Auto

การเมืองและยานยนต์ ความเกี่ยวข้องที่ไม่มีใครสามารถหนีได้

ถ้าให้มองแบบผิวเผินถึงความเกี่ยวข้องของการเมืองและยานยนต์ บางคนอาจจะไม่ได้มีความรู้สึกว่าเกี่ยวข้องกันสักเท่าไร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกๆ เรื่องของยานยนต์มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง ซึ่งไม่มีข้อแม้ว่าจะเป็น รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ จักรยาน เครื่องบิน และยานพาหนะอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งความเกี่ยวข้องที่เกิดขึ้นกับยานยนต์ต่างๆ มักจะมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และจะอ้างอิงกับเรื่องของนโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองเคยสัญญาเอาไว้ก่อนได้เป็นรัฐบาลนั่นละ

เรื่องของราคาน้ำมัน ภาษีรถยนต์ ภาษีอะไหล่ชิ้นส่วน การจดทะเบียนรถ ใบขับขี่ ถนนและผังเมือง ที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความเกี่ยวข้องกันระหว่างการเมืองและยานยนต์ ซึ่ง Exotic Quixotic จะมาขยายประเด็นเรื่องราวเหล่านี้ให้กับคุณเอง และรับประกันว่า หลังจากนี้ไปคุณจะมีมุมมองยานยนต์กับการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแน่นอน

Photo Credit:  Toyota Buzz

ทั้งนี้ในอดีตรถยนต์เคยถูกมองจากภาครัฐว่าเป็น ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะถูกปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่ จนได้กลายเป็นสินค้าบริโภครูปแบบหนึ่ง ซึ่งในอดีตการที่รถยนต์ถูกมองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นของที่คนรวยมากๆ เท่านั้นถึงสามารถซื้อมาครอบครองใช้งานได้ เรื่องนี้จะไปสอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนต่างๆ ของทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลไกราคา, ถนนหนทาง และกฎหมายต่างๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ทางภาครัฐได้มีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การเข้ามาของค่ายรถยนต์ที่เลือกตั้งโรงงานฐานการผลิตในเมืองไทย เมื่อมีโรงงานเท่ากับมีการจ้างงานมากขึ้น ซึ่งเท่ากับการหมุนเวียนของเศรษฐกิจขึ้นที่เกี่ยวโยงเกี่ยวข้องกับโรงงานรถยนต์ก็เกิดขึ้นนั่นเอง สิ่งนี้ทำให้ทางภาครัฐเปลี่ยนมุมมองของยานยนต์ จากสินค้าฟุ่มเฟือย ให้กลายเป็นสินค้าบริโภครูปแบบหนึ่ง และมีการออกนโยบายต่างๆ เพื่อสนับสนุนทางโรงงานผู้ผลิตตลอดจนผู้ซื้อรถใช้งาน

โรงงานประกอบรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ในไทย
Photo Credit: กรุงเทพธุรกิจ

การเชิญชวนให้ค่ายรถยนต์มาตั้งฐานการผลิตในไทย ก็ต้องเกี่ยวโยงกับทางภาครัฐแบบ 100% เพราะจะมีการตกลงในเรื่องขอเสนอต่างๆ ที่ทางภาครัฐจะสนับสนุนในอนาคต ตัวอย่างเช่น การตั้งกำแพงภาษีของรถยนต์นำเข้าให้มีราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว เพื่อต้องการให้คนในประเทศซื้อรถยนต์ที่ผลิตในไทยใช้งานเป็นหลัก แต่เรื่องนี้ก็อาจมีข้อยกเว้นรถยนต์นำเข้าจากจีน ที่จะโดนภาษีต่างๆ ไม่แตกต่างไปจากรถยนต์ที่ผลิตในไทยก็ว่าได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายของทางภาครัฐที่เป็นกำหนด

ข่าวโครงการเงินอุดหนุนรถไฟฟ้า
Photo: PPTV

ในส่วนผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่ซื้อรถใช้งาน ทางภาครัฐก็จะใช้วิธีกระตุ้นในเรื่องนโยบายต่างๆ ออกมา ที่เห็นได้ชัดคงเป็นการลดภาษีรถยนต์ให้ในช่วงเวลาหนึ่ง อาทิ โครงการรถยนต์คันแรก และโครงการเงินอุดหนุนรถไฟฟ้า เป็นต้น

เช่นเดียวกับเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถยนต์ในปัจจุบัน ทางภาครัฐก็เป็นคนกำหนดเช่นกัน อย่างในอดีตเข็มขัดนิรภัยถือว่าเป็นอุปกรณ์เสริมเพียงเท่านั้น ก่อนที่ภาครัฐจะบังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จำหน่ายในไทยต้องมีอุปกรณ์ชิ้นนี้เป็นมาตรฐานความปลอดภัย เป็นต้น รวมถึงการที่ในปัจจุบันเทคโนโลยีระบบเบรก ABS ก็ถือเป็นมาตรฐานความปลอดภัยที่รถยนต์จำหน่ายในไทยด้วยเช่นกัน ฝั่งของรถมอเตอร์ไซค์ก็จะเป็นเรื่องของหมวกกันน็อกที่จะบังคับให้ผู้ขับขี่ หรือผู้ซ้อนสวมใส่ทุกครั้ง เป็นต้น

Photo Credit: Workpoint Today

เรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใครๆ น่าจะสัมผัสได้ง่ายที่สุดว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะเราจะเห็นได้เลยว่า นโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองที่ประกาศไว้ตอนหาเสียงก่อนเลือกตั้ง ว่าจะลดราคาน้ำมันจะทำให้น้ำมันถูกลงและอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งคุณต้องเข้าใจก่อนว่าน้ำมันเชื้อเพลิง 1 ลิตร จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ซ่อนอยู่ภายใน ทั้งภาษีสรรพสามิต, ภาษีท้องถิ่น, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากค่าการตลาดอีกครั้งหนึ่ง โดยภาษีเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขให้น้ำมันมีราคาถูกหรือแพงนั่นเอง

นอกจากนี้ทางภาครัฐก็เป็นคนกำหนดให้เราเลือกใช้น้ำมันเพลิงที่เขาต้องการให้ใช้ โดยจะใช้การทำราคาต่อลิตรให้ถูกกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงแบบอื่นๆ สิ่งนี้จะดึงดูดให้ผู้คนหันมาเลือกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตัวนั้นเอง อย่างในตอนนี้เราสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ‘แก็สโซฮอล์ 91’ ที่ทางภาครัฐอยากจะยกเลิกการจำหน่าย ก็ใช้เรื่องราคาเป็นตัวบีบบังคับให้ผู้คนไม่เลือกใช้งาน เนื่องจากส่วนต่างของราคาใกล้เคียงกับ แก๊สโซฮอล์ 95 เพียงหลักสตางค์เท่านั้น แต่ถ้าใครอยากเติมราคาที่ถูกกว่า ก็มีแก๊สโซฮอล์ E20 ไว้รองรับอยู่แล้ว

ในฝั่งน้ำมันดีเซลก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเหมือนกัน เพราะราคาสินค้าต่างๆ ในไทยมักจะอ้างอิงกับราคาน้ำมันดีเซล เนื่องจากบ้านเรานิยมการขนส่งด้วยรถบรรทุกทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ที่ใช้น้ำมันดีเซลในการขับเคลื่อน ทำให้ทางภาครัฐต้องตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ให้มีความขัดแย้งกับตลาดโลก ซึ่งมันส่งผลทำให้คนที่ขับรถยนต์ดีเซลจะได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกกว่าปกตินั่นละ อีกทั้งยังมีการบังคับใช้ส่วนผสมอย่างทาง ‘ไบโอดีเซล’ เพิ่มเติมเข้าไปอีกตั้งหาก แต่ถ้าคุณไม่อยากใช้ส่วนผสมเหล่านี้ ก็จำเป็นต้องควักเงินที่แพงขึ้นอีกประมาณ 10 บาท/ลิตร เพื่อเติมน้ำมันดีเซลแบบพรีเมี่ยม

ข่าวทางด่วนเส้นใหม่ย่านพระราม 2
Photo Credit: กรุงเทพธุรกิจ

มาถึงตรงจุดนี้คุณน่าจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยานยนต์กับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกันอย่างแน่นอน แต่ถ้าใครยังไม่รู้สึกแล้วละก็ เรื่องของถนนและผังเมืองก็ถือเป็นอะไรที่น่าจะตอกย้ำประเด็นนี้ได้อย่างดี เรียกได้ว่าต่อให้คุณไม่ได้มีรถเป็นของตัวเอง ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้อยู่ดี ทางภาครัฐพยายามออกกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับถนนและผังเมืองอยู่เสมอ มีการเวนคืนที่ดินเพื่อทำถนนหรือทางด่วน และรวมไปถึงทางรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง วันดีคืนนี้อาจมีถนนเส้นใหม่มาตัดผ่านหน้าบ้านคุณก็เป็นได้ ซึ่งการมาของถนนก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอความวุ่นวายต่างๆ ของมลพิษทางเสียง และมลพิษทางอากาศจากไอเสียของเครื่องยนต์

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องไอเสียของเครื่องยนต์อย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงมาตรฐานไอเสียเครื่องยนต์ให้เพิ่มขึ้นจากอดีต มีการปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับการสนับสนุนพลังงานทางเลือกอย่างไฟฟ้า นอกจากนี้ก็ใช้เจ้าหน้าที่รัฐในการไล่กวดขันวินัยจราจร และตรวจสอบฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะ อีกทั้งมีการบังคับเรื่องการตรวจสภาพรถที่ใช้งานประจำปี การบังคับให้ซื้อประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับเป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกลับไปหาการเมืองทั้งหมด

โดยสุดท้ายความเกี่ยวข้องของการเมืองและยานยนต์ มันเริ่มต้นตั้งแต่คุณก้าวขาออกจากบ้านก็ว่าได้ ไม่ว่าคุณจะมีรถส่วนตัวเอง หรือพึ่งพารถสาธารณะแบบต่างๆ ก็ตาม ซึ่งยังไม่นับการครอบครองรถสักคันมาไว้ใช้งาน ที่จะมีข้อกำหนดต่างๆ ซ่อนอยู่มากมาย เริ่มตั้งแต่ราคาจำหน่ายของรถ ประเภทเครื่องยนต์ที่รัฐอยากให้ใช้งาน ภาษีที่ต้องจ่ายประจำปี ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย เห็นได้ชัดว่า คุณไม่สามารถปฏิเสธความเกี่ยวโยงในเรื่องการเมืองและยานยนต์ได้เลย