Auto

'รถไฟฟ้าราคาไม่เกินล้าน' ว่าด้วยสารตั้งต้นของคนอยากเปลี่ยนมาใช้รถ EV

ดูเหมือนตลาดรถเครื่องยนต์สันดาปหรือ 'ICE' (INTERNAL COMBUSTION ENGINE) กำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดในตลาดรถมากขึ้น จากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดรถ EV (Electric Vehicle) ที่แม้ ณ ปัจจุบันขณะออกมาไม่กี่รุ่นชนิด 'นับนิ้วได้' ที่สำคัญ! หลายๆ รุ่นมาจากค่ายรถใหม่จากแดนมังกร ใช่ว่าจะมาจากแบรนด์ญี่ปุ่นที่คุ้นชื่อที่ผู้ใช้รถบ้านเราวางใจ ทว่าสามารถสร้างกระแสหรือเปลี่ยนใจให้คนใช้รถทั่วไป อยากที่จะเปลี่ยนการใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องพึ่งการเติมน้ำมันดูสักหน่อย

ข้อจำกัดยังมีอยู่ไม่น้อยสำหรับการตัดสินใจซื้อรถไฟฟ้า ทั้งเรื่องสถานีชาร์จก็ดี จำนวนตัวเลือกของรุ่นรถ ของแบรนด์รถก็ดี แต่ยัง 'เกินต้าน' กับกระแสความนิยมของรถ EV ในบ้านเรา ความนิยมของรถ EV ถึงขั้นไหน และรุ่นไหนบ้างที่น่าจะเหมาะสำหรับคุณเพื่อปฐมฤกษ์รถไร้มลพิษในงบที่ไม่เกินจริง เอาสักไม่เกินล้าน มีรุ่นไหนน่าสนใจ EQ จะเล่าให้ฟัง

ตลาดรถ EV ในประเทศไทยโตแค่ไหนปีนี้

ข้อสังเกตรอบด้านเพื่อบั่นทอนความตั้งใจของคนที่อยากจะจับจองรถ EV คันแรก แต่ไม่สามารถห้ามความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างทะลักล้นของรถ EV นี้ได้จริงๆ เมื่อยอดจดทะเบียนรถ EV ในปี 66 แค่เข้ากลางปีทะลุไปกว่า 3 หมื่นคันไปแล้ว ซึ่งมากกว่ายอดจดทะเบียนทั้งปี 65 ที่ยอดจดทะเบียนอยู่ที่ราว 1 หมื่นคันเท่านั้น

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของรถ EV ในไทย ดูเหมือนว่าจะเป็นมากกว่าแค่กระแส แสงกะพริบที่มาแล้วก็ไป แต่กลับกันเป็นเหมือนสปอตไลต์ช่วยส่องทางออกให้ผู้ใช้รถคนไทยที่เอือมระอากับเรื่องค่าน้ำมันในประเทศเสียมากกว่า

“หากคุณอนุรักษ์นิยม เคยรถ ICE ยังเป็นคำตอบสุดท้าย รถไฟฟ้านั้นยังไกลตัว อาจต้องคิดใหม่แล้วแหละตอนนี้ ว่ารถคันต่อไปจะเป็นรถ EV เลยดีหรือเปล่า”

'รุ่นที่ใช่ในเวลาที่เหมาะสม' บรรทัดฐานการตัดสินใจแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนว่ารอก่อน ใช้รถน้ำมันหรือไฮบริดขับไปไหนสบายใจกว่า แต่บางคนว่า 'ใช้ก่อนประหยัดก่อน' ก็เป็นอีกหนึ่งมุมที่ฉุกให้คิดทุกทีที่ได้ยิน แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจยังไง ต้องยอมรับว่าการมาของรถ EV นี้จะทำให้อุตสาหกรรมไปจนถึงรูปแบบชีวิตของหลายๆ คนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปอย่างแน่นอน

รถ EV ราคาไม่เกินล้านบาท รุ่นไหนบ้างที่น่าสนใจ?

หากคุณมี 'สารตั้งต้น' สนใจจะเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าหรือเพิ่มทางเลือกเป็นรถอีกคันในบ้าน โดยที่อยู่ในงบไม่เกิน 1,000,000 บาทไทย ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องวิ่งใช้งานไม่ต่างกับรถน้ำมันที่มีอยู่ ขับได้ไกลไม่ต่ำกว่า 250 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟเต็ม มีระบบ DC Fast Charge ชาร์จไฟเร็วตามสถานีได้ 30-40 นาทีว่าไป ให้ใกล้เคียงกับรูปแบบกับการใช้งานรถ ICE มากที่สุด

“รถ EV ที่เป็นรถใช้งานประจำวันได้จริงๆ ไม่ต่างรถน้ำมัน ไม่ใช่รถไฟฟ้าจ่ายตลาดของคุณแม่ ที่วิ่งได้แค่แถวบ้านแล้วต้องกลับมานอนชาร์จทั้งคืนกว่าจะไปได้ต่อ (AC)”

และต่อไปนี้คือ 3 รุ่น ที่เราอยากแนะนำ กำลังเป็นกระแส ยอดขายและจดทะเบียนมาเป็นอันดับต้นๆ ของตลาดรถไฟฟ้าเมืองไทย และน่าจะเป็นคำตอบให้กับเรื่องตัวเลือกรถไฟฟ้าคันแรกของคุณได้ด้วย ไปดูสารตั้งต้นเหล่านี้กัน

NETA V

ราคา: 549,000 บาท

ดีไซน์: ท่ามกลางความสงสัยในการออกแบบของรถคันนี้ ว่าจะไปแนวรถยอดนิยมอย่าง SUV ดี หรือจะเป็นแค่รถ City Car อารมณ์ Yaris ยกสูง ทำให้ได้ออกมาเป็นรถคันนี้ ที่จะว่าสวยก็ไม่ใช่จะว่าลงตัวก็ดูขาดๆ เกินๆ ดีออกไปทางเฉยๆ หากไม่ใช่ราคากับสเปกนี้ ส่วนตัวผู้เขียนก็จะไม่อยากแนะนำเลยด้วยซ้ำ

พละกำลัง: มากับมอเตอร์ไฟฟ้า Permanent Magnet Synchronous Motor แรงม้าสูงสุดอยู่ 95 แรงม้า (PS) ผสานกับแรงบิดสูงสุด 150 Nm แบตเตอรี่ที่ให้มาแบบ Lithium-ion ความจุ 38.5 kWh วิ่งได้ไกลสุด 384 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มตามมาตรฐานการทดสอบ NEDC

การชาร์จ: ชาร์จแบบ AC 0-100% ใช้เวลา 8 ชั่วโมง

ชาร์จแบบ DC Fast Charging 30%-80% ใช้เวลา 30 นาที

จุดเด่น: ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับสเปกที่ได้ แค่เอาค่าน้ำมันที่เคยจ่ายมาผ่อนก็คุ้มแล้ว

จุดสังเกต: ความเร็วสูงสุดล็อกไว้ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น แถมวัสดุภายในยังดูไม่ค่อยหวือหวาเท่าไร

BYD DOLPHIN

ราคา: 699,999 - 859,999 บาท

ดีไซน์: แม้จะดูเหมือนเล็กกับรูปทรงรถท้ายตัด แต่ถ้ามองตัวเลขจริงๆ จะคันเล็กกว่ารุ่นพี่ BYD Atto3 เล็กน้อยเท่านั้น ภายนอกไม่ได้หวือหวาคล้ายรถ City Car ทั่วไป แต่ที่ดึงความสนใจได้คือ ภายในห้องโดยสารกับการออกแบบแบบไร้ขีดจำกัดประหนึ่งหลุดออกไปในท้องทะเลตามชื่อรุ่น คนที่ชอบก็ชอบเลย แต่อาจจะไม่ User-Friendly ในการใช้งานฟังก์ชั่นตัวรถบางอย่าง อาทิ ที่จับเปิดประตูอันเลื่องชื่อของรุ่น

พละกำลัง: เปิดราคามาให้เลือก 2 เกรด 2 ราคา รุ่นเริ่มต้น Standard Range มอเตอร์ไฟฟ้ากำลัง 94 แรงม้า แรงบิด 180 Nm แบตเตอรี่บางๆ เฉพาะตัว Blade CTB แบบ Cell-to-body 44.9 kWh วิ่งได้ไกลสุดต่อการชาร์จไฟเต็ม 410 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน NEDC

ส่วนตัวท็อปในรุ่น Extended Range กำลังให้มาเยอะกว่ารุ่นเริ่มต้นพอสมควร แรงม้ากว่า 204 แรงม้า แรงบิด 310 Nm แบตเตอรี่ Blade CTB เหมือนกันแต่ใหญ่กว่ากับความจุ 60.48 kWh วิ่งได้ไกลสุดต่อการชาร์จไฟเต็มเพิ่มมาอีก 80 กิโลเมตรคือ 410 กิโลเมตร (มาตรฐาน NEDC)

การชาร์จ: Extended Range, Standard Range ใช้เวลาชาร์จใกล้เคียงกัน

ชาร์จแบบ AC 0-100% ใช้เวลา 7.5 ชั่วโมง

ชาร์จแบบ DC Fast Charging 30%-80% ใช้เวลา 30 นาที

จุดเด่น: ราคารุ่นเริ่มต้น เทียบกับระยะทางที่วิ่งได้ตอบโจทย์การใช้งานพื้นฐานครบ

จุดสังเกต: ดีไซน์ภายนอกดูน่าเบื่อเกินไป ทรงรถหนาหลังคาสูง ไม่โฉบเฉี่ยว ถ้าให้มาในรูป SUV ตัวรถจะน่าสนใจกว่านี้

MG4

ราคาเริ่มต้น: 869,000 บาท

ดีไซน์: มาอวย MG กันบ้าง สำหรับไฟฟ้ามอเตอร์ขับหลังนี้ เน้นความคมโฉบเฉี่ยวไปเสียทุกองศาในตัวรถ นึกว่า Lamborghini Urus ย่อส่วนมาในราคาไม่ถึงล้าน อย่างไรก็ตามหากใครเสพดีไซน์ความสปอร์ต MG4 ออกแบบตัวรถมาไม่ได้ดูล้ำเกินไปจนเหมือนรถ EV ที่จะเหมือนกับไปขี่ยานอวกาศ ยังให้ความเป็นรถสันดาปอยู่ทั้งภายนอกและภายใน แต่ฟีเจอร์การใช้งานและเรื่องความปลอดภัยก็ไม่น้อยหน้าคู่แข่งพลังถ่านรุ่นอื่นๆ

พละกำลัง: MG4 มากับขุมกำลังมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor แรงม้าสูงสุดที่ 170 แรงม้า คู่กับแรงบิดสูงสุด 250 Nm เก็บพลังไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ RUBIK’s CUBE ขนาดความจุ 51 kWh มีออกมาให้เลือกสเปกเดียว วิ่งได้ไกล 425 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็มตามาตรฐาน NEDC

การชาร์จ: ชาร์จแบบ AC 0-100% ใช้เวลา 8.5 ชั่วโมง

ชาร์จแบบ DC Fast Charging 10%-80% ใช้เวลา 35 นาที

จุดเด่น: ชาร์จไฟตู้แดงเฉพาะรถ MG ได้ทั่วประเทศ ขับขี่สนุกในสไตล์รถขับหลังจากรีวิวของนักทดสอบหลายๆ สำนัก

จุดสังเกต: ฟีเจอร์บางอย่างขาดๆ เกินๆ

นอกจากนี้ยังมีรุ่นอื่นๆ อีกหลายรุ่นที่น่าสนใจ อาทิ MG ES(EP), BYD Atto3, ORA Good Cat ไปจนถึงหลายรุ่นจากค่ายยุโรปหรืออเมริกา ไล่ไปตั้งแต่ Tesla, BMW iX3, Volvo C40 ฯลฯ แต่รุ่นที่แมสๆ จะอยู่ในช่วงราคาไม่เกินล้านหรือเกินล้านไปนิดหน่อยที่เรายกตัวอย่างมานี่ รุ่นไหนที่จะเป็นสารตั้งต้นสำหรับรถ EV ของคุณ ลองเลือกกันดู

อ้างอิง

AutolifeThailand.tv

AutolifeThailand.tv