มีหลายๆ ครั้งที่การพูดถึงเรื่องร่างกายหรืออวัยวะในสังคมไทยถูกแปะป้ายให้กลายเป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควร โดยเฉพาะกับผู้หญิง ที่การพูดถึงเรื่องต่างๆ เหล่านี้มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่อง ‘น่าอาย’ หรือว่า ‘ไม่งาม’ ทั้งที่จริงๆ แล้วนี่คือเรื่องของ ‘สุขภาพแบบองค์รวม’ ที่เราทุกคนควรรู้
ในเดือนสำคัญของผู้หญิงแบบนี้ EQ จึงชวน ซินดี้ – สิรินยา บิชอพ และ แพร – วิรชา พูลวรลักษณ์ มาพูดคุยถึงโครงการ ‘Period Power’ ภายใต้การดูแลของ Vira Care โครงการที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ และผู้หญิงทุกคนได้เข้ามาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และทำความเข้าใจร่างกายและจิตใจของตัวเองมากขึ้น เพื่อส่งต่อพลังบวกในการรักและเคารพตัวเอง
เราเชื่อว่าผู้หญิงคนหนึ่ง จะมีความมั่นใจได้เสมอ ตราบใดที่เขารู้จักตัวเอง
- ซินดี้ สิรินยา บิชอพ -
ซินดี้: เราสองคนเห็นว่า Partnership ของเรามันเห็นเป้าหมายเหมือนกันคือ เราอยาก Empower Woman หรือแม้แต่เรื่อง Sexual Harassment ซึ่งซินดี้ก็เคยเขียนหนังสือเด็กเกี่ยวกับ Body Anatomy เรื่องสัมผัสที่ดีหรือไม่ดี ก็เลยถือว่ามันเป็นการสานต่อแคมเปญที่ทำอยู่ด้วย เพราะเราเชื่อว่าผู้หญิงคนหนึ่ง จะมีความมั่นใจได้เสมอ ตราบใดที่เขารู้จักตัวเอง เพราะผู้หญิงเราอาจจะไม่ได้มั่นใจพอที่จะถามคำถาม แม้แต่แค่ไปตรวจสุขภาพ คุยกับหมอเรื่องช่องคลอด หรืออวัยวะเพศ ยังอาย เราว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ควรจะอาย มันก็เหมือนจมูกที่อยู่บนหน้าเรานี่แหละ มันก็เป็นอวัยวะส่วนหนึ่ง
แพร: ใช่ เราต้องการให้การดูแลรักษา ใส่ใจ ลบ Stigma เกี่ยวกับประจำเดือน เราอยากให้เด็กผู้หญิงรู้สึกว่า เฮ้ย I Got This! แล้วหลังจากนั้นพอมีความมั่นใจในเรื่องนี้ เรื่องอื่นๆ มันก็จะทำได้เอง
ซินดี้และแพรบอกกับเราถึงประเด็นเรื่องการศึกษาของไทยว่า ยังคงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพัฒนา และเรื่องเพศศึกษาก็เป็นปัญหาหนึ่งส่วนที่ต้องพูดถึง เพราะคำว่า ‘เพศศึกษา’ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของร่างกาย และการเติบโตของมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวที่จะช่วยหล่อหลอมให้เด็กๆ โตขึ้นมาแล้วรักตัวเองได้ โดยทั้งสองคนก็ยกตัวอย่างเรื่องการมีประจำเดือนของเด็กผู้หญิงว่า ควรมีการสอนในระบบการศึกษาพื้นฐานที่ครอบคลุมมากกว่าที่เป็นอยู่
ซินดี้: เรารู้สึกว่าเรื่องประจำเดือนยังไม่ค่อยถูกพูดถึงเยอะนักกับเด็กในไทย แต่มันต้องให้การศึกษาตรงนี้ เราเลยอยากทำการสอนเกี่ยวกับการเข้าสู่วัยที่จะมีประจำเดือน ช่วยให้ข้อมูล ทำเวิร์กช็อป พอคุยไปคุยมา ก็เป็นที่มาของการทำสื่อที่ไม่ได้เป็นทางการอย่างที่อาจจะเคยได้เรียนในโรงเรียน เพราะแบบนั้นมันน่าเบื่อจะตาย
แพร: แล้วมันก็ไม่มีสอนด้วย เลยอยากทำให้มันสนุก เพราะโรงเรียนก็ไม่มีสอนเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์จริงๆ หรือช่วงนั้นที่เราจะรู้สึกอารมณ์แปรปรวนต้องดูตัวเองอย่างไร เช็กตัวเองอย่างไร แล้วเราอยากให้รูปแบบมันออกมาสนุกสนาน อยากให้เด็กๆ เขารู้สึกว่าเขาสามารถถามอะไรเราก็ได้ เหมือนเป็นพี่สาว แล้วหลังจากเวิร์กช็อปก็ยังสามารถติดต่อเราได้อยู่ เป็นการสร้างคอมมูนิตี้ แล้วก็มีเพื่อนใหม่ที่อยู่ในวัยเดียวกันที่พูดถึงเรื่องนี้ด้วยกันได้
การตีตราการพูดเรื่อง ‘เพศ’ ที่ความจริงแล้วไม่ได้มีเพียงเรื่องเพศสัมพันธ์ แต่เป็นเรื่องสุขภาพแบบองค์รวมที่ควรเป็นเรื่องปกติ ทำให้สังคมของเราถูกกดอยู่ภายใต้ความกลัวบางอย่างในเรื่องเพศ ซึ่งแพรและซินดี้ได้แชร์ประสบการณ์ของพวกเธอให้เราฟังเช่นกัน
แพร: แพรเรียนโรงเรียนหญิงล้วน ก็จะเป็นกลุ่มสาวๆ เพื่อนๆ ก็จะช่วยๆ กันหมด ใครมีประจำเดือนครั้งแรกก็จะช่วยกัน แชร์ความรู้กัน เพราะหลายๆ คนประจำเดือนก็จะมาในช่วงอายุใกล้กัน แต่มันไม่ใช่อะไรที่เราคุยกับคนในครอบครัว แล้วจริงๆ เหมือนแพรโตมาในความกลัวว่า ถ้าเรามีเพศสัมพันธ์เราอาจจะท้องได้ตลอดเวลา ทำให้รู้สึกว่า ถ้าเรารู้เรื่องนี้มากขึ้น เช่น การนับวันต่างๆ เราก็อาจจะหวาดระแวงน้อยลง
ซินดี้: จริงๆ เราไม่ค่อยมีข้อมูล อย่างคุณแม่ก็จะพูดแค่ว่า “you can be a woman” หรือ “เราโตเป็นสาวแล้ว” แต่การโตเป็นสาวมันแปลว่าอะไร? คือเราเองไม่ได้รู้สึกว่ามันมีอะไรน่ากลัว แต่ก็ไม่ได้มีข้อมูลเท่าไร อย่างคุณแม่ซินดี้เขาก็จะช่วยบ้าง
การเรียนรู้แบบ ‘Body-based’ คือแนวคิดที่ซินดี้และแพรอยากนำเสนอให้กับผู้หญิงทุกคน ด้วยการเรียนรู้เรื่องของร่างกายผ่านการทำความรู้จัก และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายตัวเองจริงๆ เพราะการเรียนรู้เรื่องร่างกายอาจจะไม่ใช่สิ่งที่นั่งอ่านหนังสือแล้วจะเข้าใจได้
การที่เราปลูกฝังให้คนๆ หนึ่งเริ่มสังเกตตัวเอง เราว่ามันเป็นเครื่องมือที่มีพลังมาก มันจะต่อยอดไปได้ในทุกเรื่อง
- ซินดี้ สิรินยา บิชอพ -
แพร: แพรว่าสิ่งหนึ่งที่คำสำคัญคือ เราจะต้องรู้ว่าอวัยวะไหนของเราเรียกว่าอะไร ซึ่งการที่เรารู้จักร่างกายของตัวเองว่าเป็นอย่างไร หรือมีอะไรบ้าง จะช่วยให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องดูแลรักษา เราจะสามารถใช้ศัพท์ได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด เวลาไปหาหมอ หรืออยากรู้อะไรเพิ่มเติมจากออนไลน์ การใช้คำที่ถูก ข้อมูลที่ได้ก็จะตรง และตอบโจทย์เรามากกว่า แล้วมันช่วยเราได้ด้วยว่า เราจะ express ออกมาอย่างไร เช่น ก่อนประจำเดือนมาจะมีเรื่องของ PMS (Premenstrual Syndrome) แล้วเราต้องทำตัวอย่างไร เด็กที่เขามาเวิร์กช็อปกับเราส่วนใหญ่ยังไม่มีประจำเดือนเลย เขาก็จะยังไม่รู้สึกว่าอะไรมันจะเกิดขึ้น และเด็กๆ เขายังมีความสงสัยอยู่ในตัวเอง เขาก็จะถามคำถามกลับมาเยอะมาก
ซินดี้: การที่เราปลูกฝังให้คนๆ หนึ่งเริ่มสังเกตตัวเอง เราว่ามันเป็นเครื่องมือที่มีพลังมาก มันจะต่อยอดไปได้ในทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นเราควรเริ่มให้เด็กๆ เขาเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะอะไรก็ตาม มันคือการสื่อสารระหว่างสมอง ร่างกาย และฮอร์โมน ซึ่งเวิร์กช็อปของเราไม่ใช่แค่การมานั่งอ่านหนังสือหรือเปิดวิดีโอนะ แต่มันคือการมีปฏิสัมพันธ์กัน เช่น มีการเล่นละคร มีการรับบทบาทต่างๆ เพื่อให้เขาได้เห็นภาพเลยว่า มันเกิดอะไรขึ้นในร่างกายตัวเอง เพราะเราอยากให้เด็กๆ มีความสนุก อยากให้เขากลับบ้านไปพร้อมความสุข ความสนุก ความรู้ แล้วก็ความอิ่มใจ และเราเองก็ได้เรียนรู้จากเด็กๆ ด้วย
แต่ต้องย้ำนิดหนึ่งว่า เราไม่ได้พูดถึงเรื่องเพศสัมพันธ์เท่าไร เราอาจจะแตะนิดๆ ในบริบทที่เชื่อมโยง และเหมาะสมกับสถานการณ์หรือหัวข้อนั้นๆ เราไม่ได้สอนเรื่องเพศสัมพันธ์ เพราะนั่นมันคืออีกหัวข้อหนึ่ง อีกเวิร์กช็อปใหญ่ๆ อันหนึ่งเลย ที่เราเองก็เชื่อว่าเรื่องนี้แต่ละบ้านยังมีความเชื่อที่ไม่เหมือนกัน หรือบางเรื่องเขาอาจจะอยากคุยกับลูกเอง เราก็เคารพในส่วนนั้น เราขอพูดถึงแค่ส่วนของ Puberty ดีกว่า
แพร: แต่เราก็จะพูดถึงนิดๆ หน่อยๆ เพิ่มเป็นเหมือนพื้นฐานเพื่อให้เขาได้ไปต่อยอดได้ ตอนที่เขาโตพอที่จะ explore เรื่องเพศในส่วนนั้นเพิ่มขึ้น
การทำงานและพัฒนาการของร่างกายคนเรานั้นล้วนต่างกันออกไป สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในแต่ละช่วงวัยก็ย่อมต่างกันไปด้วย ซึ่งซินดี้และแพรก็เล่าให้เราฟังถึงเหตุผลว่า ทำไมเราจึงควรที่จะเริ่มสอนให้เด็กๆ รู้จักกับร่างกายตัวเองตั้งแต่ก่อนมีประจำเดือน
เราเห็นได้เลยว่าสิ่งที่เราสอนลูกตั้งแต่ 3 ขวบ มันส่งผลกับเขาและเราแค่ไหน ไม่มีการอาย แต่เรื่องความอายกับการมีพื้นที่ส่วนตัวไม่เหมือนกัน ในส่วนนั้นเราก็ต้องเคารพในพื้นที่ของลูกเราเหมือนกัน
- ซินดี้ สิรินยา บิชอพ -
ซินดี้: ซินดี้เริ่มต้นตั้งแต่ตอนลูกยังเด็กๆ เลยนะ บ้านซินดี้ค่อนข้างเปิดกับทุกอย่าง แล้วเรารู้ว่าถ้าเราพูดอะไรกับเด็กไปสักหนึ่งคำ มันมีผลกับเขามาก เราเลยค่อนข้างที่จะระวังในการใช้คำที่ถูกต้อง นำพลังแง่บวกส่งให้กับเขา เปิดใจ ทำให้เขารู้ว่าเขาสามารถมาถามอะไรเราก็ได้ อย่างตอนนี้ลูกคนหนึ่งที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น เราเห็นได้เลยว่าสิ่งที่เราสอนตั้งแต่ 3 ขวบ มันส่งผลกับเขาและเราแค่ไหน ไม่มีการอาย แต่เรื่องความอายกับการมีพื้นที่ส่วนตัวไม่เหมือนกัน ในส่วนนั้นเราก็ต้องเคารพในพื้นที่ของลูกเราเหมือนกัน
เราต้องเข้าใจว่า เวลาเด็กเขาถาม เขาถามเพื่อการเรียนรู้ เราก็แค่ตอบตามความจริง อย่าไปกลัวว่าลูกๆ ถามคำถามเกี่ยวกับร่างกาย หรืออวัยวะ อย่าคิดไปไกลเองว่าเด็กจะไปทำอะไร อยากรู้ไปทำไม ถ้าเกิดคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่าจะตอบอย่างไรก็อาจจะลองทำการบ้าน ทำการค้นคว้าเพิ่มเติมดูได้
แพร: เราก็เคยคิดนะช่วงอายุแบบไหนเหมาะกับการเรียนรู้อะไร เช่น บางเวิร์กช็อปของเราก็อาจจะเหมาะกับน้องๆ ที่โตหน่อย แต่เราก็ไม่ได้จำกัด ถ้าน้องเด็กมากอายุสัก 9 ขวบ แต่น้องเริ่มเป็นประจำเดือนแล้ว เราว่าเขาก็อาจจะเหมาะกับการพูดคุยสำหรับเด็กโตหน่อย จริงๆ แล้วเราจะเห็นน้องๆ ช่วงอายุ 10-13 ปีบ่อยหน่อย เพราะช่วงอายุนี้จะมีทั้งเด็กที่มีประจำเดือนแล้ว หรือกำลังจะมี และบางที่ก็จะมีคุณแม่มาร่วมด้วย มันก็จะเป็นเหมือนการสานความสัมพันธ์
ซินดี้: รู้ไหมวันก่อนลูกชายบอกกับเราว่าอย่างไร?
ตอนนี้เขากำลังสนใจเรื่องร่างกายอยู่เหมือนกัน แล้วซินดี้ก็เป็นประจำเดือนอยู่ เขาพูดออกมาว่า “ผู้หญิงนี่โชคดีจังเลย” เราที่ปวดท้องอยู่ก็งงว่าทำไมเขาพูดอย่างนั้น แล้วเขาก็บอกว่า “ผู้หญิงเต็มไปด้วยวิทยาศาสตร์ ร่างกายผู้หญิงส่งสัญญาณตลอดเวลาเลย ดูมีอะไรตลอดเวลาเลย ดีจัง” เราก็แบบโอ้มายก๊อด! สำหรับเด็กในวัยเขาที่พูดเรื่องแบบนี้ กับในเชิงที่พลังบวกขนาดนี้ มันเป็นเรื่องที่ดีมากๆ มันทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเราได้แบ่งปัน ทำความเข้าใจ ไม่ว่าจะเพศอะไร เรื่องนี้มันก็คือการพัฒนาสังคมไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว
‘Safe Space’ คือสิ่งที่แพรและซินดี้พยายามใช้เวิร์กช็อปของพวกเธอในการขับเคลื่อนให้ทุกๆ คนสามารถมีพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถจะแลกเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจ เป็นพื้นที่ๆ เคารพซึ่งกันและกัน รับฟัง และพร้อมโอบรับทุกๆ คน
เราต้องทำให้เขารู้ว่าเขามี Safe Space รู้ว่าเราให้ความสำคัญกับอะไร ให้เขาได้รู้ถึงความจริงใจ ซึ่งแพรว่ามันใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม
- แพร วิรชา พูลวรลักษณ์ -
แพร: เราทำเวิร์กช็อปเพราะเราต้องทำให้เขารู้ว่าเขามี Safe Space แล้วเราก็บอกเด็กๆ ว่าที่นี่คือการเรียนรู้แบบเปิดอก เราให้ความสำคัญกับอะไรบ้าง เราจะมีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ความซื่อตรง ความเคารพซึ่งกันและกัน การรับฟัง ให้เด็กๆ ได้รู้ถึงความจริงใจ ซึ่งแพรว่ามันใช้ได้กับคนทุกกลุ่ม
ซินดี้: ถ้าเราทำให้เขารู้ว่าเราไม่ได้มาสอน แต่เรามาแบ่งปัน แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว บางทีกับวัยรุ่น เราต้องเป็นทั้งคนถาม และคนตอบ เพราะถ้าเราใส่ให้เขาอย่างเดียว มันไม่มีผลอะไรเลย แต่ถ้าเราได้ถาม ได้พูดคุยกับเขา เราให้เขาแชร์กับเรา มันจะเป็นเหมือนการแลกเปลี่ยน วัยรุ่นอาจจะไม่ได้อยากให้เราไปเป็นคำตอบให้เขา แต่จะดีกว่าถ้าเราเป็นที่ปลอดภัยให้เขาได้แชร์
ในหลายๆ ครั้งการเรียนการสอนในโรงเรียนอาจไม่ได้สอนให้เราเข้าใจสุขภาพแบบองค์รวมของเรา ผ่านการเรียนรู้จากร่างกาย และจิตใจของตัวเอง แต่บางทีการศึกษาในโรงเรียนอย่างเดียวอาจไม่พอ Period Power จึงต้องการผลักดันพื้นที่ปลอดภัยที่พร้อมจะแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และส่งต่อความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องร่างกายให้กับทุกๆ คน โดยบอกเล่าองค์ความรู้ที่เหมาะสมให้กับแต่ละช่วงวัย หรือตามพัฒนาการของร่างกายเพื่อในท้ายที่สุด องค์ความรู้เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตที่มีความสุข เข้าใจ รัก และเคารพตัวเองได้อย่างแท้จริง