Auto

พาเสพ “วิถีไบค์เกอร์” สไตล์ Custom Old School Choppers ของ “ป๋อม ธนกร”

ทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า “วิถีไบค์เกอร์” น่าตลกดีที่ทำให้ผู้เขียนนึกถึงใบหน้าของ ศักรินทร์ ดาวร้าย ในซีรีย์ตลกขึ้นมาเป็นอันดับแรก ทั้งที่ความจริงมันควรเป็นคำเท่ๆ ของสายสองล้อที่ใช้พูดกันเสียมากกว่า ประกอบกับเลื่อนอินสตาแกรม แล้วเห็นเพื่อนคนนี้อยู่บ่อยๆ ซึ่งก่อนหน้าเคยเจอกันตามงานมีทรถซิ่ง ขับ Toyota Cressida เตี้ยๆ เป็นสิงห์สายดริฟต์ แต่ตอนนี้เขาเปลี่ยนมาเป็นแนว 2 ล้อเต็มตัวกับรูปรถ Haley-Division ในสไตล์ Custom Old School Choppers 

เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากรู้จักกับเขาคนนี้มากขึ้นในตอนนี้ กับรถคู่ใจที่นับได้ว่าเป็น “ตัวสุด” อีกหนึ่งลำสำหรับสายคัสตอม สุดตั้งแต่ทีมสร้าง สุดทั้งระยะเวลาในการทำ และสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ที่ขับไปไหนต่อให้ไม่หันมองก็ต้องได้ยินเสียงเครื่องยนต์อันกระหึ่มเร้า exoticquixotic.com ชวนไปคุยกับ ป๋อม-ธนกร ง้าววิฑูรย์วงศ์ (TK Lonewolf) ในเรื่องราวของวิถีไบค์เกอร์แบบคัสตอมไร้สังกัด “โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย” แค่มีรถคู่ใจก็สุขได้เมื่ออยู่หลังแฮนด์ 

เมื่อคัสตอมคือ “ตัวตน”

“เอาตั้งแต่ตอนขับ Toyota Crssida แนวฟรัชเตี้ยๆ จะพูดไปมันก็เหมือนรถคัสตอม มันก็คือความเป็นตัวเรา ใส่ความเป็นเราเข้าไปในรถมากที่สุด จริงๆ ชอบ 2 ล้ออยู่แล้วนะเพียงตอนแรกๆ ที่ขับรถยังไม่มีโอกาส แล้วตอนนั้นไปขับดริฟต์เล่นอยู่พักนึงจนสนามดริฟต์ตรงซีคอนฯ ปิดไป เลยไปหาอะไรที่เราชอบจริงๆ ก็เริ่มต้นมาสาย 2 ล้อ ที่พอดีน้าของผมเป็นคนทำรถสายนี้อยู่แล้วด้วย”  

“ด้วยความที่น้าทำสายช๊อปเปอร์คัสตอมอยู่แล้วที่ร้าน ‘ต้อ Thor Chops and Kustoms’ เขามีประสบการณ์มากที่จะช่วยให้คำแนะนำและการสร้างรถ ขายรถยนต์ไปก็ได้ SR400 ทรงลุงๆ เดิมๆ มาเลย ตอนแรกเราไม่รู้หรอกจะไปทางไหน อาศัยศึกษาจากอินเตอร์เน็ตดูไปเรื่อยๆ ชอบพวกทรง Bobber, Cafe ลองคุยปรึกษากับน้าดูว่าอยากทำทรงนี้ แต่ว่าอยากใส่ดีเทลเข้าไปให้แตกต่างก็เอารถไปทำที่อู่น้า”

Old School Chopper คือแผนต่อไป! 

“ปีหนึ่งที่ทำ SR เสร็จก็ขี่ได้อยู่พักนึง ทีนี้เริ่มเข้ามาศึกษาเรื่องรถช็อปเปอร์มากขึ้น แต่ในคำว่าช็อปเปอร์นี้มันแยกย่อยไปหลายหมวดหมู่ หลายทรงมาก ทำให้เราอยากหาสไตล์ที่เราชอบจริงๆ จึงค่อยเริ่มทำ และแน่นอนว่าคนที่ช่วยทำก็เป็นน้าของผมคนเดิม” 

“พอได้ข้อสรุปกับทรงรถที่ต้องการแล้ว ว่าทรงแบบ Frisco Chopper อารมณ์ old school แบบที่เราชอบ รถอะไรที่คิดว่ามันโอเคมันก็ต้อง Harley สุดท้ายรถที่ได้มาเป็น Harley Sportster 1200 ปี 1986 4 เกียร์”

“รถที่ได้มากตอนนั้นสภาพเน่าๆ เลย เฟรมไม่ใช่แบบนี้ มีโช๊คหลัง สวิงอาร์มธรรมดา คือเปลี่ยนหมดทั้งคัน สายคัสตอมจริงๆ มันเป็นแบบนี้เลย ซื้อรถมาใช้จริง ๆ แค่เครื่องยนต์กับทะเบียน นอกนั้นเปลี่ยนหมด ใช้เวลาสร้าง ปรับแก้ หาของรวมก็ประมาณ 2 ปี”

“ทีนี้ดีเทลอันนี้มันก็แล้วแต่เราแล้ว ว่าเราจะใส่มันเข้าไปมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญคือการร่วมมือกันระหว่างตัวเรากับช่าง ถ้าเราไม่สามารถเอาไอเดียที่เราคิดมาแล้วให้ช่างเข้าใจได้หรือช่างยอมรับได้ว่าในไอเดียของเราน่ะทำได้จริง มันก็ลำบากนะ”

จุดเด่นที่ทำให้รถแนวนี้ต่างจากช็อปเปอร์คันอื่นๆ ยังไง?

“รถคัสตอมมันเป็นความชอบส่วนบุคคลจริงๆ นะ แตกต่างมันก็เป็นสไตล์แหละที่แตกต่าง เพราะกับคัสตอมมันพูดไม่ได้นะว่าคันนั้นสวย คันนี้ไม่สวย มันอยู่ที่ความพึงพอใจของเจ้าของรถ แล้วแต่คนชอบจริงๆ”

ความพิเศษของรถคันนี้ 

“ผมว่าเป็นเรื่องของดีเทลของรถนะ อย่างบางจุดของรถไม่ต้องมีก็ได้นะในรถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป แต่เราก็ต้องทำ คือผมตั้งใจทำให้เนี๊ยบที่สุด กลึงเหล็กกับชิ้นส่วนตกแต่งทั้งคันอย่างที่เห็น”

“คือจริงๆ กับส่วนของเครื่องยนต์เราไม่ต้องทำอะไรกับมันเลยก็ได้นะ เพราะเสน่ห์ของ Harley จริงๆ มันอยู่ที่เสียง ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ เสียงมันก็เพราะอยู่แล้ว ส่วนพวกอะไรรกๆ สายไฟ คอยด์จุดระเบิด ฯลฯ ผ่าถังซ่อนไว้ข้างใต้หมด”

“ถ้าเอาตามที่ผมชอบนะ คือความคลาสสิก เราชอบอะไรที่เราคิดว่ามันอยู่ไปได้ตลอด ดูแล้วมันไม่เบื่อ ดูไม่เก่า มันก็เป็นอย่างนี้ของมันไม่ว่าจะนานแค่ไหน และด้วยความที่ดีเทลของรถมีความเป็นตัวเราเข้าไปด้วย คัสตอมสร้างมันขึ้นมาเป็นเหมือนตัวเรา มันมีคันนี้คันเดียว”

สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นกับรถแนวนี้

“เราต้องศึกษาทรงมันก่อนว่าเราชอบทรงไหน แบบไหน เราอยากได้แฮนด์สูง แฮนด์โหน ถังต่ำ-สูง มันไม่จำเป็นว่าจะต้อง Harley นะ มันไม่เกี่ยวว่าจะเป็นเครื่องยนต์อะไร คือแค่คุณรู้ว่าคุณชอบทรงอะไร ชอบแบบไหนแค่นั้นพอ ทีนี้เรื่องดีเทลจะเป็นยังไงมันก็แล้วแต่คุณ ไม่มีข้อจำกัด คัสตอมรถมันไม่มีข้อจำกัด อย่างที่บอกว่ามันไม่มีใครมาตัดสินหรอกว่าอันนี้สวยไม่สวย นอกจากคุณจะเอารถไปประกวดเพราะมันมีกรรมการ มันเป็นสไตล์ของเจ้าของรถล้วนๆ”

“และถ้าให้ผมแนะนำนะ อย่าไปรีบ เราค่อยๆ ทำไปให้มันถูกใจที่สุดกว่า เพราะสุดท้ายเราเป็นคนขี่ มันอยู่กับเรา อะไรที่ไม่ชอบแก้ก็คือแก้ ปรับก็คือปรับ ทำรถให้เข้ากับตัวเรามากที่สุดทั้งตอนที่จอด รวมทั้งตอนที่ขี่ก็ต้องปรับให้อยู่ในท่าขี่ที่เราชอบมากที่สุด position เข้ากับตัวเองมากที่สุดด้วย”