Culture

Breaking Taboos – Topic ต้องห้าม ที่กลายเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน

Photo credit: Civil Liberties Union for Europe

คิดว่าถ้าย้อนเวลากลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีเรื่องอะไรที่เราพูดกันอย่างเปิดเผย หรือพูดกันในที่สาธารณะไม่ได้บ้าง? ถ้าย้อนเวลากลับไปสัก 100 ปี คงมีเรื่องต้องห้าม เรื่องที่เคยผิดบาป หรือเรื่องที่ถูกทำให้น่าอายที่ต้องปกปิดเอาไว้อีกเท่าไหร่ เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การพัฒนาทางความคิด มุมมอง และสังคมที่เปิดกว้างขึ้น ‘เรื่องราวต้องห้าม’ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘Taboo’ ก็ถูกยกขึ้นมาไว้บนดิน เป็นที่เปิดกว้างให้มีการพูดถึง ถกเถียง แสดงความคิดเห็นกันได้แบบไม่เซนเซอร์ พอจะนึกออกกันบ้างไหมว่ามีเรื่องไหนที่ ‘เคย’ เป็นเรื่องต้องห้ามกันบ้าง

LGBTQ+ และสิทธิที่จะรัก (หรือไม่รัก)

Photo credit: The New York Public Library

“แม้แต่ในศตวรรษที่ 19 การพูดถึงเกย์หรือเลสเบี้ยนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย” – ‘แฮร์รี ค็อกซ์’ (Harry Cox) รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nottingham

การรักเพศเดียวกันหรือการมีเพศสภาพไม่ตรงกับกรอบสังคมนั้นเคยเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้สำหรับคนหมู่มาก ชาวเพศหลากหลายในยุคสมัยที่ยังไม่มีการเปิดรับก็ต้องปิดซ่อนตัวตน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการเลือกปฏิบัติ หรือแม้กระทั่งปกป้องตนเองจากการถูกลงโทษทางกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เช่น ในประเทศอังกฤษ การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักนั้นผิดกฎ ‘The Buggery Act’ ที่บังคับใช้ตั้งแต่สมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 (ค.ศ. 1533) โดยภายหลังถูกเปลี่ยนเป็น ‘Offences Against The Person Act’ ในปี ค.ศ. 1828 ซึ่งมีการมุ่งเป้าไปทางกลุ่มชายรักชาย และบทลงโทษก็คือความตาย กระทั่งศาลได้ลดหลั่นความรุนแรงของโทษลง จนการรักร่วมเพศถูกกฎหมายในที่สุดเมื่อปี ค.ศ. 1967 ลองคิดดูว่า กว่าการลงโทษจะถูกยกเลิกโดยสมบูรณ์ มีผู้ที่ต้องเจ็บปวดหรือตายจากไปเพียงเพราะรักเพศเดียวกันมากถึงขนาดไหน

Photo credit: SILPA-MAG

นอกจากการรักร่วมเพศแล้ว การไม่มีรักเชิงโรแมนติกก็อาจทำให้ถูกมองว่าไม่ดีได้เช่นกัน อย่างที่เห็นได้ในประเทศไทยสมัยอยุธยาหรือกรุงศรีรุ่งเรือง การแต่งงานถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้หญิงชนชั้นสูง เพราะหากไม่ยอมออกเรือนเมื่อถึงวัยอันควร ก็จะถูกเรียกว่าเป็น ‘หญิงเทื้อเรือน’ หรือคนที่ ‘เทื้อคาเรือน’ (ในปัจจุบันแปลได้ว่า ขึ้นคาน) และไม่ว่าอย่างไรก็จะถูกจับคู่ดูตัวกับชายฐานะใกล้เคียงกัน เพื่อไม่ให้เป็นจุดด่างพร้อยของวงศ์ตระกูล ขัดกับปัจจุบันที่การครองโสดไม่ใช่เรื่องน่าอาย และค่านิยมที่ผู้หญิงต้องเป็นภรรยาหรือแม่เองก็ลดน้อยลงเช่นกัน

Photo credit: People Management

จากกลุ่มคนที่มักจะถูกจับส่งจิตแพทย์กับค่ายกักกันเพื่อ “ทำให้กลับเป็นปกติ” หรือลงโทษจนถึงแก่ชีวิต ก็ได้กลายเป็นกลุ่มคนที่มีสิทธิ์มีเสียง มีความเท่าเทียมกับมนุษย์ทุกๆ คนไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการต่อต้านเพศหลากหลายจะยังคงเข้มข้นในบางประเทศ โดยเฉพาะทวีปเอเชีย และมีข่าวน่าเศร้าอย่างการที่นักกิจกรรม LGBTQ+ ในประเทศอิหร่านถูกลงโทษประหารชีวิตเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา (ค.ศ. 2022) อย่างน้อยก็พูดได้ว่าสังคมโลกพัฒนามาไกลกว่าแต่ก่อน แต่ก็ยังคงต้องมีการพัฒนากันต่อไป

สิทธิสตรี – สิทธิที่ยกให้ทุกเพศเท่าเทียมกัน

Photo credit: Wisconsin Public Radio

สำหรับมนุษย์เพศหญิง เรียกได้ว่ามีอยู่หลายสิ่งที่ถูกทำให้เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดและไม่ควรปฏิบัติ แม้ว่าสิ่งนั้นจะปกติธรรมดาเอามากๆ ก็ตาม ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าผู้หญิงในยุควิคตอเรียเคยถูกปรามไม่ให้ ‘ปั่นจักรยาน’ เพราะหน้าที่ของผู้หญิงชนชั้นกลาง-สูงในยุคนั้น มีเพียงแค่การแต่งงาน มีลูก และเป็นแม่บ้านแม่เรือนปรนนิบัติสามี สิ่งที่ “ผู้หญิงที่ดี” ควรจะทำจึงเป็นการอยู่อย่างสุภาพเรียบร้อยภายในบ้านเท่านั้น เมื่อมีผู้หญิงหลุดออกมาจากกรอบบรรทัดฐานของระบบชายเป็นใหญ่ สังคมก็ได้พยายามฉุดรั้งพวกเธอเอาไว้ – หญิงสาวคนแรกๆ ที่ปั่นจักรยานในกรุงลอนดอนถูกเขวี้ยงอิฐและหินใส่ สื่อสิ่งพิมพ์ก็กล่าวล้อเลียนว่าผู้หญิงที่ปั่นจักรยานดูอัปลักษณ์ หรือแม้กระทั่งแพทย์ยังออกมาเตือนถึงภาวะมดลูกเคลื่อน ต่อให้การปั่นจักรยานจะดีต่อสุขภาพโดยรวมก็ตาม ถึงอย่างนั้น หญิงวิคตอเรียนก็ยังคงปั่นจักรยานท่ามกลางเสียงต่อต้าน และจุดให้เกิดกระแส ‘The New Woman’ ผู้หญิงหัวสมัยใหม่ที่ทำในสิ่งที่ถูกห้าม อย่างการแต่งกายทะมัดทะแมงหรือเข้ารับการศึกษาเหมือนผู้ชาย

Photo credit: Pulse Nigeria

อีกสิ่งที่ผู้หญิงมักจะถูกห้ามไม่ให้พูดถึงก็คือ ‘ประจำเดือน’ เชื่อว่าผู้หญิงหลายคนต้องเคยถูกดุเวลาที่ถือห่อผ้าอนามัยโดยไม่ปกปิด เพราะผ้าอนามัยและเลือดประจำเดือนถูกมองว่าเป็น ‘ของต่ำ’ มาโดยตลอด หลายๆ คนจึงต้องเลี่ยงการพูดถึงมันโดยตรงและใช้คำอื่นแทน เช่น “วันนั้นของเดือน” หรือ “ไปเปลี่ยนขนมปัง” สื่อโฆษณาเองก็มักจะใช้น้ำสีฟ้าเพื่อสื่อถึงเลือดประจำเดือน จนมีกลุ่มคนที่เข้าใจผิดจริงๆ ว่าประจำเดือนมีสีฟ้า นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีประจำเดือนก็ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมพิธีกรรม หรือศาสนสถานบางที่ และบางครอบครัวที่เคร่งครัดมากๆ ก็ต่อต้านผ้าอนามัยแบบสอด เพราะเชื่อว่าจะทำให้เสียพรหมจรรย์อีกด้วย ถึงอย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ผู้คนได้มีการพูดถึงประจำเดือนในสังคมเป็นวงกว้าง และมีการเรียกร้องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีจากทางรัฐบาลอยู่เนืองๆ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกระมิดกระเมี้ยนหรืออับอายเวลาพูดถึงอีกต่อไป

เรื่องบนเตียง และสิทธิที่จะร่วมรัก

Photo credit: The British Library

ถึงจะเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์ ‘เซ็กซ์’ ก็เคยถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอายและไม่ควรนำมาพูดกันซึ่งๆ หน้า โดยเฉพาะในยุควิคตอเรียที่เพศสัมพันธ์เป็นเพียงการผลิตลูกเท่านั้น แม้แต่สามีภรรยายังต้องนอนแยกห้องเพื่อป้องกันการสัมผัสแบบรักใคร่ที่เกินพอดี ทำให้การชื่นชอบที่จะร่วมรักหรือมีอารมณ์ทางเพศเป็นเรื่องไม่ควรอย่างยิ่ง สำหรับผู้หญิงที่เคยถูกเข้าใจผิดว่าไม่มีอารมณ์ทางเพศ อย่างที่ระบุไว้ในหนังสือ ‘The Functions and Disorders of the Reproductive Organs’ เขียนโดยแพทย์สูตินรีเวช ‘วิลเลียม แอ็กตัน’ (William Acton) ว่า “ผู้หญิงส่วนใหญ่ (ซึ่งก็น่ายินดีสำหรับพวกเธอ) ไม่ค่อยถูกรบกวนโดยความรู้สึกทางเพศ ไม่ว่าจะในรูปแบบไหน” สวนทางกับผู้ชายที่ทำให้การค้าประเวณีในยุควิคตอเรียเฟื่องฟู ถึงอย่างนั้น เซ็กซ์ก็ยังถือเป็นเรื่องน่าอับอาย ไม่ต้องพูดถึงการร่วมเตียงก่อนคืนเข้าหอที่กลายเป็นเรื่องปกติในตอนนี้เลยล่ะ

Photo credit: LSHTM Blogs

ชุดความคิดของคนในอดีตช่างสวนทางกับปัจจุบันที่การพูดเรื่องเซ็กซ์หรือรสนิยมทางเพศเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น เห็นได้จากสื่อบันเทิงที่ผลิตซีรีส์หรือละครโดยแสดงให้เห็นถึงฉากเลิฟซีนอย่างไม่ปิดบัง เทียบกับเมื่อก่อนที่จะเป็นการตัดเข้าโคมไฟเสียส่วนใหญ่ แถมในบางเรื่องก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการคุมกำเนิดและการยินยอม (consent) ควบคู่ด้วย เรียกได้ว่าการร่วมรักนั้นถูกทำให้เป็นเรื่องปกติอย่างที่มันควรจะเป็น ต่อให้การซื้อถุงยางอนามัยหรือยาคุมกำเนิดยังคงชวนเขินสำหรับบางคน พวกเราส่วนมากก็เข้าใจแล้วว่าการมีเซ็กซ์ก่อนแต่งงานไม่ใช่เรื่องผิดบาป และเราสามารถเอนจอยกับมันได้ ตราบใดที่ยังอยู่บนฐานของความยินยอมและความปลอดภัย

ที่ยกมานี้ไม่ใช่ทั้งหมดของสิ่งที่ ‘เคย’ ต้องห้าม ยังมีเรื่องของการยุติการตั้งครรภ์ เฟติช ความสัมพันธ์แบบมีคนรักหลายคน ฯลฯ จากแต่ละหัวข้อ ทุกคนคงสังเกตได้ว่า ประเด็นเหล่านี้เคยถูกต้องห้ามเพราะสังคมกำหนดทั้งนั้น ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี สิ่งใดผิดหรือถูกศีลธรรม โดยที่บางครั้งสิ่งนั้นๆ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเลวร้ายเสมอไป แถมยังควรถูกมองด้วยมุมที่กว้าง การขบคิดและตั้งคำถามจึงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าตนถูกห้ามจากสิทธิที่พึงมี

อ้างอิง

LGBT: เรื่องราวในอดีตของความหลากหลายทางเพศที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ - BBC News ไทย

Iran sentences two LGBT activists to death - BBC News

Human Dignity Trust

Refinery29

The British Library

Victorian Era Organization