Identity

“เลวแต่เกิด” มีอยู่จริง หรือเป็นแค่คำด่า?

“เป็นมนุษย์ แต่อาจจะคิดอย่างอมนุษย์ก็ได้ นั่นแหละคือความสามารถพิเศษของจิต” – พุทธทาสภิกขุ

“คนเราสามารถเกิดมาแล้วเลวเลยได้ไหม” คือคำถามที่ใครหลายๆ คนน่าจะเคยเก็บมาฉุกคิด เพราะบ่อยครั้ง เราจะเห็นข่าวเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกระทำการร้ายกาจจนน่าตกใจ เช่น ขโมยของ ชกต่อย ลวนลาม ข่มขืน กลั่นแกล้งเพื่อนที่โรงเรียน หรือกระทั่งฆาตกรรม จนกลายเป็นอาชญากรที่ทุกคนมองว่า ‘กู่ไม่กลับ’ หรือ ‘เกินเยียวยา’ ก่อให้เกิดการตั้งข้อสงสัยที่ว่าเด็กจะทำเรื่องชั่วร้ายแบบนั้นได้อย่างไร ต่อไปจนถึงคำถามที่กล่าวเมื่อข้างต้น

บางครั้งเด็กก็ถูกเปรียบเป็นผ้าขาวบริสุทธิ์ที่จะถูกแต่งแต้มด้วยสีต่างๆ เมื่อเวลาผ่านล่วงเลยไป โดยสีเหล่านั้นคือประสบการณ์อันบ่มเพาะให้เด็กแต่ละคนเติบโตมาด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน แนวคิดนี้ตรงกับความเชื่อของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ‘ฌอง ฌาค รุสโซ’ (Jean-Jacques Rousseau) ที่ว่ามนุษย์นั้นเกิดมาดีโดยธรรมชาติ แต่อารยธรรมที่มาพร้อมกับความอิจฉาและความหวาดระแวงจะหล่อหลอมให้คนกระทำชั่วได้

ในทางกลับกัน ‘โทมัส ฮอบส์’ (Thomas Hobbes) มองว่ามนุษย์มีความเลวร้ายและเห็นแก่ตัวมาตั้งแต่กำเนิด เพราะการตัดสินใจของมนุษย์มักจะบิดเบือนเมื่อมีความชอบพอหรือถูกโน้มน้าวด้วยอะไรสักอย่าง แต่การอยู่ร่วมกันจะขัดเกลาให้กลายเป็นคนดีขึ้นได้ด้วยกฎเกณฑ์ของสังคม เมื่อลองเอาแนวคิดทั้งสองมาเทียบกันดูจะเห็นว่า ถึงจะมีความแตกต่าง แต่จุดหนึ่งที่พวกเขาเห็นพ้องกันก็คือ “จิตนั้นอ่อนไหวต่อสิ่งเร้าภายนอก”

เป็นจริงตามนั้น หากอ้างอิงตามหลักจิตวิทยา คนเราเติบโตและมีความคิดอ่านที่ต่างกันด้วยสภาพแวดล้อมและโครงสร้างของสังคม ซึ่งทุกคนได้รับผลกระทบจากสิ่งต่างๆ ในทันทีที่ลืมตาดูโลก เราจึงคงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าใครสักคนหนึ่งเลวตั้งแต่เกิด มีแต่คนที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการ หรือมีโรคทางจิตเวช

Photo credit: SciTech Connect - Elsevier

กรณีที่มนุษย์ถูกหล่อหลอมโดยสังคมอันบิดเบี้ยวจนจิตใจเสื่อมตามนั้นมีอยู่เยอะมากทีเดียว โดยพฤติกรรมส่วนใหญ่ที่ซึมซับจนเป็น ‘นิสัย’ จะมาจากการเรียนรู้ในวัยเด็ก อย่างที่ ‘โคจิ มิยางุจิ’ (宮口幸治) จิตแพทย์เด็กในโรงพยาบาลจิตเวชและสถานพินิจบำบัดเยาวชน ได้อธิบายเอาไว้ในหนังสือของเขา ‘การตัดเค้กที่ทำนายว่าใครจะกลายเป็นอาชญากร’ (ケーキの切れない非行少年たち) เด็กส่วนมากที่ประพฤติผิดทางเพศ เช่น ลวนลามหรือข่มขืน มักจะได้รับอิทธิพลจากหนังโป๊ที่ส่อถึงการข่มขืนอย่างชัดเจน แต่ถูกทำให้ดูรุนแรงน้อยลงด้วยการที่นักแสดงหญิงหยุดขัดขืนและ ‘รู้สึกดี’ ในภายหลัง อาชญากรเด็กบางคนที่เข้าใจผิดเพราะหนังโป๊ประเภทนี้ กล่าวว่า “นึกว่าจริงๆ แล้วผู้หญิงดีใจที่ถูกข่มขืน” เห็นได้ว่าสื่อมีผลอย่างมากต่อความคิดของผู้คน ไม่ใช่แค่กับเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่บางคน (โดยเฉพาะที่มีความบกพร่องทางพัฒนาการ) เองก็เข้าใจผิดได้เช่นกัน

อีกอย่างที่มีส่วนให้ผู้คนกระทำชั่วก็คือ ‘ระบบ’ หรือ ‘โครงสร้างทางสังคม’ บ่อยครั้งที่เราจะเห็นข่าวขโมยของกินของใช้เพื่อการอยู่รอด หรือเจ้าของธุรกิจที่เอาเปรียบลูกจ้างเพื่อเงินและผลประโยชน์ส่วนตน สังเกตได้ว่ามีทั้งการทำเพราะรู้สึกว่าไม่มีทางเลือก และทำเพราะต้องการตอบสนองความโลภ คงสามารถพูดได้ว่า สาเหตุหลักมาจากความไม่เท่าเทียมในสังคม ภายใต้ระบบทุนนิยมที่เอื้อต่อผู้มีกำลังทรัพย์มากกว่า ความไม่เท่าเทียมทางการเงินทำให้คนรวยมีอำนาจจนบางครั้งก็เกินพอดี จึงง่ายต่อการทำอะไรก็ตามเพื่อรักษาผลประโยชน์ ส่วนความจนนั้นตัดโอกาสใครหลายๆ คน อย่างเช่นการไม่มีที่พักอาศัยเป็นของตัวเอง ไม่สามารถกู้เงินจากธนาคาร หรือแม้แต่หลุดจากระบบการศึกษา ส่งผลให้กลายเป็นอาชญากรได้หากคนๆ นั้นมีแนวคิดว่าตนเป็นเหยื่อที่ไม่มีทางเลือก และต้องได้รับการชดใช้จากระบบไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

Photo credit: BahaiTeachings.com

การมองว่าตนเป็นเหยื่อ (Victim Mentality) สามารถพัฒนาไปสู่ความคิดหรือการกระทำที่อันตรายได้ และบางคนที่คิดเช่นนี้ก็อาจจะมีความบกพร่องทางพัฒนาการ ซึ่งมีส่วนทำให้ไม่มั่นใจในตัวเอง หนึ่งในสถานการณ์จากหนังสือ ‘การตัดเค้กที่ทำนายว่าใครจะกลายเป็นอาชญากร’ ทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนทีเดียว ศาสตราจารย์โคจิยกตัวอย่างว่า สมมติ A และ B กำลังทำงานแบบเดียวกันอยู่ สักพัก C ก็เดินมาบอกว่าพวกเขาทำงานนั้นผิด B คิดว่า C ใจดีที่อุตส่าห์เตือน แต่ B กลับคิดว่า C ดูถูกเสียอย่างนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว การมองว่าตนเป็นเหยื่อเกิดมาจาก ‘ความไม่มั่นใจในตัวเอง’ ซึ่งเป็นผลพวงของประสบการณ์ร้ายๆ ด้านความสัมพันธ์ ผู้ที่มองตัวเองเป็นเหยื่ออาจจะเคยถูกรังแกหรือว่าเหยียดหยามมาก่อน ความมั่นใจจึงถูกทำลายลง นำไปสู่ความคิดแง่ลบในที่สุด ทำให้การมองโลกในแง่บวกและเลิกมองว่าตน ‘ไม่ดี’ หรือ ‘ไม่มีทางเลือก’ เป็นเรื่องยาก ซึ่งบางรายอาจมีอารมณ์โกรธผสมอยู่ด้วย จึงมีโอกาสที่จะทำร้ายผู้อื่นหากขาดการยับยั้งชั่งใจ

ความบกพร่องที่เป็นสาเหตุของชุดความคิดนั้นมักจะมาจากการเลี้ยงดูกับสภาพแวดล้อมในวัยเด็ก ยิ่งสำหรับคนที่มีปัญหาทางพัฒนาการหรือสติปัญญาก็จะผลิตแนวคิดนี้ออกมาได้ง่าย แต่คนที่เกิดมาพร้อมโรค ‘ไซโคพาธ’ (Psychopath) จะมีความคิดเช่นนี้เพราะความผิดปกติของสมองเป็นส่วนมาก และถูกกระตุ้นด้วยสังคมอีกต่อหนึ่ง

Photo credit: Medium

ไซโคพาธคือโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Antisocial Personality Disorders (ASPD) หรือก็คือความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม โดยโรคนี้สามารถส่งต่อทางพันธุกรรมได้ เพราะเกิดจากความผิดปกติของสมองส่วน Prefrontal cortex ที่เล็กกว่าของมนุษย์ทั่วไป และความพิการของเนื้อเยื่อประสาทสมองที่มีชื่อว่า Amygdala

Prefrontal cortex คือส่วนของสมองที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอัตลักษณ์ พฤติกรรม การยับยั้งชั่งใจ และการวางแผน ขณะที่ Amygdala มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องของอารมณ์และสัญชาตญาณการเอาตัวรอด เช่น ความกลัว ความรู้สึกผิด ความเศร้าโศก ดังนั้น เมื่อทั้งสองส่วนนี้มีความบกพร่อง คนที่มีโรคนี้จึงไร้อารมณ์และไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ทำให้เห็นแก่ตัว เสแสร้งว่ามีความรู้สึก และมีแนวโน้มว่าจะก่ออาชญากรรมสูง ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าผู้ป่วยไซโคพาธทุกคนจะเป็นอาชญากร แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ก็ตาม เพราะแต่ละคนมีอาการรุนแรงไม่เท่ากัน บ้างก็ยังสามารถอยู่ร่วมกับสังคมส่วนมากได้โดยไม่มีปัญหา เพียงแต่อาจจะมีนิสัยชอบบงการผู้อื่น (Manipulative) ในขณะเดียวกันก็มีเคสที่ถึงขั้นกลายเป็นฆาตกรที่ระบบความคิดซับซ้อนเกินกว่าจะทำความเข้าใจ

(จอห์น เวย์น เกซี่) Photo credit: CNN

หนึ่งในผู้ป่วยไซโคพาธที่มีชื่อเสียงก็คือ ‘จอห์น เวย์น เกซี่’ (John Wayne Gacy) หรือ ‘นักฆ่าตัวตลก’ จากชิคาโก้ เขาเป็นนักธุรกิจคนหนึ่งที่ชอบแต่งตัวเป็นตัวตลกและสร้างเสียงหัวเราะให้กับเด็กๆ อยู่เสมอ แน่นอนว่าภาพลักษณ์ดูดีเสียจนยากที่จะเชื่อว่าคนๆ นี้ได้ฆ่าเด็กผู้ชายไป 33 ศพ ซึ่งในวัยเด็ก เกซี่มักจะถูกพ่อที่ติดเหล้าทำร้ายร่างกายอยู่บ่อยๆ ถึงแม้ว่าเขาจะโตมาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จทางด้านการงานและมีชื่อเสียง แต่กลับมีพฤติกรรมชอบลวนลามเด็กหนุ่มจนเคยติดคุกด้วยข้อหาทำอนาจาร เป็นเหตุให้หย่าร้างกับภรรยาคนแรก และยังไม่ได้รับการยอมรับจากภรรยาคนที่สองเมื่อเปิดเผยว่าเป็นไบเซ็กชวล พอกลับสู่การเป็นชายโสดอย่างเต็มตัว เขาก็เริ่มต้นข่มขืนและลงมือฆ่าเด็กผู้ชายเป็นจำนวนมาก ขัดกับเบื้องหน้าที่แลดูเป็นคนดี สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ว่าเกซี่มีโรคไซโคพาธก็คือการที่เขาไม่เคยสำนึกผิดต่อสิ่งที่ทำลงไปเลย แม้กระทั่งในวันที่ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดสารพิษ ประโยคสุดท้ายที่เขาพูดออกมาก็คือ “Kiss my ass” เรื่องราวของเกซี่นั้นถือว่าน่าสะพรึงกลัวและสะเทือนขวัญคนทั้งอเมริกาเลยทีเดียว

Photo credit: Brainy Sundays

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยไซโคพาธที่ประสบความสำเร็จในการเข้าสังคมและควบคุมตนเอง (High-functioning psychopath) ก็มีเช่นกัน อย่างในกรณีของอาจารย์ผู้สอนด้านจิตเวชและพฤติกรรมมนุษย์อย่าง ‘เจมส์ เอช ฟัลลอน’ (James H. Fallon) ที่พบว่าตัวเองมีโรคไซโคพาธเมื่อตรวจดูผลสแกนสมอง ฟัลลอนเล่าว่าในช่วงวัยเด็ก เขาเป็นคนที่ยิ้มแย้มอยู่ตลอดและเป็นที่ชื่นชอบของสมาชิกในครอบครัวกับเพื่อนฝูง แต่เพราะโตมาในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ไม่ได้มีอดีตอันโหดร้ายเหมือนอย่างเกซี่ เขาจึงไม่เคยทำร้ายใคร และยังพยายามที่จะชดเชยอาการไร้ความเห็นอกเห็นใจด้วยการทำการกุศลมากมาย เช่น บริจาคเงินให้กับครอบครัวยากไร้และสร้างที่พักอาศัยหลังเล็กๆ ให้กับคนไร้บ้าน

ดังนั้น เราคงจะไม่ปักธงว่าผู้ป่วยไซโคพาธเป็นคนชั่วร้ายโดยกำเนิด เพราะหากไม่เคยกระทำการใดๆ ให้ใครได้รับความเสียหายทางร่างกายหรือจิตใจ เพียงแต่มีปัญหาด้านความรู้สึก เราจะเรียกคนๆ นั้นว่า ‘คนเลว’ หรือเปล่า? คงจะขึ้นอยู่กับการนิยามความเลวร้ายของแต่ละคน

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่าบนโลกนี้ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความชั่ว เพราะถ้ามีจริง คนๆ นั้นจะต้องทำเรื่องที่สังคมมองว่าไม่ดีตั้งแต่ยังเป็นเด็กแบเบาะ โดยที่ทำไปเพียงเพราะอยากทำ ไม่ได้รับอิทธิพลจากครอบครัว สังคมโดยรอบ หรือระบบอะไรทั้งสิ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย – แล้วคุณคิดว่าคนเราเลวตั้งแต่เกิดได้ไหม? อย่าลืมลองเก็บไปคิดดูล่ะ

Fun fact: ในจำนวนคน 100 คน จะมีประมาณ 5-15 คนที่ป่วยเป็นโรคไซโคพาธ หมายความว่าพวกเขาเหล่านี้อาจจะเป็นครอบครัว เพื่อน คนรัก อาจารย์ เจ้านาย ลูกน้อง คนรู้จัก คนที่เดินสวนกันทุกวัน หรืออาจจะเป็นตัวคุณเองก็ได้

อ้างอิง

‘การตัดเค้กที่ทำนายว่าใครจะกลายเป็นอาชญากร’ (ケーキの切れない非行少年たち) โดย โคจิ มิยางุจิ (宮口幸治)

Ideas.ted.com

Brain and Beyond

Tang Makkaporn

Medium

The Debrief