Identity

เลิกไม่ได้ ตัดไม่ขาด เพราะใจยังหวัง – เหตุผลทางจิตวิทยาที่เรายังยอมตกอยู่ใน Abusive Relationship

หนึ่งในข่าวที่พบเห็นได้บ่อยมากที่สุด ไม่ว่าจะบนแพลตฟอร์มไหน ช่วงเวลาใด ก็คงไม่พ้นข่าวเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายคนรักจนบาดเจ็บสาหัส หรือถึงขั้นเสียชีวิต จนวลี “พระโคกินชายแท้” ยังถูกใช้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อปีก่อนจนถึงปีนี้ ที่ข่าวดาราชายชื่อดังลงไม้ลงมือหรือล่วงละเมิดทางเพศแฟนสาวได้ถูกปล่อยออกมามากมายจนตามกันแทบไม่ทัน ซึ่งในหลายๆ ครั้ง ฝ่ายที่ถูกทำร้ายได้อดทนมานานก่อนที่จะตัดสินใจเลิกรา ก่อให้เกิดเป็นคำถามที่ว่า เพราะอะไรมนุษย์เราถึงยอมกลับไปคืนดีกับคนที่ทำให้ต้องเจ็บช้ำ จมอยู่ในวังวนของ Abusive relationship? แน่นอนว่าคำถามนี้สามารถตอบได้ด้วยการใช้เหตุผลทางจิตวิทยา

“Hurt People Hurt People” – เพราะถูกทำร้าย จึงทำร้ายคนอื่น

ก่อนที่จะอธิบายถึงเหตุผลที่ผู้คนตกอยู่ในสภาวะจำยอมกับความรักพังๆ เราคงต้องเข้าใจกันเสียก่อนว่า ทำไมเหยื่อถึงได้กลายเป็นเหยื่อ ทำไมผู้ร้ายถึงได้กลายเป็นผู้ร้าย และลักษณะของพวกเขามักจะเป็นอย่างไร

เราอาจจะคุ้นเคยกับภาพจำที่เหยื่อมักดูน่าสงสาร เหมือนกับนางเอกละครหลังข่าวสมัยก่อนที่ถูกพระเอกขืนใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหยื่อไม่จำเป็นต้องดูน่าสงสารหรือไร้ทางสู้เสมอไป เหยื่อสามารถดูโกรธเกรี้ยว ไม่ยอมคน หรืออาจจะทำร้ายผู้กระทำกลับ จนกลายเป็นทั้งเหยื่อและผู้กระทำในคนเดียวกันก็เป็นได้ ซึ่งลักษณะและบุคลิกที่พบได้บ่อยในเหยื่อของความสัมพันธ์ที่รุนแรง คือ

  1. มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ (Low self-esteem) เหยื่อจำนวนมากมีความไม่มั่นใจว่าตนจะสามารถตัดขาดจากผู้กระทำได้ ไม่มั่นใจว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนรอบข้าง ไม่มั่นใจว่าตนจะสามารถเริ่มชีวิตใหม่ได้ด้วยตัวเอง หรือกระทั่งไม่มั่นใจในความคิด เพราะถูกทำให้เชื่อว่าตนเป็นต้นเหตุที่คนรักลงไม้ลงมือ โดยความคิดเหล่านี้จะมาจากความกังวล และประสบการณ์ส่วนตัวที่บ่มเพาะให้เกิดมุมมองเช่นนั้น เช่น มักจะไม่ได้รับความช่วยเหลืออยู่บ่อยๆ หรือเคยถูกช่วยเหลือมากจนขาดความสามารถในการรับมือกับปัญหาด้วยตนเอง
  2. ชินชากับความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง โดยผู้ที่ชินอาจจะเติบโตมากับครอบครัวที่มีปัญหาด้านการใช้ความรุนแรงทางร่างกาย หรือการเสียดสีด่าทอ จึงมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคู่ทั่วไป และไม่รู้มาก่อนว่าความสัมพันธ์ที่ดีนั้นควรจะเป็นเช่นไร
  3. รู้สึกอับอายได้ง่าย มีเหยื่อจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่กล้าเอ่ยปากขอคำช่วยเหลือหรือยืนหยัดเพื่อตนเอง เพราะอับอายที่ตนถูกทำร้ายหรือข่มขู่ ไม่อยากดูอ่อนแอต่อหน้าคนอื่น ในหลายกรณี เหยื่อก็มองว่าตนเองก็ทำผิดพลาดต่อผู้กระทำ จึงไม่สมควรได้รับการช่วยเหลือ

ที่สำคัญ ยังมีเรื่องของเงื่อนไขที่ทำให้บุคคลจำยอมอยู่ในความสัมพันธ์อย่างหลีกเลี่ยง (แทบจะ) ไม่ได้ หนึ่งในเงื่อนไขที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยมากที่สุดก็คือ ‘ลูก’ อันเป็นดั่งโซ่ทองคล้องใจ และในบางครั้งก็เป็นเหมือนโซ่ตรวนสำหรับเหยื่อที่ยังต้องพึ่งพาคนรัก โดยเฉพาะในเรื่องของการเงิน รวมถึงปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เติบโต อีกเหตุผลที่ได้ยินกันบ่อยในบทละคร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจริง คือการที่เหยื่อ “ไม่อยากให้ลูกโตมาไม่มีพ่อ/แม่” จึงได้ทนยอม แม้ว่าตนจะต้องทรมานอีกสักเท่าไหร่ก็ตาม

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเหตุผลอีกนับหลายสิบประการที่ทำให้ผู้คนหนีไม่พ้นจากสภาพการเป็นผู้ถูกกระทำ ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความกดดันจากสังคมรอบด้าน ความพิการ ความรัก และอื่นๆ อีกมากมาย

ในส่วนของผู้กระทำนั้น หลายคนคงจะแปลกใจหากเราบอกว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว พวกเขาเหล่านี้จะมีลักษณะร่วมกับเหยื่ออยู่ไม่น้อย ทั้งในจุดที่มีความมั่นใจในตัวเองต่ำ ชินชากับความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง และอับอายที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะเมื่อมนุษย์เราไม่มีความมั่นใจในใจตัวเอง เขาคนนั้นจะมองว่าตนไม่ดีพอที่จะหาคนรักใหม่ ผู้กระทำที่มีพื้นฐานจิตใจบิดเบี้ยวและขาดความมั่นใจจึง Gaslight ให้เหยื่อเชื่อว่าตนเองก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากความสัมพันธ์นี้ได้เช่นกัน เช่น การพูดว่า “นอกจากฉันแล้วจะมีใครที่รักเธออีก” “เธอนั่นแหละที่ยั่วโมโหก่อน ถ้าเป็นคนอื่นคงทำหนักกว่านี้อีก” “อย่างเธอคงหาคนใหม่ที่ดีกว่าฉันไม่ได้” ฯลฯ

เรื่องที่น่าเศร้าคือ บางครั้ง ฝ่ายผู้กระทำเองก็เคยถูกทำร้ายมาก่อน โดยส่วนมากจะอยู่ในครอบครัวที่มีความรุนแรง (Domestic violence) ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบที่พ่อทำร้ายแม่ แม่ทำร้ายพ่อ พ่อแม่ทำร้ายลูก ลูกทำร้ายพ่อแม่ หรือแม้แต่ลูกทำร้ายกันเอง การปลูกฝังด้วยความรุนแรงนั้นอาจทำให้เกิดการเรียนรู้และกระทำซ้ำได้ในอนาคต เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเรียนรู้จากอดีตและนำมาป้องกันไม่ให้เกิดกับตัวเองได้ นอกจากนี้ ผู้กระทำหลายคนต่างรู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่ตนทำน้้นผิด แต่ความอ่อนแอก็สร้างเปลือกแข็งกร้าว ไม่ยอมที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา หลายคนจึงไม่มีความสุขในชีวิตอย่างแท้จริง ถึงอย่างนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องให้อภัยผู้กระทำ เป็นความจริงที่พฤติกรรมเหล่านี้สามารถอธิบายได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันถูกต้อง หรือสมควรได้รับการให้อภัย

มูฟออนจากการเจ็บช้ำเป็นวงกลม

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะเข้าใจกันได้ประมาณหนึ่งแล้วว่าทำไมเหยื่อถึงยังคงติดอยู่ในความสัมพันธ์ เพื่อให้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะทำความเข้าใจก็คือ ‘วังวนของความรุนแรง’ (Cycle of Abuse)

วังวนของความรุนแรงนี้มีอยู่ 4 ลำดับขั้นตอน ซึ่งพอจบลำดับที่ 4 แล้วจึงวกกลับไปสู่ลำดับที่ 1 ใหม่ วนเวียนเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหยุดวงจรด้วยการเลิกรากันไป แน่นอนว่ามันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน แต่เราสามารถใช้วงจรนี้ในการมองภาพรวมของการใช้ความรุนแรงในความสัมพันธ์ได้

4 ขั้นตอนของวังวนของความรุนแรง ได้แก่

  1. ความตึงเครียด (Tension) ในช่วงนี้ ผู้กระทำได้สะสมความเครียดเอาไว้และเริ่มที่จะมีความโกรธเกรี้ยวมากขึ้นตามเวลา โดยอาจจะค่อยๆ แสดงความหงุดหงิดให้เห็นถี่ขึ้น หลังจากที่สงบมาได้ระยะหนึ่ง ส่งผลให้เหยื่อเริ่มรู้สึกกังวล ระมัดระวังเรื่องของการกระทำและคำพูดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำโมโหร้าย
  2. การเกิดความรุนแรง (Incident) ในที่สุด ความตึงเครียดที่สะสมทีละเล็กละน้อยก็ปะทุ ผู้กระทำเริ่มแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมรุนแรงอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางอารมณ์ ความรุนแรงทางร่างกาย ความรุนแรงทางคำพูด ความรุนแรงทางเพศ ฯลฯ
  3. การคืนดี (Reconciliation) หรือ ช่วงฮันนีมูน (Honeymoon Period) เมื่อผู้กระทำเริ่มสงบลง และสำนึกได้ถึงความผิดของตนเอง ผู้กระทำจะเอ่ยปากขอโทษ พยายามง้อขอคืนดี มอบของขวัญ มอบความรัก หรือกระทั่งสัญญาว่าจะไม่ทำผิดซ้ำอีก พฤติกรรมเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เหยื่อจึงให้โอกาสอีกครั้ง ด้วยความหวังที่ว่าคนรักของตนจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
  4. ความสงบสุข (Calm) สำหรับช่วงระยะนี้ ทุกอย่างอาจจะยังคงดูดีเหมือนยังไม่พ้นจากช่วงขอคืนดีเสียเท่าไหร่ แต่จะสังเกตได้ว่าผู้กระทำเริ่มมีการโทษเหยื่อหรือปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ทะเลาะกันมากขึ้น ราวกับว่าตนไม่ควรรับผิดชอบต่อการกระทำเพียงฝ่ายเดียว หรือ Gaslight ให้เหยื่อเชื่อว่าการทะเลาะเบาะแว้งที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เช่น “ถ้าตอนนั้นเธอไม่พูดอย่างนั้น ฉันก็คงไม่ทำ” “จริงๆ ที่เราทะเลาะกันก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้นนะ” “มันแค่อารมณ์ชั่ววูบแวบเดียว” ฯลฯ เหยื่อบางคนอาจจะสับสน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ในเมื่อผู้กระทำยังคงปกติดี อย่างไรก็ตาม หลังจากระยะนี้จบลง ความตึงเครียดก็จะก่อตัว นำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้ง

ผูกจิตคล้องใจ ยากที่จะตัดขาด

เมื่อวังวนของความรุนแรงเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ทั้งเหยื่อและผู้กระทำต่างอยู่ในความสัมพันธ์ด้วยกันมาเป็นเวลานาน ความผูกพันก็ก่อเกิด ทำให้ยิ่งตัดกันไม่ขาด สิ่งนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Trauma bonding’ ซึ่งก็คือลักษณะความผูกพันที่เกิดขึ้นระหว่างเหยื่อกับผู้กระทำ จากการผ่านช่วงทะเลาะรุนแรงและคืนดี มีดีมีร้ายสลับกันไป ถึงแม้จะเกิดความบอบช้ำทางจิตใจและร่างกายซ้ำๆ ก็ไม่ยอมเลิกรา หรือต่อให้แยกทางแล้ว เหยื่อก็ยังเกิดอาการคิดถึง อยากที่จะกลับไปหาผู้กระทำอีกครั้ง

Trauma bonding จะส่งผลเสียอย่างมากต่อเหยื่อของความสัมพันธ์ เพราะนอกจากจะทำให้ตัดใจยากแล้ว เหยื่อจะค่อยๆ สูญเสียตัวตนไปเรื่อยๆ เจ็บปวดซ้ำๆ จนอาจมีภาวะหรือโรคทางจิตใจได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล PTSD ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปคือ เหตุผลที่ผู้คนยังคงตกอยู่ในความสัมพันธ์ Toxic ที่มีแต่จะทำให้เจ็บช้ำ หรือ Abusive relationship นั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกและประสบการณ์ส่วนตัว การตกอยู่ในวังวนของความรุนแรง หรือมี Trauma bonding กับผู้กระทำ ดังนั้น หากเรามีคนรู้จักที่อยู่ในความสัมพันธ์ลักษณะนี้ สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือการทำให้เหยื่อมั่นใจว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลือเมื่อต้องการ ช่วยให้เหยื่อรับรู้คุณค่าของตนเอง และเสริมความมั่นใจไม่ให้เหยื่อคล้อยตามผู้กระทำ โดยละทิ้งความกลัวที่ว่าตัวเราจะต้องทานอาหารหมาเข้าในสักวัน เพราะในวันหนึ่งทุกอย่างอาจสายเกินแก้ และถ้าใครกำลังตกเป็นเหยื่อ ทางเราขอสนับสนุนให้เรียกร้องขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะจากคนรอบข้าง หรือมูลนิธิและหน่วยงานต่างๆ ขอให้คิดเอาไว้อยู่เสมอว่า เราไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลเพื่อให้อภัยคนที่ทำร้ายเรา เพราะคนที่รู้วิธีที่จะรัก จะไม่มีทางทำร้ายเราอย่างแน่นอน

อ้างอิง

Verywell Health

Kati Morton