลักษณ์นี้ได้รับความสนใจมากขึ้น และทำให้บางคนที่มีอัตลักษณ์อยู่ในกลุ่มของเอโรแมนติกหรือเอเซ็กชวลได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ซึ่งมันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจทำเพจ “AroAce-clusionist: Aromantic & Asexual Exist” ด้วย เพราะก่อนที่เราจะรู้ว่ามีคนแบบเอโรแมนติก เอเซ็กชวลอยู่บนโลกนี้ เราก็เคยคิดว่าตัวเองประหลาด แปลกแยกจากคนอื่น พอโตมาถึงรู้ว่าสิ่งที่เราเป็นมันปกติ พอรู้แบบนี้ เราก็อยากให้คนอื่นที่เป็นเหมือนเราได้รู้ด้วยว่าตัวเขาไม่ได้ผิดปกติ

เห็ดเขียว: ไม่สำคัญสำหรับเราเท่าไหร่ เพราะส่วนตัวมองว่ามันเป็นพิธีกรรมบางอย่างเพื่อ ‘บอก’ หรือ ‘ประกาศตัว’ อาจจะเป็นการประกาศต่อกลุ่มคนที่ไว้ใจเมื่อเจ้าตัวพร้อม หรืออาจบ่งบอกถึงจุดแตกหักบางอย่างก็ได้ (เช่น ไม่สามารถปิดบังได้ เลยจำเป็นต้องบอก) แค่มันไม่ใช่สิ่งที่สำคัญสำหรับทุกคน เพราะสถานการณ์และประสบการณ์ของเราไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เราเองก็ไม่ได้คัมเอาท์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ เพราะไม่มีโอกาสให้ต้องบอกใคร อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเรา สิ่งที่สำคัญกว่า coming out ก็คือ being out มากกว่า อย่างเราที่ไม่ได้มีเหตุให้ต้องหลบซ่อนเรื่องเพศภาวะ (Gender) หรือเพศวิถี (Sexuality) ก็ไม่ได้หมายความว่าเรา ‘เปิด’ ตัวเองเต็มที่แล้ว ถึงจะบอกคนอื่นไปว่าเราเป็นนอนไบนารี ก็ไม่มีอะไรมาการันตีอยู่ดีว่าเขาจะไม่ misgender (การปฏิเสธอัตลักษณ์ทางเพศ) เรา เพราะความคิดที่ยึดโยงกับระบบสองเพศมันฝังรากลึกมานานมาก และน่าจะเพราะภายนอกของเราตรงต่อนิยามความเป็นชายหญิงที่สังคมกำหนด เราเลยไม่ต้องเจอสถานการณ์อันตรายถึงชีวิต หรือถูกเลือกปฏิบัติอย่างเปิดเผย แต่มันก็ยังมีความรู้สึกว่าต้องมีคนที่มองเราเป็นอวัยวะสืบพันธุ์เดินได้อยู่ดี หรือถึงเราจะโอเคกับการเป็นตัวเองมากๆ ถ้ากฎหมาย ระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ยังไม่ยอมรับตัวตนทางเพศของเรา ยังไม่มอบศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้เท่าเทียมกับชายหญิงที่ตรงตามกรอบเพศซึ่งสังคมกำหนด มันก็ยังเป็นปัญหา เราเลยมองว่าการที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจะใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจ ยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมากๆ ไม่ใช่เรื่องของการคัมเอาท์อย่างเดียว แต่ก็แน่นอนว่าการคัมเอาท์ยังถือเป็นขั้นตอนสำคัญของผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายๆ คน และจำเป็นมากด้วยที่พวกเราควรมีพื้นที่ปลอดภัย ที่จะสามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวเองได้อย่างสบายใจ

เรื่องเกี่ยวกับเพศของเรา ที่อยากให้สังคมเข้าใจกันใหม่

Photo credit: An Injustice!

ฟ้ามุ่ย: แพนเช็กชวลมีอยู่จริง เรามีตัวตนอยู่จริงๆ เรารักใครสักคนโดยไม่สนว่าอีกฝ่ายเป็นอะไร ไม่ได้โฟกัสว่าคนๆ นี้เป็นชาย หญิง ทอม เลสเบี้ยน เกย์ กะเทย ฯลฯ เรารักได้ทุกคนที่เราอยากรักก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าเราหมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องเซ็กส์ ไม่ต้องเข้าใจเราก็ได้ แค่ให้เกียรติเราเท่าที่คุณให้เกียรติตัวเองก็พอ

หอมแดง: แค่มองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งก็พอค่ะ ถ้ามีคนมาถามว่าสรุปเราเป็นเพศอะไรกันแน่ เราก็จะบอกว่าตอนนี้เรายังตอบไม่ได้นะ เราอยู่ในช่วงที่กำลังค้นหาตัวเองอยู่ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติค่ะ เหมือนเรากำลังค้นหาตัวเองว่าเราอยากเรียนอะไร เราอยากเป็นอะไร สุดท้ายเราก็อยากให้เขามองว่าเราเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะถ้ามองกันด้วยเพศวิถี ก็อาจจะมองแค่เป็นเพศชายหรือเพศหญิง แต่ถ้าในมุมของจิตใจ ก็ต้องศึกษากันลึกซึ้ง เลยอยากให้เขามองเราเป็นมนุษย์ไปก่อน แค่นั้นเอง

ปาร์คเกอร์: ส่วนใหญ่พอพูดถึงเอเซ็กชวล คนก็จะเข้าใจว่าต้องเป็นพวกที่ไม่อยากมีเซ็กส์กับใคร ไม่มีอารมณ์ทางเพศ ทั้งที่ความจริงมันไม่เกี่ยวกันเลย อาจจะมีเอเซ็กชวลบางคนที่เป็นแบบนั้น แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวนิยามอัตลักษณ์ของเอเซ็กชวล เอเซ็กชวลคือกลุ่มคนที่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับใคร หรืออาจจะมีได้บ้างแต่ไม่สม่ำเสมอ มีเงื่อนไขในการเกิดแรงดึงดูดทางเพศ ทุกวันนี้ก็มีผู้ให้บริการทางเพศหลายคนที่เป็นเอเซ็กชวลด้วยซ้ำ การที่เอเซ็กชวลหลายคนเลือกจะไม่มีอะไรกับใคร มันแค่เป็นการที่เราไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับใครเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าเอเซ็กชวลมีเซ็กส์ไม่ได้ หรือถ้าบอกว่าเป็นเอโรแมนติก คนก็จะสงสารที่เราไม่มีความรักโรแมนติกกับใคร เสียดายแทนเราที่ไม่เคยมีประสบการณ์รักเหมือนวัยรุ่นคนอื่น หรือกลัวว่าเราจะเหงา ซึ่งเราก็ไม่เคยเข้าใจเลยว่าคนอื่นจะมารู้สึกสงสารเสียดายแทนเราทำไม แล้วทำไมการไม่มีความสัมพันธ์แบบคนรักแปลว่าเราจะต้องอยู่คนเดียว มันจะน่าสงสารตรงไหนในเมื่อมันเป็นความต้องการของเราเอง นี่คือตัวตนของเรา ความต้องการของเรา ถ้าจะสงสารก็ควรสงสารตรงที่สังคมไม่เข้าใจอัตลักษณ์ของเรา สงสารที่สังคมคิดว่าเราผิดปกติ หรือสงสารที่คนแบบเราต้องโดนกดดันให้มีความรักโรแมนติก โดนคาดหวังจากสังคมว่าทุกคนเกิดมาต้องมีเซ็กส์ดีกว่า

เห็ดเขียว: รู้สึกว่าสังคมยังไม่ยอมมองเอเซ็กชวลกับเอโรแมนติกบนฐานเดียวกับเพศวิถีอื่นๆ ซึ่งเราคิดว่าอาจจะมีที่มาจากการที่ตัวตนของพวกเราถูกมองข้ามมาตลอด แล้วก็การที่เราไม่เคยถูกสอนให้พิจารณาเรื่องลักษณะแรงดึงดูด (ทางเพศ) ของเราเลย เหมือนพอเรื่องความรัก เซ็กส์ การมีครอบครัว มันผูกโยงกันไปหมดและเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของวัฒนธรรม ก็ง่ายมาก ๆ ที่คนจะมองว่าการรู้สึกรักโรแมนติกแล้วก็ดึงดูดทางเพศต่อใครสักคนเป็นค่าตั้งต้นของชีวิต คนที่ไม่เป็นไปตามนั้นก็เลยถูกมองว่าประหลาด ทั้งที่เซ็กส์หรือความรักไม่ใช่ตัวตนด้านเดียวของเรา ถ้าเราไม่มองว่าการรักเพศเดียวกัน (และอื่นๆ ที่ไม่ตรงตามกรอบเพศ) เป็นเรื่องผิดปกติแล้ว ก็ควรจะมองการไม่รัก/ไม่ใคร่เป็นแบบเดียวกัน และที่สำคัญคือเวลาคนเราเลือกนิยามตัวเองว่าอะไรก็ตาม มันไม่ใช่สิ่งที่ตอบได้ภายในพริบตา แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนทันทีเมื่อความรู้สึกของเราเปลี่ยนไปด้วย การสงสัยว่าเป็นเอเซ็กชวลจึงไม่ควรเกิดขึ้นในตอนที่ ‘อยู่ๆ ความต้องการทางเพศก็หายไป’ เพราะว่ามันไม่ใช่เลย