Identity

เปิดเผยตัวตนของเราเพื่อใคร? ยังจำเป็นอยู่ไหมที่ต้อง ‘Come out’

‘พ่อครับ ผมเป็นเกย์’

‘แม่คะ หนูไม่ได้ชอบผู้ชาย’

และอีกสารพัดคำสารภาพที่ถูกใช้เพื่อประกาศให้สังคมรู้ว่า ‘ฉันเป็น LGBTQ+’ เป็นสิ่งที่เราเห็นได้จากแทบทุกพื้นที่บนโลกโซเชียล หรือแม้แต่ในชีวิตจริงก็อาจมีจังหวะที่เราได้เข้าไปเห็นการ ‘Come out’ ของใครสักคน (หรือแม้แต่ของตัวเอง) ซึ่งก็อาจจะดูเป็นเรื่องปกติในสังคมที่ LGBTQ+ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรอีกต่อไป

แต่นั่นแหละคือประเด็นหนึ่งที่ทำให้เราสงสัยว่า ในโลกที่พัฒนาไปข้างหน้าทุกๆ วัน เพื่อเปิดกว้าง และโอบรับความแตกต่าง ‘การ Come out ยังจำเป็นอยู่หรือไม่?’ ยิ่งในเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลาย และสิทธิความเท่าเทียมแบบนี้ อาจจะถึงเวลาที่เราต้องมาลองคิดกันอีกครั้งถึงประเด็นการ Come out ในสังคมปัจจุบัน แม้จะพูดว่าทัศนคติทางสังคมก็พัฒนาขึ้นแล้ว การผลักดันกฎหมายต่างๆ ก็กำลังดำเนินไปในสังคม ทำให้การออกมาเปิดเผยตัวตน หรือประกาศตัวว่าเป็น LGBTQ+ อาจจะแฝงไว้ด้วยนัยที่สำคัญต่อตัวตน สังคม และวัฒนธรรมของคนๆ หนึ่ง 

แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่า การออกมา Come out จะเป็นประสบการณ์ที่ดีของทุกคน เมื่อการเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของบางคนอาจแฝงไว้ด้วยการถูกบังคับ หรือกดดันให้เผยตัวตน บางคนก็อาจจะเจอประสบการณ์ที่ทำให้บังเอิญเปิดเผยตัวตนอย่างไม่ได้ตั้งใจ สิ่งเหล่านี้อาจจะสร้างให้เกิดผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกถึงตัวตน, ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง, ความไม่มั่นคงของสภาวะอารมณ์, บางคนอาจจะเกิดบาดแผลในใจ หรือถูกทำร้ายร่างกายก็มีให้เห็น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เราได้รับรู้ว่า การออกมาเปิดเผยตัวตน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวของคนๆ หนึ่ง และคนที่รายล้อมในชีวิตพวกเขา เพราะฉะนั้นเรื่องราวที่แสนละเอียดอ่อนนี้ ทำให้เราอยากชวนทุกคนมาคุยถึงประเด็นของการ Come out ไปด้วยกัน

Photo Credit: Visit Philadelphia

สังคม(ที่ดูเหมือน)เปิดกว้าง 

ก่อนที่เราจะเข้าสู่เรื่องของการ Come out เราคงต้องมาดูกันถึงบริบทของสังคมปัจจุบันกันก่อน ซึ่งในปัจจุบันการยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ ก็มีมากขึ้นในสังคม สังคมไทยเปิดกว้างขึ้นมากจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนเริ่มออกมาแสดงความเป็นตัวของตัวเอง และยอมรับการมีอยู่ของอัตลักษณ์ที่หลากหลายมากขึ้น คนเริ่มมีความเข้าใจว่า อัตลักษณ์ทางเพศในสังคมมีหลากหลาย ไม่ได้มีแค่ผู้ชาย ผู้หญิง เกย์ ไบ เลสเบี้ยน ทอม ทรานส์ เควียร์อีกต่อไปแล้ว แต่มันละเอียดอ่อน ซับซ้อน และหลากหลาย ซึ่งการที่ LGBTQ+ แสดงออกได้อย่างเปิดเผย ก็เป็นหนึ่งในภาพสะท้อนว่า สังคมมีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายมากขึ้นแล้ว (หรืออย่างน้อยๆ ก็พยายามเข้าใจเรื่องความหลากหลายมากขึ้น)

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ก็เพิ่งมีการจัดงาน ‘Bangkok Pride 2023’ กันไปหมาดๆ กับพาเหรดที่เฉลิมฉลอง และเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมในเดือน Pride Month ซึ่งในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Beyond Gender’ ผ่าน 6 ขบวนพาเหรดที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘สุขภาวะของผู้หลากหลายทางเพศ’ ก็สะท้อนให้เราเห็นแล้วว่า เรื่องของความหลากหลายนั้นก้าวผ่านไปถึงจุดที่คอมมูนิตี้ของ LGBTQ+ อยากทำความเข้าใจกับสังคมมากขึ้นกว่าแค่เรื่องตัวตน หรืออัตลักษณ์ทางเพศ เพราะเรื่องของความหลากหลายนั้นมีมุมมองอีกหลายมิติที่เราสามารถหยิบยกมาพูดกันได้ นอกจากงาน Bangkok Pride 2023 แล้ว ในปีนี้เมืองท่องเที่ยวอีกหลายเมืองก็ยังจะมีการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลอง Pride Month ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ ขอนแก่น พัทยา หรือภูเก็ต เรียกได้ว่าประเด็นเรื่องความหลากหลายกำลังกระจายไปทุกๆ พื้นที่ในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ

ถึงอย่างนั้น หากเราจะมองให้ครบทุกมุมในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการยอมรับ และเปิดกว้างให้กับความหลากหลายในสังคมมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่ได้เห็นข่าวที่ LGBTQ+ บางคนไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมรอบข้าง บางคนถึงขั้นถูกทำร้ายก็มีให้เห็น ซึ่งสิ่งเหล่านั้นย่อมสร้างบาดแผลให้กับใครหลายๆ คนอยู่ไม่น้อย ซึ่งมุมมองในฝั่งนี้ก็กระจายอยู่ทั่วไปในสังคมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแวดวงกีฬาอย่างกรณีของ ‘จิมมี่’ นักกีฬา Kickboxing ทีมชาติที่ถูกสมาพันธ์ฯ เอชีย สั่งห้าม ‘ออกสาว’ เพียงเพราะเขาฟูลเทิร์นหลังจากได้รับชัยชนะ หรือแม้แต่เรื่องพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่คอมมูฯ LGBTQ+ ต้องออกมาเรียกร้องกันอยู่

Photo Credit: The Center for American Progress

จากผลสำรวจประชากรไทย 3,502 คน ในปี 2018 ของ World Bank พบว่า ทั้งการทำงาน และการบริการของรัฐ ยังมีการเลือกปฏิบัติทางเพศอยู่ โดย 77% ของ Transgender ยังคงถูกปฏิเสธเข้าทำงาน รองลงมาคือ กลุ่ม Lesbian ที่ 62% และ เกย์ที่ 49% โดยที่ Transgender กว่า 40% ก็ยังคงต้องเผชิญกับการล้อเลียน รวมถึง LGBTQ+ กว่า 24% ยังคงถูกบังคับให้ต้องปิดบังตัวเอง

เมื่อเราได้เห็นแล้วว่าในสังคมที่เหมือนจะเปิดกว้างก็ยังคงมีมุมหนึ่งของสังคมที่อาจจะไม่ยอมรับความหลากหลายนี้เช่นกัน ถึงอย่างนั้นการแสดงออก และเปิดเผยตัวตนก็เป็นเรื่องดีที่ทำให้คนๆ หนึ่งมีอิสระในการใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องบดบังความเป็นตัวเอง อย่างที่เราเห็นศิลปิน ดารา ทั้งไทย และต่างประเทศทยอยกันออกมา Come out อยู่เรื่อยๆ รวมถึงงานวิจัยจำนวนไม่น้อยต่างระบุว่า การ Come out มีผลดีต่อสุขภาพจิต และการแสดงตัวตน รวมไปถึงยังสร้างผลดีต่อระบบการทำงานในบริษัท มากกว่าสังคมการทำงานที่ไม่เปิดรับความหลากหลาย แต่ทั้งนี้ก็พูดได้ว่า งานวิจัยเหล่านั้นคือ ผลสำรวจจากผู้ที่มี ‘ความพร้อม’ ในการที่จะออกมาเปิดเผยตัวตน

Photo Credit: EducationWeek

‘สถานการณ์บังคับ’ กับเหตุการณ์เปลี่ยนชีวิตเหล่า LGBTQ+

เมื่อพูดถึงความพร้อม เราก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหลายๆ โมเมนต์ของ LGBTQ+ การเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของพวกเขาก็มาจากการถูกบังคับ กดดัน หรือความไม่ตั้งใจ

เราเชื่อว่ามี LGBTQ+ จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในวัยเรียน ซึ่งเป็นช่วงวัยแห่งการค้นหาตัวตน และก่อร่างสร้างความเป็นตัวเอง ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์บีบบังคับ ที่ทำให้พวกเขาต้องเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศต่อสังคมที่เขาอยู่ ทั้งที่บางคนอาจจะยังไม่รู้สึกแน่ชัดในอัตลักษณ์นั้นๆ เสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการถูกชี้หน้า และเรียกด้วยคำพูดที่กดทับทางเพศ เพียงเพื่อให้คนๆ หนึ่งต้องจำใจยอมรับสถานะนั้นๆ หรือแม้แต่คุณครูที่ดูเหมือนจะ ‘หวังดี’ รายงานพฤติกรรมที่มองว่า ‘เบี่ยงเบน’ ต่อผู้ปกครอง โดยไม่ถามความพร้อม หรือความสมัครใจของเด็กคนหนึ่งก่อน นั่นไม่ใช่การกระทำที่เกิดผลดีเลย เพราะคุณครูควรจะเป็นหนึ่งคนที่สร้างความปลอดภัยให้กับเด็ก ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เพราะเราไม่สามารถทราบได้เลยว่าภายหลังการรายงานพฤติกรรมนั้น เด็กหนึ่งคนจะต้องเจอกับอะไรบ้าง (นี่ยังไม่ได้รวมไปถึงการที่ครู หรือเพื่อนร่วมชั้นเป็น Homophobia เลยด้วยซ้ำ)

แม้กระทั่งกับดาราวัยรุ่นอย่าง ‘Kit Connor’ นักแสดงจากซีรีส์ชื่อดัง ‘Heartstopper’ ก็ได้ออกมาทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา เมื่อปี 2022 ว่า

“ผมเป็นไบ ยินดีด้วยกับการบังคับให้เด็กอายุ 18 ต้องเปิดเผยตัวตน ผมคิดว่าพวกคุณบางคนคงไม่เข้าใจแก่นของซีรีส์ บาย”

ก่อนที่เขาจะออกมาทวีตข้อความอีกครั้งว่า

“ทวิตเตอร์นี่ตลกดีนะ เห็นชัดๆ เลยว่าบางคนในนี้รู้จักเพศวิถีของผมดีกว่าตัวผมเอง…”

ซึ่ง Kit Connor ไม่ใช่คนแรก และคนเดียวที่ถูกปฏิบัติแบบนี้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า เขาก็คงจะไม่ใช่คนสุดท้ายด้วยเช่นกัน เราต้องเข้าใจก่อนว่า การออกมาเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศอาศัยแค่ความพร้อมทางจิตใจของผู้มีความหลากหลายอย่างเดียวไม่ได้ สังคมรอบข้างเองก็ต้องพร้อมที่จะเปิดรับเช่นกัน ซึ่งหลายๆ ครั้ง การออกมาเปิดเผยตัวตนของ LGBTQ+ นั้น ได้เปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล

Photo Credit: New Way Ministry

มีผลสำรวจในอเมริกาออกมาระบุว่า หลายๆ ครั้งการออกมา Come out ของวัยรุ่นส่งผลให้พวกเขาต้องหนีออกจากบ้าน แตกหักกับครอบครัว สังคม และต้องระเห็จออกมาใช้ชีวิตลำพัง โดยข้อมูลรายงานว่า คนไร้บ้านที่เป็นวัยรุ่นใน East coast และ West coast ของสหรัฐอเมริกาจำนวน 25 - 50 เปอรเซ็นต์ เปิดเผยตัวเองว่าเป็น LGBTQ+ โดยการรายงานนี้ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่คนไร้บ้านที่เป็น LGBTQ+ เลือกย้ายไปอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นเพื่อมองหาสังคม หรือพื้นที่ๆ เปิดรับพวกเขา ซึ่งที่นั่นมีการคุ้มครองทางกฎหมายที่ดีกว่า และมีทางเลือกให้กับสังคม LGBTQ+ มากกว่า

Photo Credit: NBC News

Come out เพื่อเรา? หรือ เพื่อใคร?

จากที่คุยกันมาจนถึงตอนนี้คงต้องยอมรับว่า การ Come out ยังคงเป็นประเด็นที่มีความเปราะบางอยู่ ถึงแม้ว่ามันจะมีข้อดีในเรื่องของการแสดงตัวตน และจุดยืนทางสังคมที่ทำให้ปลดแอกอิสรภาพในการใช้ชีวิตของหลายๆ คนได้ แต่ในอีกมุมมันก็สามารถกดทับ และสร้างบาดแผลให้ใครสักคนหนึ่งต้องจมอยู่กับการไม่ยอมรับ และเปลี่ยนชีวิตของคนๆ นั้นไปอย่างสิ้นเชิง

กลับมาที่คำถามของเราว่า ‘การ Come out ยังคงจำเป็นอยู่ไหม?’ เพราะหากลองมองถึงบริบทของสังคมตอนนี้ที่เปิดกว้างมากขึ้น เรื่องของความหลากหลายก็ก้าวข้ามไปสู่จุดที่คนมองถึงมิติอื่นๆ ของสิทธิความเท่าเทียม ไม่ใช่แค่เรื่องเพศวิถีอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นคนๆ หนึ่งยังคงจำเป็นจะต้องออกมาประกาศให้โลกรู้อยู่อีกหรือไม่ว่า พวกเขามีเพศอะไร และตัวตนของพวกเขาเป็นอย่างไร มองในอีกมุมหนึ่ง ทำไมชายจริง หญิงแท้ถึงไม่จำเป็นต้องออกมาพูดว่า ‘ผมเป็นผู้ชายครับ’ ‘ฉันเป็นผู้หญิงค่ะ’ ทั้งที่นั่นก็คือ เพศหนึ่งเช่นกัน (นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เห็นความไม่เท่าเทียมทางเพศที่แทรกซึมอยู่) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเห็นแล้วว่าการ Come out สามารถเกิดผลเสียต่อคนๆ หนึ่งได้มากแค่ไหน

Photo Credit: CNN

ท้ายที่สุดการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง ควรเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนที่จะทำให้คนๆ นั้นสบายใจที่จะเป็นตัวเอง ซึ่งถ้าใครไม่ต้องการเปิดเผย หรืออาจจะไม่ได้ปิดบังอะไร เพียงแค่รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องประกาศออกมา นั่นก็เป็นสิทธิของเขา เพราะการยอมรับตัวตนของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องตะโกนออกไปให้ใครฟังก็ได้ สิ่งที่น่าคิดที่สุดคือ จริงๆ แล้วเรา Come out เพื่อวัตถุประสงค์อะไร หรือเพื่อความสบายใจของใครกันแน่

อ้างอิง

Allure
BBC
Lesley University
PsychologyToday
WorkpointToday