Life

10 คำถาม-คำตอบ ที่คนเล่นคริปโตมือใหม่ต้องรู้

Photo credit: Cryptoknowmics

สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มต้นกับวงการคริปโตเคอร์เรนซี บอกเลยว่าต้องไม่พลาดบทความนี้ เพราะเรารวบรวม FAQ 10 ข้อมาให้มือใหม่หัดเล่นคริปโตได้คลายความสงสัย และเข้าใจการเงินยุคใหม่นี้มากขึ้น

Q1: ‘คริปโต’ กับ ‘โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน’ ต่างกันอย่างไร?

A: ทั้งคริปโตและโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน จัดเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเหมือนกัน แต่เบื้องลึกเบื้องหลังนั้นต่างกัน โดยคริปโตจะเป็นเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าในตัวเอง สามารถซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกันได้ผ่านบล็อกเชนของตัวเองเท่านั้น ซึ่งราคาเหรียญจะขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ส่วนโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน เป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering) ในโปรเจกต์ต่างๆ เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์บางอย่าง และมีการกำหนดมูลค่าเหรียญในการซื้อขายไว้คงที่ โดยจะทำการซื้อขายผ่าน Smart Contract บนบล็อกเชนของผู้อื่น เช่น DESTINY TOKEN โทเคนที่เปิดให้ลงทุนในภาพยนตร์เรื่องบุพเพสันนิวาส ๒ เพื่อแลกกับดอกเบี้ย 2.99% ต่อปี การได้เข้าร่วมงานเลี้ยงกับทีมงานแบบเอ็กซ์คลูซีฟ และของขวัญจำนวนจำกัด เป็นต้น

Photo credit: Coin98 Insights

Q2: ทำไมคริปโตถึงจัดเป็นการลงทุน ไม่ใช่การออมเงิน?

A: เพราะการเป็นเงินที่ไร้หน่วยงานกลางคอยควบคุมมูลค่า ซึ่งยังแปรผันไปตามความต้องการของตลาด ทำให้คริปโตมีความผันผวนสูงมาก บางครั้งค่าเหรียญก็เพิ่มขึ้นและทำให้คนที่ถือเหรียญอยู่ได้กำไร แต่บางครั้งค่าเหรียญก็ลดลงจนเงินต้นหายไป หรือที่เรียกกันว่า ‘ติดดอย’ มันจึงถูกจัดให้อยู่ในฝั่งของการลงทุน เพราะไม่มีอะไรการันตีได้ว่าเงินต้นจะอยู่ครบ

Q3: ความเหมือน-ต่างของคริปโตและหุ้น

A: คริปโตกับหุ้นจัดเป็นการลงทุน มีมูลค่าขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และยังถูกผูกกับเงินที่จับต้องได้ (Fiat) เหมือนกัน แต่ความต่างอยู่ที่ 

  1. เวลาซื้อขาย – หุ้นจะต้องซื้อขายในช่วงที่กำหนดเท่านั้น แต่คริปโตสามารถซื้อขายได้ตลอดเวลา ตราบใดที่มีอินเทอร์เน็ต 
  2. การลงทุนขั้นต่ำ – การซื้อหุ้นมักจะกำหนดราคาและจำนวนขั้นต่ำเอาไว้ และส่วนใหญ่มักเริ่มต้นที่หลักพันบาท แต่คริปโตสามารถลงทุนด้วยงบที่น้อยกว่าได้ เพราะจะแบ่งขายเป็นหน่วยย่อย ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งเหรียญ คนที่มีงบน้อยก็สามารถลงทุนได้ 
  3.  ผลตอบแทน – หุ้นจะให้ผลตอบแทนเป็นเงินปันผลตามข้อกำหนดที่ผู้ขายแจ้งไว้ ส่วนคริปโต ถ้าไม่ขายในช่วงราคาเหรียญขึ้น ก็สามารถทำผลตอบแทนได้โดยการขุดเหรียญ (Mining) และการล็อกเหรียญ (Staking)
Photo credit: IFEC

Q4: How to หาเงินจากคริปโต

A: การเพิ่มมูลค่าเหรียญที่นิยมทำกันมากที่สุดมี 4 วิธี ได้แก่

  1. Hodl (Hold on for dear life) – การถือเหรียญไว้ในมือระยะยาวโดยที่ไม่รีบขาย เพื่อกำไรในระยะสั้น
  2. Trading – สร้างกำไรด้วยการขายเหรียญในช่วงที่มูลค่าเพิ่มขึ้นจากตอนซื้อมา
  3. Mining – การใช้คอมพิวเตอร์สเปคเทพในการแก้ไขสมการคณิตศาสตร์ เพื่อเข้ารหัสไปรับเหรียญบิตคอยน์ที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ
  4. Staking – เป็นการนำเหรียญไปฝากไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัลที่รองรับการ Stake และล็อกมันไว้ เพื่อแลกกับดอกเบี้ยตามเงื่อนไขของแต่ละแพลตฟอร์ม
Photo credit: Coincu

Q5: เทรดดิ้งแบบ Futures คืออะไร ทำไมมือใหม่ไม่ควรยุ่ง?

A: ‘Futures’ คือการเทรดแบบคาดเดาล่วงหน้า โดยตกลงทำซื้อขายกันวันนี้ แต่ใช้ราคาในอนาคต เช่น คาดเดาว่าเหรียญ X จะราคาขึ้นในเดือนหน้า เลยซื้อตั้งแต่วันนี้ และถ้าค่าเหรียญเพิ่มขึ้นตามที่คาดไว้ ก็จะได้กำไรมากกว่าการเทรดแบบอื่น เพราะมีปริมาณการซื้อขายที่สูงกว่า แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนั้น ก็จบลงที่ขาดทุน หลายคนเรียกมันว่าวิธี “รวยเร็ว เจ๊งเร็ว” และนำไปเปรียบเทียบกับการพนัน เพราะทำกำไรได้เยอะในเวลาสั้นๆ แต่ถ้ายังเป็นมือใหม่ ประสบการณ์ไม่มากพอ และคาดเดาทิศทางความผันผวนของมูลค่าไม่ออก โอกาสหมดตัวก็อยู่ไม่ไกล

Q6: ซื้อขาย-แลกเปลี่ยนคริปโตได้ที่ไหน?

A: การซื้อขายคริปโตนั้นสามารถทำได้ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และโบรกเกอร์ (Digital Asset Broker) ทั้งในและต่างประเทศ แต่สำหรับมือใหม่ แนะนำให้ลดความเสี่ยงด้วยการติดต่อ Exchange หรือ Broker ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

สามารถเช็กรายชื่อได้ที่ Thai Digital Asset

Photo credit: Kriptomat

Q7: ‘กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์’ ทำไมคนเล่นคริปโตต้องมี?

A: กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ต่างอะไรจากกระเป๋าเงินทั่วไป แค่เปลี่ยนจากเก็บรักษาเงิน Fiat มาเป็นคริปโต โดยตัวกระเป๋าจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมผ่าน Exchange หรือ Broker ต่างๆ เพราะเงินนั้นจะรวบรวมเอาไว้ในที่เดียว อีกทั้งยังช่วยป้องกันการถูกแฮ็กเงินไปจากบัญชีด้วย เพราะมันเป็นเครื่องมือสำคัญที่เชื่อมต่อกับบัญชีส่วนตัว ที่มีทั้ง Public key และ Private key สำหรับส่งออกหรือรับเหรียญคริปโตเข้ามาในบล็อกเชน กระเป๋าเงินนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ‘Software wallet’ กระเป๋าเงินคริปโตในระบบดิจิทัลที่ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ต และ ‘Hardware wallet’ กระเป๋าที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยอินเทอร์เน็ต มีความปลอดภัยสูง มีทั้งประเภทที่หน้าตาเหมือน USB และเป็นกระดาษสำหรับสแกน QR Code แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ไม่ว่าจะใช้กระเป๋าเงินแบบไหน ก็ควรใช้ควบคู่กับระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือที่ถูกลิขสิทธิ์

Photo credit: Mobile App Daily

Q8: เลือกเหรียญคริปโตอย่างไรดี?

A: สำหรับมือใหม่ ทางเราขอแนะนำให้เลือกตามนี้

  1. เลือกเหรียญที่ได้รับความนิยมบนกระดานเทรดของ Exchange ชั้นนำ – อย่างที่บอกว่ามูลค่าคริปโตขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ดังนั้น เหรียญที่คนต้องการเยอะก็ย่อมมีราคาดี 
  2. เลือกจากความน่าเชื่อถือ – ควรดูว่าใครเป็นผู้สร้างเหรียญ ระบบบล็อกเชนของเหรียญเป็นอย่างไร ประโยชน์ของเหรียญ แผนการต่อยอดของผู้สร้าง (Roadmap) พันธมิตร (Partnership) มีคนรู้จักเหรียญนี้มากน้อยแค่ไหน หรือมีคอมเมนต์ถึงเหรียญนี้อย่างไรบ้าง
  3. พิจารณามูลค่าเหรียญย้อนหลัง – เพื่อทำนายทิศทางในอนาคตของเหรียญนั้นๆ
Photo credit: Paypal Newsroom

Q9: การเสียภาษีคริปโตในประเทศไทย มีอะไรที่ควรรู้บ้าง?

A: พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 กำหนดให้กำไรจากการขายคริปโต เข้าเกณฑ์เงินได้ที่ต้องเสียภาษี โดยมีข้อควรรู้ดังนี้

  1. สามารถนำธุรกรรมที่ขาดทุนมาหักลบจากกำไรได้ แต่ต้องเป็นในปีภาษีเดียวกันและต้องทำธุรกรรมผ่าน Exchange ที่ ก.ล.ต. รับรองเท่านั้น
  2. การยื่นภาษี สามารถกรอกตัวเลขได้โดยที่ไม่ต้องแนบหลักฐานการมีรายได้ 
  3. หากเกิดรายได้ในพอร์ตคริปโต แม้จะยังไม่ได้ถอนออกมาก็นับเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี
  4. คนบางกลุ่มสามารถยกเว้นการชำระภาษีได้ เช่น ผู้ที่มีรายได้จากการเทรดคริปโตเพียงอย่างเดียว และมีกำไรตลอดปีไม่เกิน 60,000 บาท รวมถึงผู้มีอายุครบ 65 ปี และมีกำไรจากการขายคริปโตตลอดปีไม่เกิน 400,000 บาท เป็นต้น

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ Finnomena

Photo credit: Taxbit

Q10: คุณสมบัติแบบไหนที่คนเล่นคริปโตควรมี?

A: 1. ติดตามข่าวสารและเล่นโซเชียลมีเดียเป็นประจำ – เพราะจะทำให้ทราบถึงปัจจัยที่มีผลต่อมูลค่าของเหรียญ เช่น กระแสความนิยม การเคลื่อนไหวของนักลงทุนรายใหญ่ ภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น

2. รู้จักประเมินความเสี่ยง – รู้ว่าสถานการณ์แบบไหนควรซื้อ ขาย หรือถือเหรียญในมือเอาไว้ก่อน

3. สามารถยับยั้งชั่งใจตัวเองได้ – ไม่ลงทุนจนเงิน Fiat หมดกระเป๋า หรือทำให้ตัวเองและคนรอบข้างเดือดร้อน

4. รู้จักหาข้อมูลเสริมความรู้ให้ตัวเอง และไม่กลัวที่จะถามผู้รู้ – เพราะจะทำให้คุณมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถอยู่กับโลกการเงินยุคใหม่ได้อย่างแข็งแกร่ง 

Photo credit: Jeton

อ้างอิง

SET

Finnomena

Bitkub

Money Chat Thailand