ว่าด้วยความฝัน ความชอบ ความหลงใหล หรือแม้แต่ความอยาก ที่ขับเคลื่อนและเติมเต็มรสชาติชีวิต ยิ่งถ้าสิ่งที่รักช่วยเลี้ยงปากท้องเป็นสัมมาอาชีพ คงไม่มีอะไรจะโชคดีไปกว่า ทว่าเมื่อชีวิตมันไม่ได้ง่ายไปทุกบริบท การจะทำในสิ่งที่ชอบในฐานะเป็นธุรกิจใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไปทุกคน
อย่างในธุรกิจ 'คาร์แคร์' คาร์ดีเทลลิ่ง เคลือบสี ขัดสี ที่มักจะมีให้เห็นอยู่ทั่วไปยามเมื่อคุณขับขี่ไปในทุกเส้นทาง แต่พอผ่านไปอีกครั้ง ร้านล้างรถที่เคยเห็นกลับล้มหายตายจากไปตามจังหวะเวลาและช่วงเศรษฐกิจ ธุรกิจที่หลายๆ คนฝันที่เกิดจากความชอบรถเป็นแรงขับ กลับไม่ได้สวยงามตามความเงาของรถที่วิ่งออกจากร้าน เหตุผลจริงๆ คืออะไร EQ เลยอยากรู้และพาไปคุยกับหนึ่งคนที่อยู่ในฐานะเจ้าของธุรกิจประเภทนี้ คุณกฤษ สันติพันธุ์ แห่งร้าน 45Wash ย่านวังหิน ที่ดำเนินธุรกิจนี้มาได้กว่า 10 ปี อะไรที่จะช่วยให้ธุรกิจนี้ไปรอดถึงฝั่งได้ ไปลองฟังคำแนะนำจากเขากัน
การได้เข้าไปคุยกับคุณกฤษ ครั้งนี้จริงๆ ต้องบอกว่าอย่างเป็นกิจจะลักษณะครั้งแรก เพราะก่อนหน้าทางผู้เขียนรู้จักคุณกฤษเป็นการส่วนตัว ผ่านการมีตติ้ง Car Club และในฐานะลูกค้าที่เคยไปใช้บริการกันอยู่บ่อยๆ ระยะเวลาที่เห็นหน้าผ่านตากันมาเกือบราว 10 ปีได้ นานพอๆ กับระยะเวลาที่คุณกฤษได้เข้ามาเปิดดำเนินกิจการของร้านนี้มา
“สวัสดีครับชื่อ กฤษ สันติพันธุ์ เจ้าของร้าน 45Wash ลาดพร้าว-วังหิน 45 เปิดให้บริการ ล้างรถ ดีเทลลิ่ง ขัดสี ฟอกภายใน เคลือบแก้ว ฯลฯ ส่วน Wrap ใส ติดฟิล์มจะเป็นของเพื่อนมาจอยกัน”
“ร้านนี้จริงๆ เปิดมาประมาณ 10 ปี แรกเริ่มเราเป็นลูกค้าก่อน เริ่มจากตอนวัยรุ่นไปล้างรถหลายๆ ร้านได้ซึมซับวิธีจากเจ้าของร้านทุกคน เป็นอารมณ์ประมาณเจ้าของร้านคุยกับลูกค้าประจำนี่แหละ แต่เราซึมซับเทคนิคต่างๆ จากเขามาเรื่อยๆ เริ่มชอบ เริ่มหาซื้อของมาล้างรถเองที่บ้านบ้าง”
“จนมาเรียนจบปริญญาโทไปทำงานประจำอยู่สักพัก แล้วแถวบ้านมีร้านนี้เขาปล่อยเซ้งซึ่งก่อนหน้าเปิดมาประมาณ 1 ปี เป็นร้านที่เราล้างบ่อยๆ เพราะใกล้บ้าน เจ้าของเก่าเป็นรุ่นพี่ เราก็เซ้งมาเลย”
“พอเซ้งเขามาเริ่มงานวันถัดมางานแรกเลยคือ กวาดพื้น ทุกอย่างเริ่มต้นจากไม่รู้เรื่องอะไร และปล่อยเด็กๆ เขาทำ ไปก่อน จากนั้นเรื่องครูพักลักจำที่ผ่านมาจากการนำรถไปล้างที่ต่างๆ ก็นำมาใช้ เราลงมือไปทำเองเลย เปลี่ยนชุดลงไปล้างเอง ลองฉีดน้ำเอง ลองเคลือบเอง ก่อนหน้าที่ร้านเดิมเนี่ยเป็นแค่ล้างรถ ดูดฝุ่น ธรรมมายังไม่ค่อยมีบริการอะไรมาก ไม่มีขัดเคลือบสี เราก็มานั่งคิดว่ามันต้องมีบริการขัดสีให้กับร้าน เพราะเราเคยไปขัดที่อื่นแล้วเห็นว่าควรจะต้องมี จากนั้นจึงเริ่มมีบริการขัดเคลือบสี และบริการอื่นๆ มาเรื่อยๆ”
“ตอนที่เริ่มต้นกิจการของร้าน ไปศึกษาเรื่องเครื่องขัดสีรถ ไปเรียนรู้เรื่อง แวกซ์ น้ำยาขัดเคลือบสีประเภทต่างๆ ไปจนถึงเรื่องเคลือบแก้วจากผู้ขายที่เขาเป็นผู้นำเข้ามาโดยตรง ไปๆ มาๆ ทำมา 10 แล้ว ลองผิดลองถูกกับรถตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทั้งการขัดสีลบริ้วรอย การลูบกระดาษทราย การทำห้องเก็บฝุ่น ฯลฯ ทุกอย่างทำเองจนได้ร้านออกมาอย่างทุกวันนี้”
จากเด็กชอบไปล้างรถ สู่ฐานะเจ้าของธุรกิจสุดท้าทาย
คุณกฤษเล่าให้เราฟังถึงช่วงเวลาเริ่มต้น ว่าทำไมถึงมาเปิดร้านที่นี่ได้ ตั้งแต่ยันมีรถคันแรกนอกจากเรื่องการตกแต่ง แน่นอนว่าการล้างรถ เคลือบสี เงาๆ สวยๆ เป็นสิ่งที่ขาดกันไม่ได้ และเมื่อพอได้มาทำเองความเป็นจริงในฐานะของลูกค้าเทียบกับเจ้าของกิจการย่อมมีช่วงเวลาที่ยากลำบากจะต้องเจอ
“เริ่มต้นเราเป็นเด็กมหาลัยที่บ้ารถ ชอบแต่งรถ ตอนนั้นมีรถขับไปเรียนหนังสือก็เอาไปล้างเคลือบ แล้วเห็นว่ามันเงาดี สวยดี ตอนอยู่มหาลัยจะมีกลุ่มเพื่อนที่ชอบรถ บ้ารถเหมือนกัน 3-4 คัน จะเลือกลงเรียนให้ว่างตอนกลางวันพร้อมๆ กัน จากนั้นพอเรียนช่วงเช้าจบก็จะพากันไปล้างรถตอนสายๆ พอบ่ายก็จะกลับไปเรียนต่อเกือบทุกวัน”
“กินขนมวันละ 60 ล้างรถ 300 ร้านที่เราไปใกล้มหาลัยสุด แค่ไปล้างรถ ยืนดูรถ ดูเขาล้าง ยืนชิลล์กัน 3-4 คน ทำแบบนี้เป็นกิจกรรมหลัก”
ความท้าทายหลากหลายที่เป็นโจทย์มาให้แก้
“จริงๆ เปิดร้านคาร์แคร์มันลำบากทุกช่วง.. ท้าทายตลอดเพราะการแข่งขันสูง คนทั่วไปมีกำลังเปิด ในซอยนี้ทั้งซอยมีร้านล้างรถอยู่ 20 เจ้าได้ มันยากลำบากตลอด ประเด็นหลักๆ ที่ต้องจัดการคือเรื่องของ 'คนงาน' เราจะไม่เรียกว่าลูกน้อง เราจะเรียกว่าเพื่อนร่วมงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน ตรงนี้ไม่ได้หาง่ายๆ คือถ้าได้คนทำงานที่บ้ารถชอบรถ สวยๆ สะอาดๆ เหมือนกันมันก็จะเป็นเป้าหมายเดียวกัน แต่ถ้าได้คนที่มาเพื่อแค่ขายแรงงาน ทำงานไปพวกเขาจะมีความเบื่อ ความเหนื่อย เข้ามาแทรกตลอดการทำงาน และอยู่ไม่ได้นาน”
“ส่วนเรื่องทั่วไปก็มีคือเรื่องของ ลูกค้า แรกๆ ที่เปิดด้วยความที่เรายังเป็นเด็ก เราเป็นวัยรุ่นเนี่ย เมื่อต้องเจอกับลูกค้าหลายๆ แบบ ประสบการณ์ในตอนแรกเริ่มมันยังไม่พอ ปัญหาที่เจอคือ ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรือบางทีอาจจะมีงานที่ออกมายังไม่ถูกใจลูกค้าซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไปจนถึงเรื่องการทำเวลา ลูกค้าบางคนรีบแต่อยากให้สะอาด ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่เราที่ต้องสื่อสารให้เข้าใจ”
“ความต้องการของลูกค้านี้เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เช่นเรื่องน้ำยาที่ใช้กับรถ จริงๆ ก่อนหน้าติดสัญญาอีกแบรนด์อยู่จึงมีข้อจำกัดว่าใช้แบรนด์อื่นไม่ได้ แต่มีลูกค้ามาถามถึงน้ำยาแบรนด์อื่นๆ ถามว่าทำไมไม่มีน้ำยาตัวนั้นตัวนี้ ตอนนั้นเราก็ทำอะไรมากไม่ได้ พอตอนนี้ลูกค้าถามถึงน้ำยาอะไรเรามีหมด อยากได้อะไรจัดให้ได้ทุกแบรนด์!”
Know-How สำคัญที่สุดส่งผลโดยตรงต่อกิจการ
บางธุรกิจเน้นแรงงาน บางธุรกิจใช้องค์ความรู้พื้นฐานไม่มากมาย แต่สำหรับธุรกิจการดูแลสีรถยนต์ เรื่อง Know-How สำคัญมากๆ และคุณกฤษบอกกับเราอีกว่า ต้องอยู่กับตัวเจ้าของร้านเองด้วย เจ้าของร้านต้องทำเป็นทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพราะนั่นส่งผลต่อต้นทุนของร้านทั้งหมด และแน่นอนว่าหากต้นทุนไม่คุมให้อยู่หมัด ย่อมส่งผลลัพธ์ต่อร้านทุกทางไม่ว่าจะทางไหน และมันไม่เป็นผลดีต่อร้านแน่ๆ
“การคุมบัดเจทต้นทุนให้การบริหารต้องบอกเลยว่าช่วงเริ่มต้นร้านเนี่ย เราไม่มี เราใส่เต็มให้รถทุกคันเลย รถเราใช้ยังไง เราก็ใส่เต็มรถลูกค้าอย่างนั้น ผลปรากฏว่าผลประกอบการมันก็ไม่ดีสิ ลูกค้า Happy แต่ตัวเลขบัญชีไม่ Happy กลายเป็นว่าต้องมาปรับให้เหมาะสม”
“ตัวอย่างเช่น ก่อนหน้าใช้ แวกซ์ขวดหนึ่งแค่กับรถ 3-4 คัน พอปรับมาใช้เท่าที่จำเป็น และเหมาะสมกับประเภทสีรถแต่ละคัน จำนวนก็ขยับได้ถึง 10 คัน เป็นต้น สิ่งที่เรียนรู้จากองค์ความรู้ที่ไปหาเพิ่มมาในตอนแรกคือ การใส่น้ำยาหรือ แวกซ์เยอะเกินไป ไม่ได้ช่วยให้รถเงางามหรือดี กลับกันจะเป็นการเสียวัตถุดิบไปโดยเปล่าประโยชน์เสียมากกว่า”
องค์ความรู้ที่ต้องอยู่กับร้านคือตัวเจ้าของ
“จะเปิดร้านให้ประสบความสำเร็จใช่ว่าแค่มีเงินจ้างเด็ก แล้วมานั่งดูเด็กล้าง ทำงาน ร้านคาร์แคร์จะอยู่รอดหรือไม่คือ องค์ความรู้ Know-How ทางเจ้าของร้าน ต้องลงมือทำมีชั่วโมงบิน ล้างยังไง วิธีขัดยังไง เคลือบแก้วทำยังไง มีการอัพเดทกระแสใหม่ๆ อยู่ตลอด น้ำยาอะไรมาแรง คนสนใจทั้งในและต่างประเทศ สำคัญที่สุดคือ องค์ความรู้พวกนี้ต้องฝังอยู่กับทางร้านหรือตัวเจ้าของ ไม่ใช่ไปอยู่กับเด็ก ถ้าตอนเด็กลาออกปุ๊บ คุณต้องลงงานเองได้ทุกขั้นตอนหรือสอนเด็กใหม่เองได้”
อุปกรณ์ทั้งร้านต้องดูแล 'ให้เป็น!'
“อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินงาน เช่น ปั๊มลม, ปั๊มน้ำ, เครื่องขัดสี, ปืนลม, สายยาง, สายลม, เครื่องดูดฝุ่น เครื่องมือพวกนี้ถ้าไม่มีองค์ความรู้ในการบำรุงรักษา ร้านก็เจ๋งได้ คือของพวกนี้มันเป็นของที่พังง่าย ถ้าไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง หรือเสียค่าใช้จ่ายไปกับการซ่อมแต่ละครั้งแพงๆ นี่ถึงขั้นซ่อมเองเลยนะ ซ่อมได้บ้างส่วนหนึ่ง เปลี่ยนอะไหล่พอทำได้ ต้องรู้แหล่งอะไหล่ซื้อมาเปลี่ยนเอง เพราะถ้าผ่านเซลล์ตลอดค่าใช้จ่ายแพงกว่า การทำร้านล้างรถ เจ้าของร้านคือทุกสิ่งทุกอย่างของร้านเลย”
ร้านคาร์แคร์ที่ส่วนใหญ่ ไปไม่รอด!
เราถามคุณกฤษว่ามองยังไง กับธุรกิจนี้ที่ส่วนใหญ่เปิดมาแล้วไม่นานก็ปิด มีจำนวนไม่มากนักที่จะเปิดยืนยงมาได้นานๆ เป็นสิบปี คุณกฤษแชร์กับเราว่าหลักๆ เลยคือเรื่องของบัดเจท และการเตรียมตัวรับมือกับช่วงเวลาที่คนน้อย ซึ่งส่วนใหญ่รู้กันดีว่า 'หน้าฝน' คือฤดูกาลปราบเซียน ไม่เตรียมตัวให้ดี มีเก็บของกลับบ้านกันหลายราย
“ตรงนี้มันต้องย้อนกลับไปในเรื่องของบัดเจท บางคนมีบัดเจทในการเปิดร้าน แต่ลืมเผื่อบัดเจทไว้ตอนหน้าฝน หน้าฝนรถล้างน้อยเป็นเรื่องปกติ ยอดขายลดฮวบแบบครึ่งๆ แต่ Fixed Cost ไม่หาย ทั้งค่าเช่า, ค่าแรง จ่ายเท่าเดิม ไหนจะค่าใช้จ่ายในร้าน ของสิ้นเปลืองอย่าง ผ้าเช็ดรถ, ฟองน้ำ, แชมพู, แวกซ์ ทุกอย่างเท่าเดิม”
“พอหน้าฝน Income มันหายไปครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นคุณต้องมีบัดเจทหมุนเวียนเผื่อไว้ตรงนี้ รวมไปถึงเรื่องการบริหารจัดการทีมงานให้ดี รวมไปถึงการทำโปรโมชั่นเพื่อมา Support”
“เช่นเราลดราคาเคลือบสี เราจะลดจากปกติไป 10-15 เปอร์เซ็นต์ แล้วให้ข้อมูลกับลูกค้าไปว่า หน้าฝนคุณควรจะเคลือบนะ ไม่ใช่ว่าฝนตกก็ทิ้งคราบน้ำไว้ช่างมันเดี๋ยวมันก็เลอะอีก อย่าลืมว่าประเทศเราเวลาฝนไม่ตกมันร้อนมาก แล้วคราบน้ำที่ไม่แห้งมันจะมาเป็นคราบน้ำล้างไม่ออก คือต้องให้ข้อมูลกับลูกค้าอย่างเข้าใจ ถ้าคราบน้ำไม่ออกมันต้องขัดเท่านั้นและตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า”
ปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลักหากคิดจะเปิดร้านคาร์แคร์
คุณกฤษเล่าเรื่องราวที่เขาได้พบเจอจากการให้บริการคาร์แคร์มาตลอด 10 ปี ความท้าทาย ปัญหาที่ต้องคอยแก้ และสิ่งสำคัญที่ร้านคาร์แคร์ต้องมีเป็นพื้นฐาน รวมไปถึงคำแนะนำสำหรับคนที่คิดจะเข้ามาสู่ธุรกิจนี้ มองว่าอะไรเป็นปัจจัยแรกๆ ที่ร้านคาร์แคร์ต้องคำนึงถึง คุณกฤษบอกเลยว่า 'เจ้าของร้าน' ที่เปรียบเหมือนกับเปิดร้านอาหารตามสั่ง
“การบริหารเวลาของเจ้าของร้าน อยู่ร้านฝึกเด็ก พบปะลูกค้า ให้ความรู้กับลูกค้า ต้องบริหารเวลาได้ไม่งั้นจะเกิดอาการเบิร์นเอาท์ เพราะเจ้าของร้านต้องดูทุกอย่าง ดีลทั้งลูกค้า, คู่ค้า, เด็กในร้าน เราต้องบริหารให้เป็น หรือถ้าลูกค้าบอกอยากได้รถในเวลาเท่านั้นนี้เราต้องประเมินให้ดี ทันเวลาที่ลูกค้าต้องการ”
“เรื่องเวลานี่รวมไปถึงเรื่องการจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วย ทุก Fixed Cost ไม่มีอันไหนช้าหรือขาดได้เลย เพราะฉะนั้นต้องบริหารให้ดี”
“เจ้าของร้านต้องคอยรักษาคุณภาพของงาน คอยพยายามนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับลูกค้าตลอด ร้านล้างรถมันก็เหมือนร้านขายข้าว ข้าวผัดกะเพราทุกร้านก็ทำได้ ล้างสีดูดฝุ่นทุกร้านก็ทำได้ แต่ถ้าเมื่อไรร้านคุณมีเนื้อวากิว มีอะไรที่มันน่าสนใจเพิ่มมา มีนวัตกรรมใหม่ๆ ของที่มันอร่อยขึ้น แวกซ์ใหม่ๆ ที่มันดีขึ้น ถึงแม้มันจะราคาแพงขึ้นมาหน่อย แต่ถ้าดีลูกค้าก็ซื้อ”
“คือพอคุณมีของดีๆ มาไว้รองรับ ทางลูกค้าก็มีตัวเลือก เพราะลูกค้าเรารับทุกรูปแบบ เราไม่ได้มองว่ารถถูกรถแพง เราดูแลเท่ากัน อีกอันคือ ‘ห้ามปฏิเสธลูกค้า’ เพราะเมื่อเขาเข้ามาในร้านเรา คือตั้งใจวางใจมาล้าง เขาอยากอุดหนุนเรา เขาอยากลองร้านเรา อยากให้รถเขาสะอาด คือถ้าเราปฏิเสธเนี่ย ลูกค้าจะเฟล”
“อีกเรื่องคือใจต้องรัก และคุณต้องแก้ปัญหาแก้สถานการณ์ได้อย่างดี”
คุณกฤษฝากไว้อีกอย่างซึ่งสำคัญที่สุดจากทั้งหมดทั้งมวลที่มาเล่าให้ฟังกันในเรื่องธุรกิจคาร์แคร์ของเขาว่า 'อย่ายอมแพ้' นี่คือคำสั้นๆ เพียงคำเดียว อย่ายอมแพ้เมื่อต้องทำงานเหมือนจะเดิมๆ ซ้ำๆ แต่แตกต่างที่รายละเอียด อย่ายอมแพ้เมื่อต้องโดนติเตียนจากลูกค้า อย่ายอมแพ้ในเดือนที่ยอดเข้าน้อยไม่เป็นไปตามคาดหวัง อย่าพึ่งหมดใจง่ายๆ คนที่เปิดร้านปีแรกเหมือนกับเป็นการหว่านเมล็ดเพื่อซื้อความเชื่อใจในการดูแลรถลูกค้าคนละแวกนั้นๆ เพราะฉะนั้นหากไม่ได้ทุนเหลือเฟือ ปีแรกอาจจะยังได้แค่เท่าทุน ยิ่งหากคุณเริ่มต้นจากศูนย์จริงๆ ไม่มีองค์ความรู้พื้นฐาน มีแต่ Passion มา อาจต้องแลกด้วยเวลา เพื่อสร้างฐานลูกค้าที่เชื่อมั่นในผลงาน