Life

กินดีอยู่ดี ที่ฟาร์มสเตย์กลางทุ่งนา ละลานตาด้วยกิจกรรม และพิซซ่า พร้อมอาหารมังสวิรัติสุดเลิศรส 'DaiDib DaiDee' (ได้ดิบได้ดี)

แขกจะไป ใครจะมา ก็ขอให้ 'ได้ดิบได้ดี' คำอวยพรที่เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความจริงใจ เหมือนกับที่ ‘เบิร์ด’ – อดิศักดิ์ ยานันท์ เจ้าของ 'DaiDib DaiDee' ที่ได้สรรค์สร้าง และทำกับครอบครัว โดยเนรมิตผืนนา อำเภอปัว จังหวัดน่านแห่งนี้ เพื่อเป็นที่พักให้ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย พร้อมกิจกรรมที่ชวนให้เอนใจพักกาย พิซซ่าเตาฟืนแบบพื้นบ้าน และอาหารมังสวิรัติที่พร้อมเสิร์ฟด้วยความจริงใจ ที่เขาได้ตกผลึก จนทดลอง คิดค้น และลงมือทำเองทุกขั้นตอน

ต่อยอดที่ดินของพ่อจน ‘DaiDib DaiDee’

เท้าความไปนิดหนึ่ง ผมเรียนจบที่เชียงใหม่ ช่วงที่เรียนที่นั่นได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยว และไปดูงานศิลปะ ตอนนั้นผมเรียนช่างภาพ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิจิตรศิลป์ สาขาการถ่ายภาพ คิดว่าเรียนจบคงได้ทำตามความฝันตัวเอง ได้ทำงานถ่ายภาพสัก 2 ปี ที่คิดๆ ไว้ และมีโอกาสได้ลงไปอยู่กรุงเทพฯ ช่วงหนึ่งแต่ไม่ถึงปี ทำงานเป็นเบื้องหลังกองถ่ายหนังกับทีมฟรีแลนซ์ ทั้งทำงานไปด้วย ได้เที่ยวไปในตัวด้วย เพราะเป็นรายการสารคดี

หลังจากนั้นก็ออกจากงานที่กรุงเทพฯ และกลับไปอยู่ที่เชียงใหม่อีกประมาณปีกว่าๆ ทำงานช่างภาพถ่ายกิจกรรม Adventure พวกกิจกรรมโหนสลิงในป่าให้ชาวต่างชาติ และคนจีนที่ดอยสะเก็ด ผมเป็นคนชอบท่องเที่ยว และชอบเดินทางอยู่แล้ว ระหว่างทางที่ไปเที่ยวได้เจอเพื่อนฝรั่งพวกแบ็กแพ็กตามโฮสเทลที่เราไปพัก เราได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ซึ่งเขาบอกเราว่า เวลาไปเที่ยวอยากทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การเดินป่า และกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ผมเริ่มทำโฮมสเตย์ปี 2562 คือ ทำก่อนโควิดมา 1 ปี ตอนนั้นเริ่มทำกันเอง คุณพ่อผมเป็นช่างไม้อยู่แล้ว เราเลยช่วยกัน และเริ่มลงมือทำ โดยผมเปิดรับอาสาสมัครชาวต่างชาติเพื่อมาช่วยงานสร้างโฮมสเตย์ด้วยการเป็นลูกมือ เขาก็มาทำ และอาศัยที่นี่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน บางอาทิตย์ก็มาเป็นสิบๆ คน เพราะพวกฝรั่งเขาต้องการพื้นที่พวกฟาร์มอยู่แล้ว เราก็เริ่มสร้างกันมาเรื่อยๆ เราใช้เวลาประมาณหนึ่งปีในการสร้างโฮมสเตย์ เราค่อยๆ ทำทีละหลัง ช่วงที่สร้าง ผมรับแขกเข้าพักด้วยครับ ซึ่งมีคนไทยมาพักบ้าง

ตอนนี้โฮมสเตย์ของเรามีทั้งหมด 4 หลัง ทำมา 4 ปี มีแบบที่เป็นกระท่อม กับอีก 1 หลังใหญ่แบบ Dormitory นอนรวมครับ และมีบ้านหลังใหญ่อีก 1 หลังที่เป็นส่วนกลางครับ ซึ่งคือ บ้านที่ผมอยู่ ณ ตอนนี้ สามารถรองรับแขกที่เข้าพักได้เยอะสุดประมาณ 20 กว่าคน แต่ปกติผมจะรับประมาณ 10 กว่าคนครับ เพราะเราทำกันเป็นครอบครัว คุณแม่ผมก็ทำกับข้าว คุณพ่อเป็นคนขับรถเข้า-ออก พาลูกค้าเข้ามา เราทำกันเองในครอบครัวแบบเล็กๆ

”พอกลับมาบ้านก็มาเริ่มทำโฮมสเตย์ ซึ่งพื้นที่ที่ทำเป็นกลางทุ่งนา เป็นมรดกที่ได้จากคุณพ่อ แล้วคุณพ่อส่งต่อให้ผมนำมาต่อยอดกับพื้นที่แห่งนี้ที่มีประมาณ 4 ไร่ เราก็แบ่งสันปันส่วน ทำโฮมสเตย์ส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็ปลูกข้าวปกติ”

ชีวิต ‘ดิบๆ’ ในแบบ DaiDib DaiDee

ความแตกต่างที่ไม่เหมือนที่อื่น ตามชื่อที่พักของเราเลยคือ ได้ดิบได้ดี 'ดิบ' ในความหมายของเราคือ อยากให้ทุกคนใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ต้องวุ่นวาย ที่พักของเราไม่มีไฟฟ้า ใช้โซลาร์เซลล์ซึ่งมีเฉพาะบ้านส่วนกลาง (บ้านหลังใหญ่) ส่วนหลังอื่นๆ ไม่มีไฟฟ้าเลย คนที่เข้าพักจึงต้องเป็นคนเฉพาะกลุ่มจริงๆ ตั้งแต่นักศึกษา ไปจนถึง อายุประมาณ 30 ปลายๆ หรือ 40 ต้นๆ โดยประมาณ มีทั้งนักเดินทาง ศิลปิน และนักดนตรี

“ขี่ควายนั่งเกวียน, อบตัวด้วยสมุนไพร, เดินป่า, ทำผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้คือ จุดแข็งของเรา”

มีอยู่อันหนึ่ง เป็นป้ายซึ่งเป็นงานของเพื่อนสนิทที่เคยแสดงงาน เป็นข้อความ 'อย่าเรื่องมาก คำเดียวอยู่' อยู่ตรงล็อบบี้พอดี ซึ่งรายละเอียดการเข้าพักผมก็ปักหมุดไว้ที่หน้าเพจ เวลาลูกค้าโทรมาจองผมจะถามทุกครั้งว่า อ่านรายละเอียดแล้วหรือยัง? ถ้ายังไม่ดูรบกวนไปดูก่อนนะ และต้องอ่านให้จบด้วยนะ ถ้าสนใจคิดจะจองค่อยจอง ถ้าไม่โอเคก็ไม่ต้องจองตั้งแต่ทีแรก

“ได้ดิบได้ดี เป็นคำที่ผมชอบเพราะเหมือนเป็นคำอวยพร เพราะเวลาเดินทางไปต่างจังหวัด หรือจะไปทำอะไรที่ไหน คนเฒ่าคนแก่เขาจะอวยพรให้ไปได้ดิบได้ดีนะ”

กินดี อยู่ดี พร้อมด้วยกิจกรรมดีๆ

กิจกรรมสำหรับคนเข้าพัก มีขี่ควายนั่งเกวียน ผมคิดค่าใช้จ่ายต่อคนคือ 1,000 บาท พร้อมอาหาร 2 มื้อ คือ มื้อเช้ากับมื้อเย็น เป็นอาหารมังสวิรัติ ซึ่งเป็นเมนูท้องถิ่นของคนที่นี่กิน เราจะพรีเซนต์อาหาร Local ที่เป็นเมนูมังสวิรัติ ในส่วนของกิจกรรมเพิ่มเติมที่แยกออกไป คือ ทำผ้ามัดย้อมด้วยสีธรรมชาติ จ่ายเพิ่มคนละ 300 บาท ซึ่งจะได้เรียนกับคุณแม่ผม อบตัวด้วยสมุนไพร คนละ 250 บาท สำหรับคนที่มาพักอย่างเดียว และไม่ทำกิจกรรม เราคิดค่าใช้จ่ายคนละ 800 บาท พร้อมอาหาร 2 มื้อ คือ มื้อเช้ากับมื้อเย็น เหมือนกัน

และปลายเดือนกรกฎาฯ นี้ สิ่งที่เพิ่มมาคือ Cooking Class เป็นการเวิร์กช็อปทำอาหารพื้นบ้านแบบใช้เตาฟืน เริ่มตั้งแต่ก่อไฟจนทำเสร็จเป็นเมนู ซึ่งเป็นวิถีของคนที่นี่ที่เขาทำจริงๆ ค่าใช้จ่ายคนละ 500 บาท

โดยส่วนตัวกินมังสวิรัติอยู่แล้ว รู้สึกว่าดี เลยอยากส่งต่อประโยชน์สิ่งนี้ และพรีเซนต์ว่า อาหารมังสวิรัติไม่ได้มีแค่ผัก และรสชาติอร่อย เป็นอาหารทางเลือกของคนอีกแบบหนึ่ง หรือ บางคนอาจไม่เคยกิน แล้วมาลองกินดูอาจชอบแบบนี้ก็ได้ ซึ่งแขกที่มาพักที่นี่กินได้ทุกคน

ยำหัวบุก ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของที่นี่ เราใช้หัวบุกแบบหัวมันที่ไปขุดจากในป่า โดยมีกระบวนการให้คนเฒ่าคนแก่ทำเพื่อนำมายำ ใส่มะนาว พริก ตะไคร้ ไกยี (สาหร่ายน้ำจืด) จะเสิร์ฟพร้อม น้ำพริกมะเขือเทศ กินกับข้าวเหนียว ส่วนมื้อเช้าคือ ข้าวต้มเห็ด ท็อปด้วย น้ำพริกข่ากับไกยี เมนูนี้ลูกค้าชอบมากครับ

ที่พักสบายๆ ของคนที่มีสไตล์คล้ายๆ กัน

จังหวัดน่าน คนจะเที่ยว 2 ฤดู คือ ฝน กับ หนาว หน้าร้อนไม่นิยมเที่ยว เพราะมีหมอกควัน เลยปิดไป 3 เดือน เลยมีเวลาเดินทาง ไปท่องเที่ยว และไปพักผ่อน เราจะเปิดบ้านตั้งแต่มิถุนาฯ ยาวไปถึงกุมภาฯ ถ้าคนเริ่มจองที่พักจริงๆ ก็ตั้งแต่เดือนกรกฎาฯ คนก็จะเริ่มเยอะแล้ว โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว ถ้าพีคจริงๆ น่าจะตุลาฯ-ธันวาฯ ช่วงปลายฝนต้นหนาว ถ้าคนที่ชอบก็จะมา 2 ซีซั่น จะสวยคนละแบบ หน้าฝนจะเขียวๆ หน้าหนาวจะเย็นๆ

“ในเมื่อคนเข้าพักเลือกที่พักได้ เราเป็นที่พักเราก็สามารถเลือกคนเข้าพักได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่คนที่เจอก็จะมี ไลฟ์สไตล์ที่คล้ายๆ กัน มีอะไรเหมือนๆ กัน”

คนที่มาพัก 90% ชอบ และแชร์ประสบการณ์ว่าไม่เคยนอนแบบนี้ เพราะที่นอนเราก็ยังเป็นมุ้งผูก 4 มุมนอน มีแขกบางคนสนิท และกลับมาพักทุกซีซั่น กลับมาหาเราทุกปีก็มี สนิทจนกลับไปเขาก็ส่งของกลับมาให้เรา ส่งหนังสือมาให้อ่าน คนที่เราเจอจะมีไลฟ์สไตล์คล้ายๆ กัน มุมมองเหมือนๆ กัน

คนที่ชอบโฮมสเตย์เขาจะได้สัมผัสคนที่เขาอยู่ที่นี่จริงๆ บ้านผมก็อยู่ตรงนี้เลย วันไหนมีคนมาพัก ผมก็มีเพื่อนนั่งดูดาวด้วยกัน กินเบียร์ด้วยกัน จะต่างกับโรงแรมที่อยู่ห้องใครห้องมัน

บ้านส่วนกลางเรามีเตาผิงข้างบนบ้าน มีไฟฟ้าเฉพาะตรงนี้ ทุกคนต้องมารวมพลตรงนี้ นั่งกินข้าว กินเบียร์ คุยกัน มันคือความอบอุ่นที่เราได้แลกเปลี่ยนความคิด ทัศนคติต่างๆ

โฮมสเตย์ที่โปรโมตตัวเองได้

ผมว่ามันอยู่ที่โฮมสเตย์ไหนจะนำเสนอหรือ Represent ตัวเองได้มากกว่า ถ้าคู่แข่งของผม ผมคิดว่าน่าจะยังไม่มีใครทำแบบนี้ที่น่าน หรืออาจจะมีก็ได้ แต่ผมไม่รู้ ยกตัวอย่าง ผมกับรุ่นพี่ผมที่นี่ ก็เริ่มทำพร้อมๆ กัน เขาเป็นพี่ที่สนิททำร้านกาแฟ เราก็เหมือนส่งต่อลูกค้ากันด้วย เราก็แนะนำลูกค้าโฮมสเตย์ของเราไปร้านกาแฟ หรือโฮมสเตย์อื่นๆ ที่เรารู้จัก ที่เป็นพันธมิตรก็ส่งต่อลูกค้าไป แนะนำเขาไป

ตั้งแต่ทำมาก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเลยสักอย่าง เพราะเราก็ทำด้วยตัวของเราเอง เรื่องการโปรโมตเราก็ไม่ได้จ้าง มีแต่เขามาหาเรา คนอยากจะรู้จักเรามากกว่า บางครั้งก็เบื่อจนไม่อยากจะรับพวกรายการด้วยซ้ำ เพราะเรามองว่า ณ จนถึงตอนนี้เรื่องการโปรโมต มันไปของมันอยู่แล้วจากปากต่อปาก

เท่าที่เจอมาก็มีจังหวัดที่เคยเข้ามา มา Offer ให้เราหลายๆ อย่าง ทั้งทำป้าย ทำทาง แต่ผมก็ไม่รับสักอย่าง ผมบอกเขาไปว่า ถ้าอยากสนับสนุนให้ไปทำกับเจ้าที่เขาต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ดีกว่า เพราะของเรามันโปรโมตด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว มีททท.จังหวัดที่เคยเข้ามา อยากดึงเราไปอยู่ในรูทเที่ยวของน่าน เราก็ไม่ได้หยิ่ง และบอกเขาตรงๆ ว่า ในน่านมันมีอีกเยอะมาก ในส่วนของเจ้าที่เขาอยากให้ช่วยโปรโมต คือ ของผมมันโอเคแล้ว ไม่ต้องการแล้ว

‘ปัว’ เมืองสงบๆ ที่แสนยั่งยืน

น่านน่าจะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ในมุมมองของผมอยากให้ต่างชาติรู้จักที่นี่มากขึ้น ไม่อยากให้รับแต่คนในประเทศอย่างเดียว น่านมีจุดเด่นอีกเยอะ ตั้งแต่ผมรับอาสาสมัครฝรั่งผมเจอมาเยอะ ทุกคนมาที่นี่แล้วชอบ ชอบปัว ชอบน่าน เพราะมันเงียบ และเป็นเมืองที่สงบอยู่ ยั่งยืนของผมคือ 'ต่างชาติ' เพราะเขาเที่ยวทุกฤดู อย่างคนไทยช่วงหน้าร้อนก็ไม่มี

“ผมอยากให้การท่องเที่ยวโปรโมตจังหวัดน่านซึ่งอาจไม่ใช่เมนหลักของประเทศให้ชาวต่างชาติได้รู้จักบ้าง ไม่จำเป็นต้องแนะนำไปเชียงใหม่ หรือ เชียงราย ภูเก็ต หรือ กระบี่ จริงๆ มันมีธรรมชาติ และที่ท่องเที่ยวอีกเยอะมาก อันนี้น่าจะเป็นมุมมองผม และยั่งยืนด้วย”

ปัวมันเป็นเมืองที่สงบครับ เหมาะแก่การมาพักผ่อน และมีเสน่ห์เรื่องภูเขา ใครมาปัวไม่ว่าใครจะอยู่ส่วนไหนก็สามารถเห็นภูเขาได้

ความสุขเล็กๆ จากโปรเจกต์เชิงอนุรักษ์

จริงๆ ผมมีร้านอาหาร ซึ่งเป็นร้านพิซซ่า แต่ผมจะเปิดเฉพาะตอนเย็น คือ 5 โมงเย็น ถึง 2 ทุ่ม เป็นพิซซ่าเตาฟืน และหน้าพื้นเมือง เราได้รับความสุขจากลูกค้าที่เข้าพัก เขาเดินมาบอกเราเลยว่าอบอุ่นมาก และขอบคุณมากที่ได้มาพักที่นี่ คน Gen ตั้งแต่ 30 ปลายๆ กับ 40 ต้นๆ ตอนเด็กๆ เขาเคยนอนที่นอนที่มีมุ้ง บ้านไม้ เขากลับโหยหาสิ่งพวกนั้น เลยเลือกมาหา และมาพักกับเรา อยากให้ที่นี่อยู่ไปนานๆ ส่วนของร้านพิซซ่าเราก็ดีใจที่ได้ทำให้คนกินอาหาร ทั้งหน้าน้ำพริกอ่อง หน้าไกยี หน้าน้ำพริกข่า หรือหน้าไส้อั่ว มีคนมาขอบคุณที่ได้กินอาหารมื้อนี้ และได้กินอาหารที่อร่อยมาก เราก็รู้สึกแฮปปี้ครับ

ตอนเราทำกันเอง เราเริ่มจากศูนย์ จากพื้นที่เปล่าๆ เริ่มสร้างจากน้ำพักน้ำแรง ทั้งเหนื่อยทั้งสนุก ณ ตอนนั้น เราภูมิใจที่มีเพื่อนฝรั่งที่เป็นอาสาสมัครมาช่วย และอยากเห็น โปรเจกต์เราสำเร็จ ซึ่งตอนนั้นเราเรียกที่นี่ว่า 'โปรเจกต์' ได้เหนื่อยกับมันจริงๆ ระหว่างทางมันสนุกมาก ทั้งสนุก ทั้งเหนื่อย จริงๆ ก็แอบท้อเป็นบางครั้ง เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว แต่ก็ผ่านมาได้

“ปีแรกที่เราสร้างเสร็จ ลูกค้ากลุ่มแรกๆ ที่มาคือชาวต่างชาติ เขารู้จักที่นี่ก่อนคนไทย คนไทยตามมาปีที่ 2 จากปากต่อปาก เพจ บล็อกเกอร์”

พอยท์หลักเริ่มแรกคือ อยากให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ครับ เราต้องหยุดโปรโมต โปรเจกต์นี้ และเว็บไซต์ไป 2 ปี เพราะมีโควิด ผมเลยมาเน้นทำโฮมสเตย์ให้คนไทยเข้าพัก พอสถานการณ์โควิดดี ผมก็เริ่มกลับมารัน โปรเจกต์เดิม ส่วนร้านพิซซ่าก็เป็นระหว่างทางที่ไม่ได้ตั้งใจทำแต่ประสบความสำเร็จ ถ้าเริ่มทำ โปรเจกต์นี้จริงๆ ผมต้องจัดสรรเวลาใหม่ ในคอร์ส 10 วันที่จะเกิดขึ้นผมอาจไม่รับลูกค้าเลย

อย่างเอาควายมาลากเกวียน ณ ตอนนี้อาจจะไม่ค่อยเห็นแล้วมั้งครับ อยากให้เห็นวิถีชีวิตของคนรุ่นหลัง ระหว่างชาวนากับควาย เวลามันอึก็เอาไปทำปุ๋ยได้ ซึ่งควายที่นี่เราเลี้ยงดีมาก เรามีไว้ให้คนที่อยากเรียนรู้ได้สัมผัส นี่คือ 1 ในคอร์สที่เราจะสอน อยากอนุรักษ์มันไว้มากกว่า เพราะของเราเป็นที่พักแบบเชิงอนุรักษ์

“ได้ประสบการณ์ ได้เจอผู้คน เราชอบพูดคุยกับผู้คน แล้วเรารู้สึกว่าการแลกเปลี่ยนประสบการณ์มันก็เจ๋งดี การได้พบปะผู้คนมันแฮปปี้ดีครับ”

ล้อมวงกินข้าว เคล้าเสียงเพลง

บ้านแต่ละหลังน่าจะหยุดการสร้างแล้วครับ จะลองเน้นขายคอร์สปีนี้ดูว่า ผลตอบรับจะเป็นอย่างไร แต่จริงๆ มีเพื่อนฝรั่งที่รอส่งต่อเยอะมาก ผมจ้างรุ่นพี่อีกคนทำเว็บไซต์อยู่น่าจะเสร็จภายในเดือนกรกฎาฯ นี้

ส่วน โปรเจกต์ที่อยากลอง ซึ่งทำมา 2 ครั้งแล้ว คือ การจัดงานดนตรี ต้องเล่านิดหนึ่งว่า คนสมัยก่อนเวลาทำไร่ทำนาเสร็จแล้ว เขาจะมีการเฉลิมฉลอง เพราะเขาเหนื่อยมานานกว่า 3 เดือน ตั้งแต่ดำนาจนเกี่ยวข้าวเข้ายุ้งฉาง ซึ่งเรียกว่า 'การล้างกาย' หมายถึง กายข้าว เขาจะเฉลิมฉลองด้วยการเล่นดนตรี และล้อมวงกันกินข้าวด้วยกัน ผมเลยทำเป็นงานดนตรีเล็กๆ ทำกับเพื่อนที่ชอบดนตรีเหมือนกัน โดยเราจะคุยกับคนในทีมก่อนว่าอยากฟังวงอะไร โดยดนตรีอยากจะจัดปีละ 1 ครั้งช่วงหน้าหนาวครับ

ปีแรกที่ทำ ตอนนั้นยังมีโควิดอยู่ ช่วงมกราคม 64 เราชอบพี่แหลม 25 Hours เราเลยติดต่อเขา และจ้างแกมาเล่น พร้อมกับขายตั๋ว รับประมาณ 100 กว่าคน จัดในพื้นที่ทุ่งนาของเราที่เราเก็บเกี่ยวเสร็จแล้ว ทำเวทีกันเอง ทำบูทขายอาหารกันเอง โปรโมตกันเอง ขายตั๋วกันเอง ครั้งนั้นแฮปปี้ ทุกคนที่มางานชอบมาก เพราะไม่เคยมีใครจัดแบบนี้ที่ปัวมาก่อน ล้อมวง ล้อมกองไฟ อากาศหนาวๆ 12-13 องศา นั่งฟังเพลงกัน นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนวงน้องๆ ในท้องถิ่นที่อยากจะเล่นดนตรี ทั้งในจังหวัดน่าน ปัว และรุ่นน้องที่เชียงใหม่ อยากให้น้องมีพอร์ตงาน เอามาเล่นเป็นวงเปิดให้ศิลปินที่เราเชิญมา

ปีต่อมา มีวง Selina and Sirinya เมื่อสิงหาคมปี 65 เราเป็นแฟนคลับของพี่รามกับพี่นทีอยู่แล้วตั้งแต่ตอนเรียน แล้วเราเป็นเพื่อนกับพี่รามในเฟสบุ๊กอยู่แล้ว ตอนนั้นแกอยู่ต่างประเทศ ก็ทักคุยปกติ แล้วแกก็ติดตามเพจผมด้วย มีอยู่วันหนึ่งเขาพิมพ์มาหาผมประมาณครึ่งหน้ากระดาษว่า รู้สึกดีใจ และเห็นผมทำโฮมสเตย์ตั้งแต่แรกๆ รู้สึกดีใจมากเลยแซวแกไปว่า ถ้ามีโอกาสมาเล่นดนตรีที่สวนผมได้นะ ผ่านไปประมาณ 4-5 เดือน อยู่ๆ แกก็ทักว่าจะมีเล่นเดินสาย 10 ที่ในประเทศไทย จะแวะมาเล่นที่ DaiDib DaiDee เป็นที่สุดท้ายนะ วันนั้นดีใจมาก กำลังขายพิซซ่าอยู่ มีคนประมาณ 70 กว่าคน รู้สึกดีใจมากที่ศิลปินในดวงใจมาเล่นที่ของเรา พอเขาเล่นเสร็จจนทีมงานกลับ พี่ๆ เขาอยู่ต่อ และแวะมาหาเราเพื่อกินข้าวเที่ยงกับเรา จนตอนนี้ก็สนิทกันไปแล้ว

แต่จะบอกว่า รอบแรกเราขาดทุน ผมหุ้นกับเพื่อน แฟนผม และรุ่นพี่อีก 4 คน ขาดทุนหลักพัน แต่ชอบ และทำอีกครั้งที่ 2 โดยนำประสบการณ์จากครั้งแรกมาใช้ ซึ่งครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อมกราคม 66 ที่ผ่านมา เราอยากฟังพี่เล็ก Greasy Cafe พี่เขาก็มาเล่น และเพิ่งเคยมาน่านครั้งแรก มาเล่นกลางทุ่งนาครั้งแรก กับอากาศหนาวๆ และก็ผ่านพ้นไปด้วยดี เราก็ขายตั๋ว และรับ 100 กว่าคนเหมือนเดิม

ถ้าเป็นโปรเจกต์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับดนตรีต่อไป อยากทำเป็นนานาชาติหน่อย ชวนฝรั่งมาทำแบบแคมป์ปิ้งไปเลย อยู่กันไป 5-7 วัน นี่คือแพลนในอนาคตที่คิดไว้

นอกจากนี้ ยังอยากทำเป็น Exhibition ให้คนมาแสดงงานด้วย เพราะเรามีกลุ่มเพื่อนที่เรียนเพนต์ และปั้นอยู่แล้ว เมื่อก่อนเราชอบไปดูงานแสดงตามหอศิลป์อยู่แล้ว จริงๆ น่านยังไม่มีเรื่องพวกนี้เท่าไหร่

และที่จะไม่พูดไม่ได้เลยคือ โปรเจกต์สื่อการเรียนรู้ ซึ่งเว็บไซต์น่าจะใกล้เสร็จแล้ว เป็นคอร์สที่เราเน้นขายต่างชาติ มากิน มาอยู่ มาเรียนรู้ที่นี่ 10 วัน เป็นคอร์สแบบปัจจัย 4 ครับ อันนี้เป็นกลุ่มของต่างชาติ รายละเอียดสามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ DaiDibDaiDee.com ครับ

“ลองมาสัมผัสที่นี่ดูสักครั้ง แต่ก่อนมาดูรายละเอียด และอ่านกฎก่อน เรายินดีต้อนรับทุกคน ทุกสายอาชีพ ทุกเพศทุกวัย ถ้ารู้สึกโฮมสเตย์มันแมทช์ก็ยินดีต้อนรับครับ จะให้พาเดินป่าก็ Request ได้ครับ แต่ถ้าอยากมาทำกิจกรรมอย่างเดียวแบบไม่เข้าพักก็จองได้ครับ มีโซนกางเต็นท์ริมลำธารด้วยครับ”

ติดตามรายละเอียด และเรื่องราวของ DaiDib DaiDee ต่อได้ที่

Facebook: DaiDib DaiDee

Instagram: daidibdaidee