Life

ภัยเงียบที่มองไม่เห็น: เมืองที่คุณอาศัยอยู่ส่งผลให้เกิดโรคอะไรบ้าง?

Photo credit: BBC

‘โรคภัยไข้เจ็บ’ เป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงมากแค่ไหนก็ตาม ด้วยสังคมและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ไหนจะสภาวะของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยแก่มนุษย์ ต่อให้บางคนจะเดินสายเฮลตี้ก็ตาม อย่างที่เราเห็นกันในข่าวว่าคุณหมอ ‘อ.นพ. กฤตไท ธนสมบัติกุล’ เจ้าของเพจ ‘สู้ดิวะ’ ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ทั้งที่ดูแลสุขภาพของตนมาโดยตลอด แต่เพราะมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ที่มีมากในจังหวัดเชียงใหม่ที่เขาอาศัยอยู่ โรคนี้จึงได้มาเยือนแม้อายุจะยังน้อย

เพราะอย่างนี้เอง เราจึงได้นึกถึงโรคที่แถมมากับตัวเมืองและประเทศต่างๆ ซึ่งควรจะต้องระมัดระวังหากอาศัยอยู่ในแถบนั้น มาดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย (Bangkok, Thailand)

‘มาซด้า อาดลี’ (Mazda Adli) จิตแพทย์และนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านความเครียดจากกรุงเบอร์ลิน เผยว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองมีแนวโน้มที่จะมีโรคทางจิตเภทซึ่งเกี่ยวกับความเครียดสูงกว่าผู้ที่อาศัยในชนบท หนึ่งในนั้นคือโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลที่พบในคนเมืองมากกว่าถึง 1.2-1.5 เท่า ยิ่งอยู่ในเมืองนานเท่าไหร่ ขนาดของเมืองใหญ่แค่ไหน ก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูงเยอะขึ้นเท่านั้น สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ก็เพราะว่าความแออัดของตัวเมืองที่มาพร้อมกับสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (Social Isolation) ซึ่งพบได้บ่อยในสังคมยุคใหม่ ทั้งสองอย่างนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม การป่วยออดๆ แอดๆ นำไปสู่การตายก่อนวัยอันควร

กรุงเทพฯ ไม่เพียงแค่แออัด แต่ยังมีจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมอยู่ถึง 9.8 ล้านคัน (อัปเดตล่าสุดเมื่อปี 2018) เกินกว่าปริมาณที่ถนนในกรุงเทพฯ จะรองรับได้ถึง 4.4 เท่า นอกจากการรถติดจะทำให้เสียสุขภาพจิตแล้ว จำนวนรถยนต์ที่เยอะยังเป็นสาเหตุใหญ่ๆ ของปัญหาละอองฝุ่น PM2.5 ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ไอถี่ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และยังก่อให้เกิดผื่นแดงคัน เยื่อบุตาอักเสบ ในระยะยาวก็อาจทำให้เป็นโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคผิวหนัง ฯลฯ อีกด้วย นับเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะสำหรับเด็กและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ หอบหืด ที่จะมีปัญหาด้านระบบทางเดินหายใจและภูมิคุ้มกันอยู่บ่อยครั้ง ล่าสุดที่ค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งขึ้นสูงก็มีผู้ป่วยต่อมน้ำเหลืองอักเสบอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ควรสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ และใช้เครื่องฟอกอากาศหากรายได้เอื้อมถึง

เดลี, อินเดีย (Delhi, India)

Photo credit: Lonely Planet

ถือว่าเป็นที่ฮือฮากันทุกครั้งเมื่อพูดถึงภูมิคุ้มกันของชาวอินเดีย ที่แม้จะอาบหรือดื่มน้ำจากแม่น้ำคงคาก็ยังไม่ป่วยไข้ ในขณะที่ชาวต่างชาติผู้มาเยือนต้องล้มหมอนนอนเสื่อไปหลายราย ถึงอย่างนั้นก็ไม่ไดัแปลว่าพวกเขาป่วยไม่เป็น คนอินเดียจำนวนมากมีปัญหาเรื่องสุขภาพทางโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคความดันโลหิตสูงกันมากขึ้น ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกลดลง และยังเป็นเช่นนี้มานาน โดยที่หลายๆ คนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนมีอาการความดันโลหิตสูง เพราะจำนวนประชากรที่มากเกินไป การเข้าถึงแพทย์จึงเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างเดลีซึ่งมีประชากรมากกว่า 15 ล้านคน

อ้างอิงจาก VOA Thai ศาสตราจารย์ ‘ศรีนาท เร็ดดี้’ (Prof. Srinath Reddy) ประธานของ World Heart Federation ได้อธิบายเอาไว้ว่า ยังมีชาวอินเดียที่ไม่รู้ว่าบุหรี่สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ทำให้มีผู้ที่ใช้บุหรี่มีมากกว่า 138 ล้านคนทั่วประเทศ และยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่บริโภคมันด้วยวิธีอื่น เช่น การเคี้ยวยาสูบในหมู่ผู้หญิงและคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ง่ายต่อการหลบซ่อน นอกเหนือจากนี้แล้ว เมืองใหญ่ๆ ยังมีวัฒนธรรมสตรีทฟู้ดที่รุ่มรวย แต่มักใช้น้ำมันปรุงอาหารซ้ำ ทำให้มีไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคทางหลอดเลือดที่อันตรายต่อหัวใจกับสมอง แต่คนไทยอย่างเราๆ อย่าเพิ่งวางใจ เพราะบ้านเราก็มีสตรีทฟู้ดให้ทานกันเป็นประจำตลอดเวลา ไม่น้อยหน้าอินเดียเลยล่ะ

แบร์โรว, อลาสก้า (Barrow, Alaska)

Photo credit: Republic World

พวกเราคงจะเคยเห็นข่าวมาก่อนว่าเมืองแบร์โรว (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Utqiagvik) ของรัฐอลาสก้า จะอยู่อย่างไร้แสงอาทิตย์ทั้งหมด 65 วันในทุกๆ ปี มันคือช่วง ‘polar night’ ที่ดวงอาทิตย์ตกตลอดฤดูหนาวนั่นเอง สถานที่อื่นๆ ที่อยู่เหนือวงกลมอาร์กติกก็จะมีช่วงเวลาแบบนี้เช่นกัน แน่นอนว่ามันพิเศษ แต่สิ่งที่ตามมากับความมืดมิดก็คือ Seasonal Affective Disorder (SAD) โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลที่ส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพจิตนั่นเอง

การไม่ได้รับแดดไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะการขาดวิตามินดี (Vitamin D) จากแสงอาทิตย์ส่งผลต่ออารมณ์ได้ไม่น้อย หลายๆ คนที่ตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าก็มีระดับของวิตามินดีที่ต่ำผิดปกติ และจากการวิจัยภายใต้หัวข้อ ‘Bimodal effects of sunlight on major depressive disorder’ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการรับแสงแดดอย่างเพียงพอในระยะยาว (30 วัน) นั้นเป็นผลดีต่อผู้ที่มีโรคซึมเศร้ารุนแรง อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความมืดเกี่ยวพันกับความเศร้าก็คือ เมื่อช่วงเวลากลางวันลดน้อยลง ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่เกี่ยวกับการนอนหลับก็ได้ถูกผลิตออกมามากขึ้นตามกลไกของร่างกาย ทำให้การนอนผิดปกติตามไปด้วย และอาจจะรู้สึกเหนื่อยง่าย คิดวิเคราะห์ช้าลง หิวบ่อยขึ้น จึงอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ด้วย

ไม่ใช่แค่ชาวอลาสกัน ผู้คนจากประเทศแถบยุโรปเองก็ประสบปัญหานี้ด้วยเช่นกัน จากการที่แสงสว่างมีไม่มากพอในฤดูใบไม้ร่วงจนถึงฤดูหนาว มันจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวต่างชาติส่วนหนึ่งในโซนนั้นหนีมาพึ่งพา อาบแสงแดดจากประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ เพื่อไม่ให้ตนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าก็เป็นได้

ลอนดอน, อังกฤษ (London, England)

Photo credit: Discover Magazine

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 1485, 1508, 1517, 1528, และ 1551 ที่กรุงลอนดอนตกอยู่ภายใต้โรคระบาดร้ายแรงซึ่งกลับมาทุกๆ 10-20 ปี ยากจะหาทางรักษา แถมยังเป็นปริศนามาจนถึงทุกวันนี้ ผู้คนหวาดกลัวโรคไข้เหงื่อออก (Sweating Sickness) เอามากๆ และจากจดหมายปี 1528 ของ Jean du Bellay ทูตชาวฝรั่งเศสในลอนดอน ระบุเอาไว้ว่า “โรคชนิดนี้เป็นวิธีอันง่ายที่สุดในโลกที่จะทำให้ผู้คนตายลง” และ “(ผู้ป่วย) จะมีอาการปวดศีรษะและหน้าอกเล็กน้อย เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเริ่มเหงื่อออก (...) คุณจะจากไปโดยไม่ได้รู้สึกถึงความอ่อนแรงเลย” เรียกได้ว่าอัตราการเสียชีวิตสูงมากถึง 2,000 คนต่อการระบาดหนึ่งระลอก สร้างความวิตกให้กับราชวงศ์ทิวดอร์ที่กำลังปกครองอังกฤษในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก

จุดที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดเกี่ยวกับโรคไข้เหงื่อออกก็คืออัตราการตายที่สูงและการจากไปอย่างกะทันหันของผู้ป่วย จากคนที่ดูปกติดี ไม่ได้ป่วยไข้ แต่เมื่อทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ทานอาหาร เดินเล่นข้างนอก หรืออะไรก็ตามแต่ ผู้ที่มีโรคนี้จะมีเหงื่อออกเป็นจำนวนมาก และเสียชีวิตลงในระยะเวลาอันสั้น ภายใน 10-12 ชั่วโมงเท่านั้น จนเกิดการคาดเดาว่าเป็นเพราะในยุคสมัยนั้น สุขอนามัยของประเทศอังกฤษไม่ค่อยดีนัก จึงมีพาหะนำโรคอย่าง ‘หนู’ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในบ้านหลังใหญ่โตซึ่งมีข้าทาสบริวารหลายชีวิต สาเหตุของโรคอาจเกิดจากการกวาดซากศพของหนูทิ้ง ซึ่งการกวาดทำให้เชื้อไวรัสฮันตา (Hantavirus) จากสัตว์ฟันแทะฟุ้งกระจายในอากาศได้ไม่ยาก และแม้ว่าโรคนี้จะไม่มีอยู่ในปัจจุบัน มันก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะได้พัฒนากลายเป็น Hantavirus Pulmonary Syndrome (HPS) ที่ก่อให้เกิดภาวะไตวาย ถึงอย่างนั้นพวกเราก็ยังโชคดีที่มีการแพทย์ล้ำสมัย ต่างจากในยุคเรเนซองส์ที่แม้แต่กษัตริย์ยังต้องกักตัวหนีโรคอย่างไม่รู้ชะตา

ซิดนีย์, ออสเตรเลีย (Sydney, Australia)

Photo credit: SBS

มาถึงเมืองสุดท้าย จะไม่พูดถึงซิดนีย์ เมืองท่องเที่ยวของประเทศออสเตรเลียก็คงไม่ได้ เพราะเป็นอันรู้กันว่าในประเทศนี้และกลุ่มหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ผู้คนมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งผิวหนังเป็นอันดับ 1 ของโลก ถึงขั้นที่ในปี 2020 สภามะเร็งของออสเตรเลียประกาศว่า ชาวออสเตรเลียถึง 1,401 คนเสียชีวิตจากมะเร็งผิวหนังเมลาโนมา (Melanoma) และได้มีการห้ามใช้เตียงอาบแดดอย่างเด็ดขาด อาการทั่วไปนั้นอาจจะเป็นแค่ผิวที่ตกกระหรือไหม้แดด มีแผลตกสะเก็ดจากการโดนแสงแดดบ่อยๆ แต่ในระยะยาวก็อาจมีตุ่มนูนแข็ง มีแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หาย หรือไฝที่สีกับขนาดไม่ปกติ นั่นคืออาการของโรคมะเร็งผิวหนังที่พบได้ทั่วไป

สาเหตุหลักของมันจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากการรับแสงอัลตร้าไวโอเล็ต (UV) มากเกินพอดี ด้วย ‘หลุมโอโซน’ ที่มีขึ้นในบริเวณนั้น ซึ่งหมายถึงการที่ชั้นโอโซนบางกว่าปกติทั่วไปนั่นเอง โดยส่วนมากแล้วจะเกิดจากสารเคมีของโรงงานที่ลอยขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศ ในกรณีของประเทศออสเตรเลียนั้น มันเกิดจากการเผาไหม้ของไฟป่าที่มีขึ้นบ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้เอง กระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลียจึงรณรงค์กันอยู่เสมอว่าให้หลีกเลี่ยงแสงแดด ทาครีมกันแดด และสวมหมวกเป็นประจำ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังรายใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น หากใครมีแพลนไปเที่ยวออสเตรเลียในเร็วๆ นี้ อย่าลืมพกครีมกันแดดกับหมวกกันรังสี UV ไปด้วยล่ะ

อ้างอิง

Futurism

PPTV HD 36

TERO Digital

VOA

The Matter

PsychCentral

Charlestown Patriot-Bridge

SILPA-MAG

The Conversation

Cancer Council

Health Direct