Life

Daughter of The Sea: ‘ไครียะห์’ ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ กับเส้นทางของคนรุ่นใหม่ในฐานะนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม

เชื่อว่าหลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านในชุมชนชายฝั่งทะเลจะนะ ในจังหวัดสงขลา การต่อสู้นับสิบปีนี้เกิดขึ้นเพื่อปกป้องชุมชน วิถีชีวิต และความหลากหลายทางทรัพยากรท้องทะเล ซึ่งวันนี้เราอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ ‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ หรือ ไครียะห์ ระหมันยะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาการสื่อสาร สาขานวัตกรรมออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือในอีกมุมหนึ่ง เธอคือนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และนักกิจกรรมเพื่อรื้อฟื้นภูมิปัญญาในชุมชน ที่จะพาเราเดินทางผ่านเรื่องราวบนเส้นทางการเป็นนักกิจกรรมของเธอ

Photo Credit: Chanklang  Kanthong / Greenpeace

The Daughter of Chana

ไครียะห์เล่าให้เราฟังว่า เธอเติบโตมาในชุมชนชายฝั่ง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยมีคุณพ่อเป็นนักฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536

“หนูเกิดในชุมชนที่ต้องต่อสู้กับรัฐบาลมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ. 2536 ที่จะนะมีการฟื้นฟูทรัพยากรอนุรักษ์ทางทะเลและชายฝั่งอยู่แล้วค่ะ ซึ่งหนึ่งในนักฟื้นฟูอนุรักษ์ก็มีพ่อของหนูด้วย ก็ต่อสู้กันมาเรื่อยๆ จนมาถึงปี พ.ศ. 2557 ก็มีนักวิชาการออกมาบอกว่า ทะเลจะนะบ้านหนูมี ‘ปลาแป้น’ กับ ‘ปลาหลังเขียว’ แค่ 2 ชนิด ซึ่งในตอนนั้นเขาเพียงแค่ต้องการที่จะเอาข้อมูลนี้ไปเป็นข้อมูลประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมว่า พื้นที่ทะเลจะนะมีสถานะเป็น ‘ทะเลร้าง’ สามารถที่จะสร้าง ‘ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2’ ได้ ซึ่งมันไม่เป็นความจริง เพราะว่าชาวบ้านก็หากิน ออกทำอาชีพประมงก็ยังได้ กุ้ง หอย ปู ปลา กลับมาตลอด ชาวบ้านก็เลยเก็บข้อมูลกันเองว่า จริงๆ น่านน้ำทะเลหน้าบ้านตัวเองมันมีสัตว์ทะเลกี่ชนิดกันแน่ ปรากฏว่า สามารถรวบรวมข้อมูลทั้งสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และสัตว์ระบบนิเวศ มาได้ถึง 157 ชนิดเลย” ไครียะห์เล่า

“ชุมชนบ้านหนูเป็นชุมชนเล็กๆ แล้วมันสามารถรับรู้ได้อย่างรวดเร็วเลยว่า ใครเข้าออก ทำอะไรในบ้านเราบ้าง ซึ่งก็เห็นแบบนี้มาตลอดตั้งแต่เด็กๆ มันก็ทำให้ฉุกคิดได้นะว่า นอกจากจะแค่มาดูว่าใครทำอะไรบ้าง เราน่าจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อที่จะปกป้องบ้านเราบ้าง” ยะห์เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นนักกิจกรรม และการตั้งกลุ่ม ‘เด็กรักหาดสวนกง’ กับเพื่อนๆ ในชุมชนอีก 6-7 คน ตั้งแต่เธอศึกษาอยู่ชั้นม.1

“เรากับเพื่อนๆ ในชุมชนเลยเริ่มติดตามสภาพชายหาดว่า ในแต่ละเดือนชายหาดมีความกว้าง ความยาวเท่าไร ช่วงระหว่างที่เราเก็บข้อมูลชายหาด เราคิดว่า มันน่าจะมีอะไรมากกว่าแค่การมาสังเกตชายหาด เราเห็นความเชื่อมโยงระหว่าง ทรัพยากรกับผู้คนในชุมชน ที่มันหลอมรวมกันให้เป็นวิถีชีวิต มันน่าจะมีอะไรที่ทำให้ชาวบ้าน ใช้ประโยชน์จากมันจนก่อให้เกิดเป็นภูมิปัญญาค่ะ เราก็เลยหาคำตอบไป กับเพื่อนๆ ในกลุ่ม ก็พากันไปถามแต่ละบ้านว่า ชาวประมงออกไปแล้วได้ปลาอะไรบ้าง เครื่องมือประมงแบบนี้เรียกว่าอะไร มันคือภูมิปัญญาอย่างไร ซึ่งเราจะใช้เวลาหนึ่งปีในการเก็บรวบรวมข้อมูล ก็ได้มาทั้งหมด 17 ภูมิปัญญาค่ะ แล้วก็เริ่มเก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ เริ่มที่จะทำฐานข้อมูลชุมชน แล้วก็เริ่มเป็นวิทยากร”

Photo Credit: Chanklang  Kanthong / Greenpeace
“พอเราได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับบ้านของตัวเอง พอยิ่งรู้ว่า บ้านของตัวเองมีความสำคัญอย่างไร มันก็เริ่มไม่อยากสูญเสียพื้นที่ตรงนี้ไป เพราะว่ามันคือพื้นที่แห่งชีวิตสำหรับเรา เราอยากส่งต่อให้ลูกหลานในพื้นที่”

“ในชุมชนตรงนั้น เกือบทุกคนเลยเป็นนักอนุรักษ์ หลายคนในพื้นที่ก็เป็นลูกหลานของนักอนุรักษ์” ไครียะห์บอกกับเรา เมื่อเราถามถึงพื้นหลังของชุมชน ก่อนจะบอกต่อว่า การได้เห็นคนในพื้นที่ต่อสู้มาอย่างยาวนาน ก็เป็นแรงผลักดันให้เธออยากก้าวเข้ามาเป็นนักกิจกรรม “มันไม่มีใครอยากทนเห็นบ้านตัวเองเจอเรื่องแย่ๆ แบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะว่าเราเองใจหนึ่งก็รู้สึกโกรธว่า มาทำกับลุง ป้า น้า อา มาทำกับเราแบบนี้ได้อย่างไร โดนสลายการชุมนุมวันแล้ววันเล่า โดนกล่าวหาคดีความอีก มันก็รู้สึกต้องทำอะไรสักอย่างที่จะตอบโต้บ้าง แต่เราเองก็อาจจะตอบโต้ในสิ่งที่ตัวเองทำได้ ในทางที่เราถนัด”

Photo Credit: Tadchakorn Kitchaiphon / Greenpeace

The Young Activist’s Life

จากวันแรกที่ไครียะห์ก้าวเข้าสู่การเป็นนักกิจกรรม จนถึงตอนนี้ก็ผ่านเวลามาเกือบ 10 ปีแล้ว และแน่นอนว่าการเริ่มต้นทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ช่วงมัธยมต้นก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กคนหนึ่ง เราจึงถามเธอว่า เธอเคยรู้สึกว่าชีวิตวัยรุ่นของเธอหายไปบ้างไหม?

“ถ้ามองในมุมของวัยรุ่นทั่วไป มันก็ทำให้ช่วงม.ต้น เราคุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่องเหมือนกัน บางทีเพื่อนเขาคุยเรื่องสนุกสนาน เรื่องซีรีส์ เรื่องคนนี้ คนนั้น หรือว่าการเล่นเกม แต่เราเองก็ไม่รู้ว่าจะพูดกับเพื่อนอย่างไร ก็ดาวน์ไปสักพักหนึ่งเหมือนกัน รู้สึกว่าทำไมตัวเองถึงคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่องเลย” ไครียะห์ตอบ ก่อนเล่าต่อว่า “พอโตมาอีกขั้นหนึ่ง ช่วงม.ปลายก็พยายามทำความเข้าใจว่า คนเรามันก็ต้องใช้ชีวิตไปตามช่วงวัย ก็เลยลองปรับตัวเองให้เข้ากับเพื่อนดู จริงๆ แล้วมันก็ไม่แย่นะคะ ถึงมันไม่ใช่สาระขนาดนั้น แต่มันคือ อีกหนึ่งช่วงชีวิตของวัยรุ่นที่เราต้องเจอ เราเองไม่ต้องไปซีเรียสกับมันขนาดนั้น ชีวิตคนเราเกิดมาต้องทำประโยชน์เยอะแยะมากมาย แต่จริงๆ แล้ว คนมันก็ควรที่จะเป็นไปตามสเต็ป แต่ถ้าพูดว่ามันต้องแลกไหม ในความคิดเห็นเราตอนนั้นมันก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องแลก แต่มันเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่า พอเราโตขึ้นมาตอนนี้เราก็มองเห็นตัวเองว่า ตอนนั้นจะไปเคร่งเครียดกับตัวเองทำไม อีกใจหนึ่งมันก็คือ สิ่งที่เราควรทำอยู่แล้วไหม มันก็จะย้อนแย้งในตัวเองอยู่ ก็ไม่แน่ใจว่ามันสูญเสียโอกาสอะไรไปบ้าง แต่การที่เรามาอยู่ตรงนี้ มันก็ได้รับโอกาสในการเรียนรู้มากกว่าคนอื่นค่ะ”

แต่อย่างที่บอกไปว่าการเริ่มเดินเส้นทางนักเคลื่อนไหวตั้งแต่อยู่ชั้นม.1 ไครียะห์ก็ต้องเจอกับความท้าทาย และความยากมาตั้งแต่เริ่ม

“มันก็มีมุมยากอยู่เหมือนกันค่ะ ช่วงแรกๆ ตอนอยู่ ม.1 ไม่มีใครเข้าใจหรอกว่า ทำไมเด็กม.1 มาทำอะไรแบบนี้ ทำไมไม่ไปเรียนหนังสือให้ดีๆ เหมือนคนอื่นเขา วันเสาร์-อาทิตย์มาเดินตามถนน ถือปากกา กับกระดาษว่างเปล่า แล้วก็ไปถามชาวบ้านเขาตอนที่อยู่ในทะเลบ้าง กำลังซ่อมเครื่องมือประมงบ้าง มันก็ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนมองว่า เราเข้าไปทำอะไรตรงนั้น แต่ตอนนี้ที่ผ่านมาได้แล้วมันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น

สิ่งที่ท้าทายที่สุดตอนนี้ก็คือ พอเราโตขึ้น เราอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัย เจอกับปัญหามากมาย แล้วเรื่องสิ่งแวดล้อม กับโครงการของรัฐบาล มันไหลไปทั่วมาก แล้วไม่รู้ว่าเราจะต้องช่วยคนอื่น พื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาเหมือนกับเรา ให้มาเป็นเครือข่ายเดียวกันสักวันหนึ่งได้อย่างไร เราอาจจะขึ้นไปหน้าทำเนียบพร้อมๆ กันหลายเครือข่าย แต่เราไม่รู้ว่า เราจะต้องจับจุดตรงไหนก่อน เพราะว่ามันเยอะมากเลย”

Photo Credit: Alex Yallop / Greenpeace
“เราต้องเรียบเรียงปัญหาแต่ละประเด็นที่มันสำคัญที่สุด ซึ่งเราเองก็ไม่อยากที่จะเลือกว่าอันไหนสำคัญที่สุด เพราะว่าทุกปัญหามันก็เร่งด่วนเหมือนกันหมดเลย”

ความสุขของการเป็นนักกิจกรรมคืออะไร?

“มันคือการได้เห็นว่า บางสิ่งมันยังคงอยู่ เหมือนกับทะเลบ้านเรา หนูเป็นเด็กที่ติดริมชายฝั่ง แล้วเวลาออกทะเลกับพ่อก็มักจะได้เห็นอะไรที่มันสวยงาม เช่น เห็นปลาโลมา เห็นน้ำใส ได้กระโดดน้ำเล่น แล้วก็เห็นว่า ชีวิตของผู้คนยังดีอยู่ เราภูมิใจ แล้วเราก็คิดว่าเรามาถูกทางแล้ว สิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เราได้ไปปีนภูเขา ได้เดินทางไปในป่า เห็นความชุ่มชื้นของป่า เห็นชีวิตที่ถูกเลี้ยงด้วยแม่น้ำลำธารที่มาจากภูเขา ลงไปสู่ทะเล เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราอย่างเดียว แต่มันอีกหลายชีวิตเลยที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้น”

Photo Credit: Stephanie Keith / Greenpeace

The Sea of Hope

สิ่งหนึ่งที่น่าภูมิใจของไครียะห์คือ เธอเป็นตัวแทนเยาวชนจากทวีปเอเชียเพียงหนึ่งเดียว ที่เข้าร่วมการประชุม ‘Intergovernmental Conference on BBNJ’ หรือการประชุมระหว่างรัฐบาลขององค์การสหประชาชาติ ครั้งที่ 5 (IGC5) ในปี 2022 ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ร่วมกับ Greenpeace และตัวแทนเยาวชนจากภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งการประชุมครั้งนี้ คือการประชุมเพื่อหาข้อสรุปเรื่อง ‘สนธิสัญญาทะเลหลวง’ (Global Ocean Treaty) ซึ่งไครียะห์เล่าถึงประสบการณ์ครั้งนี้ให้เราฟังว่า

“ตอนนั้น Greenpeace กำลังพยายามผลักดันแคมเปญเกี่ยวกับสนธิสัญญาทะเลหลวง ซึ่งตอนนั้นหนูก็เป็นตัวแทนเยาวชนจากเอเชียไปพูดความสำคัญของทะเลให้กับเพื่อนๆ ต่างทวีปที่มาเจอกัน เราเป็นเหมือนผู้ประสบภัยจากที่ต่างๆ มาเจอกัน แล้วก็มาพูดเรื่องราว เล่าประสบการณ์ของผู้ประสบภัยจากรัฐบาลของตัวเองที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งเราคิดว่า แม้เราจะอยู่ไกลจากทะเลหลวง แต่อย่างไรแล้วทะเลมันก็เชื่อมโยงต่อกัน มันเป็นการบาลานซ์กันระหว่างโลก มันไม่มีใครกันน้ำ กันอากาศได้ ซึ่งการแบ่งเขตดินแดนการปกครอง มันคือสิ่งที่มนุษย์คิดขึ้นมาเองว่า อันนี้ทะเลของฉันนะ อยู่ภายใต้การปกครองของฉัน แต่จริงๆ ธรรมชาติมันไม่มีใครสามารถจะกั้นสมดุลระหว่างกันได้ มีแค่มนุษย์นี่แหละที่จะไปทำลายมัน”

Photo Credit: Trecie Williams / Greenpeace

เรามองว่านี่คือ หนึ่งในความสำเร็จของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ในบ้านเรา ที่สามารถส่งเสียงออกไปได้ในระดับสากล เราจึงถามเจ้าตัวว่า สำหรับเธอแล้วความสำเร็จของนักกิจกรรมรุ่นใหม่คืออะไร?

“ถ้ามองในระดับชุมชน การมีคนใหม่ๆ ขึ้นมาพูดแทนเรา โดยที่เราเองไม่ต้องเป็นคนพูด อันนั้นถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว มองในมุมของคนรุ่นใหม่ก็ดีใจทุกครั้งเวลาเราไปเวทีคนรุ่นใหม่แล้วก็มีเพื่อนๆ ที่ต่อสู้เหมือนกับเรา ไม่ใช่แค่เราที่ต้องต่อสู้โดยลำพัง ส่วนในมุมมองระดับมหาวิทยาลัย แค่เห็นนักศึกษากล้าตั้งคำถามกับมหาวิทยาลัย ตั้งคำถามกับการพัฒนา แค่นั้นก็รู้สึกว่า อย่างน้อยยังมีคนที่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมอยู่นะ”

สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จแค่ไหน? เราถามไครียะห์ต่อ

“คิดว่ามันก็สำเร็จมาก เพราะว่าถ้าพูดถึงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งตอนนี้หนูอยู่ปัตตานี ก็จะถูกกดทับมาโดยตลอด ชาวบ้านจะพูดอะไรก็ไม่ได้เลย กลายเป็นคดีความไปหมด พอมันมีเรื่องของเทคโนโลยี และสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามา กลุ่มเยาวชนที่เขาอยากพูดเรื่องของบ้านตัวเอง แล้วก็นำเสนอผ่านสื่อก็มีมากขึ้น แต่ไม่รู้ว่าจะตั้งหลักอย่างไร พอเขาได้มาพูดคุยกับเรา แล้วชวนเราไปลงพื้นที่ จนเราก็ได้ตั้งกลุ่มกันเพื่อที่จะพัฒนาชุมชน”

Photo Credit: Trecie Williams / Greenpeace
“การที่เราได้ไปเห็นชาวบ้านที่อยากจะพัฒนาชุมชน แค่รู้ว่าเขาอยากที่จะเป็นตัวของตัวเอง แล้วก็อยากที่จะกำหนดเส้นทางการพัฒนาของตัวเอง ก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จไปแล้ว”

ก่อนจากกันเราลองให้ไครียะห์เล่าภาพของนักกิจกรรมรุ่นใหม่ในสังคมที่เธอหวังว่าจะได้เห็นในอนาคต ซึ่งเธอก็ตอบเราอย่างมั่นใจว่า “มันต้องเติบโตขึ้นแน่ๆ เพราะว่ายิ่งเห็นปัญหาชัดเจนมากขึ้น ผลที่เกิดขึ้นก็ยิ่งชัด สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็เร็วขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่กระตือรือร้น คนเราพอมันมีปัญหาแล้วอยากจะแก้ มันก็จะวิ่งหาปัญหาที่จะให้แก้ ยิ่งปัญหานั้นส่งผลกระทบต่อตัวเขาโดยตรง เหมือนกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่มันเป็นสิ่งที่ทุกคนใช้อยู่ตลอดเวลา การมีพื้นที่สื่อในการเปิดความจริง คนอื่นก็จะได้เห็นความสำคัญ และอยากออกมาเจอกัน แล้วทำอะไรสักอย่างที่มันน่าจะดีกว่าเดิม”