Identity

‘อาหยง องค์หญิง’ – เยาวชนสกลนครกับการเป็น TikToker รุ่นใหม่ผู้รักการแต่งหน้า กล้าแสดงออก

บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างติ๊กต็อกและทวิตเตอร์ พวกเราคงจะได้เห็นวิดีโอสั้นๆ จากแอ็กเคานต์ ‘อาหยง องค์หญิง’ ผ่านหน้าฟีดกันมาบ้าง เพราะมีคลิปอยู่จำนวนหนึ่งที่ตกเป็นกระแสไวรัลจากไอเดียสร้างสรรค์ของเธอ ไม่ว่าจะเป็นคลิปแต่งหน้าข้างสนามบาสเก็ตบอล ในห้องเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงคลิปที่เล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกห้ามแต่งกายในเครื่องแบบนักเรียนหญิง อันก่อให้เกิดการถกเถียงบนโลกออนไลน์ถึงกฎระเบียบว่าเป็นการกีดกันสิทธิทางการแสดงออกหรือไม่ ในประเทศที่ยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าคนทุกเพศถูกโอบรับอย่างเท่าเทียมกัน

ก่อนจะถึงช่วงเปิดเทอมที่เธอต้องกลับไปสร้างตำนานบทใหม่อีกครั้ง เราก็ได้หาโอกาสเข้าไปพูดคุยกับ ‘อาหยง – กฤษกร สมชาติ’ คนนี้ ถึงเรื่องราวชีวิตและมุมมองต่อกฎเกณฑ์กับความเปิดกว้างของสังคม ในฐานะเยาวชนชาวสกลนครที่มีใจรักในการแต่งเติมสีสันบนใบหน้า

ก้าวแรกบนเส้นทางการเป็นดาวติ๊กต็อก

“หนูเริ่มแต่งหน้าตั้งแต่ช่วง ม.4-5 ค่ะ เพราะว่ามันสนุก เป็นอะไรที่เพลินแล้วก็ทำได้นาน ชอบเวลาที่ฟังเพลงแล้วก็แต่งหน้าไปด้วยค่ะ การเติมสีนู้น ใส่สีนี้ เพื่อให้แต่ละลุคไม่ซ้ำ ตรงจุดนี้เป็นอะไรที่สนุกมาก แต่ปกติไม่ค่อยแต่งหน้าไปโรงเรียนเท่าไหร่ อย่างมากก็แค่ทาลิปสติก ส่วนวันไหนที่อารมณ์ดีหน่อยก็จะนั่งแต่งในห้องเรียนช่วงพักเที่ยงไปเลย”

“มันจะมีคลิปหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของหนู ที่นั่งแต่งหน้าอยู่ในห้อง ซึ่งจะให้เรามาเล่าทุกขั้นตอนในการแต่งหน้าตลอดเวลาว่า เราเขียนคิ้วนะ ปัดขนตานะ มันก็กินเวลาไปหลายนาทีค่ะ แล้วในช่วงนั้นก็ได้แรงบันดาลใจมาจากคลิปของคนจีนคนหนึ่งที่นั่งแต่งหน้าข้างสนามบาสฯ ด้วย แต่ว่าตอนแรกเราทำในห้องเรียนก่อน ซึ่งทำไปทำมายอดวิวก็เยอะขึ้นมากๆ จนมีคนดูมาคอมเมนต์บอกว่า “แต่งหน้าข้างสนามบาสฯ หน่อยค่ะ” แล้วก็มีรีเควสต์ที่พีคๆ อีกเยอะ อย่างขอให้แต่งหน้าในสถานีตำรวจเอย ห้องน้ำเอย (หัวเราะ) ก็จัดไป ออกมาเป็นคลิปอย่างที่เห็นเลยค่ะ”

พอได้ยินอย่างนั้นแล้ว เราก็อดไม่ได้ที่จะถามถึงกฎของโรงเรียนซึ่งบางแห่งไม่อนุญาตให้แต่งหน้า อาหยงตอบกลับมาว่า “พอขึ้นชั้น ม.6 แล้ว โรงเรียนก็จะไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องกฎการแต่งหน้าขนาดนั้น ค่อนข้างที่จะให้อิสระในการค้นหาตัวเองอย่างเต็มที่ค่ะ อย่างเราที่อยากเป็นช่างแต่งหน้าก็จัดเต็มกับด้านนี้ให้สุดไปเลย ช่วงนี้อินกับลุค E-Girl ก็เลยแต่งเป็นประจำ ครูที่หัวโบราณหน่อยอาจจะมีมองๆ บ้าง แต่เราก็เชิ่ดค่ะ”

การเข้าถึงเครื่องสำอางในสกลนคร

“ตอบตรงๆ เลยนะคะ ถ้าหาซื้อตามร้านค้าก็ยากจริงๆ ค่ะ เทียบกับในกรุงเทพฯ เพราะที่นั่นจะมีหลากหลายแบรนด์ให้เลือก แต่พอเราอยู่ที่สกลฯ ซึ่งมีแค่ไม่กี่ห้าง เครื่องสำอางที่นำมาวางขายหน้าร้านก็เลยจะมีแค่ไม่กี่อย่าง ถือว่าเป็นอะไรที่เข้าถึงยากในระดับหนึ่ง ปกติเราก็เลยสั่งซื้อแบบออนไลน์ซะมากกว่า”

ผลตอบรับของคุณครูกับเพื่อนๆ ตอนที่แต่งหญิงไปโรงเรียนครั้งแรก

หลังจากคุยเล่นกันพอหอมปากหอมคอมาสักพัก ก็ถึงเวลาแล้วที่จะเข้าประเด็นซึ่งเคยร้อนระอุบนโลกโซเชียลฯ นั่นก็คือการที่อาหยงได้รวบรวมความกล้า สวมชุดเครื่องแบบนักเรียนหญิง และก้าวเข้ารั้วโรงเรียนไปอย่างเฉิดฉาย แต่กลับถูกตำหนิต่อการกระทำนั้นในภายหลัง ทำให้เรื่องกฎการแต่งกายของโรงเรียนไทยได้ถูกยกขึ้นมาพูดในวงกว้างอีกครั้ง

“ตอนแรกทุกคนก็ตกใจว่าใคร แต่พอรู้ว่าเป็นอาหยงก็ไม่แปลกใจกันค่ะ คุณครูแทบทุกคนก็มองว่าปกติ เพราะส่วนใหญ่จะค่อนข้างหัวทันสมัยกันแล้ว เขามองเราเป็นคนๆ หนึ่ง เป็นแค่เด็กคนหนึ่งที่มานั่งเรียนตามปกติทุกอย่าง ไม่ได้ตำหนิอะไรกับการที่เราแต่งหญิงไปโรงเรียนค่ะ ช่วงนั้นแต่งหญิงไปเรียนได้ 2 สัปดาห์กว่าๆ แต่งเนียนมากจนครูฝ่ายปกครองงง จับไม่ได้ ไม่มีโป๊ะเลย”

“ส่วนครูที่เข้ามาเตือนก็คือคุณครูหัวหน้าระดับ ซึ่งเป็นคนที่สวยจึ้งมาก แต่ค่อนข้างหัวโบราณ พอจับได้ว่าแต่งหญิงตอนเช็กชื่อในคาบชีวะ เขาก็เข้ามาบอกว่า “เธอทำไม่ถูกระเบียบนะ มันทำให้โรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียง ต้องไปแต่งตัวให้เป็นผู้ชาย จะมาใส่กระโปรงแบบนี้ไม่ได้ ถ้าเธอยังทำอีก ครูจะเอาเรื่องนี้ไปคุยกับผอ.” แล้วก็เปรียบเทียบขึ้นมาว่ามีคนอีกตั้งเยอะแยะที่แต่งตัวถูกระเบียบเพื่อให้ได้เข้ามาในโรงเรียนนี้ หนูก็ไม่รู้จะพูดยังไง ทั้งที่ครูคนอื่นมีความคิดก้าวหน้ามาก เขายังเห็นชอบ แต่ครูคนนี้กลับไม่เห็นด้วย หลังจากนั้นหนูกับเขาก็แทบไม่ได้ยุ่งอะไรกันอีกเลยค่ะ”

ถึงแม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่รู้สึกเสียใจกับการถูกสั่งห้ามไม่ให้แสดงความเป็นตัวเอง อาหยงก็ยังคงบอกกับเราว่าเธอไม่ได้สูญเสียกำลังใจ และมองว่าคงจะดีหากมีการเปลี่ยนแปลงต่อกฎเกณฑ์ที่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ทุกคนได้ค้นหาตัวตน และข้ามผ่านเส้นที่กำหนดเอาไว้ตายตัวว่าเราควรหรือไม่ควรเป็นอะไร

“สำหรับหนู การแต่งกายข้ามเพศหรือแต่งหน้ามาโรงเรียนควรจะเป็นอะไรที่สามารถทำได้ค่ะ เพราะบางครั้งสิ่งที่เราชอบก็ไม่ได้อยู่ในวิชาเรียน บางคนก็ยังไม่รู้ว่าโตไปอยากจะทำอะไร ถ้าใครอยากแต่งหน้าทำผม ค้นหาตัวเอง ก็ให้เขาทำไปเถอะค่ะ จะได้เกิดการสร้างสรรค์มากขึ้นในสังคมไทย จะเอากฎระเบียบกับศีลธรรมอันดีงามมาอ้างทุกอย่างไม่ได้”

ความกล้าที่จะแหกกรอบและความภูมิใจในตัวเอง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกยอมรับกันโดยทั่วไป สำหรับอาหยงเองก็เช่นกัน กว่าคนๆ หนึ่งจะเติบโตขึ้นมาพร้อมความมั่นใจได้ ก็ต้องอาศัยพลังบวกที่เราต่างเรียกว่า ‘กำลังใจ’ 

“ต้องใช้ความกล้าประมาณหนึ่งเลยค่ะ สิ่งที่สำคัญมากๆ คือกำลังใจจากคนรอบข้าง ถ้าคนรอบตัวเราแอนตี้การแต่งหญิงก็จะทำให้เสียกำลังใจได้ แต่สำหรับหนูที่มีคนคอยพูดว่า “เอาเลย แต่งเลย เธอทำได้” และด้วยความที่คุณแม่ก็สอนมาว่าให้โนสนโนแคร์ อยากทำอะไรทำ มั่นใจในตัวเองไปเลย ตัวหนูที่ได้รับกำลังใจแบบนั้นก็สามารถทำได้ แต่คงจะยากกว่าสำหรับคนที่ต้องอยู่ในสังคมคนละแบบ หนูเลยอยากให้ทุกคนได้รับการสนับสนุนในการจะทำอะไรก็ตามที่บางครั้งสังคมอาจไม่เข้าใจค่ะ”

“หนูภูมิใจในตัวเองมาก จากเดิมที่พื้นฐานเป็นคนไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย แม้แต่จะถามอะไรสักอย่างกับใครก็ยังไม่กล้า จนกระทั่งแม่สอนและผลักดันให้เรามั่นใจมากขึ้น จนมาถึงจุดที่เรากล้าทำในสิ่งที่ตัวเองรัก อย่างการแต่งหญิงไปโรงเรียน มันทำให้หนูดีใจมาก เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองจะสามารถทำมันได้ สิ่งที่ทำให้ยิ่งดีใจก็คือการที่รุ่นน้องเดินมาขอบคุณ และสัญญากับหนูว่าเขาจะสานต่อเอง มันทำให้รู้สึกว่าเราเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ทำให้คนได้เปิดมุมมอง ได้มีการพูดถึงสิ่งนี้ขึ้นมา คุ้มมากกับการที่ได้แต่งหญิงไปโรงเรียน 2 สัปดาห์เต็มให้นักเรียนกว่า 4,000 คนเห็นและจับตามอง ทุกคนรู้ แฟนคลับอาหยงองค์หญิงในติ๊กต็อกรู้ จึ้งมาก (หัวเราะ)”

การเปิดรับความหลากหลายทางเพศในสกลนคร

“ในวงสังคมของหนู ผู้คนก็ค่อนข้างที่จะเปิดรับนะคะ เพราะว่าตอนที่แต่งหญิง ทุกคนปฏิบัติกับหนูตามปกติทุกอย่าง ไม่มีใครมีท่าทีเปลี่ยนไปเลย เพื่อนทุกคนก็เชียร์อัพดีมาก มีเข้ามาชมว่าสวยแล้วก็เล่นผมเราตามประสาหมู่มวลเพื่อนๆ ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็มีขบวนไพรด์เล็กๆ ด้วย เพิ่งจัดปีนี้เป็นปีแรกเลยค่ะ เรื่องการบุลลี่หรือเหยียดเพศก็ไม่ค่อยมี แต่จากเท่าที่เห็นมาจะเป็นแบบนี้แค่ในตัวเมือง ถ้านอกเมืองหน่อยก็จะมีคนที่ชอบพูดแซว จะมีปฏิกิริยาอีกรูปแบบหนึ่ง”

“ในส่วนนี้ การเข้าถึงความเจริญก็อาจจะมีผลต่อการเปิดรับเรื่องเพศ เพราะความเจริญส่วนใหญ่เริ่มมาจากโลกออนไลน์ใช่ไหมคะ พอมีอินเทอร์เน็ต เราก็เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ง่าย ทำให้ได้รู้ ได้เข้าใจ ได้สัมผัส ทำให้การยอมรับอาจเกิดได้ง่ายขึ้น แต่ในบางพื้นที่ที่ความเจริญเข้าไม่ถึงและผู้คนไม่ได้เห็น ไม่เคยได้รับรู้ ไม่เคยได้สัมผัส เขาก็จะปิดกั้นและมองว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องแปลก”

วิธีการรับมือกับคนที่ยังไม่เปิดใจรับ

“ส่วนตัวหนูก็จะไม่พูดตอบโต้อะไรค่ะ เราก็แค่ทำหน้าที่ของเราไป ไม่ได้สนใจ ใครจะว่ายังไงก็แล้วแต่เขา เพราะว่าเรามีโลกออนไลน์และสังคมเป็นของตัวเองอยู่แล้ว มีความมั่นหน้าพอ เชิ่ด (หัวเราะ)”

สังคมกะเทยอีสาน

“เท่าที่หนูเห็น สังคมกะเทยในอีสานมีหลายแบบนะคะ บางคนก็อาจจะยังไม่ค่อยเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย ยังมีการเหยียดกันเองอยู่บ้าง หนูเองก็เคยโดนกะเทยด้วยกันเองด่าที่แต่งหญิง ประมาณว่า “ขนาดฉันตอนสมัยมัธยมยังไม่เคยทำอะไรแบบนี้เลย แล้วหล่อนเป็นใคร” อ๋อ จ้า (หัวเราะ) แต่ถ้าเป็นกะเทยรุ่นใหม่ๆ หน่อยก็จะมีความหัวก้าวหน้าค่ะ เขาจะเข้าใจแล้วก็สนับสนุนเรา แต่ต้องขอบอกก่อนว่าเราเหมารวมไม่ได้ อย่างที่บอกไปก็อาจจะเป็นแค่บางคนเท่านั้นนะคะ”

สิ่งที่ตั้งใจจะทำต่อไปในอนาคต

“ด้วยความที่หนูตั้งใจเอาไว้ว่าจะเข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาที่เกี่ยวกับอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งจะต้องมีงานเข้ามาให้หนูทำแน่นอน ในช่วงนั้นก็จะยังคงแต่งหญิงอยู่ค่ะ แค่จะไว้ผมสั้นไปก่อนเพื่อให้ดูแลง่าย ถ้าวันไหนอยากได้ลุคผมยาวก็ใส่วิก แต่ด้วยความที่เรามั่นใจ แต่งแบบไม่ใส่วิกผมยาวก็สวยได้ เน้นความสะดวกดีกว่าค่ะ ส่วนที่เหลือให้เป็นเรื่องของอนาคต ตอนนี้หนูพอใจในสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่รู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรค่ะ”

เรื่องที่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงภายในรั้วโรงเรียน

“ในเรื่องของกฎเกณฑ์ก็ยังมีอะไรที่ควรเปลี่ยนอีกเยอะเลยค่ะ อย่างกฎเกี่ยวกับทรงผม คิดดูนะคะว่าแต่ก่อนนักเรียนชายต้องตัดผมรองทรงยาวไม่เกิน 3-5 ซม. ปัจจุบันก็มีการปรับเปลี่ยนให้ยาวขึ้นได้บ้าง ซึ่งมันไม่ได้ส่งผลกระทบให้อะไรเสียหาย เห็นได้ชัดเลยว่าทรงผมไม่ได้มีผลเสียต่อการเรียนหรือกิจกรรม”

“เพราะฉะนั้น ระเบียบทรงผมหรือการแต่งกายก็ควรจะปลดล็อกกันได้แล้วค่ะ เราพิสูจน์กันมาแล้วว่าต่อให้ผมยาวหรือสั้น แต่งกายแบบไหน เราก็ยังเรียนได้เหมือนเดิม”

ความคาดหวังต่อการโอบรับความหลากหลายทางเพศในสกลนคร

นอกจากเรื่องของกฎระเบียบแล้ว เราก็ได้ขอให้อาหยงทิ้งท้ายถึงความเท่าเทียมทางเพศ เพราะจากที่เธอเล่ามา แน่นอนว่าสังคมในตัวเมืองสกลนครค่อนข้างที่จะเปิดรับ จนถึงขั้นที่มีการจัดไพรด์พาเหรดเล็กๆ ขึ้นมาเมื่อช่วงกลางปี แต่หากเลยออกไปนอกเมือง ก็มีบ้างที่จะถูกมองด้วยความไม่คุ้นตา ถึงอย่างนั้น เธอก็เชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งสังคมจะเต็มไปด้วยความหลากหลาย และคำเหยียดหยามจะจางหายไปตามกาลเวลา

“หนูคิดว่าในอนาคต แม้แต่ความคิดของคนที่อาจจะยังมองว่า LGBTQ+ เป็นเรื่องแปลกก็เปลี่ยนได้ค่ะ ถ้าทุกคนเป็นตัวของตัวเอง เปิดเผยตัวตนออกมาอย่างเต็มที่โดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน คนรอบข้างก็จะเห็นเข้าทุกวันจนเริ่มซึมซับความหลากหลาย และมองว่าเป็นเรื่องปกติได้ การเหยียดกันก็จะลดลง ไม่มีการมองว่าคนนี้เป็นกะเทย คนนี้เป็นเพศอะไร เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็คือมนุษย์เหมือนกันค่ะ”

“อยากจะบอกทุกคนว่าอย่ายอมแพ้ค่ะ สู้ต่อไป อยากทำอะไรก็ทำให้เต็มที่ ใช้ชีวิตโดยไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็พอ สำหรับกฎบางอย่างที่ไม่สมเหตุสมผลก็ตั้งคำถามกับมันได้ อย่าไปกลัวค่ะ”

ติดตาม ‘อาหยง’ ได้ที่

Tiktok: aryong_ongying

YouTube: Aryong_Ongying

Instagram: aryong_ongying